×

Google Thailand จากวัฒนธรรมสู่นวัตกรรม ที่ทำให้บริษัทนี้น่าทำงานด้วยที่สุดในโลก

13.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

01:54  4 เรื่องที่ Google Thailand ให้ความสำคัญ

07:00 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่มีคุณภาพ?

12:22 วิธีสร้างสรรค์นวัตกรรมและโปรดักต์ใหม่ๆ

15:49 ออฟฟิศที่น่าทำงานที่สุดในโลก

18:29 คุณสมบัติของชาว Google

22:46 Work Smart

23:23 แนวคิดของ Google

28:54 การประเมินผลแบบ OKR

40:39 The Secret Sauce ของ Google Thailand

อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ Google เว็บไซต์ค้นหาอันดับหนึ่งของโลก และเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มวิดีโออันดับหนึ่งเช่นกันอย่าง YouTube

 

Google เข้ามาตั้งบริษัทที่ไทยด้วยเหตุผลอะไร โฟกัสในเรื่องไหน วัฒนธรรมองค์กรจากบริษัทใหญ่ส่งมาถึงไทยไหม และแนวคิดอะไรที่ทำให้บริษัทนี้น่าทำงานด้วยมากที่สุดในโลก    

 

เคน นครินทร์ คุยกับ คุณสายใย สระกวี Head of Communications and Public Affairs แห่ง Google Thailand

 


 

 

4 เรื่องที่ Google Thailand ให้ความสำคัญ

 

1. การศึกษา (Education)

ทำงานร่วมกับรัฐบาลผ่านสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในเรื่อง Digital Literacy ในโครงการ เน็ตประชารัฐ อยู่ในช่วงเริ่มเทรนเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตที่ถูกต้องและปลอดภัยกับหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ 

 

2. การเข้าถึง (Access)

Google มองประเทศไทยเป็น Next Billlion Users ร่วมกับกลุ่มประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล ล่าสุดปลายปี 2017 เราเปิดตัวแอปพลิเคชันชื่อ Datally แอปฯ บริหารการใช้ข้อมูลในมือถือแอนดรอยด์ เรามองว่ามันเป็นประโยชน์ต่อคนไทยที่ใช้ pre-paid มันจะบอกเราว่าเมื่อจ่ายเงินไปแล้ว ข้อมูลของเราไปอยู่ที่ไหน หรืออย่างเวลาที่เราเปิดแอปฯ ทิ้งไว้ มันเปลืองดาต้าเท่าไร แอปฯ ตัวนี้จะช่วยบริหารส่วนนั้นให้ ส่วนอีกแอปฯ ชื่อ Files Go เป็นการเอามือถือมาชนกันและสามารถส่งข้อมูลได้เลยโดยไม่ต้องใช้ดาต้า

3. เนื้อหา (Content)

ประเทศไทยมีคนใช้ YouTube เยอะมาก เราอยากทำเนื้อหาให้มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น อีกด้านคือเราอยากเป็นส่วนช่วยเหลือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในเมืองไทย มันน่าสนใจตรงที่มีคนธรรมดาจำนวนมากเปิดช่องใน YouTube ทำคอนเทนต์ของตัวเองและมีคนดูเทียบเท่าช่องใหญ่ เราเลยลงไปทำงานกับเขาอย่างใกล้ชิด สร้างกิจกรรมสนับสนุนมาโดยตลอด


4. ผู้ประกอบการรายย่อย (SMB & Startup)

มีการระดมทุนชื่อ launchpad เป็นการให้เงินประมาณ 5 แสนเหรียญสหรัฐโดยไม่รับ equity กลับมา และพาเขาไปเทรนกับ Google ที่ซานฟรานซิสโก โดยธุรกิจไทยที่กำลังเข้าร่วมโครงการนี้คือ priceza

Google มองเห็นศักยภาพอะไรในประเทศไทยถึงตั้งใจมาลงทุนที่นี่

Google มองว่าคนไทยเข้าถึงโลกดิจิทัล เห็นเรามีอินเทอร์เน็ตใช้ในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้งาน YouTube คนไทยติด 1 ใน 10 ของโลก เกิดการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ทำให้เด็กรุ่นใหม่กล้าแสดงออก บางคนจากเด็กธรรมดา พอเริ่มเข้ามาทำก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ  

คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่มีคุณภาพ?

มันอยู่ที่วัฒนธรรมมากกว่า เราใช้คำว่าเล่นอินเทอร์เน็ต เล่น Facebook เล่น YouTube ในขณะที่ต่างชาติใช้คำว่า use the internet, go on Facebook, watch YouTube จะเห็นว่าใช้กริยาที่ต่างกัน แต่ตอนนี้คนไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ YouTubeในการดูข่าวมากขึ้นจนเป็นเทรนด์ หรือมีคอนเทนต์เชิงท่องเที่ยวที่เน้นให้ความรู้มากขึ้น

 

สำนักข่าวหรือช่องทีวีส่วนใหญ่ก็ถือเป็นพาร์ตเนอร์ของเรา เพราะเขามองว่าดิจิทัลมันมา เรามีอัตราการเติบโตของคนที่ดูคอนเทนต์ผ่านมือถือสูงถึง 90% ต่อปี ดังนั้นองค์กรเหล่านั้นเลยเริ่มให้ความสำคัญและสร้างทีมสำหรับดูดิจิทัลโดยเฉพาะ

 

คนดูทีวีน้อยลง ใช้ YouTube มากขึ้น

ปัจจุบันคนเสพสื่อมากกว่า 1 จอ สมมติเวลาเราดูทีวี ช่วงโฆษณาคนอาจหยิบมือถือขึ้นมาดูอย่างอื่น หรือระหว่างที่คนดู YouTube เขาก็อาจเปิดแอปฯ อื่นขึ้นมาในจอด้วยก็ได้ มันเป็นเทรนด์ที่ไม่ใช่แค่ YouTube กับทีวี ดังนั้นสิ่งที่คนทำคอนเทนต์ต้องระวังคือการดึงความสนใจของกลุ่มคนดูให้อยู่

 

สมมติคนมีเวลาว่างเท่ากัน 2 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าเขาดู YouTube ไปแล้ว 1 ชั่วโมง อีกชั่วโมงเขาอาจจะเช็กอีเมลหรือทำอย่างอื่น อะไรที่จะดึงความสนใจใน 1 ชั่วโมงของเขาได้คือสิ่งที่ทุกคนต้องหาคำตอบและพยายามทำคอนเทนต์ให้มาตอบโจทย์ตรงนั้น

 

คู่แข่งของ Google

เรามองว่าทุกแพลตฟอร์มมีจุดเด่นของตัวเอง  YouTube มีจุดเด่นอยู่ที่คุณภาพของวิดีโอ เพราะเราเป็นแพลตฟอร์มเจ้าแรกๆ ที่ทำสิ่งนี้ และเข้าถึงคนได้จำนวนมาก

ยกตัวอย่าง รายการ The Mask Singer แสงสีเสียงจะมาเต็มถ้าคนดูผ่าน YouTube ดังนั้นถ้าเรารู้จุดแข็งของตัวเอง เราก็รู้ว่าจะเอาอะไรไปขายให้คนมาเลือกใช้แพลตฟอร์มของเรา

 

วิธีสร้างสรรค์นวัตกรรมและโปรดักต์ใหม่ๆ ของ Google

บริษัทเราเน้นเรื่องนวัตกรรมเป็นหลัก และค่อนข้างเปิดกับทุกคน ทุกวันศุกร์จะมีผู้นำหรือผู้ก่อตั้งของบริษัทไลฟ์มาจากสำนักงานใหญ่ที่ Mountain View ประกาศให้ทุกที่ทราบว่ากำลังทำการทดลองเรื่องอะไร โฟกัสเรื่องอะไร และถ้ามีฟีดแบ็ก เราสามารถส่งข้อความกลับไปได้  

 

มองย้อนกลับมาที่ตลาดไทย เรามีสิทธิ์มีเสียงอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็น เช่น Google Thailand โฟกัสเรื่องการเข้าถึงกลุ่มคนใช้ เราอยากขอฟังก์ชันแปลภาษาที่ดีกว่านี้ พร้อมแจ้งเหตุผลไป เขาก็จะส่งทีมมาปรับส่วนนี้ให้ดีขึ้น จนปัจจุบันมันก็เป็นฟังก์ชันที่ดีขึ้นจริงๆ แม้ยังไม่ดี 100% เหมือนมนุษย์แปล แต่แปลเป็นรูปประโยคได้มากขึ้น

 

