×

เฮียนพ หมูนุ่ม กับสูตรหมูปิ้งที่หมักด้วยสตอรีในแบบที่ใครก็ก๊อบปี้ไม่ได้

27.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index
00:52 ตอนไหนที่คิดว่าขายหมูปิ้งมันเวิร์ก
13:57 จุดเริ่มต้นของการสร้างโรงงาน
23:19 หมูปิ้งเฮียนพต่างจากเจ้าอื่นตรงไหน
34:53 ชีวิตของเฮียนพทุกวันนี้
40:30 มองอนาคตไว้อย่างไรบ้าง
42:59 ความสุขในการทำงาน  
47:07 The Secret Sauce ของ เฮียนพ หมูนุ่ม

เฮียนพ หมูนุ่ม จากชายที่จบการศึกษาเพียง ม.3 ฝ่าฟันความยากลำบากมาสารพัดงานจนเข้าสู่วงการหมูปิ้ง และเป็นเจ้าพ่อตัวจริงของเมืองไทย เขามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร การสร้างโรงงานสำคัญแค่ไหน กลัวคนอื่นก๊อบแบรนด์ไหม และทำอย่างไรจึงยืนระยะมาได้ถึง 10 ปี

 

เคน นครินทร์ คุยกับ เฮียนพ-ชวพจน์ ชูหิรัญ ถึงการขยับขยายกิจการ สร้างแบรนด์ และการทำธุรกิจแบบเน้นๆ

 

(หากคุณยังไม่ได้ติดตามเรื่องราวชีวิตของเฮียนพในตอนแรก เข้าไปฟัง/อ่านก่อน ได้ที่ เฮียนพ หมูนุ่ม ทางชีวิตที่ไม่มีเส้น ก่อนจะมาเป็นเจ้าพ่อหมูปิ้ง 200 ล้าน)


จุดเปลี่ยนสำคัญ

หลังจากได้สูตรหมูปิ้งและหมักหมูเสียบไม้ขายกับน้องสาว เฮียนพเริ่มไปแนะนำให้ป้าที่ขายไอศกรีมอยู่หน้าโรงเรียนหอวังลองขายหมูปิ้ง เผื่อเด็กนักเรียนหิวจะได้ซื้อใส่กระเป๋าไปกินที่โรงเรียน ป้าคนนั้นก็เชื่อและลองขายจนมีผู้ปกครองมากินแล้วชอบ พอชอบมากๆ เข้าเขาก็ลองสั่งหมูปิ้งของเฮียไปขายเองบ้าง ปรากฏว่าผู้ปกครองคนนี้ขายดีมาก สั่งหมูปิ้งตลอด ตอนนั้นเฮียนพได้เงินสดกลับบ้านทุกวัน วันละ 4,000 บาท เฮียทำบัญชีไม่เป็น ไม่เคยติดเครดิตใคร สั่งซื้ออะไรมาก็จ่ายเงินสดเลย มันดีตรงที่พอจ่ายหมดแล้ว เราได้รู้ว่าวันนั้นเหลือเงินเท่าไร

 

ตอนเริ่มธุรกิจหมูปิ้งจริงก็ลุยเองแบบบ้านๆ ไปแถวดอนเมือง จ้างทำสติกเกอร์ ‘หมูปิ้งปากเกร็ด’ (ยังไม่กล้าใส่ชื่อตัวเอง) พ่วงด้วยเบอร์โทรศัพท์ ไปขอติดตามรถสองแถว รถแท็กซี่ ตู้โทรศัพท์ ก็มีคนโทรมาบ้าง หรือบางทีขับรถผ่านที่ไหน เห็นใครมีแผงขายอาหารปิ้งย่างก็เอาหมูปิ้งไปเสนอ พยายามเอาข้อดีของสินค้าเราไปโน้มน้าว “หมูปิ้งไม่ต้องมีผักแนม ไม่ต้องทำน้ำจิ้ม ขายคู่กับข้าวเหนียว ได้กำไรดี” เราเอาสิ่งนี้ไปพูดกับพ่อค้าแม่ค้า บางคนที่เชื่อก็สั่งไปขายแล้วติดใจ เขาก็กลับมาสั่งเราใหม่อยู่เรื่อยๆ

 

น้ำจะท่วมก็ขาย ม็อบสีอะไรก็ขาย

ปี 2554 กลุ่มแม่บ้านตำรวจที่เคยขายหมูปิ้งประจำหยุดร้านกันหมด เพราะกลัวน้ำท่วม เฮียนพเป็นเจ้าเดียวในละแวกนั้นที่ไม่หยุด เพราะเห็นโอกาสในการขาย ใครเรียกให้ไปขายที่ไหนก็ไปหมด เอาง่ายๆ เฉพาะแค่งานม็อบทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงขายได้วันละเป็นหมื่นไม้ ไหนจะกลุ่มร่วมด้วยช่วยกัน กลุ่ม จส.100 ที่สั่งสินค้าเราไปแจกชาวบ้านที่โดนผลกระทบจากน้ำท่วม เรียกได้ว่าขายดีจนทำไม่ทัน

 

ช่วงนั้นเฮียนพเอาเงินสดหยอดตู้ทุกวัน หลับหูหลับตาทำงาน ไม่เคยเช็กยอดรวมว่าเก็บได้เท่าไร จนถึงวันที่ตัดสินใจจะซื้อรถใหม่ มาดูอีกทีพบว่ามีเงินอยู่ในธนาคารประมาณ 3 ล้านกว่าบาท อิ่มเอมใจมาก ตั้งใจเอาเงินไปไถ่ที่ที่เคยโดนยึดก่อน หลังจากนั้นก็ไปซื้อที่ดินแปลงใหม่ แล้วค่อยซื้อรถกระบะเพื่อทำมาหากินต่อ

 

ขยายกิจการจนต้องสร้างโรงงาน

ปี 2555 ทางสถานีตำรวจปากเกร็ดเริ่มเรียกไปคุย เพราะใช้พื้นที่เขาทำมาหากินมาหลายปี ประกอบกับเริ่มมีนักธุรกิจมาเจรจาอยากเอาสินค้าเราไปกระจายขายส่งให้ปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ เขาต้องการจำนวน 30,000-40,000 ไม้ต่อวัน แต่เฮียยังไม่มีบริษัท ไม่มีเครดิต ไม่มีเงินสำรองหลายล้าน เขาเลยไม่มั่นใจว่าจะผลิตได้ไหม เฮียนพจึงขอต่อรองด้วยสัจจะของตัวเอง บอกไปว่าขอให้ค่อยๆ สั่งสินค้าเรา เราจะส่งให้ได้วันละ 20,000 ไม้ ค่อยๆ ส่งจนเกิดเป็นความเชื่อถือ เฮียตั้งใจทำให้ได้ตามสัญญา วันไหนตอนเช้าส่งได้แค่ 15,000 ไม้ ตอนเย็นเราต้องรีบตามไปส่งอีก 5,000 ไม้ ต้องทำ ทำให้สำเร็จ

ถ้าเราอยากรวย เราต้องง้อคน แต่ถ้าอยากจน เราไม่ต้องไปง้อใคร

เฮียนพมีเงินในบัญชีอยู่ 5 ล้านบาท เลยไปดูที่ใกล้ๆ สถานีตำรวจปากเกร็ด กะว่าจะซื้อมาทำเป็นโรงงาน แต่ปรากฏว่าราคามันอยู่ที่ 5.5 ล้าน เฮียนพเลยไปขอติดเงินร้านขายเนื้อหมูที่ซื้ออยู่เป็นประจำ เพราะเขาเชื่อใจ จึงมีเงินมาซื้อที่ได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นไม่มีเงินมาทำโรงงานหรอก ไปเรียกช่างก่อสร้างมาทำ บอกช่างไปว่าวันไหนเฮียมีเงินก็มาทำ วันไหนไม่มีเงินให้ก็ไปรับงานที่อื่นแล้วกลับมานอนที่นี่ได้

 

ตอนไปจดทะเบียนสร้างโรงงานเขาก็ขำกันนะ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ไม่รู้ต้องตั้งชื่อว่าอะไรดี สุดท้ายได้จดมาว่า ‘โรงงานทำหมูเสียบไม้’

 

กลุ่มลูกค้าของ เฮียนพ หมูนุ่ม

1. พ่อค้าแม่ค้าทั่วไป กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้ตั้งใจทำให้เป็นธุรกิจจริงจัง

 

2. ตัวแทนจำหน่าย นำสินค้าไปวางกระจายตามจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยเพื่อให้เข้าถึงคนหลากหลายพื้นที่มากขึ้น

 

3. ร้านที่อยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง เราเป็นเจ้าแรกที่ไม่กำหนดแฟรนไชส์ ไม่บังคับให้ผู้ซื้อต้องติดแบรนด์เรา สามารถไปติดเป็นชื่อแบรนด์ของเขาได้เลย และช่วงหลังมาเราเริ่มรับจ้างผลิตด้วย บางคนอาจบอกว่าสูตรหมูปิ้งของเฮียนพไม่อร่อยถูกปาก ถ้าเขามีสูตรดั้งเดิมของตัวเองอยู่แล้ว โรงงานเราก็ยินดีผลิตตามสูตรของเขาให้

 

4. Modern trade หรือกลุ่มห้างสรรพสินค้า เป็นการขายส่งในทีละจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นรายได้ 60% ในตอนนี้ เพราะมันเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วทุกจุดของประเทศไทย  

 

แนวคิดในการแบ่งกลุ่มลูกค้า

ทุกอย่างเริ่มต้นจากการไปเห็นปัญหา อย่างพ่อค้าแม่ค้าที่รับสินค้าของเราไปปิ้งขายในย่านต่างๆ อย่างเก่งขายได้เต็มที่ช่วงเช้าก็วันละ 2,000 ไม้ ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลาและกำลัง เราเลยลองเสนอให้เขารับหมูปิ้งไปขายส่งเพื่อเพิ่มรายได้ จนสุดท้ายก็เกิดเป็นตัวแทนจำหน่าย

 

เรื่องที่เราไม่กำหนดติดแบรนด์เฮียนพหมูปิ้งมาจากคนที่รับไปขายส่งกลัวว่าผู้ซื้อรู้แหล่งแล้วจะไม่ซื้อที่เขา แต่ตรงมาซื้อที่โรงงานด้วยตัวเอง เลยแนะนำให้เขาเอาหมูเฮียนพไปติดเป็นแบรนด์ตัวเองได้เลย เพื่อให้ได้ทั้งขายปลีกและขายส่ง

 

ตอนแรกมีแค่ 3 กลุ่ม แต่สุดท้ายกลุ่มที่ 4 ก็เพิ่มเข้ามา เฮียนพคิดว่าตลาด SMEs ไทยไม่ค่อยเติบโต เพราะมันมีเกิดการลอกเลียนแบบ ปีแรกที่ทำธุรกิจคุณอาจได้เงิน แต่หลังจากที่สินค้าได้รับความนิยม เริ่มมีการลอกเลียนแบบ ผลสุดท้ายของล้นตลาด เจ้าแรกก็ไปต่อไม่รอด ดังนั้นทุกธุรกิจควรเดินเข้าหากฎหมาย ทำสินค้าให้มีมาตรฐาน สร้างโรงงานผลิตจริงจัง กระจายสินค้าให้เข้าถึงทุกกลุ่ม ถ้ามัวแต่ขายอยู่แค่ 3 กลุ่มแรกจะไม่เติบโต เพราะมันไม่เป็นสากล สินค้าต้องมี อย. รับรอง เพราะเวลาเราเอาสินค้าไปวางตาม Modern trade เขาไม่คุยกับเรา แต่จะคุยกับนิติบุคคล ทุกอย่างจึงต้องตรวจสอบได้

หมูปิ้งของเฮียนพต่างจากเจ้าอื่นอย่างไร

ถึงแม้หมูปิ้งจะเป็นสินค้าสะดวกซื้อ แต่เฮียนพทำให้มันมีมาตรฐานเพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภค คนกินต้องรู้ว่ากำลังกินหมูที่มาจากแหล่งไหน สิ่งเหล่านี้ทำให้หมูปิ้งของเฮียนพแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ทุกอย่างที่พิสูจน์ได้ของเราทำให้เริ่มมีกลุ่มลูกค้าเจ้าใหญ่เข้าหา หรือมีสื่อมาขอสัมภาษณ์

 

นอกจากมาตรฐานที่สำคัญ การตลาดก็เป็นสิ่งที่ต้องไปคู่กัน หมูปิ้งของเฮียนพอาจไม่ใช่หมูปิ้งที่อร่อยที่สุด การมี อย. ไม่ได้ทำให้สินค้าเราอร่อยกว่าเจ้าอื่น แต่สิ่งที่เรามีคือแบรนด์ คนกินหมูปิ้งบางคนเพราะศรัทธาการต่อสู้ของเฮียนพ


สุดท้าย อายุของธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ บางคนขายก๋วยเตี๋ยวแค่ 2 เดือน แต่อยากขายดีเหมือนร้านในเยาวราชที่ขายมา 50 ปี มันเป็นไปไม่ได้ ธุรกิจต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านปัญหามามากมายจึงมีวันนี้ได้ จริงๆ ใครที่มีเงิน 5-10 ล้านก็ทำโรงงานหมูปิ้งแบบเฮียนพได้ ทำให้ดีกว่าก็ยังได้ แต่สิ่งที่เขาจะตามเฮียนพไม่ทันคืออายุและเรื่องราวของแบรนด์

 

ชีวิตเจ้าของโรงงานหมูปิ้งในทุกวันนี้

เฮียนพยังนอนแค่วันละ 3-4 ชั่วโมง มีบ้านเอื้ออาทร แต่ไม่ค่อยได้กลับไป นอนที่โรงงานเลย สะดวกกว่า เป็นห้องทำงานเล็กๆ มีห้องน้ำในตัว เวลาหิวก็สั่งข้าวกล่องกินเหมือนคนทั่วไป

บางคนถามว่าทำไมเฮียนพไม่ไปซื้อบ้านเดี่ยวหรือที่อยู่อาศัยให้สะดวกสบาย เฮียมักตอบกลับว่า จริงๆ บ้านใหญ่โตมันก็เป็นเรื่องดี แต่สำหรับเฮีย บ้านใหญ่แต่นอนไม่หลับมันก็แค่นั้น เราแค่อยากได้ความสุขจากการหลับจริงๆ ก็เพียงพอ

ความสุขในการทำงาน

1. เรื่องธุรกิจ ความสุขที่ได้เป็นเจ้าของกิจการ ได้ตัดสินใจเอง แก้ปัญหาเอง

 

2. เรื่องความรับผิดชอบ ทุกวันนี้ขายหมูได้เยอะๆ มันเป็นการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ เหมือนเอาชีวิตเขามาต่อชีวิตเรา เลยตั้งใจทำบุญ สร้างโครงการเรื่องเด็กกำพร้า และบริจาคต่างๆ อยู่ตลอด

 

3. เรื่องการได้ช่วยเหลือคนอื่น เฮียนพดีใจที่ได้ให้งานคนอื่นทำ พ่อค้าแม่ค้ามีเงินผ่อนรถ ผ่อนบ้าน เด็กๆ ที่มาอยู่กับเราได้มีหน้าที่การงานที่ดี ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง


ฟังรายการ The Secret Sauce พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 


Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest ชวพจน์ ชูหิรัญ

 

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising