×

ปากกาลดน้ำหนักอันตรายหรือไม่ พร้อมวิธีแฮ็กร่างกายให้ไม่หิว

18.02.2023
  • LOADING...

ปากกาลดน้ำหนัก คืออะไร ทำงานกับร่างกายเราแบบไหน ใช้แล้วช่วยให้ผอมเร็วและอยากอาหารน้อยลงจริงหรือเปล่า

 

ก่อนจะ CF ปากกาลดน้ำหนักมาลองจิ้มดู อยากให้มาฟัง Top to Toe เอพิโสดนี้ก่อน เพราะ ดร.ข้าว จะมาอธิบายให้ฟังถึงกระบวนการทำงานของเจ้าปากกาลดน้ำหนักอันนี้ ใครบ้างที่เหมาะจะใช้ และมีข้อควรระวังอะไรที่ต้องคำนึงบ้าง ปิดท้ายด้วยเทคนิคแฮ็กสมองและร่างกายให้อยากอาหารน้อยลงโดยไม่ต้องมีตัวช่วย! 

 

ปากกาลดน้ำหนัก คืออะไร

 

ปากกาลดหน้ำหนัก (Weight Loss Pen) เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในการควบคุมน้ำหนักของผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกิน เพื่อทำให้เขาอยากอาหารน้อยลง เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผ่านการศึกษาวิจัยและได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงาน FDA ของสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2014 ปัจจุบันมีจำหน่ายหลายยี่ห้อ และมีการนำเข้ามาขายที่ไทยด้วย แต่ตามหลักการแล้วคนที่จะสั่งจ่ายอุปกรณ์ชนิดนี้ได้ควรต้องเป็นแพทย์เท่านั้น 

 

ปากกาลดน้ำหนัก จะมีหน้าตาคล้ายๆ ปากกาทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน คือหัวด้านหนึ่งจะมีเข็มแหลมๆ เพื่อใช้ปักลงไปบนชั้นไขมันของเรา ภายในบรรจุยาที่มีฤทธิ์ทำให้เรารู้สึกอยากอาหารน้อยลง โดยแพทย์จะใช้ปากกาชนิดนี้กับคนไข้ที่มีน้ำหนักเกิน ควบคู่ไปกับการควบคุมการกินและการออกกำลังกายด้วย เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของคนไข้รายนั้นๆ  

 

ข้อบ่งใช้ของปากกาลดน้ำหนักทางการแพทย์

 

  • ผู้ที่แพทย์มีความเห็นว่าควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก ต้องเป็นคนที่มีค่า BMI มากกว่า 30 ขึ้นไป 
  • ในช่วงแรกๆ โดสของยาที่ปักเข้าไปในร่างกายจะเริ่มจากปริมาณน้อย และค่อยๆ เพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่ 1-5 เมื่อผ่านสัปดาห์ที่ 6 เป็นต้นไป ปริมาณยาจะคงที่ไปเรื่อยๆ
  • คนไข้ต้องใช้ปากกานี้ทุกวันอย่างต่อเนื่องตามการดูแลของแพทย์ จนกว่าค่า BMI จะลดลงมาต่ำกว่า 27 จึงสามารถหยุดการใช้ปากกานี้ได้ แล้วเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นในการควบคุมน้ำหนักแทน  
  • โดยส่วนใหญ่ แพทย์จะสั่งให้ใช้ปากกาลดน้ำหนักในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 4-6 เดือนเท่านั้น เพราะมันมีผลข้างเคียงด้วย
  • จากการศึกษาพบว่าหลังจากที่คนไข้ส่วนใหญ่ใช้ปากกาลดน้ำหนักไป 3 เดือน น้ำหนักจะลดลงประมาณ 5% ซึ่งถ้าลองคำนวณดีๆ จะพบว่ามันไม่ได้ลดลงเยอะเลย เพราะโดยทั่วไป คนปกติที่ควบคุมอาหารและออกกำลังกายก็สามารถลดน้ำหนักได้ใกล้เคียงกันในระยะเวลาที่เท่ากัน หากมีวินัยมากพอ 
  • **คนที่ไม่ควรใช้ปากกาลดน้ำหนัก ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์, คนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคเบาหวานบางชนิด และคนที่แพ้ฮอร์โมนบางชนิด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพราะอาจจะเกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงได้

 

ปากกาลดน้ำหนัก แค่จิ้มก็ผอมได้ ภายในมีอะไรซ่อนอยู่

 

สารที่อยู่ในปากกาลดน้ำหนักมีชื่อว่า ลิรากลูไทด์ (Liraglutide) ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกับฮอร์โมน GLP-1 ที่โดยปกติฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งออกมาเวลาที่เรากินอาหารเข้าไปแล้ว เพื่อบอกร่างกายว่าอาหารเข้ามาแล้วนะ และเราก็จะรู้สึกอยากอาหารน้อยลง  

 

นอกจากรีลากูไทด์แล้ว ปากกาลดน้ำหนักบางยี่ห้อก็เลือกใช้ เซมากลูไทด์ (Semaglutide) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน คือพอฉีดเข้าไปแล้วจะทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่าอิ่มท้อง อยากอาหารน้อยลง และเซมากลูไทด์ยังทำหน้าที่กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลิน ช่วยควบคุมปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือด ทำให้ผู้ที่อยู่ในภาวะอ้วนสามารถควบคุมน้ำหนักตัวเองได้ เพราะทำให้เขาอยากอาหารน้อยลงนั่นเอง

 

แฮ็กสมองและร่างกายให้หิวน้อยลงได้ โดยไม่ต้องพึ่งปากกาลดน้ำหนัก 

 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจเรื่อง ‘ความหิว’ กันก่อน สังเกตให้แน่ใจว่าความหิวที่เรารู้สึกเป็นแบบไหน จะได้แก้กันที่ต้นเหตุได้ถูกต้อง สาเหตุหลักๆ มี 2 แบบ 

 

1. เราหิวเพราะร่างกายต้องการอาหารจริงๆ พลังงานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ

 

สาเหตุนี้ตรงตัวมากๆ เพราะถ้าหิว วิธีแก้อย่างเดียวคือการกินอาหารเข้าไปเพื่อเพิ่มพลังงาน แต่การจะเลือกอาหารลงท้องให้ดีก็มีเทคนิคเหมือนกัน ดังนี้

 

  • เลือกกินของที่ทำให้อยู่ท้องได้นานที่สุด นั่นก็คือ ‘โปรตีน’ และควรต้องเป็นโปรตีนที่ไม่มีสัดส่วนของไขมันมากจนเกินไป นอกจากนี้ ‘ไขมัน’ ก็สามารถกินได้ แต่ให้เน้นเป็นไขมันดีที่ได้จากธัญพืชหรือถั่วต่างๆ จะดีที่สุด
  • กินน้ำเยอะๆ ก่อนมื้ออาหาร จะทำให้เราอยู่ท้องมากขึ้น  
  • กินอาหารที่มีปริมาณมาก แต่ให้แคลอรีน้อย ง่ายที่สุดคือกินผัก แต่ถ้าเป็นสลัดผัก ต้องคำนึงถึงส่วนผสมของน้ำสลัดให้ดีๆ ด้วยนะ 
  • การกินกาแฟ หรือสมุนไพรที่มีฤทธิ์เผ็ดร้อนอย่างพริกและขิง งานวิจัยพบว่าทำให้เรารู้สึกอยากอาหารน้อยลง และช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกายได้ด้วย 

 

สิ่งที่ไม่ควรกิน

 

  • สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แม้ข้างซองจะบอกว่าแคลอรี 0% ก็จริง แต่สารพวกนี้มันจะไปหลอกสมองให้งง ทำให้แทนที่กินเข้าไปแล้วจะอิ่ม สมองจะคิดว่าเรายังไม่ได้กินอะไรเลย และทำให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นไปอีก
  • หลีกเลี่ยงอาหาแปรรูปทั้งหลาย โดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง เช่น มันฝรั่งทอด พิซซ่าแช่แข็ง หรืออะไรที่มีเนย น้ำมัน ไขมันเยอะๆ เพราะเมื่อกินอาหารเหล่านี้เข้าไปแล้ว สมองรู้สึกอยากกินเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ

 

2. เราหิวเพราะรู้สึกอยากกินของอร่อย ร่างกายไม่ได้ต้องการพลังงาน แต่มันเป็นความอยากที่ใจเรียกร้อง

 

เรียกว่าเป็นอาการหิวที่เกิดจากจินตนาการ เวลาที่มีสิ่งเร้าเข้ามา เช่น เห็นรูปของน่ากินในโซเชียลปุ๊บ สมองจะทำงานทันที โดยเริ่มจินตนาการไปถึงกลิ่น รสชาติ เท็กซ์เจอร์ ทีนี้เมื่อสมองเริ่มคิดถึงอาหารแล้วมันจะหยุดไม่ได้ และจะกระตุ้นให้เกิดความหิวขึ้นมาในที่สุด ทั้งๆ ที่ร่างกายของเรายังไม่ได้ต้องการพลังงานเลยด้วยซ้ำ

 

วิธีแก้คือพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าต่างๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อหลอกสมองว่าฉันไม่ได้นึกถึงกิน แต่กำลังนึกถึงอย่างอื่นอยู่ ทีนี้เมื่อเราโฟกัสกับอย่างอื่นแทนก็จะรู้สึกหิวน้อยลง

 

หลอกสมองอย่างไรให้หยุดจินตนาการถึงของกิน

 

  • มีงานวิจัยศึกษาออกมาว่า การที่คนเราเลือกทำกิจกรรมใดๆ ที่เบี่ยงเบนความสนใจของสมอง แล้วไปใช้สมาธิโฟกัสสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ เช่น เล่นเกม จะทำให้ความอยากอาหารลดลงได้
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ฮอร์โมนในร่างกายทำงานอย่างปกติ ไม่หิวบ่อยจนเกินไป 
  • การออกกำลังกายหนักๆ ช่วยทำให้ความอยากอาหารลดลงได้
  • ถ้าทำทุกวิธีแล้วยังอยากกินอยู่ ให้ลองหาของที่มีรสชาติใกล้เคียงมาทดแทน สมมติอยากกินของหวานมากๆ ก็ให้เลือกกินผลไม้ที่มีรสหวานแทน หรือถ้ามันแทนกันไม่ได้จริงๆ ก็กินของหวานได้ แต่พยายามลดปริมาณลง ไม่ต้องกินจนหมด

 


 

Credits

 

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreaderลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster พงศกร เพ่งพิศ

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising