×

ซีอีโอคนที่ 10 ปตท. เมื่อยักษ์ปรับตัวครั้งใหญ่ในรอบ 42 ปี

26.08.2020
  • LOADING...

 

วิกฤตโควิด-19, สงครามราคาน้ำมัน, ดิสรัปชันทางเทคโนโลยี และเทรนด์โลกที่มุ่งเข้าสู่พลังงานทางเลือก ส่งผลให้ ปตท. ต้องเจอกับความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ กัปตันคนที่ 10 จะนำพาเรือลำใหญ่ลำนี้แล่นไปในทิศทางใด

 

เคน นครินทร์ คุยกับ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

 

 

การร่วมมือกับความท้าทาย

ความท้าทายขององค์กรขนาดใหญ่อย่าง ปตท. คือการบริหารจัดการ Stakeholder จำนวนมากไปพร้อมกับมุ่งตรงไปยังการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ในฐานะรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีกฎหมายมาควบคุมมากกว่าบริษัทอื่นๆ

 

วิสัยทัศน์ที่ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ซีอีโอคนล่าสุดของ ปตท. ได้หยิบยกขึ้นมาก็คือคำว่า ‘PTT By PTT’ ที่ PTT คำแรกมาจาก Powering Thailand Transformation ตั้งใจให้ ปตท. เป็นพลังขับเคลื่อนประเทศให้ข้ามพ้นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น Energy Transition จากวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องสังคมผู้สูงอายุ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ส่วนคำว่า By PTT ซึ่ง P หมายถึง Partnership and Platform ซึ่งหมายถึงแนวทางการทำธุรกิจของ ปตท. ที่ไม่จำเป็นต้องเดินคนเดียวอีกต่อไป แต่มองหาเพื่อนร่วมทางที่จะผสานจุดแข็งแล้วเดินไปด้วยกัน อาศัยความเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของ ปตท. เอง เปิดเป็นแพลตฟอร์มให้กลุ่มธุรกิจ SMEs หรือ Startup มาเกาะเกี่ยวและเติบโตไปด้วยกันได้

 

T แรกคือ Technology for All คือการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีด้วยการคิดแบบดิจิทัลบวก Know-How ในธุรกิจนั้นๆ โดยใช้เทคโนโลยีในทุกมิติ ทั้งธุรกิจ กระบวนการผลิต Business Model หรือแม้แต่กิจกรรมเพื่อสังคมเช่นกัน เปลี่ยนจากให้ของ แจกของ เป็นการให้องค์ความรู้ ให้เทคโนโลยี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับสามารถเดินต่อไปได้ด้วยตัวเอง รวมถึงความโปร่งใส เทคโนโลยีก็ช่วยเป็น Early Warning ให้คนที่ทำงานระมัดระวังยิ่งขึ้น

 

T อีกตัวคือ Transparency and Sustainability ความโปร่งใสนั้นไม่ได้มาจากการออกกฎเกณฑ์หรือไล่จับผิด แต่เป็นการสร้างความเข้าใจให้คนในองค์กรตระหนักถึงธรรมาภิบาล เพราะสุดท้ายสิ่งนี้จะสร้างความยั่งยืนให้ทั้งตัวเขาเองและองค์กร โดยนำมาตรฐานสากลเข้ามาผสมผสานความเป็นไทย ด้วยการขมวดหลักการซับซ้อนต่างๆ ออกมาเป็นคำง่ายๆ อย่าง ‘Performance เราต้องเลิศ โลกเราต้องรักษ์ สังคมไทยเราต้องอุ้มชู’

 

เนื่องจากในปัจจุบันเอกชนหลายรายเริ่มเข้มแข็งขึ้น รัฐบาลก็เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้นอกจาก ปตท. จะต้อง Strengthen from Inside หรือแข็งแรงจากข้างในแล้ว ยังต้อง Outside In เปิดรับพันธมิตรใหม่ๆ เข้ามาร่วมงานกันด้วย

 

4R รับมือวิกฤตโควิด-19

ปตท. ใช้วิธีตั้ง PT Group Vital Center ขึ้นมา ให้ทีมผู้บริหารระดับสูงมาร่วมมือกันหาวิธีรับมือ ออกมาเป็นกลยุทธ์ 4R ดังนี้

 

1. Resilience

ความยืดหยุ่น เอาตัวรอดให้ได้ก่อนในเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้ ให้ความสำคัญกับความพร้อมและความปลอดภัย โดยเฉพาะทีมในต่างประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีการตั้งศูนย์พลังใจขึ้นมาดูแลการทำงานอยู่ที่บ้านของพนักงาน และสร้างความมั่นใจเรื่องสภาพคล่องให้นักลงทุนมั่นใจในเครดิตที่ดีตลอดมาของ ปตท. ส่วนบริษัทแฟลกชิปต่างๆ ก็ช่วยกันหาทาง Lean Operation ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เนื่องจากดีมานด์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะน้ำมันเครื่องบินที่หายไปถึง 90%

 

2. Restart

เมื่อกลับเข้าสู่โหมดที่จะกลับมารีสตาร์ทใหม่ เรียกพนักงานกลับมา 80% เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของพนักงาน สื่อสารกับคู่ค้า ติดต่อกับลูกค้าว่าอะไรที่กลับมาทำได้แล้วบ้าง

 

3. Reimagine

มองไปข้างหน้า จินตนาการถึงอนาคตหลังจากโควิด-19 ผ่านพ้นไป พฤติกรรมใหม่ของผู้คนเป็นอย่างไร รูปแบบธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงาน โดยทำ Strategic Thinking Section ร่วมกันทั้งพนักงาน ทีมงาน ผู้บริหารและบอร์ด แนวคิดหลักที่น่าสนใจคือ Digitalization ที่เร่งให้คนคุ้นเคยกับดิจิทัลมากขึ้น ในวงการพลังงานก็มี Prosumer หมายถึง Consumer ที่นอกจากใช้งานแล้ว ก็ยังผลิตและขายพลังงานเองได้ด้วย ปตท. มองว่าตัวเองสามารถเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยจัดการการซื้อขายไฟฟ้ากันได้อย่างสะดวกง่ายดาย เพราะไม่ช้าก็เร็ววงการพลังงานก็ต้องมีแพลตฟอร์มเช่นเดียวกัน

 

4. Reform

ปรับเปลี่ยนองค์กรให้พร้อมสำหรับรูปแบบใหม่ของโลกหลังโควิด-19

 

หัวใจคือความมั่นคงทางพลังงาน

ธุรกิจก๊าซมีกลยุทธ์คือ ยืนให้ได้และรักษาสภาพคล่อง ธุรกิจปิโตรเคมีมุ่งขยายการลงทุนเป็น Specialty ที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆ มาใช้ในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องมือการแพทย์ ฯลฯ มากขึ้น แทนที่จะเป็นคอมมูนิตี้ หรือวัสดุพื้นฐานที่ใช้งานกันทั่วไปเพียงอย่างเดียว ส่วนโรงกลั่นน้ำมันซึ่งความต้องการจะลดลงเรื่อยๆ ในระยะ 30-40 ปี กลยุทธ์คือ Last Man Standing ลงทุนเพื่อที่จะปรับปรุงครั้งใหญ่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากพลังงานแบบ Renewable ในปัจจุบันยังคงต้นทุนสูงกว่าน้ำมัน 

 

โควิด-19 ยิ่งกระตุ้นให้ทุกคนต้องลดต้นทุน ทำให้ยังพอมีเวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ส่วนการเปิดตัวบริษัทธุรกิจน้ำมันและกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) นั้นเน้นมองไปที่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในอาเซียน ในฐานะตัวแทนของคนไทย ซึ่งประสบความสำเร็จแล้วทั้งในลาวและกัมพูชา

 

เมื่อภารกิจของ ปตท. คือความมั่นคงทางพลังงาน ดังนั้นไม่ว่ารูปแบบของพลังงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องปรับตัวตามไปด้วย การที่มี EV มากขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ปตท. มี GPSC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนรองรับส่วนนี้อยู่แล้ว 

 

แนวทางการลงทุนหลังโควิด-19

การลงทุนในกลุ่ม ปตท. ยังมองไปที่การลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในระยะสั้นมีการกลับมาพิจารณาค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างออกไปบ้าง บางอย่างที่บริบทเปลี่ยน ก็มองหาว่าควรจะเสริมตรงไหนเข้าไป อะไรบางอย่างข้างหน้าที่เห็นว่ามันจะไม่เหมือนเดิม จะสะท้อนไปที่นโยบายในการลงทุน ไฮโดรคาร์บอนอย่างถ่านหิน น้ำมัน และแก๊ส เป็นส่วนใหญ่ของการใช้พลังงานโลกอยู่กว่า 80% โดยที่แก๊สจะเป็น Transition ก่อนจะไปถึงพลังงาน Renewable

 

ดังนั้นการลงทุนใหม่ๆ ในเรื่องขุดเจาะ สำรวจ ผลิต ทั้งในและต่างประเทศ จะมุ่งไปที่แหล่งแก๊สมากกว่าน้ำมัน การเตรียมความพร้อมในธุรกิจแก๊ส ทั้ง Value Chain เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็น LNG Hub เพราะนอกจากจะได้เปรียบในแง่ของพื้นที่แล้ว ยังมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับค่อนข้างพร้อม ตอบรับความต้องการในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงแบตเตอรี่ (Energy Storage) ซึ่งเป็น Key Factor ที่จะเร่งให้ Renewable แพร่หลายได้ไวขึ้น โดยในปัจจุบันได้ติดตั้งตัวชาร์จเจอร์ไปแล้ว 30 แห่ง มีเป้าว่าจะติดตั้งให้ครบ 300 แห่ง ภายใน 5 ปี เพื่อสอดรับกับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทคโนโลยีกับความต้องการของผู้ใช้งานนั้นเป็นไก่กับไข่ ขึ้นอยู่กับว่าอะไรจะมาก่อนกัน “เพราะฉะนั้นเราพยายามเป็นไข่ไว้ก่อน จะได้ฟักออกมาได้ทันการเปลี่ยนแปลง” การบริหารจัดการเรื่องพอร์ตในฐานะกลุ่ม ปตท. นอกจากกระจายความเสี่ยงในธุรกิจพลังงานแล้ว ยังกระจายไปยัง Related Business ด้วย เช่น ธุรกิจไลฟ์สไตล์อย่างยา อาหารเสริม ฯลฯ เพื่อตอบเทรนด์ของโลกด้านสุขภาพไปพร้อมกันด้วย สอดรับกับ New S-Curve ประเทศไทย ที่จะเป็น Medical Hub  

 

ธุรกิจกับชุมชน มุ่งสู่อนาคตไปด้วยกัน

ความคาดหวังถึงอนาคตข้างหน้าในมิติของเรื่องธุรกิจ ปตท. ยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นองค์กรซึ่งผลักดันให้ประเทศก้าวข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงและเติบโตไปด้วยกันให้ได้ ส่วนมิติของสังคม อรรถพลคาดหวังว่า อยากให้มีคนรัก ปตท. เพิ่มมากขึ้น ผ่านการดูแลชุมชนควบคู่กันไปพร้อมกับการทำธุรกิจ ตัวอย่างที่เห็นภาพที่สุดคงหนีไม่พ้นพื้นที่ปั๊มน้ำมัน เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านชุมชนสังคมเข้ามาใช้ประโยชน์ การเข้าไปในปั๊ม ปตท. ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำมันเพียงอย่างเดียว แต่เป็น PT Living Community มีร้านกาแฟ ร้านอาหาร สินค้าชุมชนวางขาย เป็นแพลตฟอร์มให้วิสาหกิจชุมชนได้พัฒนาสินค้าของตัวเองและช่องทางการจำหน่ายให้ด้วย รวมไปถึง Business Model ที่ใช้ระบบดีลเลอร์ เปิดโอกาสให้ SMEs ทั่วประเทศกว่า 90% ได้ลงทุนทำปั๊มน้ำมันที่ใช้มาตรฐานเดียวกัน แล้วเติบโตร่วมกัน

 

อยู่กับความเปลี่ยนแปลงอย่าง ปตท.

ปตท. ต้องพบเจอการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นการปิโตรเลียม เป็นบริษัทแรก เป็นรัฐวิสาหกิจแรกที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจมานักต่อนัก ปัจจุบันก็จะเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะต้องพร้อมรับมือไปด้วยกัน ทำงานร่วมกันให้ได้ไม่ว่า Generation Gap จะห่างไกลแค่ไหน เหมือนกับ SPIRIT ขององค์กรที่มาจากคำว่า Strategy, Performance, Excellence ที่เป็นความสามารถของคนในองค์กร และ Respect, Integrity และ Trust ซึ่งเป็นคุณลักษณะในการอยู่ร่วมกัน

          

คิดแบบผู้บริหารในวันที่โลกไร้ความแน่นอน

“ในทุกวิกฤตมันก็มีโอกาสเสมอ การมองแง่บวกเข้าไว้ช่วยได้เยอะในการจัดการความรู้สึกของเรา” ส่วนของการบริหารจัดการ อรรถพลย้ำว่า องค์กรขนาดใหญ่ Stakeholder เยอะนั้น เปรียบเทียบเหมือนคนตัวใหญ่ เลี้ยวซ้ายไปแล้วเห็นทางนี้ชัดขึ้น แต่หัวไหล่อาจจะไปฟาดใครก็ไม่รู้ ต้องรักษาสมดุลไว้เป็นสำคัญ

 

ยอมรับความจริงของชีวิต (Fact of Life) ว่านอกจากจะรับฟังคนรุ่นใหม่แล้ว ก็ต้องไม่ลืมว่าผู้ที่มีอิทธิพลในวงการธุรกิจ ผู้ที่มีอิทธิพลในวงการ Rules and Regulations ยังคงเป็นคนรุ่นก่อน การทำความเข้าใจพวกเขาก็ยังสำคัญเช่นกัน เรียนรู้ที่จะเปลี่ยนไอเดียเขา เพื่อให้เราทำงานง่ายขึ้น

        

“ต้องยอมรับก่อนว่าโลกมันเปลี่ยนไปเยอะ บางครั้งมุมมองจากคนรุ่นเก่าอาจจะใช้ไม่ได้ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเขาจะคอยบอกเสมอว่าวิสัยทัศน์เขาเป็นอย่างไร แต่มีอยู่ปีหนึ่งเขาบอกว่า ปีนี้ไม่มี ขอให้ผู้บริหารไปคุยกับเด็กรุ่นใหม่ โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ คุณต้องไปเปิดรับสิ่งใหม่ๆ”

 

เชื่อมั่นที่จะสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับโลก ให้กับธุรกิจ แต่ Take Concern ให้รอบคอบขึ้น มองความจริงของชีวิตอยู่เสมอ เราจึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์
Social Media Admin สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, ณัฐชัย ตั้งวงศ์วิวัฒน์  

Archive Officer ชริน จำปาวัน 

Music westonemusic.com

Interns ภูมิ ทรงศรีพิพัฒน์, ณัชชา ขอเพิ่มทรัพย์

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising