เป็นไปได้จริงหรือ ที่ธุรกิจจะสามารถสร้างผลกำไรไปพร้อมกับใส่ใจผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไม่เสียสมดุล
PlanToys คือหนึ่งในตัวอย่างธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มายาวนานกว่า 40 ปี พร้อมการันตีด้วยจุดยืนที่หนักแน่นว่าพวกเขาคือแบรนด์ของเล่นไม้เจ้าแรกของโลกที่ไม่เคยตัดต้นไม้เลยสักต้น
THE SME HANDBOOK by UOB ซีรีส์ Sustainable Guide ชวนคุณไปฟังวิธีคิดของ โกสินทร์ วิระพรสวรรค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด กับกลยุทธ์การนำไม้ยางพาราไร้มูลค่ามาสร้างเป็นของเล่นที่ติดอันดับ Top 3 ของโลก
นิยามในการทำธุรกิจของ PlanToys
PlanToys ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ 40 ปีที่แล้วด้วยพันธกิจที่ค่อนข้างยิ่งใหญ่ คือเราอยากเห็นโลกที่ดีขึ้น ในเวลานั้นทางผู้ก่อตั้งก็คิดว่าจะทำอะไรกันดี สุดท้ายมาสรุปกันได้ว่า ถ้าเราจะมีโลกที่ดีก็ต้องเริ่มจากการสร้างเยาวชนที่ดี เพราะเราเชื่อว่าเด็กที่ดีในวันนี้จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า และเขาน่าจะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับมายด์เซ็ตที่พร้อมสำหรับการทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นด้วย
เมื่อได้แนวคิดตรงนั้นแล้วก็มาคิดต่อว่า การที่จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างดีจะต้องมีกระบวนการอะไรบ้าง เราน่าจะต้องกลับไปปลูกฝังเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และแนวคิดต่างๆ ผ่านการเล่น ดังนั้นธุรกิจแรกที่เราทำคือการเปิดโรงเรียนอนุบาล โดยมีการนำเรื่องของ Play-based Learning และ Project-based Learning เข้ามาผสมผสานในการเรียนรู้ระดับปฐมวัย เพราะจริงๆ แล้วหน้าที่ของเด็กคือเขาเกิดมาเพื่อเล่น แล้วเขาก็จะเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ผ่านการเล่นเหล่านั้น
และด้วยความที่เราเองเป็นนักออกแบบ เมื่อมีโรงเรียนแล้วทำไมเราไม่ทำสื่อการเรียนการสอนให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนของเราบ้างล่ะ จึงทำให้เราเจอโอกาสใหม่ในการทำธุรกิจ นั่นคือการทำของเล่น
สำหรับ PlanToys เรามีจุดยืนอยู่สองเรื่อง หนึ่งคือจะต้องทำของเล่นที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด สองคือของเล่นทุกชิ้นของเราไม่ได้เป็นเพียงของเล่นทั่วๆ ไป แต่เป็นของเล่นที่จะไปเสริมพัฒนาการของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา
ปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในช่วงก่อตั้งบริษัทเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
ในช่วงเวลานั้นก็เป็นอะไรที่ค่อนข้างท้าทายมาก เพราะตอนนั้นประเทศไทยกำลังเติบโต โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ก็มีมากมาย ทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรเยอะ ซึ่งเครื่องจักรเหล่านี้จะถูกส่งมาพร้อมลังไม้ขนาดใหญ่ ด้วยความที่เรามีไอเดียตั้งต้นว่าจะไม่เบียดเบียนสังคมและสิ่งแวดล้อม เราจึงเริ่มจากการนำเศษไม้เหล่านั้นมาทำของเล่น
พอเราทำมาได้สักพักหนึ่ง ช่วงหลังๆ การหาเศษไม้ก็ค่อนข้างลำบากขึ้น หนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ คุณวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ซึ่งเป็นคนจังหวัดตรังอยู่แล้ว เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วภาคใต้ก็มีทรัพยากรที่น่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ นั่นก็คือไม้ยางพารา ซึ่งตามปกติแล้วมันจะถูกตัดและเผาทิ้งหลังจากหมดอายุการให้น้ำยางประมาณ 25-30 ปี แต่เราคิดว่ามันน่าจะสร้างมูลค่าได้มากกว่านั้น จึงเป็นที่มาที่ไปของการนำคอนเซปต์การรีไซเคิลไม้ยางพารามาใช้ในอุตสาหกรรมของเล่น
เราเริ่มจากการนำคอนเซปต์ตรงนี้ไปออกงานแฟร์ครั้งแรกที่ยุโรปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นไม่มีใครเข้าใจเลยว่ามันแปลว่าอะไร เพราะไม้ก็คือไม้ ซึ่งเราต้องใช้เวลาอยู่ 4-5 ปีเลยกว่าจะทำให้ตลาดเข้าใจได้ สิ่งที่ผมคิดว่ามันประสบผลสำเร็จไม่ใช่แค่เรื่องของที่มาหรือการนำไม้มารีไซเคิล แต่เป็นมุมมองของ Value Added ที่เราใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์ที่แตกต่าง เน้นเรื่องความเรียบง่าย หรือคอนเซปต์การใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่เราพยายามจะทำให้ตลาดเข้าใจ
PlanToys คือของเล่นไม้ที่ไม่เคยตัดต้นไม้เลยสักต้น จุดเด่นที่แตกต่างจนทำให้ตลาดยุโรปหันมาสนใจ
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังสามารถพูดได้ว่า PlanToys ไม่เคยตัดต้นไม้สักต้นเพื่อมาทำของเล่น ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็น Solution Provider มากกว่า คือเราพยายามที่จะหาแนวคิดในการแก้ปัญหา
ยกตัวอย่างเช่น สาเหตุที่เรานำขี้เลื่อยกลับมาใช้ในการผลิตสินค้า จุดเริ่มต้นมาจากการที่เราให้ความสำคัญเรื่องของคน ซึ่งปัญหาหลักๆ ในอดีตที่เราเจอคือเรื่องฝุ่น พอมีการเลื่อยไม้ ไสไม้ ก็จะมีฝุ่นฟุ้งเกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ ถ้าเราต้องการให้พนักงานมาทำงานแล้วอยู่ดีมีความสุข สุขภาพของเขาก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราจึงมีระบบท่อดูดฝุ่นที่เครื่องจักรทุกตัว
สิ่งที่เราทำในอดีตคือเอาขี้เลื่อยเหล่านี้ไปขายให้กับชาวบ้าน ให้เขาเอาไปทำธูปบ้าง เอาไปเป็นเชื้อเพลิงบ้าง แต่มูลค่ามันได้น้อยมาก แค่กิโลกรัมละ 1-2 บาทเท่านั้นเอง ก็เลยมาคิดต่อว่าเราจะสามารถสร้างนวัตกรรมจากของเหลือใช้เหล่านี้ได้อย่างไร จนเป็นที่มาที่ไปของการนำขี้เลื่อยมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบตัวใหม่ที่เราเรียกว่า PlanWood
สำหรับ PlanWood คอนเซปต์ก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก เรานำขี้เลื่อยมาผสมกับผงสีออร์แกนิก ใส่กาวที่ไม่มีสารฟอร์มัลดีไฮด์ แล้วก็อัดขึ้นรูปใหม่ ทำให้สามารถเพิ่มมูลค่าจากขี้เลื่อยกิโลกรัมละ 1-2 บาท กลายเป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาทได้ เพราะฉะนั้นถ้าย้อนมองในแง่ของไอเดีย หลักการตรงนั้นมันมาจากการต้องการดูแลคน แต่สุดท้ายผลลัพธ์มันก็ออกมาในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ แล้วเราพยายามที่จะแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ มันก็สามารถที่จะนำไปสู่โซลูชันใหม่ๆ ได้
การทำธุรกิจเพื่อผลกำไรนั้นสำคัญมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำกำไรสูงสุดเสมอไป
จุดเปลี่ยนจากบริษัทขนาดเล็กที่สามารถไปได้ไกลในระดับโลก
จริงๆ แล้ว PlanToys มีความตั้งใจที่จะไปในระดับโลกอยู่แล้ว เพราะในช่วงแรกของการก่อตั้ง ตลาดในประเทศมีประชากรเด็กน้อยมาก ค่านิยมทางการศึกษาที่พ่อแม่มีให้ต่อการเล่นก็ยังไม่ได้เยอะมาก เราจึงปักธงไปที่ตลาดต่างประเทศก่อน จนถึงทุกวันนี้ตลาดต่างประเทศก็ยังเป็นตลาดใหญ่ที่เราส่งออกมากกว่า 97%
ด้วยการมีวิสัยทัศน์แบบนั้นจึงทำให้แผนการทำธุรกิจของเรามุ่งเน้นในแง่ของการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะในด้านของต้นน้ำก็ทำเกือบหมดแล้ว เรามีโรงเลื่อย เราทำโรงงานของเล่น ในอดีตเราอาจจะนิยามตัวเองว่าเป็นแค่ผู้ผลิตและผู้ส่งออก ไม่ได้มีอำนาจในการทำการตลาด แต่ด้วยความกล้าหาญในตอนนั้น เราตัดสินใจไปตั้งออฟฟิศที่อเมริกาในปี 2006 เนื่องจากว่าผู้จัดจำหน่ายเจ้าเก่าของเราเขาจะถอยออกจากตลาด จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะไปเรียนรู้ตลาดด้วยตัวเอง ซึ่งจนถึงตอนนี้อเมริกาและยุโรปก็ยังเป็นออฟฟิศที่เป็นตลาดหลักของเราอยู่
สำหรับตลาดหลักที่ยุโรปและอเมริกาตอนนี้มีสัดส่วนพอๆ กันอยู่ที่ประมาณ 40% ที่เหลือจะเป็นภูมิภาคเอเชียและตลาดไทยนิดหน่อย แต่ตอนนี้เราเริ่มที่จะให้ความสำคัญกับ Emerging Market มากขึ้น ก็เลยเปลี่ยนยุทธศาสตร์โดยเริ่มมีการพาร์ตเนอร์กับประเทศจีน ซึ่งเราเชื่อว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจีนน่าจะเป็นตลาดที่โตที่สุดของเรา เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในจีนเปลี่ยนไปเยอะมาก และเขายังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีก
ส่วนหนึ่งก็ต้องถือว่าเป็นความโชคดีของเราด้วย เพราะสถานการณ์โควิดมันก็ทำให้ตลาดของเล่นโดยทั่วไปโตขึ้น อย่างในอเมริกาเอง ปกติตลาดของเล่นจะโตเฉลี่ยปีละ 2-3% แต่ปีที่แล้วโตขึ้นประมาณ 8% หรือบางเจ้าโตมากถึง 20% ซึ่งน่าจะได้อานิสงส์จากการที่เด็กจะต้องอยู่บ้าน เรียนออนไลน์ที่บ้าน พ่อแม่ก็จะต้องหาของมาเอ็นเตอร์เทนลูกมากขึ้น ทำให้เราเองก็ต้องคิดแผนระยะยาวมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตข้างหน้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ย้อนกลับมาคิดว่า นอกจากธุรกิจขายของเล่น เรายังสามารถขยายอาณาเขตตัวเองไปทำอะไรในน่านน้ำใหม่ๆ ได้อีกบ้าง
เช็กลิสต์การทำธุรกิจ สำหรับคนที่อยากจะใส่เรื่องความยั่งยืนเข้าไปในทุกๆ กระบวนการ
เมื่อ 15 ปีที่แล้ว PlanToys ได้มีการกลับมาทบทวนว่าจุดยืนของตัวเองคืออะไร แล้วเราจะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไร กระบวนการค้นหาตรงนั้นทำให้เรามาเจอกับทฤษฎีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่นำมาประยุกต์ใช้การทำงานของเราได้ดีมาก นั่นคือเรื่องของ 3Ps ได้แก่ Profit, Planet และ People
คีย์เวิร์ดตัวแรกที่สำคัญมากคือ Profit การทำธุรกิจอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดหรือการหาน่านน้ำใหม่ๆ ผมคิดว่าการทำธุรกิจเพื่อผลกำไรนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าคุณไม่มีกำไร คุณก็ไม่สามารถที่จะไปทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคม หรือไปดูแลพนักงานได้ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องทำกำไรสูงสุดเสมอไป
ในแง่ของการปฏิบัติ เรายินดีที่จะจ่ายค่าวัตถุดิบที่แพงขึ้นเพื่อความปลอดภัยของพนักงานและเด็กๆ ด้วยความที่ไม้ยางพารามีโปรตีนค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้นตัวมอดหรือเชื้อราต่างๆ จะขึ้นไม้ได้ง่ายมาก สิ่งที่เราทำคือการอัดน้ำยาเคมีเข้าไปเพื่อเป็นการรักษาไม้ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเคมีที่ปลอดภัย แต่พนักงานของเราจะต้องจับ อาจจะสูดดมอยู่ตลอดเวลา เด็กที่ซื้อไปเล่นเราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาเข้าปากหรือเปล่า ถ้ามันมีทางเลือกการรักษาไม้โดยที่ไม่ใช้สารเคมีเลยมันจะเป็นไปได้ไหม ซึ่งเราก็ทำการศึกษาอยู่นานจนค้นพบวิธีที่สามารถหาทางออกได้
อีกปัจจัยที่สำคัญมากคือเรื่องคน บริษัทของเราให้ความสำคัญเรื่องการสร้างองค์กรให้เปี่ยมสุขมากที่สุด ในอดีตเราเคยมีกรณีศึกษาว่าพนักงานไม่มีความสุขเลย จนต้องเข้าไปตรวจสอบว่ามันเกิดอะไรขึ้น และพบว่าพนักงานของเราไม่กล้ามาทำงานเพราะเขาเป็นหนี้นอกระบบ พอถึงวันเงินเดือนออกคนจะมาทำงานน้อยมาก เพราะว่าเลิกงานปุ๊บจะเจอเจ้าหนี้มารอทวงหนี้อยู่หน้าโรงงาน เราจึงแก้ปัญหาด้วยการส่งเสริมเรื่องของการออม โดยมีการจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อจูงใจให้พนักงานรู้จักออมเงิน และเขาสามารถขอกู้จากเงินออมที่เขามีอยู่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ซึ่งสุดท้ายมันก็จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้นด้วย
แนวคิดในการเลือกคู่ค้าที่เจ้าของธุรกิจควรนำไปเรียนรู้
ต้องยอมรับว่าเราเองก็เปลี่ยนแนวความคิดไปจากในอดีตเยอะเหมือนกัน เพราะในช่วงที่เราต้องการการเติบโตเยอะๆ เราอาจจะไม่ได้มองเรื่องความยั่งยืนสักเท่าไร เราจึงพยายามมองหาพาร์ตเนอร์ที่ใหญ่ไว้ก่อน ซึ่งก็ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าการเป็นหัวสุนัข บางทีอาจจะดีกว่าเป็นหางราชสีห์ เพราะฉะนั้นการหาพาร์ตเนอร์เล็กๆ ที่เขาเข้าใจและให้ความสำคัญในเรื่องเดียวกันกับเรา บางทีอาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า
ธุรกิจของเล่นกับการปรับเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ด้วยคอนเซปต์ที่เราตั้งไว้ว่าอยากจะเป็นบริษัทที่ทำ Sustainable Play หรือการเล่นอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากเรื่องการผลิต วัสดุที่ใช้ และการดูแลคนแล้ว พอเรามาวิเคราะห์ลึกๆ ก็ทำให้เจอ Pain Point ในบางเรื่องว่าจริงๆ แล้วเราใช้เวลาในการผลิตของเล่นนานมาก ใช้ทรัพยากรเยอะมาก แต่สุดท้ายแล้วบางครอบครัวซื้อไปให้ลูกเล่น 1 วันก็เบื่อแล้ว ซึ่งตรงนี้ทำให้เราคิดว่าน่าจะลองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เข้ามา จนเป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียที่ว่า จะเป็นไปได้ไหมที่ของเล่น 1 ชิ้น จะมีเด็กอย่างน้อยสัก 1,000 คนที่มีโอกาสได้เล่นของเล่นชิ้นนั้น เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการยืนยันว่าการเล่นนั้นมันยั่งยืนจริงๆ ไม่ใช่แค่การผลิตที่ยั่งยืน
เพราะฉะนั้นสิ่งที่ปรับจะมีอยู่ 2 เรื่อง ข้อแรกคือเราจะสร้างระบบการเล่นที่ยั่งยืนจริงๆ โดยนำระบบของ Unit System มาใช้ จากที่เมื่อก่อนเราให้อิสระกับความคิดสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์เยอะ คุณจะทำไซซ์เท่าไรก็ได้ เม็ดกลมไซซ์ไหนก็ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วการจัดการทรัพยากรมันค่อนข้างลำบาก การที่จะเอาของเล่นสองชิ้นมาเล่นร่วมกันก็ทำได้ยาก เพราะขนาดมันไม่เท่ากัน ฉะนั้นคอนเซปต์การออกแบบในปีนี้ เราจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น 1+1 จะต้องได้มากกว่า 2 ในการการซื้อของเล่น 3 ชิ้น ลูกของคุณอาจจะสามารถเล่นได้ตั้งแต่ 1-3 ขวบเลยด้วยซ้ำ
อีกข้อหนึ่งคือการที่ PlanToys เองก็ขายสินค้ามานาน แต่ด้วยราคาที่อาจจะสูงกว่าแบรนด์อื่น ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยยังไม่ค่อยเข้าถึงมากนัก เพราะถ้าให้มาซื้อของเล่นมูลค่า 700 บาท เทียบกับการพาลูกไปเข้าคลาสราคา 500-700 บาท พ่อแม่จ่ายเงินอย่างหลังแล้วอาจจะมีความสุขมากกว่า เราจึงกลับมามอง Pain Point ตรงนี้ว่าถ้าอยากให้เด็กมีประสบการณ์การเล่นที่มากขึ้น มันจะมีวิธีการอย่างไรได้บ้าง
เราเลยทำต่อเนื่องมาอีก 2-3 ธุรกิจ เริ่มจากการทำ Play Space ที่กรุงเทพฯ ชื่อว่า Forest of Play เป็นสถานที่เล่นที่เป็นมิตรกับเด็กจริงๆ พ่อแม่สามารถมาแฮงเอาต์ได้ เด็กมาเล่นได้อย่างสนุกสนาน และยังได้พัฒนาการกลับบ้านด้วย ซึ่งตอนนี้เรากำลังทำที่จังหวัดตรังด้วย แต่เป็นการเล่นในป่าจริงๆ เลย เด็กๆ ก็จะได้ประสบการณ์และพัฒนา Skill Set ครบทั้ง 4 ด้าน
และด้วยความต้องการที่อยากจะต่อยอดให้มีการใช้ของเล่นอย่างคุ้มค่ามากที่สุด จึงเป็นที่มาที่ไปของการทำ Toy Library ก็คือธุรกิจให้เช่าของเล่น ซึ่งที่มาที่ไปเกิดจากที่เรามี Play Space ที่กรุงเทพฯ แต่พอโควิดปุ๊บ เด็กๆ ไม่สามารถมาเล่นได้ เราก็เลยคิดว่าลองให้เด็กๆ ยืมกลับบ้านดีกว่า ช่วงแรกๆ ก็ให้ยืมฟรีโดยเริ่มจากชิ้นเล็กๆ ก่อน แต่ก็พบว่าลูกค้าของเรามายืมน้อยมาก เพราะเขาบอกว่ามีของเล่นพวกนี้หมดแล้ว สิ่งที่เขาอยากได้คือของเล่นชิ้นใหญ่ๆ อย่างชุดครัว หรือบ้านตุ๊กตาที่มูลค่าหมื่นกว่าบาท ทำให้เราเริ่มเห็นช่องว่างหรือโอกาสในการทำธุรกิจที่น่าสนใจ
PlanToys จึงพัฒนาบริการใหม่ขึ้นมาเป็น Toy Library โดยเราจะให้ยืมครั้งละ 21 วัน เก็บค่าใช้จ่ายการยืมที่ 10% ของมูลค่าสินค้า แต่ถ้าคุณถูกใจอยากยืมต่อ เราก็จะเก็บแค่ 50% ของราคาสินค้า ซึ่งกระบวนการตรงนี้ มันเป็นการนำคอนเซปต์ของ Circular Economy มาใช้ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการรีไซเคิล แต่เป็นการเพิ่มมูลค่าของโปรดักต์ตัวนี้ต่อได้อีก
ถ้าคุณมีความเชื่อแล้ว สเตปต่อไปคือให้ลงมือทำเลย อย่าคิดมาก เพราะถ้าคิดมากแล้วมันจะไม่เกิด
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจแบบยั่งยืน
ถ้าอยากจะทำธุรกิจให้ยั่งยืนจริงๆ ผมคิดว่าอาจจะต้องกลับไปหาจุดยืนก่อนว่าเราเชื่อในเรื่องนี้หรือเปล่า ถ้าคุณไม่เชื่อ คุณไม่ได้มีแพสชันในการทำ ก็คงจะทำให้มันยั่งยืนได้ยาก แต่ถ้าคุณมีความเชื่อแล้ว สเตปต่อไปคือให้ลงมือทำเลย อย่าคิดมาก เพราะถ้าคิดมากแล้วมันจะไม่เกิด
นอกจากนี้ก็ต้องพยายามให้โอกาสในการเรียนรู้ ลองผิดลองถูก เหมือนกับการทำงานในยุคปัจจุบันที่คุณต้อง Agile มากขึ้น ล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมา เรียนรู้ว่าในสิ่งที่ทำพลาดไปแล้ว คุณจะปรับปรุงมันอย่างไรบ้าง
อย่างการออกโปรดักต์ของ PlanToys เอง เราออกสินค้าใหม่ปีละ 40-50 ชิ้น บางปีก็มีตัวที่ฮิตติดตลาดแค่ 1-2 ชิ้นเท่านั้นเอง แต่เราก็ยังเชื่อว่าการทำแล้วเรียนรู้ ปรับปรุงให้ดีขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าคุณคิดว่ามีมิติไหนของหลักการ 3Ps ที่เราคิดว่าสำคัญแล้วตั้งใจที่จะทำก็ทำได้เลยครับ ไม่ต้องคิดมาก
ถ้าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมในประเทศไทยหันมาสนใจเรื่องของความยั่งยืนให้มากเท่าการทำกำไร ภาพของโลก สังคม และสิ่งแวดล้อม จะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
น่าจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีครับ ถ้าย้อนกลับมามอง เราเองก็เป็นแค่คนที่เกิดมาแล้วจากไป เราแค่มาใช้ทรัพยากรของโลกใบนี้ ผมคิดว่ามันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดว่าจะใช้ทรัพยากรเหล่านี้อย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด ให้มีผลกระทบน้อยที่สุด เพราะเราอยู่บนโลกของคนในอนาคต ถ้าเราไม่มาดูแลตรงนี้ ผมคิดว่าคุณจะสร้างภาระให้กับคนในอนาคต ซึ่งมันก็ไม่แฟร์สำหรับเขาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันยังไม่สายเกินไปที่ทุกคนจะกลับมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ
ผมเชื่อว่าการที่เราดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมมันทำให้เรามีทุกวันนี้ด้วยซ้ำไป ถ้า PlanToys มองแค่การเติบโตอย่างเดียว ไม่มองเรื่องความยั่งยืนเลย แบรนด์ของเราอาจจะไม่ได้มีอายุมาจนถึงวันนี้ก็ได้
ความตั้งใจของ PlanToys คืออยากให้เด็กๆ ที่ได้เล่นของเล่นเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ
เพราะความสุขของผมคือการเห็นเด็กได้เล่นแล้วมีความสุข ได้เรียนรู้ เป้าหมายสูงสุดที่อยากให้ PlanToys ไปถึง เราคงไม่ได้หวังว่าในอนาคตจะไปอยู่ที่จุดไหน แต่เราเชื่อมั่นว่าทุกวันนี้ที่เราทำอยู่ ถ้าเราทำดีที่สุด เราพยายามสร้างความเข้าใจ เปลี่ยนแนวคิด หรือเปลี่ยนวิธีคิดของคนคนหนึ่ง ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งถ้าเราทำได้ แค่นี้มันก็เป็น Small Footprint เล็กๆ ที่เราเชื่อว่าเมื่อเด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาอาจจะเป็นคนที่มีอิทธิพลและสามารถที่จะขับเคลื่อนหรือเปลี่ยนโลกเลยก็ได้
มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องคิดว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไรให้คุ้มค่าที่สุด เพราะเราอยู่บนโลกของคนในอนาคต ถ้าเราสร้างภาระให้กับคนรุ่นต่อไป มันก็คงไม่แฟร์สำหรับพวกเขาเหมือนกัน
Credits
Host อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์, นัทธมน หัวใจ
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Art Director กริน วสุรัฐกร
Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster อารยา ปานศรี
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน