×

เจาะลึกศาสตร์แห่งกลิ่น ประสาทสัมผัสที่ย้อนความรู้สึกได้มากที่สุด

24.09.2022
  • LOADING...

กลิ่นน้ำหอมแฟนเก่า กลิ่นกับข้าวที่ทำให้คิดถึงแม่ หรือกลิ่นดินหลังฝนตกที่ทำให้รู้สึกเย็นสบายและสดชื่นเหมือนได้พักผ่อน เคยรู้สึกบ้างไหมว่ากลิ่นบางกลิ่นมันส่งผลต่อความทรงจำของเราในบางช่วงเวลาของชีวิต และอาจจะทำให้ความสุข ความเศร้า หรือความเจ็บปวดที่ผ่านไปนานแล้วหวนกลับมาอีกครั้ง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

 

เอพิโสดนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกและทำความรู้จักกระบวนการทำงานของกลิ่นกันว่ามีขั้นตอนอย่างไร แล้วมันมาเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับความทรงจำของเราได้ด้วยวิธีไหนบ้าง

 

จมูกของเรารับกลิ่นได้อย่างไร

การดมกลิ่น คือ 1 ใน 5 ประสาทสัมผัสที่จำเป็นไม่แพ้การมองเห็น การได้ยิน การลิ้มรส และการสัมผัส สำคัญมากขนาดที่ว่า 2% ของยีนในร่างกายของเรามีไว้สำหรับการดมกลิ่นโดยเฉพาะ และมนุษย์แต่ละคนก็สามารถดมกลิ่นที่แตกต่างกันได้เป็นหมื่นๆ กลิ่นเลยทีเดียว

 

กระบวนการรับกลิ่นของมนุษย์เริ่มมาจากการใช้จมูกกระพือและดูดเอาอากาศที่อยู่รอบๆ ตัวเข้าไป ซึ่งอากาศเหล่านั้นอาจจะมีโมเลกุลของกลิ่นล่องลอยปะปนอยู่ด้วย เมื่ออากาศไหลเข้าไปในรูจมูกทั้งสองข้างแล้วจะพบกับขนจมูกที่ทำหน้าที่เหมือนแผ่นกรองอากาศที่ดักฝุ่นละอองต่างๆ ไม่ให้เข้าไปยังปอดของเรา 

 

โดยภายในโพรงจมูกจะมีพื้นที่เล็กๆ ที่เรียกว่า Olfactory Epithelium ทำหน้าที่ในการรับกลิ่น ซึ่งสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดก็จะมีขนาดพื้นที่ตรงนี้แตกต่างกันไป หากมีขนาดใหญ่มากก็จะทำให้สามารถรับกลิ่นได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สุนัข ที่มี Olfactory Epithelium มากกว่ามนุษย์ถึง 20 เท่า ทำให้มันได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ดมกลิ่นเก่งมาก

 

โดยในบริเวณของ Olfactory Epithelium จะมีเซลล์ที่ชื่อว่า Olfactory Receptors ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นเพื่อจำแนกกลิ่นโดยเฉพาะ และมีจำนวนมากถึง 40 ล้านเซลล์ ตรงปลายของเซลล์ประสาทชนิดนี้จะเป็นเหมือนมือที่ยื่นออกมาจากเยื่อบุผิวจมูกด้านใน เพื่อรอดักโมเลกุลของกลิ่นที่ลอยเข้ามาสัมผัสกับมือ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามือทั้ง 40 ล้านเซลล์จะทำงานแล้วก็ส่งสัญญาณพร้อมๆ กัน เพราะแต่ละกลิ่นที่ลอยมาแตะมือจะกระตุ้นเพียงแค่บางเซลล์เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรากำลังกินทุเรียน กลิ่นของมันอาจจะไปสัมผัสกับมืออันที่ 100 อันที่ 2,000 และอันที่ 30,000 เมื่อ 3 มือถูกกระตุ้นพร้อมกัน มันก็จะส่งสัญญาณวิ่งไปที่สมอง และตีความออกมาว่าเรากำลังได้กลิ่นทุเรียน

 

นั่นหมายความว่าเซลล์ Olfactory Receptors ทำงานเป็นทีม โดยหนึ่งกลิ่นจะต้องกระตุ้นเซลล์พร้อมๆ กันหลายตัว สมองจึงจะตีความได้ว่ามันคือกลิ่นนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเราสามารถจำแนกกลิ่นได้หลากหลายเป็นหมื่นๆ แบบนั่นเอง 

 

กลิ่นและความทรงจำ เกี่ยวพันกันได้อย่างไร

แม้ว่าละคนจะมีสองรูจมูกเหมือนกัน มีเซลล์ประสาทที่ช่วยการรับกลิ่นเท่าๆ กัน แต่บางคนอาจจะสูญเสียการรับกลิ่นบางอย่างไป หรือบางคนได้กลิ่นเดียวกัน แต่กลับตีความว่าเป็นกลิ่นที่หอมหรือเหม็นไม่เหมือนกัน

 

นั่นเป็นเพราะเมื่อเซลล์ Olfactory Receptors จับโมเลกุลกลิ่นได้แล้ว มันจะส่งสัญญาณไปที่สมองส่วนกลางที่ชื่อว่า Thalamus เป็นเหมือนตัวกลางที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าจะส่งข้อมูลที่ได้มาไปยังสมองส่วนไหนเพื่อตีความ ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้เวลามากกว่าระบบการดมกลิ่น 

 

โดยสิ่งที่ทำให้ประสาทสัมผัสการดมกลิ่นแตกต่างจากประสาทสัมผัสที่เหลือทั้ง 4 คือสัญญาณจากเซลล์รับกลิ่นจะวิ่งผ่านเส้นทางลัดไปยังจุดแรกของสมองที่ชื่อว่า Amygdala และต่อจากนั้นก็จะวิ่งไปที่ Hippocampus ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ในการประมวลผลความทรงจำระยะยาว 

 

Amygdala คือส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ประมวลผลอารมณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำให้เวลาที่เราดมกลิ่นใดๆ ก็ตาม สมองจะกระตุ้นจนทำให้เราเกิดอารมณ์ต่อกลิ่นนั้น ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นหอม กลิ่นเหม็น กลิ่นที่น่าพะอืดพะอม หรือกลิ่นสดชื่น จากนั้นข้อมูลของอารมณ์ประกอบกับข้อมูลของกลิ่นจะถูกส่งไปยัง Hippocampus ซึ่งเป็นสมองส่วนที่รับข้อมูลจากการมองเห็น ได้ยิน ลิ้มรส และสัมผัส เพิ่มเข้ามาด้วย 

 

เมื่อข้อมูลทั้งหมดมารวมกันก็จะถูกเปลี่ยนเป็นความทรงจำระยะยาว จนทำให้ข้อมูลของกลิ่นและอารมณ์ถูกนำไปผูกรวมความทรงจำอื่นๆ ด้วย และกลายเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาที่ได้กลิ่นอะไรสักอย่างหนึ่ง มันจะทำให้เราหวนรำลึกถึงความทรงจำนั้นๆ ได้แบบชัดเจน 

 

จริงหรือไม่ คนเรามักจดจำกลิ่นที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกมากกว่าความทรงจำ

แม้ว่ากลิ่นจะสามารถกระตุ้นความทรงจำได้ แต่ในอีกทางหนึ่งก็ไม่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่ากลิ่นที่สามารถกระตุ้นความทรงจำได้ดีมักจะเป็นความทรงจำที่เกิดขึ้นตอนที่เราอายุไม่เกิน 10 ปี นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายๆ ครั้งเวลาได้กลิ่นที่คุ้นเคย เรามักจะนึกถึงความทรงจำตอนที่ยังเป็นเด็กน้อย 

 

และนักวิทยาศาสตร์ยังค้นคว้าเพิ่มเติมอีกว่า ความทรงจำที่กลิ่นสามารถกระตุ้นได้มักจะเป็นความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกมากกว่าความทรงจำเชิงในรายละเอียดของเหตุการณ์ ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่เราไปต่างจังหวัด ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ได้กลิ่นดินหลังจากฝนตกใหม่ๆ เราก็จะผูกความรู้สึกว่าเวลาได้กลิ่นดินหลังฝนตกแล้วจะรู้สึกสดชื่น โดยไม่ได้มองเห็นเป็นรายละเอียดของสถานที่ที่เราเคยไปเที่ยวต่างจังหวัดมาเมื่อในอดีต

 

และยังสอดคล้องกับเหตุผลว่า ทำไมเวลาที่มีแฟนแล้วเรามักจะติดกลิ่น หรือรู้สึกดีมากๆ เวลาที่ได้กอด นั่นเป็นเพราะเราเอากลิ่นนั้นไปผูกกับความรู้สึกว่าเป็นความสุข อบอุ่น หรือปลอดภัย ทำให้เมื่อได้กลิ่นเหล่านั้นจะรู้สึกผ่อนคลาย และทำให้ระดับคอร์ติซอลซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความเครียดลดลงได้ด้วย


Credits

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

The Guest พญ.วัธนีย์ ศรีพวาทกุล

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader วรรษมล สิงหโกมล

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X