×

5 จิตวิญญาณ พลิกวิกฤติไมโครซอฟท์ จากใกล้ตายกลายเป็นบริษัท 1 ล้านล้านเหรียญลำดับ 3 ของโลก

07.05.2019
  • LOADING...

แม้ทุกวันนี้ไมโครซอฟท์จะยิ่งใหญ่สักแค่ไหน แต่เชื่อไหมว่าในปี 2008 ไมโครซอฟท์ต้องเผชิญภาวะวิกฤติผลประกอบการตกต่ำ ผู้คนขาดความเชื่อมั่น พนักงานพากันลาออก ไม่มีสินค้าขายดี ลงทุนอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จ แถมบริษัทยังมีการเมืองภายในเกิดขึ้นมากมาย จนหลายคนถึงกับพูดว่า “ไมโครซอฟท์คือบริษัทที่ใกล้ตายแล้ว”

 

แต่เพราะอะไรไมโครซอฟท์ถึงสามารถพลิกกลับมาเป็นองค์กรที่มีมูลค่าบริษัทได้ถึงหนึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐสำเร็จ

 

เบื้องหลังคำตอบอยู่ที่ สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ชายผู้ก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอคนที่ 3 ของบริษัท และช่วยชุบชีวิตพร้อมพลิกวิกฤติให้ไมโครซอฟท์กลับมาผงาดได้อีกครั้ง

 


 

สัตยา นาเดลลา คือใคร

เขาคือเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลางในประเทศอินเดีย เมื่ออายุครบ 21 ปี เขาเดินทางมาเรียนต่อปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ณ สหรัฐอเมริกา จนกระทั่งปี 1992 ได้เข้าทำงานเป็นวิศวกรที่ไมโครซอฟท์ และค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นซีอีโอในที่สุด

 

โดยในยุควิกฤตินั้น เขาได้สร้าง 5 จิตวิญญาณสำคัญขึ้นมานำทางองค์กร ดังนี้

 

1. ค้นหา ‘จิตวิญญาณ’ ให้เจออีกครั้ง

“ถ้าไมโครซอฟท์หายไป โลกนี้จะสูญเสียอะไรบ้าง”

 

นาเดลลาตั้งคำถามนี้ขึ้นมาเพื่อให้พนักงานทุกคนได้ขบคิดต่อว่าบริษัทไมโครซอฟต์เกี่ยวกับอะไร มีไว้เพื่ออะไร และอะไรคือจิตวิญญาณสำคัญอันเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนรู้ว่าบริษัทกำลังดำเนินไปในทิศทางไหน

 

เขาอยากให้ทุกคนหา ‘จิตวิญญาณ’ เหล่านั้นให้เจออีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างความแตกต่างอย่างเป็นเอกลักษณ์ให้องค์กร เหมือนเป็นการค้นหาจุดแข็งและคุณค่าที่แท้จริงของไมโครซอฟท์

 

จากคำถามที่กล่าวไป นาเดลลาตอบทุกข้อได้อย่างชัดเจน จนกลายเป็นวิสัยทัศน์และเป้าหมายใหม่ขององค์กร ยกตัวอย่างจากคำถามที่ว่า ‘ไมโครซอฟท์เกิดขึ้นมาเพื่ออะไร’

 

เขาตอบว่า ไมโครซอฟท์เกิดมาเพื่อเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคน ทุกองค์กร ทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จที่ดียิ่งกว่าเดิม ดังนั้นสินค้าทุกชิ้นของไมโครซอฟท์ต้องสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ข้อนี้ จากเดิมที่เคยสร้างระบบปฏิบัติการยักษ์ใหญ่อย่าง Windows พวกเขาเริ่มเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร เปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ มุ่งมั่นสร้างระบบ Cloud ผลักตัวเองเข้าไปเป็นส่วนเล็กๆ ของหลายที่ ใช้เทคโนโลยีเข้าไปช่วยผู้คนและองค์กร จนพลิกองค์กรให้กลับมาเป็นที่ต้องการได้อีกครั้ง

 

นอกจากตอบคำถามในเชิงนามธรรม เขายังนำจิตวิญญาณเชิงรูปธรรมกลับมาด้วยการชวน บิล เกตส์ มานั่งเป็นที่ปรึกษาในการพิจารณาสินค้าใหม่ๆ ให้กับวิศวกรหรือดีไซเนอร์ด้วยตัวเอง สร้างความตื่นเต้นและปลุกพลังได้เป็นอย่างดี

 

2. รวมจิตวิญญาณด้วยคำว่า ‘Empathy’

เป็นที่รู้กันดีว่านาเดลลาเป็นซีอีโอที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนสูง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะเขามีบทเรียนจากลูกชายที่เกิดมาพร้อมความผิดปกติทางสมอง ทำให้เขาต้องใช้ความอดทนสูงมากในการดูแลลูกชายและประคับประคองความรู้สึกภรรยาไปในเวลาเดียวกัน สิ่งนี้สอนให้เขาเปิดใจรับฟังคนอื่นมากขึ้น และนำมาพัฒนาองค์กรอย่างเกิดประโยชน์

 

เคสตัวอย่างการสร้างวัฒนธรรมแห่งความเห็นอกเห็นใจ นาเดลลาชวนผู้บริหาร 150 คนไปพักผ่อนในสถานที่อันสวยงาม สร้างบรรยากาศที่ทำให้เกิดการเปิดใจพูดคุยเรื่องครอบครัว ความรัก มิตรภาพ ความสัมพันธ์ งานอดิเรก ก่อนปิดท้ายด้วยเรื่องเป้าหมายและการทำงาน เป็นการทลายกำแพง เพื่อลดเรื่องการเมืองร้อนระอุในบริษัทให้เบาบางลง และทำให้ทุกคนเห็นภาพตรงกันมากขึ้น

 

โดยทั้งหมดเขาค่อยๆ ทำจากผู้บริหารระดับสูงไล่ลงมาถึงพนักงานทั่วไป สร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่หล่อหลอมจิตวิญญาณพนักงานเข้าไว้ด้วยกัน

 

3. จิตวิญญาณแห่งการเรียนรู้

ไมโครซอฟท์เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนาน จนพนักงานต่างคิดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างแล้ว ทำให้เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง พนักงานไม่สามารถปรับตัวทันปิดกั้นโอกาสใหม่ๆ จนนาเดลลาต้องกล่าวว่า “เราจะเปลี่ยนจากรู้ทุกอย่าง เป็นเรียนรู้ทุกอย่างเสียแทน”

 

เคสสำคัญที่สะท้อนเรื่องนี้คือตัวอย่างการเปิดตัว Windows 10 แน่นอนภาพจำการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกมักอยู่ที่ซิลิคอนวัลเลย์ หรือสถานที่สุดล้ำใจกลางเมือง แต่กลับกัน เขาเลือกเปิดตัว Windows 10 ที่ประเทศเคนยา สถานที่ที่มีทั้งลูกค้า พันธมิตรทางธุรกิจ และพนักงานของไมโครซอฟท์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงพันธกิจของบริษัทที่ตั้งใจเป็นกำลังสำคัญให้ทุกคนในทุกที่อย่างแท้จริง

 

รวมถึงอีกหลายเรื่องที่นาเดลลาลงมือทำให้พนักงานเห็น เพื่อฝากเป็นบทเรียนให้คนอื่นเห็นว่าหัวใจสำคัญของการเรียนรู้อยู่ที่การรับฟังคนอื่นมากขึ้น เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ และพูดให้น้อยลงกว่าที่เคย

 

4. จิตวิญญาณของผู้นำ หากลีบกุหลาบในกองขี้ให้เจอ

ในมุมมองของนาเดลลา เขาคิดว่าการเป็นผู้นำที่ดี ต้องคอยมองหากลีบกุหลาบท่ามกลางกองปฏิกูล เพราะเป็นธรรมดาที่ในบริษัทต้องมีอุปสรรคมากมาย ผู้นำต้องเลิกมองด้านลบ และหันไปหาสิ่งที่ยอดเยี่ยม หลังจากนั้นต้องประยุกต์นำหลักคิดของการเป็นผู้นำทั้ง 3 ข้อมาใช้ ดังนี้

 

1. มีความชัดเจนกับทุกเรื่อง

2. สร้างแรงกระตุ้นสำหรับทุกคนในบริษัท ทำให้เกิดการมองโลกในแง่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ รับผิดชอบร่วมกัน และเจริญเติบโตก้าวหน้า

3. ผลักดันให้เกิดความสำเร็จ

 

5. จิตวิญญาณของการเปลี่ยน ‘ศัตรู’ ให้เป็น ‘มิตร’

ครั้งหนึ่งระหว่างการประชุมใหญ่ต่อหน้าคนจำนวนมาก นาเดลลาล้วงกระเป๋าเพื่อหยิบไอโฟนขึ้นมา ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่อย่างมากสำหรับยุคที่บริษัทเทคโนโลยีแข่งขันกันดุเดือด โดยเขาตั้งชื่อไอโฟนเครื่องนั้นว่า ‘ไอโฟนโปร’ เพราะเป็นการใส่โปรแกรมและแอปพลิเคชันทั้งหมดของไมโครซอฟท์ลงในไอโฟน เสริมให้ทำงานได้เต็มศักยภาพมากขึ้น

 

นี่เป็นแนวคิดใหม่ของนาเดลลาที่ไม่เชื่อแค่การแข่งขันอย่างเดียว แต่เขาเชื่อในการร่วมมือกันอย่างถูกวิธี ตราบใดที่บริษัทแข็งแกร่งและลูกค้าได้ประโยชน์ เขาจะไม่ปิดกั้นโอกาสในการร่วมงานกับศัตรูเลย

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising