×

ปวดหัว ปวดท้อง หงุดหงิด ไขความลับฮอร์โมนที่ส่งผลกับประจำเดือน

27.08.2022
  • LOADING...

ประจำเดือน ภาวะปกติตามกระบวนการของร่างกายผู้หญิงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน แต่เคยลองย้อนกลับไปคิดดูบ้างหรือเปล่าว่าจริงๆ แล้วประจำเดือนเกิดขึ้นได้อย่างไร ไหนจะอาการข้างเคียงที่สาวๆ ต้องเผชิญกันทุกเดือน ทั้งปวดท้องน้อย กินจุบจิบ หงุดหงิดง่าย ฮอร์โมนสวิง และสารพัดพฤติกรรมที่ไม่ใช่แค่ทำคนรอบข้างเหนื่อยใจ แต่ตัวผู้หญิงเองก็มีผลกระทบเช่นเดียวกัน

 

ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ จะพาทุกคนไปทบทวนวิชาชีววิทยาพื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องของประจำเดือนให้มากขึ้น เผื่อว่าคุณผู้ชายที่ผ่านมาชมเอพิโสดนี้จะได้เข้าใจต้นสายปลายเหตุของอาการที่หาคำตอบไม่ได้เหล่านี้ รวมทั้งคุณผู้หญิงที่ต้องเผชิญภาวะนี้อยู่ตลอด ก็ไม่แน่ว่าอาจมีบางเรื่องที่คุณเผลอมองข้ามไปก็ได้ 

 

ประจำเดือน เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนอย่างไร 

ประจำเดือนคือเลือดที่ไหลออกมาจากร่างกายผู้หญิงโดยเฉลี่ยเดือนละ 1 ครั้ง หรือทุกๆ 28 วัน เกิดจากการที่เนื้อเยื่อหลุดร่อนออกมาจากบริเวณเยื่อบุผิวภายในโพรงมดลูกและการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายทั้งหมด 4 ตัว โดยกระบวนการของมันจะแบ่งได้เป็น 2 เฟสใหญ่ๆ เฟสแรกคือ ‘ช่วงก่อนไข่ตก’ และเฟสที่สองคือ ‘ช่วงหลังไข่ตก’  

 

ช่วงก่อนไข่ตก จะมีฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องหลักๆ 3 ตัว ตัวแรกคือ Follicle Stimulating Hormone หรือ FSH เป็นตัวที่ทำให้ไข่ค่อยๆ พัฒนา เจริญเติบโต และสุกเต็มที่ก่อนที่มันจะตกออกมาจากรังไข่ ฉะนั้นตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน ฮอร์โมน FSH จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิด และเริ่มทำหน้าที่ของตัวเองในการพัฒนาไข่ไปเรื่อยๆ 

 

ต่อมาจะมีฮอร์โมนอีกตัวที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น นั่นก็คือ เอสโตรเจน (Estrogen) เกิดขึ้นมาจากไข่ที่ค่อยๆ พัฒนาแล้วภายในรังไข่ และจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตาม FSH มาเรื่อยๆ ถ้าหากเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่ง มันก็จะไปลดการหลั่ง FSH และค่อยๆ เตรียมพร้อมมดลูกหากมีการปฏิสนธิหลังจากไข่ตก เพื่อรองรับการฝังตัวของทารกในขั้นต่อไป  

 

ในช่วงเวลาที่ไข่ใกล้ตก จะมีฮอร์โมนอีกตัวหนึ่งที่พุ่งพรวดขึ้นมา Luteinizing Hormone หรือ LH ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกว่าไข่กำลังสุกได้ที่ และก็จะตกออกมาจากรังไข่ลงมาที่มดลูกเพื่อรอการปฏิสนธิจากสเปิร์ม

 

ช่วงหลังไข่ตก ถ้าหากว่าไข่ตกลงมาที่มดลูกแล้ว ตอนนี้จะมีฮอร์โมนตัวหนึ่งที่พุ่งสูงขึ้นมาก มันคือ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับผนังมดลูก เพื่อให้มีความหนาและมีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากพอที่จะซัพพอร์ตการฝังตัวของทารกในกรณีที่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ เส้นเลือดทั้งหลายที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงเวลานั้นก็จะไม่ได้ถูกใช้งาน และค่อยๆ หลุดร่อนออกมากลายมาเป็นประจำเดือนในที่สุด 

 

สังเกตตัวเอง ประจำเดือนของเราเรียกว่าปกติหรือเปล่า

ประจำเดือนปกติที่ควรจะเป็น มีสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจอยู่ 2 อย่าง นั่นคือระยะเวลา และปริมาณของเลือด 

 

ตามทฤษฎีแล้วประจำเดือนควรจะมาทุกๆ 28 วัน แต่ในบางกรณีก็ยืดหยุ่นอยู่ในช่วงระหว่าง 20-35 วัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและการดำเนินชีวิตของแต่ละคน และระยะเวลาในการมีประจำเดือนแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 3-7 วัน แต่สำหรับคนที่ประจำเดือนมาถี่หรือทิ้งช่วงห่างนานเกินไป นั่นอาจเป็นสัญญาณที่ต้องจับสังเกตและปรึกษาแพทย์ 

 

ในเรื่องของปริมาณที่มามากหรือน้อยก็อาจแตกต่างกันไปเฉพาะบุคคลเช่นกัน ทั้งช่วงอายุ สุขภาพ และพันธุกรรม แต่โดยเฉลี่ยในหนึ่งรอบเดือนไม่ควรมีเลือดไหลเกิน 80 มิลลิลิตร ไม่น้อยหรือมากไปกว่านี้จนผิดสังเกต เพราะอาจมีอาการผิดปกติแทรกซ้อนได้ 

 

ส่วนลักษณะของเลือดที่ออกมาก็ควรจะมีสีแดงสดหรืออาจเป็นสีแดงเข้มก็ได้ และนอกจากจะเห็นเป็นเลือดที่เป็นของเหลวแล้ว บางครั้งก็จะมีลักษณะเป็นก้อนคล้ายเยลลี่ หรือมีเนื้อเยื่อปนอยู่ในเลือดด้วย แต่จะไม่เห็นเป็นลิ่มเลือดเด็ดขาด 

 

PMS สาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงบางคนเหวี่ยงวีนโดยไม่มีสาเหตุ

PMS หรือ Premenstrual Syndrome เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงหลายๆ คนในช่วงก่อนจะมีประจำเดือน โดยส่วนมากจะรู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว ทั้งเจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหัว ปวดท้อง ท้องผูก ท้องเสีย น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ หรือสิวขึ้น 

 

นอกจากด้านร่างกายแล้วก็ยังมีผลกระทบในด้านจิตใจและอารมณ์ด้วย ที่เห็นเด่นชัดคืออาการฮอร์โมนสวิง ซึ่งมีสาเหตุมาจากกระบวนการของร่างกายอย่างที่เล่าไปตอนต้น ส่งผลให้ผู้หญิงมีอารมณ์แปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงเวลาดังกล่าว โดยบางคนอาจจะหงุดหงิดง่าย เครียดมากกว่าปกติ หรือบางคนก็รู้สึกเศร้า ไม่อยากสุงสิงกับใคร ซึ่งปัญหาทางอารมณ์เหล่านี้ หากไม่สามารถควบคุมได้ก็อาจพัฒนารุนแรงจนถึงขั้นเป็นโรคจิตเภทได้เลย ทางที่ดีจึงควรหมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ หากรู้สึกผิดปกติก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัด 

 

วิธีดูแลตัวเองในช่วงที่มีประจำเดือน

สิ่งที่ง่ายและสำคัญที่สุดคือการทำร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ แต่ถ้ารู้สึกว่าร่างกายอ่อนเพลียเพราะเสียเลือดมากเกินไป ให้พยายามเลือกกินอาหารที่คุณสมบัติในการบำรุงเลือด เช่น วิตามินบีต่างๆ หรือว่าแร่ธาตุประเภทเหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม ที่มักจะสูญเสียไปจากการเสียเลือด นอกจากนี้ยังมีอาหารเสริมหลายประเภทในท้องตลาดที่ผลิตขึ้นมาเพื่อการบำรุงเลือดของผู้หญิงโดยเฉพาะ 

 

หมั่นสังเกตอาการตัวเองอยู่เสมอ ถ้าไม่ลำบากเกินไปก็แนะนำให้ลองใช้วิธีจดบันทึกช่วงวันที่มีประจำเดือนผ่านแอปพลิเคชันก็ได้ เพราะนอกจากจะเป็นตัวช่วยในการคำนวณและคาดการณ์รอบเดือนถัดไปได้แล้ว ยังเป็นการมอนิเตอร์ได้ด้วยว่าประจำเดือนของเรามาช้าหรือเร็วกว่าปกติหรือเปล่า ยิ่งพบความผิดปกติของร่างกายเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น เพราะไม่แน่ว่ามันอาจจะเป็นสัญญาณของการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศก็ได้

 

อีกวิธีหนึ่งที่อยากแนะนำสำหรับผู้หญิงทุกคน คือตอนนี้เราสามารถไปตรวจฮอร์โมนเพศแบบเฉพาะทางได้แล้ว ซึ่งรวมไปถึง 4 ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับวงจรการเกิดขึ้นของประจำเดือนด้วย เพื่อจะได้รู้ว่าตอนนี้ร่างกายมีความสมดุลหรือไม่ อย่างไร หรือถ้าพบสัญญาณของโรคอื่นๆ ที่กระทบกับระดับฮอร์โมนในร่างกาย แพทย์จะได้วินิจฉัยและจ่ายยาปรับสมดุลฮอร์โมนให้อย่างเหมาะสมต่อไป


Credits
The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

 

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader วรรษมล สิงหโกมล

Webmaster xxx

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising