×

โควิด-19 คือจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมพลังงาน มอง New Normal กับสมโภชน์ พลังงานบริสุทธิ์

08.05.2020
  • LOADING...

ท่องไปในโลกอนาคต โลกที่เป็นไปได้ โลกแห่งนวัตกรรมและวิศวกรรมสุดล้ำ กับ สมโภชน์ อาหุนัย แห่งพลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA

 

อีก 1 ใน 20 ผู้บริหารที่ได้รับจดหมายจากนายกรัฐมนตรี คุยเรื่องโปรเจกต์ช่วยชาติในนามกลุ่ม ‘ช่วยกัน’ ที่ปั้นแอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ ซึ่งตั้งใจให้เป็นโควิด-19 วีซ่าที่จะช่วยเราใช้ชีวิตใน New Normal ได้อย่างปลอดภัย

 

ทำไมเขาจึงเชื่อว่าโควิด-19 คือ ‘โอกาส’ ที่ดีที่สุดของประเทศไทยในการไล่กวดประเทศอื่นๆ อะไรคือโอกาสของประเทศไทยในการวิ่งแข่งในโลก New Normal

 

จากจดหมายที่นายกรัฐมนตรีส่งถึง 20 มหาเศรษฐี คุณจะทำอะไรบ้าง

เริ่มอย่างนี้ก่อน ถ้ามองกลับไปประมาณ 2 เดือนที่แล้ว ตอนที่โรคระบาดมันเริ่มขึ้น เราก็เริ่มคิด Scenario ขั้นแรก เราคิดก่อนว่ามันจะเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่น Worst Scenario เกิดระบาดคล้ายๆ ประเทศสเปนหรืออิตาลี แล้วอะไรบ้างที่จะทำให้เราเดือดร้อน แล้วก็ไปดู Scenario อื่น เช่น ถ้ามันยืดเยื้อจะเป็นอย่างไร หรือเราเจอวัคซีนเร็วๆ เรารู้วิธีการรักษาเร็วๆ 

 

เราก็เริ่มดูว่าแต่ละ Scenario จะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่เราควรจะต้องมีหรือสิ่งที่เราควรจะต้องทำมีอะไรบ้าง พอเราทำ Gap Analysis ในเวลานั้นเสร็จว่าแต่ละ Scenario เป็นอย่างไร เราต้องการ Resource อะไรบ้าง ความร่วมมืออะไรบ้าง เราจะเริ่มลิสต์ลงมาในรายละเอียดได้ เราจะเริ่มรู้แล้วว่าของแต่ละชิ้นหรือ Resource แต่ละเรื่องที่เราต้องทำ เราต้องการอะไรบ้าง ประเภทไหน พอเรามองเห็นภาพนี้ มันใหญ่มาก EA คนเดียวหรือผมคนเดียวทำไม่ได้แน่นอน ก็เลยเป็นที่มาว่าเริ่มไปชวนคนที่รู้จัก คนที่เป็นพันธมิตรเรามาร่วมกันทำงาน เอา Expertise มาช่วยชาติกัน ก็เลยเป็นที่มาของการตั้งกลุ่ม ‘ช่วยกัน’ ขึ้นมา 

 

คุณไปชวนใครมาบ้าง แบ่งส่วนกิจกรรมเป็นกี่แบบ มีอะไรบ้าง

จริงๆ เรามองเป็นเรื่องเครื่องมือก่อน เครื่องมือสำหรับระบบสาธารณสุขมีฮาร์ดแวร์อะไรบ้าง แล้วถ้าเกิดการระบาดขึ้น มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น อะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่จำเป็น ในช่วงเวลานั้นผมได้ไปสำรวจหาอุปกรณ์ต่างๆ ในตลาด แล้วก็พบว่ามีของหลายชิ้นที่ถึงเรามีเงินก็ไม่มีโอกาสได้ซื้อมัน เพราะการระบาดครั้งนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยประเทศเดียว มันเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะฉะนั้นทุกคนแย่งกันซื้อของ เราก็ต้องนั่งคิดแล้วใช้สมองว่าเราจะใช้ปัญญาของเราไปทำอย่างไรที่จะเอาของที่คนอื่นอาจจะมองไม่เห็นเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์แล้วมาดัดแปลง

 

กลุ่มที่สองจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกัน เช่น จะทำอย่างไรให้คนติดเชื้อลดลง ไม่ใช่นั่งรอให้คนระบาดเข้ามาอย่างเดียว ซึ่งถ้าเกิดคนไม่ติดเชื้อ สถานการณ์ของทางสาธารณสุขเราก็จะดีขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วประเทศไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นหนึ่งในระดับท็อปๆ ของโลก เพราะฉะนั้นตรงนี้คุณหมอเขาคิดได้ เขาวางแผนอย่างดี วิธีการของเราก็คือต้องเริ่มเข้าไปดูว่าเราควรจะไปช่วยเขาก่อนที่จะมาหาคุณหมอไหม ก็เริ่มไปคิดเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ อีกเหมือนกัน แต่เป็นอุปกรณ์อีกกลุ่มหนึ่งที่ใช้สำหรับประชาชนหรือคนไทยทั่วไป

 

อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นกลุ่มนอกโรงพยาบาล จะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เขามีสุขภาพที่ดี จะทำอย่างไรให้เขารู้ให้ได้ว่าอะไรที่เสี่ยงหรือไม่เสี่ยง อันนี้คืออีกกลุ่มหนึ่งที่เราเข้าไป… ก็คือหลังจากที่เขารู้ตัวเองว่าเขาเสี่ยงหรือไม่เสี่ยง เขาต้องมีอุปกรณ์อะไร มีอาวุธอะไรติดตัวเพื่อให้ไม่เสี่ยง ที่เหลือก็คือสิ่งแวดล้อม เราจะจัดการอย่างไรให้รู้ได้ว่าเขาเดินไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างไร เขาไปอยู่ใกล้กับคนที่เสี่ยงหรือไม่ อันนี้ก็เป็นโปรแกรม ‘หมอชนะ’ ที่เราคิดว่าถ้าเกิดสงครามยังไม่จบ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเวลาเราเดินออกไปข้างนอก เราเสี่ยงแค่ไหน เราจะใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไร ถ้าเราไม่มีโปรแกรมตัวนี้ เหมือนเราเป็นคนตาบอด ออกไปทุกวัน เราไม่รู้ว่าความเสี่ยงอยู่ที่ไหน แต่ถ้าเรารู้ เราออกไปปั๊บ เราจะรู้ว่าถ้าเราไปตรงนี้ เราอาจจะเสี่ยงมากกว่าเราไปตรงนี้ เราก็มีสิทธิ์เลือกว่าเราอาจจะไปที่ที่เสี่ยงน้อยกว่า 

 

อันนี้ก็เป็นการป้องกันและป้องปรามโดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปติดเชื้อ เราเองรู้ตัวว่าถ้าเราเสี่ยงมาก เราก็คงไม่อยากไปอยู่ใกล้ครอบครัวที่เรารัก พ่อแม่ หรือคนที่เรารัก เพราะฉะนั้นตัวเราเองก็จะแยกออกมาจากจุดที่เราจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน อันนี้มันเป็นการ Proactive มองไปข้างหน้า ทำให้คนช่วยกัน 

 

สุดท้าย Post-COVID ก็คือเรื่องวัคซีน หรือแม้กระทั่งเรื่อง Quick Test ถ้าเราไม่มีอุปกรณ์ก็จะไม่รู้ว่าเราป่วยหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผมเองก็จะเข้าไปในส่วนนี้ด้วย เรื่องการวิจัยวัคซีนเราก็เข้าไปลงทุนร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เขามีความรู้ความสามารถเรื่องนี้ เราก็เลยจะเข้าไปซัพพอร์ตเขา ถ้าเราสามารถที่จะผลิตสิ่งเหล่านี้ออกมาได้ มันก็จะทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขสูงจนเกินไป

 

แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว คุณอยากให้มีผู้ใช้เป็นวงกว้างขนาดไหน

แอปพลิเคชันจะใช้ในการ Tracking, Tracing และ Causing อยากจะรู้ว่าเราไปไหนมา เราไปใกล้ใคร แล้วก็เวลาใครคนใดคนหนึ่งเกิดติดเชื้อขึ้นมา เราจะได้รู้ว่าเราไปสืบสวนหรือไป Identify ใคร แต่ส่วนที่เราเน้นจริงๆ คือการเปิดเมือง เปิดเศรษฐกิจ เพราะว่าถ้าเราเอา Information มาใช้เพียงแค่ตอนที่ใครคนใดคนหนึ่งมีปัญหาหรือติดเชื้อ มันก็แค่จัดการกลุ่มนี้ แต่มันไม่ได้ช่วยสังคมที่เหลือว่าจะอยู่กันอย่างไร ผมเปรียบเทียบกับ Google Maps ถ้าเราเอามันมาเป็นเพียงแผนที่ อยู่บนถนนเราขับรถไป เราก็จะรู้ว่าเราวิ่งไปไหน

 

ถ้าเราเก็บข้อมูลว่าเราวิ่งไปไหน เราใกล้ใคร เราวิ่งบนถนนนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์ต่อสังคม แต่ถ้าเราเอาข้อมูลของทุกคน โดยที่เราไม่รู้ว่าเขาคือใคร แค่รู้ว่ามีรถคันหนึ่งอยู่ตรงถนนรัชดาภิเษก มีรถอยู่ตรงนี้เป็น 1,000 คัน พอรถ 1,000 คันไม่เคลื่อน มันเลยเป็นสีแดงขึ้นมาให้เรารู้ว่าแถวนี้รถติด เราไม่ควรจะไปแถวนี้

 

เหมือนกันเลยครับ แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ สิ่งที่เราทำก็คือเอาข้อมูลของแต่ละคนมาประมวลในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์ เทียบกับ Google Maps ก็คือพื้นที่นี้มีคนที่มีความเสี่ยงเยอะๆ อยู่กี่คน อย่างนี้เสี่ยงไหม ถ้าเสี่ยงแล้วเราควรจะเข้าไปหรือเปล่า หรือมีโปรแกรมตัวนี้เข้าไปเรารู้ว่าแต่ละคนเสี่ยงอย่างไร เราอาจจะบอกได้ว่าถ้าเราไปโรงเรียน แล้วถ้าเราเสี่ยงเยอะ โรงเรียนเขาจะได้รู้ตัวว่าถ้าคุณเสี่ยงมากๆ ทำไมคุณไม่เรียนออนไลน์ แล้วคนที่เสี่ยงน้อยก็เข้ามาเรียนในคลาสได้ 

 

แอปพลิเคชัน ‘หมอชนะ’ เราไปมองในกิจกรรมอย่างนี้ วันนี้เราติดเชื้อกันอยู่ 3,000 คน แต่เรากำลังทำให้คนอีก 70 กว่าล้านคนโดนล็อกดาวน์หมดเลย เราจะทำอย่างไรให้คนที่มีความเสี่ยงกลุ่มนี้มีผลกระทบกับคนอีก 70 ล้านคนให้น้อยที่สุด

 

อะไรคือสิ่งที่คุณรู้สึกว่ายังขาดอยู่และอยากให้มาช่วยกัน 

ความคิด ไอเดียที่จะมามองในโลกใหม่ที่เรียกว่า New Normal คือกลับมาใช้ชีวิตให้ได้ก่อน หลังจากนั้นต้องคิดต่อว่าแล้วใช้ชีวิตอย่างนี้เราจะโตอย่างไร อันนี้สำคัญกว่า ถ้าเราจะโตได้ในสิ่งแวดล้อมนี้ เราต้องการคนที่มีความรู้ความสามารถอีกเยอะ เราต้องการคนที่มีไอเดีย เรื่องการสนับสนุนจากรัฐบาล ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันของคนไทยทั้งหมดที่จะมาทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม เอาวิกฤตอันนี้ให้เป็นโอกาสของประเทศไทย ผมว่าทั้งโลกตอนนี้กำลังทึ่งประเทศไทยที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีมาก ทุกคนวันนั้นคิดว่าเรา Outbreak แล้ว เราดึงตัวเลขออกมาอย่างนี้ได้เพราะอะไร เพราะเรามีหมอที่เก่งมาก ทุกคนเห็นประเทศไทยเป็นประเทศสบายๆ ไม่มีระเบียบ ทำอะไรก็ได้ตามสบาย แต่พอเกิดวิกฤตขึ้นมา ทุกคนตกใจว่าทำไมคนไทยถึงมีความรับผิดชอบ ช่วยเหลือกัน อันนี้เป็นเอกลักษณ์ของคนไทย ซึ่งผมมองว่าเป็นจุดเด่นและจุดแข็งของเรานี้ เราต้องร่วมมือกัน ทำคนเดียวทำไม่ได้ แล้วก็เลิกคิดว่าผมดีกว่าคุณ คุณดีกว่าผม ผมว่าสังคมไทยตอนนี้ต้องเลิกคิดสิ่งเรานี้ ต้องเริ่มคิดว่าเราจะไปด้วยกัน เราจะดีด้วยกันได้อย่างไร เราจะใช้โอกาสนี้ทำให้ประเทศชาติหรือสังคมและพวกเราเจริญได้อย่างไรในขณะที่คนอื่นเขายังเดือดร้อนอยู่

 

อะไรคือสิ่งที่ประเทศไทยควรจะมอง หรือโอกาสในวิกฤตที่เราจะสามารถวิ่งนำคนอื่นได้ 

ธีมหลักก็คือเรื่อง Healthcare เรื่องเกี่ยวกับสาธารณสุขที่เราแข็งแรง เรามีสังคมที่มีประสิทธิภาพ เรามีโรงพยาบาลที่เก่งๆ เยอะแยะ โรงพยาบาลเอกชนก็แข็งแรง ถ้าทำตรงนี้ได้ดีมันอาจจะเป็น New Normal อีกอันหนึ่งที่เกิดขึ้นก็ได้ Tourism อาจจะเป็น Hospital Tourism ที่แข็งแรงขึ้นมาก็ได้ ซึ่งมันโยงกลับไปที่ทุกอย่างเลย ความบันเทิง พลังงาน การจัดการต่างๆ ทุกธุรกิจ นี่คือเรื่องจริงที่เปลี่ยนไป เอาปัจจัยเหล่านี้กลับไปคิดใหม่ สิ่งแวดล้อมกลับไปคิดใหม่ อย่าไปหลงระเริงหรือกลับไปมองในสิ่งที่มันระยะสั้น

 

อย่างเช่นเรื่องน้ำมัน คุณบอกว่าน้ำมันราคาน้ำมันลดลง ถามจริงๆ เถอะ มันจะอยู่อย่างนี้ได้นานสักเท่าไร ผมว่าคุณเดินไปถามผู้เชี่ยวชาญเป็นร้อยคนเลยนะ ผมว่าหนึ่งคนก็ไม่มีใครกล้าพูดว่าน้ำมันจะอยู่ในราคานี้ ทุกคนพูดร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าน้ำมันขึ้นแน่นอน แต่เวลาการตัดสินใจของเรา เราไปมองว่าน้ำมันราคาอย่างนี้ เราไม่ทำนี่ อุตสาหกรรมนี้เรากำลังตกเป็นเครื่องมือหรือเกมของเขาหรือเปล่า 

 

ถ้าเรามองภาพใหญ่ออก เรารู้เทรนด์ สังคมดิจิทัลมันมาแน่ๆ แม้กระทั่งอุตสากรรมทางการเงินที่เราเรียกว่า Fiat คือใช้ธนบัตร ธนบัตรนี่คือพาหะของการติดเชื้อเลย เพราะว่ามีการพิสูจน์มาแล้วว่าเชื้อโควิด-19 อยู่ที่ธนบัตรได้หลายวันเลย เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่เปลี่ยนสังคมจาก Fiat มาเป็น E-money เราจะลดปัญหาเรื่องโรคระบาด เราลดต้นทุนของระบบในการรักษาธนบัตรของทั้งระบบได้ หรือแม้กระทั่งวันนี้เราเริ่มไม่ไปกินข้าวข้างนอก เราสั่งอาหารมากิน เคยรู้ไหมว่าเวลาสั่งแล้วเราคิดว่าเซฟ แต่คนที่ซื้ออาหารมาส่งให้เรา เขาอยู่ในระยะเพาะเชื้อหรือเปล่าเราก็ไม่รู้ แล้วเขาก็ไปหยิบถุงพลาสติกมาให้เรา ถุงพลาสติกเชื้อก็อยู่ได้เป็นวันๆ สิ่งเหล่านี้ถ้าเราคิดเข้าไปลึกๆ เราอาจจะเจอ Business Model ใหม่ๆ อาจจะเกิดสตาร์ทอัพใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ แล้วเราอาจจะเป็นยูนิคอร์นในประเทศไทย  

 

ถ้าเราเอาสิ่งเหล่านี้มาคิดให้เป็นระบบแล้วมาดูว่าเรามีทรัพยากรอะไรบ้าง มาช่วยกัน ผมเก่งเรื่องนี้ คุณเก่งเรื่องนั้น มาทำอันนี้ เราเป็นพันธมิตร โดยรัฐเข้ามาสนับสนุน มันจะเป็นการเปลี่ยนแปลง วิกฤตครั้งนี้จะกลายเป็นโอกาสของประเทศไทยแทน

 

เหตุการณ์โควิด-19 เกิดผลดีกับกลุ่มธุรกิจพลังงานทางเลือกถูกไหม 

มีทั้งดีและไม่ดีในระยะสั้น ที่ไม่ดีเพราะว่าโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั้งโลกชะลอตัว การล็อกดาวน์ทำให้การบริโภคพลังงานลดลง มันมีผลกระทบกับทุกอุตสาหกรรม พลังงานทางเลือก เมื่อก่อนประสิทธิภาพและความสามารถมันสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนมันถูกลง โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าราคาพลังงานที่เป็นฟอสซิลมันอยู่ตรงนี้ พอวันดีคืนดีราคาฟอสซิลมันลงมาอยู่ตรงนี้ Relative Advantage มันหายไปบางส่วน ผมไม่ได้บอกว่ามันหายไปหมด เพราะฉะนั้นเราต้องดูให้ได้ว่าที่มันหายไปมันชั่วคราวหรือระยะยาว

 

อีกอย่างหนึ่งคนเราชอบเปรียบเทียบแค่เรื่องจำนวนเงิน ตัวเลข แต่ไม่ได้พูดถึงคุณภาพชีวิต ซึ่งวันนี้ผมกล้าพูดได้เลยว่าถ้าเรามองไปข้างนอก ก่อนหน้ามีโควิด-19 เรามีปัญหาเรื่อง PM2.5 วันนี้เราลองมองไปบนท้องฟ้ากรุงเทพฯ สิครับ มันพิสูจน์ชัดเจนว่าต้นเหตุของ PM2.5 มาจากอะไร เพราะถ้าเกิดเรารวมเอาสิ่งนี้ใส่เข้าไปในสมการว่าอะไรมันถูกกว่าอะไร PM2.5 เข้าไปในร่างกายเรา เรากำจัดมันไม่ได้ มันคือการตายผ่อนส่ง คำถามว่าราคาน้ำมันเท่านี้บวกกับราคาตายผ่อนส่ง ถามว่ามันถูกกว่าหรือแพงกว่าการที่ใช้พลังงานสะอาด

 

สมการของเราจะต้องเปลี่ยนหรือมีตัวแปรใหม่ๆ เข้าไป 

ผมคิดว่าเมื่อก่อนการที่เราไม่ได้ไปนับสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุน เช่น เมื่อก่อนน้ำเสีย ปลาตาย น้ำเน่า อย่างนี้ไม่ใช่ต้นทุน ผมว่าสังคมมันเปลี่ยนคอนเซปต์ตรงนี้ไป พอเปลี่ยนตรงนี้ไป ผมก็ยังเชื่อว่าพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด อย่างไรก็ต้องมา เพราะว่าเดี๋ยวนี้หันไปทางไหนไม่มีใครที่ไม่มีประสบการณ์ว่าเพื่อนหรือคนรู้จักเป็นมะเร็ง ผมว่าทุกคนรู้หมด เรารู้ว่าแต่ละปีทำไมมันใกล้ตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ มันค่อยๆ เป่าเข้าไปอยู่ในความคิดของคน 

 

เพราะฉะนั้นมีผลไหมในระยะสั้น มีบ้าง แต่ระยะยาวผมว่าเทรนด์มันไม่ได้เปลี่ยน แล้วการที่มันเกิด Hiccup หรือการสะดุด มันทำให้เหมือนการสะบัดน้ำมากกว่า บริษัทที่อ่อนแอก็อาจจะหายไป บริษัทที่คิดไม่ได้ในภาพที่ใหญ่ก็จะสู้ไม่ไหว จะมองไม่ดีก็ได้ เพราะว่าทุกคนก็ต้องเหนื่อยขึ้นนิดหนึ่ง แต่มันก็เป็นการลดจำนวนคู่แข่งหรือคนที่มีหน้าตักไม่ยาวพอที่จะเดินไป เพราะฉะนั้นผมจึงบอกว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสียของการเกิดโควิด-19

 

อยากให้ช่วยวิเคราะห์เรื่องน้ำมันสักเล็กน้อย ผมเห็น Q1 ออกมา บริษัทไม่ว่าจะ Exxon และ Chevron ผลประกอบการไม่ดี ราคาน้ำมันผันผวนมาก ดิ่งลงไปติดลบ ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าเดือนหลังจากนี้ อย่างเดือนพฤษภาคมที่จะซื้อขายช่วงมิถุนายน ในมุมมองของคนที่อยู่ในธุรกิจพลังงานมองว่าพลังงานฟอสซิลตอนนี้ใกล้ที่จะถึงจุดเปลี่ยนหรือยังครับ 

สิ่งที่เกิดมันคือสงครามของผู้ค้าน้ำมัน มันเริ่มจากการตกลงกันไม่ได้ในกลุ่ม คือดีมานด์มันน้อยกว่าซัพพลายอยู่แล้ว ก็เลยเกิด OPEC ซึ่งคุมซัพพลายมาได้ช่วงหนึ่ง ก็เริ่มเกิดคนที่อยู่นอก OPEC จนมาถึงวันนี้มันเป็นการพัฒนาของตลาด ไปจนถึงตรงที่ว่าซัพพลายมันคุยกันไม่รู้เรื่อง ดีมานด์มันมีก้อนเดียว แต่มันคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็แบ่งเค้กไม่ลงตัว วิธีเดียวคือถ้าคุยกันไม่รู้เรื่องก็ต้องทุบ ทุบเพื่อให้ตายไปข้างหนึ่ง เพื่อให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อที่จะได้กลับมาเจรจาใหม่ ปรับสมดุลใหม่ เพราะว่ามองไปข้างหน้า ผมว่ากลุ่ม OPEC ก็รู้ บริษัทน้ำมันก็เริ่มมาลงทุนในพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดแล้ว เขารู้ว่าอันนี้มีจบ แต่ไม่รู้ว่าจบเมื่อไร Inventory มีมหาศาล ใช้ไม่หมดหรอก อย่าไปตีเป็นมูลค่าเลย เพราะถ้าขายก็ไม่รู้ใครจะซื้อ ไม่ต้องรีบแปลง Asset ก้อนนี้ให้ก้อนนี้ให้เร็วที่สุด เฟสนั้นสงครามมันเป็นอย่างนี้ครับ มันเป็นสเตจ

 

สเตจที่หนึ่งก็คือฆ่ากันให้ตาย ซึ่งจะเป็นช่วงหนึ่ง สเตจที่สองคือปรับสมดุลแล้วค่อยเข้าสมดุลใหม่ ช่วงที่ปรับสมดุลมันไม่ใช่แค่หลักการทางด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว มีเรื่องการเมือง มีเรื่องสังคมที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งตัวแปรพรุ่งนี้จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าให้ใครเดา ไม่มีใครเดาได้ถูกหรอก แต่มันเป็น Dynamic เปอร์เซ็นต์วิ่งมาทางนี้แน่ๆ

 

คำถามคือแล้วประเทศไทยจะอยู่ตรงไหน เราจะตั้งรับหรือเราจะรุก ถ้าเราจะตั้งรับก็ดูเกมเขาไป เขาเขียนเกมมา เราก็เล่นตามเขา เราก็จะเป็นผู้ตามได้เรื่อยๆ เท่าที่เราอ่านเกมออก แล้วเวลานี้ทุกคนอ่อนแอ มันอาจจะทำให้เรากลายเป็นผู้นำบางอย่างได้นะ ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ ทุกประเทศที่เติบโตขึ้นมาได้มันจะมีจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรม ญี่ปุ่นเกิดตอนไหน ไต้หวัน เกาหลีใต้เกิดอย่างไร จีนเกิดอย่างไร ครั้งนี้ผมว่ามันก็ไม่ต่าง เพราะว่าทุกคนเคยเดินมาแข็งแรง เขาก็เป็นเจ้าตลาดอยู่ คุณจะไปสู้เขาอย่างไร เขาแข็งแรงมาก มันต้องเกิดวันที่เขาอ่อนแอนี่แหละ ถ้าเรามองมันออก ผมว่าประเทศไทยมีโอกาส แล้ววันนี้ประเทศไทยก็ไม่เหมือนเมื่อ 50 ปีที่แล้ว 30 ปีที่แล้ว จริงๆ เราเป็นประเทศที่รวยนะครับ แต่ก็เอาเงินไปฝากโดยผมไม่แน่ใจว่าใช้โดยเกิดประโยชน์หรือเปล่า มันอาจจะต้องตอนนี้แหละ เหมือนกับพ่อแม่เก็บทรัพย์สมบัติไว้ให้เราเยอะ ถึงแม้ประชากรเราเริ่มมีคนแก่เยอะ แต่ลองไปดูนะครับ 30 ปีเราโตในอุตสากรรมมา ตอนเราเปลี่ยนประเทศจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม เราสะสมบุคลากรที่มีประสบการณ์และมีความรู้มากมาย มีทั้งเงิน ความรู้ ประสบการณ์ มีครบทุกอย่าง Geolocation ของประเทศไทยดีมาก ไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน

 

มีทุกอย่างแล้ว แต่ขาดการตัดสินใจ ขาดความกล้าหาญในการกล้าลงทุนในช่วงเวลานี้หรือเปล่า

อย่างแรกก่อน วิสัยทัศน์เรายังไม่นิ่ง ถ้าวิสัยทัศน์ของประเทศเรานิ่ง ที่เหลือมันจะวิ่งตาม ถ้าวิสัยทัศน์นิ่งแล้วมีสิ่งที่ซัพพอร์ตออกมาที่เป็นซีรีส์ที่มันชัดเจน ไม่มีบริษัทไหนหรอกที่เขาจะไม่เข้ามาทำ ถ้าองค์ประกอบเราครบ ผมคิดว่าเราเป็นประเทศที่ควรจะโต มีผลสำรวจ ไม่แน่ใจว่าจากที่ไหนสักแห่ง ที่เขาบอกว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะที่จะเริ่มธุรกิจใหม่ที่สุดในโลก ทำไมคนนอกเขามองเราอย่างนั้น แต่ทำไมคนไทยถึงไม่เริ่มทำกัน อันนี้คืออุปสรรคอันแรก

 

อันที่สองก็คือวัฒนธรรมเรา สังเกตไหมครับว่ากีฬาอะไรที่คนไทยเราเล่นคนเดียว เราจะเล่นเก่ง อาจจะเป็นเพราะว่าเราไม่เคยมีการเล่นเป็นทีมมาเยอะ ผมว่าเริ่มจากรัฐบาลสร้างดรีมทีมประเทศไทย เอาบริษัทใหญ่ๆ ในประเทศไทยมาช่วยกัน แบ่งงานกันทำ ไม่ใช่ว่ามีของอยู่ 100 แล้วมาแบ่งกัน แย่งกัน อย่างนี้มันก็แย่งกัน ทะเลาะกัน ต้องทำของ 100 ให้เป็น 1,000 ให้เป็น 10,000 ทุกคนแฮปปี้หมด ต่างคนต่างช่วยกันทำงาน ผมว่าเปลี่ยนคอนเซปต์แค่นี้ ประเทศไทยไปได้ แล้วถ้าเกิดธีมที่มันไปได้ ผมเชื่อว่าทุกคนได้ประโยชน์ ฝนมันก็ตกทั่วฟ้า ข้างล่างก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

 

หลังจากนี้ประเทศไทยต้องลงมือทำเรื่องพลังงานทางเลือกมากแค่ไหน หรือว่าจริงๆ เราสนับสนุนเรื่องนี้ได้ดีอยู่แล้ว เราเป็นผู้นำในอาเซียนอยู่แล้วหรือเปล่า

เราบอกว่าเราสนับสนุน แต่ Action plan เราไม่ชัดเจน เราเป็นผู้นำจริง สังเกตไหมว่าประเทศไทยชอบจะทำอะไรก่อนคนอื่น แล้วสักพักเราจะหยุดทำ แล้วคนอื่นก็จะแซงเราไป เพราะความต่อเนื่องของเราไม่มี เราไม่ได้มองให้ขาด และการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เปลี่ยนแปลงผู้บริหาร มันไม่ต่อเนื่องในเรื่องนโยบายและวิสัยทัศน์ของประเทศ

 

ผมเคยมีตัวเลข อันนี้อาจจะไม่อัปเดตนะ มันเป็นไปได้อย่างไรว่า 18 ปีที่ผ่านมาเรามีการเปลี่ยนแผนพลังงาน PDP ของประเทศ 12 ครั้ง แผนพลังงานมันโดนสร้างเพื่อให้เราเห็นเทรนด์ว่าประเทศเราจะไปทางไหน เราจะจัดการอย่างไร แต่แผนอันนี้ที่ออกมาเปลี่ยนแทบทุกปี แล้วเปลี่ยนนี่ไม่ใช่ปรับปรุงนะ บางทีมาซ้ายอยู่ เราก็กลับไปขวา วันดีคืนดีพลังงานทดแทน พรุ่งนี้บอกใช้ฟอสซิลใหม่ เพราะมันถูก หรือวันนี้ใช้ฟอสซิลอยู่ พอคนโวยวายว่าทำไมไม่ใช้พลังงานสะอาด เติมหน่อย มันเป็นแผน 20 ปี ก็เอาพลังงานทดแทนไปไว้หลังๆ ก็ถือว่าสนับสนุน และช่วงนี้อุตสาหกรรมมันเดินมาดีๆ มา 5-6 ปี อยู่ดีๆ บอกว่า 5 ปีนี้คุณไม่รับซื้อ บริษัทพวกนี้ไม่ต้องปิดเหรอ พอปิดแล้วมันก็ต้องกลับไปเริ่มต้นที่ศูนย์ใหม่ แทนที่จะค่อยๆ เพิ่มให้บริษัท พรุ่งนี้เขามีรายได้แล้วเขาก็ทำอะไรต่อไป เขาจะได้ขยายและแข็งแรง คือเราขาดความต่อเนื่องแบบนี้ แต่ภาพใหญ่ก็ดูเหมือนเราสนับสนุน ผมว่าถ้าเราแก้สิ่งเหล่านี้ก็โตได้

 

ในมุมมองของทั้งโลก ตอนนี้ในแง่ของพลังงานทางเลือก ประเทศไทยถือว่าอยู่ตำแหน่งตรงไหน

ก็เป็นแนวหน้าเหมือนกันนะ เพราะว่าดูด้วยตัวเลขต่อสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด เปอร์เซ็นต์ของเราก็ถือว่าสูง เพียงแต่ความต่อเนื่องมันไม่ชัดเจน แต่แผนของเรามันยังอยู่ในสภาพของการเป็นผู้ใช้มากกว่าเป็นผู้สร้างหรือผู้ผลิตเทคโนโลยี 

 

ซึ่งผมมองว่าในสเตปต่อไป ถ้าเราสามารถทำให้ตลาดของพลังงานทดแทนมันใหญ่ขึ้นมา ทำไมเราไม่คิดอีกสเตปหนึ่ง เอา Economy of scale ของเราไปสร้างอุตสาหกรรม แทนที่เราจะมองอุตสาหกรรมพลังงานเป็นอุตสากรรมในการนำเข้า เราต้องซื้อเข้ามา ทำไมไม่เปลี่ยนอุตสาหกรรมที่เรานำเข้ามาเป็นอุตสาหกรรมที่เราจะสร้างรายได้ในการส่งออก พวกนี้มันต้องเป็นวิสัยทัศน์ เป็นนโยบายที่ต้องมีความมั่นคงและต่อเนื่อง อันนี้ทำได้แน่นอน แล้วผมว่าประเทศที่มีแอดวานซ์อย่างนี้มีไม่เยอะ ยกเว้นประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งผมมองว่าประเทศตรงนั้นความเติบโตในเรื่องพลังงานไม่เยอะ มันเป็นการเปลี่ยนเอาของใหม่ไปแทนของเก่า แต่ประเทศไทยมันไม่ใช่ แถวอาเซียนเราเป็น Growth Economy เราอยู่กับคนที่กำลังเติบโต มีกำลังซื้อ ไม่ต้องไปรื้อของเก่า ไม่โดนการต่อต้าน เราใกล้ตลาด เราควรจะต้องใช้ตรงนี้ เรามีบุคลากร Geographic เราก็ดี ไม่ทำตอนนี้ก็ไม่รู้ทำตอนไหนแล้ว

 

ในแง่ของโรงงาน แบตเตอรี่ Lithium-ion หรือข่าวล่าสุดอย่างตัว PCM เองก็เริ่มมีการรับรู้รายได้ แผนที่วางไว้ การลงทุนยังไปต่อเหมือนเดิม หรือโรงงานไฟฟ้าเป็นอย่างไรบ้าง

เราเชื่อว่าอยู่ในเทรนด์ที่ไม่ผิด ในระยะสั้นมีคลื่นมากระทบบ้างไหม มี แต่เรามองว่าคลื่นที่กระทบมันเป็นข้อดีที่ทำให้เราเดินต่อ ถ้าเรายังมั่นคงกับสิ่งที่เราทำอยู่ เพราะฉะนั้นทาง EA เราจึงมองว่าตรงนี้เป็นโอกาส โรงงานแบตเตอรี่เราเดินหน้าเต็มที่ในการที่จะสร้างโรงงานนี้ให้เสร็จตามแผน อาจจะมีช้าบ้างนิดหน่อยเพราะว่าโควิด-19 มันทำให้การหาแรงงานก่อสร้างยากขึ้น และเราก็ต้องมีมาตรการเยอะขึ้น แต่โดยภาพรวมแล้วเรายังเชื่อว่าโรงงานแบตเตอรี่ Lithium ที่เป็น Gigawatts Factory โรงแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เรายังเชื่ออย่างนั้นอยู่ เพราะว่าทุกคนทำงานกัน 24 ชั่วโมง ทุกคนเชื่อว่าตรงนี้มันคือโอกาสที่เราต้องเดินไป โรงงาน PCM ที่เราได้พูดกันมาเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่เราก็เดินมาถึงว่าตอนนี้โรงงานใกล้จะเสร็จแล้ว คาดว่า 1-2 เดือนนี้จะเริ่มการผลิต เราก็หวังว่าสารที่เป็น Green จะออกมาเยอะๆ เรื่อยๆ และเราก็จะใช้โมเดลที่เราเคยเชื่อว่าเราอยากจะเป็นบริษัทแรกที่จะเป็น Coporate Social Innovation (CSI) และ Creating Shared Value (CSV) กลับไปให้กับคนในห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเกษตรกร มันจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เราอยากจะไปถึงตรงจุดนั้น

 

โปรเจกต์พวกนี้เห็นแน่ๆ ตอนนี้เกษตรกรอยู่ในช่วงที่หมิ่นเหม่มาก เพราะปาล์มในประเทศเราประมาณครึ่งหรือเกินครึ่งที่ผลิตออกมาเอามาผสมในไบโอดีเซล ไม่มีรถยนต์ น้ำมันก็ไม่มี ดีมานด์จะหาย เราก็เห็นกันอยู่แล้ว วันนี้ผมว่าประเทศเรา เราไม่ได้มองไปไกลพอว่าถ้ารถยนต์เกิดเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าในวันใดวันหนึ่ง แล้วเกษตรกรที่เขาปลูกปาล์มอยู่หรือเกษตรกรที่เอากากน้ำตาลมาทำเอทานอล เอามันสำปะหลังมาทำเอทานอล เขาจะเอาเอทานอลไปทำอะไร

 

ผมก็เลยมองว่าวันนี้เราต้องเตรียมตัว สิ่งที่ผมทำ ด้านหนึ่งผมกำลังจะไปกับเทรนด์ แต่ผมรับผิดชอบต่อสังคม เพราะผมมองว่าถ้าเราไม่ทำอะไรเลย สมมติผมประสบความสำเร็จ เปลี่ยนรถเป็นรถไฟฟ้าหมด แล้วเราไม่นำเข้าน้ำมันดิบ ไม่เป็นไร แต่น้ำมันปาล์มในประเทศเรา เราจะเอาไปทำอะไร ขายออกต่างประเทศราคาก็ต่ำ เราสู้เขาไม่ได้ นั่นคือที่มาว่าทำไมผมถึงทำ Green Diesel และก็ทำ PCM เพื่อเตรียมตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ แล้วให้เกษตรกรไปทำในสิ่งที่ดีกว่า ไปขายของที่แพงขึ้นในตลาดที่มีมูลค่ามากขึ้น เช่น Oleo-Chemicals ช่วงเปลี่ยนถ่าย แน่นอน พอเริ่มมีรถไฟฟ้ามากขึ้น รถน้ำมันน้อยลง แต่ไบโอดีเซลมันไปผสมในน้ำมันได้ จริงๆ คนบอกว่า 20% ผมพูดตรงๆ นะ 10% ก็เริ่มเหนื่อยแล้ว หมายความว่าถ้าวอลุ่มของการใช้น้ำมันมันลดลงไปเรื่อยๆ มันก็ต้องมีผลกระทบไปกับคนที่ปลูกปาล์มแน่นอน

 

วิธีเดียวที่จะทำให้คนปลูกปาล์มไม่โดนกระทบในช่วงเปลี่ยนผ่านก็คือทำให้สามารถผสมน้ำมันปาล์มลงไปในน้ำมันดีเซลได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ เกินลิมิตข้อจำกัดของเครื่องยนต์ นั่นเป็นที่มาว่าทำไมเราทำ Green Diesel เพราะมันคือน้ำมันดีเซลที่เกิดการสังเคราะห์จากพืช มันไม่ใช่ไบโอดีเซลซึ่งเป็นสารที่คล้ายๆ น้ำมันดีเซลและใช้ได้ เพียงแต่ผสมได้ค่าหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ 

 

เพราะฉะนั้นผมกำลังจะบอกว่า EA ทำอะไร เราจะได้อะไร เราจะทำให้เกิดผลกระทบอะไรกับใคร แล้วเราจะไปช่วยเขาอย่างไร การที่เราจะทำธุรกิจใหม่ๆ เราต้องคิดถึงผู้ถือหุ้น คนรอบๆ เราทั้งหมด เราเดินไปอย่างนี้ เราไปกระทบคนนี้ เราไปเป็นพันธมิตรกับเขาดีไหม อย่ากินรวบ กินแบ่งดีไหม ทำอย่างไรให้ซัพพลายเชนเขาอยู่ได้ การทำรถยนต์ไฟฟ้า คนชอบพูดเรื่อยๆ ว่าทำไปแล้วทำให้อุตสาหกรรมเราตาย ไม่จริงครับ ผมกล้าพูดได้เลยวันนี้ว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซัพพลายเชนของเราทั้งหมดจะมีปัญหาและเดือดร้อน เพราะวันนี้ผู้ประกอบการต่างประเทศเขาเริ่มขยับตัวไปประเทศอื่นแล้ว เขาไปแล้ว แต่เขาไม่ได้เอาซัพพลายเชนบ้านเราไป 

 

สิ่งที่เราทำมันเป็นประโยชน์กับทุกคนโดยรวม รถยนต์ไฟฟ้า คนที่เสียประโยชน์ก็มีแค่คนที่ทำตรงเรื่องเกียร์กับเรื่องเครื่องยนต์ ซึ่งสองส่วนนี้ไม่ใช่ของคนไทย คนต่างชาติถือ 100% เพราะฉะนั้นคนไทยที่ถือชิ้นส่วนยานยนต์อันอื่นไม่ได้กระทบมาก แต่การเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนทุกคนต้องปรับตัว ถ้าทำเหมือนเดิมก็ได้เหมือนเดิม เศรษฐกิจเราก็เป็นเหมือนเดิม ไม่โต GDP ไม่ขึ้นใช่ไหมครับ การบริโภคเหมือนเดิม ถามตรงๆ ว่าในช่วงที่ผ่านมาหลายปี มีการลงทุนใหญ่ๆ ต่างประเทศเข้าเมืองไทยกี่ราย

 

ถ้าเราไม่เปลี่ยนวิธีคิด มันเห็นอยู่แล้วครับ โลงศพมันอยู่ที่ไหน ดังนั้นวันนี้เราต้องเริ่มเปลี่ยน และวิธีเปลี่ยนที่ดีที่สุดอย่างที่พลังงานบริสุทธิ์ทำทุกวันนี้คือเราเริ่มจากตัวเราเอง เราเริ่มคิดในสิ่งที่มันนอกกรอบ แต่เรามีสตินะ บอกทุกคนรอบๆ เรา เพื่อนเรา พันธมิตรเรา ให้ทำเหมือนเรา และพยายามจะบอกให้เป็นสังคมที่กว้างขึ้น แล้วก็บอกไปถึงรัฐบาลให้ทุกคนเข้ามารวมกันเป็นหนึ่ง เพื่อให้ประเทศไทยเราเติบโตไปข้างหน้า เข้าสู่ New S-Curve ให้ได้ แล้วก็ประสบความสำเร็จ 

 

คุณได้บทเรียนอะไรสำคัญที่สุดตลอดเวลา 3-4 เดือนที่ผ่านมา

ถ้าเรื่องธุรกิจที่ผมเห็นอันแรกเลยก็คือเราต้องมีสติ การตัดสินใจทำอะไร เราก็เรียนหนังสือมาตลอดเรื่อง Risk และ Return บางทีปัญหาส่วนใหญ่ที่ธุรกิจมีก็คือเราคิดเรื่องความเสี่ยงไม่ครบ บางทีธุรกิจที่เราทำมันอาจจะ Rigid เกินไป แล้วก็ทำให้เราปรับตัวไม่ได้ ผมว่าสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ได้กระทบเราโดยตรง มันไปกระทบบริษัทอื่นๆ ที่เรารู้จัก หรือคนที่เราเห็นในอุตสาหกรรมหรือในธุรกิจอื่นๆ มันเป็นบทเรียนที่ดีเอามาวิเคราะห์ มันเป็นประสบการณ์ที่ไม่เสียเงิน ถ้ารอเอาวิกฤตของโควิด-19 มาใช้เป็นประโยชน์ ทำไมคนนี้ถึงดี คนนั้นเป็นอะไร ถ้าวันนี้เราย้อนเวลาไปได้เราจะทำอะไร ผมว่าแบบฝึกหัดเหล่านี้มันมีคุณค่ามากเลย อยากให้ทุกคนใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ประเทศไทยเองก็ต้องมองในลักษณะเดียวกันอย่างที่ผมคิดอย่างนี้เหมือนกัน

 

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Sub-editor ทิพากร บุญอ่ำ
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Music westonemusic.com

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X