หรืออย่างช่วงพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ เรามีแผนที่ขบวนที่ทำขึ้นมาใน Google Maps เพื่อวันนั้นโดยเฉพาะ เราสามารถเอาแพลตฟอร์ม YouTube มาไลฟ์ เรามี Doodle ที่เกี่ยวกับพระราชประวัติของรัชกาลที่ 9 นั่นแปลว่าเขาให้ความสำคัญกับทีมประเทศไทยและวัฒนธรรมของเรา

 

 

Google ออฟฟิศที่น่าทำงานที่สุดในโลก


เราพยายามเอาวัฒนธรรมองค์กรจากสำนักงานใหญ่ที่ Mountain View ไปอยู่ในทุกๆ ออฟฟิศเท่าที่เป็นไปได้ อย่างที่นี่เป็น open space ไม่มีใครมีห้องประชุมหรือห้องทำงานส่วนตัว เพราะเราเชื่อใน transparency เชื่อในการสื่อสารจากผู้นำลงมาถึงพนักงานทุกภาคส่วน

 

จากที่เคยฟังสัมภาษณ์ของผู้บริหารยุคก่อน เขามักพูดว่า Google เป็น Unconventional Company คือบริษัทที่มีความแปลกและแตกต่าง เราพยายามจะรักษาตรงนี้ไว้ พยายามลองสิ่งใหม่ๆ เปิดรับฟังทุกคน ภูมิใจที่เป็นบริษัทที่มี diversity สูงมาก เพราะเราเชื่อว่าความรู้ความสามารถมาจากการสร้างสรรค์ของคนทุกเผ่าพันธุ์ ทุกรูปแบบ เราพยายามทำให้ออฟฟิศมีผู้นำที่เป็นผู้หญิงมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่ม LGBTQ อย่างปีที่แล้วตอนเลือกตั้งประธานาธิบดีที่สหรัฐอเมริกา และมีการออกมาเดินประท้วงต่อต้านทรัมป์ Google ให้อิสระกับพนักงานเต็มที่ว่าเขาจะซัพพอร์ตสิ่งนี้หรือไม่ก็ได้

 

สิ่งเหล่านี้ย้อนกลับเริ่มตั้งแต่การรับคนเข้าทำงาน Google ไม่เคยขอรูปถ่ายก่อนสมัครงาน หรือถามเรื่องเพศ ต่อให้เป็นคนพิการ ถ้าเขาสามารถทำงานได้ เราก็ยินดีรับ

 

 

คุณสมบัติที่คนแบบ Google ต้องมี

เวลาสัมภาษณ์คน เราหาอยู่ 4 อย่าง

 

1. Cognitive Ability มีความสามารถในการเรียนรู้ พร้อมพัฒนาไปกับบริษัท

2. Role-related Knowledge มีความรู้ในงานที่จะทำ   

3. Leadership มีความเป็นผู้นำและบริหารจัดการตัวเองได้

4. Googliness คือการอยู่ร่วมกันแบบ Google คุณต้องสามารถทำงานเป็นทีมเวิร์กได้ มีความเคารพในเพื่อนร่วมงาน อย่างที่บอกว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่อง diversity ดังนั้นจะไม่มีการล้อกันเรื่องเพศสภาพ หรือไม่มีการมาล้อเรื่องสำเนียงแปลกๆ

 

คนที่นี่ต้องทำงานกับคนทุกชนชาติ คุณไม่ควรตั้งคำถามกับวิธีจัดการเวลาทำงานของคนอื่น ตราบใดที่งานเขาเสร็จ

 

Work Smart แบบชาว Google

Google Thailand มีคลาสโยคะ แดนซ์คลับ ดำน้ำ และจัดปาร์ตี้ในวันศุกร์ เราพยายามทำให้คนในทีมสนิทกันเพื่อให้ทุกหน่วยได้มาคุยกัน โดยที่ทุกคนต้องรับผิดชอบงานตัวเองไปด้วย เพราะเราไม่มีการตอกบัตร เราให้ความสำคัญกับ work smart มากกว่า เรารับคนที่เขารู้หน้าที่ตัวเอง อย่างบางวันอยู่กันดึกถึง 3 ทุ่ม วันต่อมาเลยเข้าทำงานเที่ยง อย่างนี้เข้าใจได้ แต่ถ้าอยู่ดีๆ มาเที่ยงโดยไม่มีเหตุผล โดยที่คนอื่นมาตั้งแต่เช้าแล้ว แบบนี้เขาก็ต้องละอายตัวเอง  

 

work smart คือการใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ที่สุด เมื่อถึงเวลาพักก็ควรจะได้พัก มีพนักงานคนหนึ่งเทรนไตรกีฬา ต้องออกจากออฟฟิศ 5 โมงเย็น เราก็เคารพสิทธิ์ของเขา ตราบใดที่เขาทำงานเสร็จ และต้องเคารพตัวเอง ถ้าโหมงานหนักเกินจนสุดท้ายร่างกายไม่ดีก็ไม่ถือว่าเป็น work smart

 

แนวคิดของ Google

Don’t be evil

เราจะไม่ทำอะไรที่มันทำร้ายคนอื่น เช่น เรามีข้อมูลอยู่มหาศาล แต่เราจะไม่เอาข้อมูลของใครไปขาย หรือการมี hate speech อยู่ใน YouTube เราก็พยายามไม่ให้เกิดขึ้น

 

100% + 20%

เวลาคนเรามี 100% แต่เราต้องเพิ่มเข้าไปอีก 20% เพื่อทำสิ่งอื่นที่ตัวเองสนใจ หรือเป็นแพสชัน เช่น 100% ของเราคืองานเกี่ยวกับการพีอาร์ แต่อีก 20% เราจะไปทำสตาร์ทอัพ เราก็จะไปสมัครงานกับทีมนั้นๆ รวมถึงกิจกรรม Google Serve คือการทำอาสาสมัครในกิจกรรมต่างๆ เช่น เราทำงาน 100% แต่อีก 20% จะไปเลี้ยงช้าง เรียนทำดอกไม้ หรืออะไรก็ได้ที่อยากทำ โดยยังให้งานเต็มที่เท่าเดิม

 

ความสนุกในการทำงานทุกวันนี้ของคุณสายใย

เราเชื่อในการทำงานที่นี่ เพราะมันสร้างอิมแพ็ก เข้าถึงคนได้จริง และสามารถเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้น มันท้าทายที่เรามีโปรดักต์เยอะมาก แต่จะทำอย่างไรให้คนต่างจังหวัดเข้าถึง เช่น ถ้าชาวนาได้เสิร์ชว่า “ทำไมข้าวตายเมื่อน้ำสูงถึง 30 เซนติเมตร” Google มีคำตอบให้ได้ทันทีโดยที่เขาไม่ต้องเดินทางไปถามผู้รู้ถึงอำเภอหรือสถานที่ไหนๆ เลย แถมมันไม่ต้องเสียเงินสักบาทเลย ถ้าเขามีอินเทอร์เน็ตอยู่แล้วด้วย

 

การประเมินผลแบบ OKR

องค์กรอื่นอาจเรียกว่า KPI แต่ของเราคือ OKR (Objective Key Result) เน้นผลที่ได้ เมื่อไรก็ตามที่เราอยากลองโปรเจกต์ เราสามารถบอกเจ้านายได้ แม้สุดท้ายมันอาจจะเฟล แต่ขอให้เฟลอย่างมีเหตุผลและเรียนรู้จากสิ่งนั้น

 

แต่ละแผนกมีผลลัพธ์ต่างกัน เจ้านายจะไม่มานั่งถามว่าวันนี้คุณทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่เขาจะดูที่ปลายทางว่าสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้สำเร็จไหม

 

Google เอาผู้ใช้มาก่อน ผู้นำจะพูดตลอดว่าผู้ใช้จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เพราะฉะนั้น OKR ของเราคือผู้ใช้

 

คำแนะนำสำหรับองค์กรในยุค Digital Transformation

ทุกองค์กรรู้ดีว่าตอนนี้คนอยู่ในโลกออนไลน์เยอะขนาดไหน ไม่ใช่ว่าทุกอย่างต้องเปลี่ยนมาอยู่ในดิจิทัลหรือต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แต่ต้องเริ่มจากเอาจุดแข็งของตัวเองมาทำให้อยู่ในความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย Google เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเครื่องมือค้นหา เรารู้ว่าคนกำลังค้นหาอะไร มันมีเทรนด์ที่เปิดเป็นข้อมูลสาธารณะ องค์กรอื่นศึกษาทุกอย่างจากตรงนั้นได้ หรืออย่างง่ายๆ คุณสามารถปักหมุดตัวเองใน Google Maps ของเราได้ มันก็ทำให้คนค้นหาคุณเจอแล้ว

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

The Guest สายใย สระกวี

 

Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Photographer อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising