×

เจ้าสัวธนินท์เปิดใจครั้งแรกเรื่องการผูกขาด ความผิดพลาด และสิ่งที่เสียใจที่สุดในชีวิต

10.03.2020
  • LOADING...

เคน นครินทร์ คุยกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถึงการเข้าซื้อกิจการเทสโก้ โลตัสในประเทศไทยและมาเลเซีย

 

พร้อมติดตามไขทุกข้อสงสัยที่คุณอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ‘ผูกขาดหรือไม่’ ‘ความเสียใจที่สุดในชีวิต’ ‘คนตัวใหญ่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาล’ ‘คิดอย่างไรกับคนทำธุรกิจเล็กๆ ที่ล้มหายไป’ และอีกหลายคำถามอย่างตรงไปตรงมา



ตอนนี้คนจับตาเรื่องเทสโก้ โลตัส คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นลูกของผม ตอนวิกฤตผมขายไป ฝากคนอื่นไปเลี้ยง ทีนี้จะเอาของจากคนที่เลี้ยงลูกผม จะขายลูกออกมา ผมต้องซื้อ แต่ซื้อแล้วต้องเป็นประโยชน์ ถ้าซื้อมาแล้วไม่เป็นประโยชน์ ผมก็ไม่ซื้อ แต่ผมเชื่อว่าผมมีความสามารถ ซื้อกลับมาแล้วเลี้ยงให้ดีกว่านี้อีก เลี้ยงลูกให้ดีกว่านี้อีก เอาเทคนิคใหม่ๆ เข้าไป เปลี่ยนยุค แล้วก็พัฒนาให้ยิ่งดี ให้เข้ากับ 4.0 

 

ผมเชื่อมั่น ผมมีประสบการณ์แล้วที่เมืองจีน เมืองจีนผมก็มีเทสโก้ โลตัส คนอื่นยอดขายต่ำ-ตกลง ยอดขายผมขึ้น แล้วผมกำลังจะขยายอีก ฉะนั้นผมมาซื้อเทสโก้ โลตัสที่เมืองไทย ผมก็ยังทำอยู่ แต่แค่ไม่ได้ทำที่เมืองไทยเท่านั้น ผมทำในตลาดที่ใหญ่กว่าเมืองไทย และการแข่งขันสูงกว่าเมืองไทย ผมแข่งขันกับอาลีบาบา แข่งขันกับพวกจินตง ฉะนั้นผมมีความเชื่อมั่นว่าถ้าราคาไม่โอเวอร์จนเกินไป ราคาเหมาะสม สูงหน่อยผมไม่กลัว ผมมีความสามารถ เชื่อมั่นว่าเราทำให้ได้ดีกว่าเดิมอีกเยอะ ไม่ใช่น้อยนะ… เยอะ แล้วก็เป็นที่กระจายสินค้า ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อเป็ด กุ้ง ไข่ พวกนี้ผมทำได้ดีที่สุดอยู่แล้ว ตัวนี้ถ้าซื้อ ทำให้ของดีราคาถูกกระจายทั่วประเทศไทยได้มากขึ้น เร็วขึ้น และแน่นอนว่าถ้าราคาโอเวอร์ไป สูงไป ผมซื้อแล้วไม่คุ้ม ผมก็คงจะไม่สู้

 

หลายเจ้าบอกว่าแพงไป คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ถ้าผมมองต้องพิเศษกว่าคนอื่น เพราะเรื่องธุรกิจนี้ผมรู้ดี แล้วผมมีความเชื่อมั่นว่าถ้าผมซื้อมา ผมทำได้ดีกว่านี้เยอะ อันนี้คือเรื่องสำคัญ แล้วพื้นฐานที่ผมสร้างเทสโก้ โลตัสในเมืองไทยไว้ ผมใช้ปรมาจารย์ระดับโลกมาทำ ตึกจะสูงแค่ไหน พื้นฐาน เสาเข็มต้องให้แน่น ตึกนี้ถึงจะสร้างได้สูง แต่ผมปูพื้นฐานไว้อย่างดีเยี่ยม

 

ตอนนั้น อัล เจนเซน (ผู้บริหารระดับสูงของวอลมาร์ต) และลูกชายผม ณรงค์ เจียรวนนท์ เราขายอันนี้ ณรงค์ก็ไปเปิดตลาดใหม่ที่เมืองจีน ฉะนั้นคนเก่าที่เป็นซีอีโอตอนนี้ ผมเป็นคนรับเขาเข้ามา จบมาใหม่ๆ ตอนนี้ก็ยังอยู่เป็นลูกหม้อ แล้วผมเชื่อมั่นว่าถ้าผมซื้อกลับมา ผมใช้มืออาชีพ ผมเป็นบริษัทครอบครัวก็จริง แต่บริษัทครอบครัวไม่ใช่คิดเฉพาะครอบครัว เราต้องคิดถึงคนที่ปฏิบัติเหมือนเขาเป็นหุ้นส่วนของเรา ไม่ใช่แค่คนในครอบครัวเท่านั้น ฉะนั้นเราสนับสนุนประธานก่อศักดิ์ (ผู้บริหารระดับสูง CPALL) เก่งมาก ก็ให้เขาเป็นประธานไปเลย หนุนเขาเต็มที่ คนเก่งเขาต้องการมีอำนาจ มีเกียรติ และมีรายได้ไม่แพ้เถ้าแก่ตัวจริง ถ้าขนาดเรายังพอ

 

ถ้าเราจะทำให้ไม่แพ้ แล้วเขาก็เป็นเจ้าของ เขาก็มีหุ้นอยู่ ที่ยุบใหม่เราต้องเอาคนเก่งมาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย 

 

เทสโก้ โลตัส ยุค 2540 กับยุคนี้มันต่างกันมาก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน คนสั่งของออนไลน์เยอะขึ้น นักวิเคราะห์มองว่าไม่ว่าใครได้กลับมา การที่จะทำให้มีรายได้เหมือนแต่ก่อนเป็นโจทย์ที่ยากมาก คุณมีคำตอบเรื่องนี้ไหม

ผมจะทำให้ยอดขายมากกว่าเก่าเป็นเท่าตัว เราต้องทำตัวเบาเป็น ตัวหนักเรายังทำเป็นเลย เราทำไมไม่รู้จักเรียนรู้จากคนที่ทำตัวเบาล่ะ เพราะผมชอบเรียนรู้ ถึงวันนี้ผมยังเรียนรู้จากเด็กๆ เพราะผมไม่ได้มองข้ามเด็กๆ ผมยังมองว่าเด็กๆ รุ่นใหม่เก่งกว่ารุ่นใหม่ อันนี้ต้องพูดตามตรง ต้องยอมรับตามนี้ก่อน ถ้ารุ่นใหม่ไม่เก่งกว่ารุ่นเก่า โลกมันจะเจริญได้อย่างไร ฉะนั้นผมส่งเสริม ผมสนับสนุน ฉะนั้นของใหม่ใช่ไหม เอาคนใหม่ทำ

 

เทสโก้ โลตัสในครั้งนี้จะทำให้ตัวเบาขึ้นอย่างไร

ตัวหนัก คนที่ทำอยู่ก็ต้องทำให้ดีขึ้น เพราะอย่างไรต้องมีคนบริหารการจัดการอย่างเยี่ยม เราทำให้การบริหารการจัดการให้มันเยี่ยมกว่าเดิมอีก ใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามา ใช้ซอฟต์แวร์เข้ามา ใช้เครื่องทุ่นแรงเข้ามา เปลี่ยนแปลงระบบให้คนที่ทำของหนักให้มันเบาขึ้น ประสิทธิภาพสูงขึ้น รายได้มากขึ้น แล้วของใหม่ที่จะไปออนไลน์ จะไปส่งถึงบ้าน ถึงภัตตาคาร ก็เอาคนรุ่นใหม่ เขาไม่เคยทำอันนี้ คนมาซื้อบริการเยี่ยมอยู่แล้ว คุณทำให้มันเยี่ยมขึ้นอีก ดีขึ้นอีก เพิ่มประสิทธิภาพให้เขา เขาก็สนุก เพราะเขาเข้าใจธุรกิจนี้ เพียงแต่เปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ทำให้เขาทำงานน้อย ได้ผลมาก ก็เอาคนเก่าทำ มาหนุนคนใหม่ ให้ทำของใหม่ ให้เขาไปบิน ให้เขาติดปีก ต้องเอาคนใหม่ อย่าเอาคนเก่าที่เขาทำเก่งแล้วไปทำของใหม่ ก็เท่ากับใหม่ (มีค่าเท่ากัน) แย่กว่าอีก เพราะคนใหม่เขาทุ่มเทมากกว่า เอาคนเก่าที่เขาทำได้ดีอยู่แล้วไปเรียนของใหม่ เรียนไปทำไม เอาคนใหม่เลย เขาก็เป็นมือใหม่ ทำของใหม่ เขาก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ฉะนั้นเราอย่าไปเสียเวลาเขา เอาเวลาที่เขาทำได้ดีอยู่ทำให้ดีขึ้นอีก 

 

เรื่องการผูกขาด คนวิตกกังวลหาว่าซีพีผูกขาด

ผมจะอธิบายให้ฟัง คืออย่างแม็คโครค้าส่ง ขายให้โชห่วย ขายให้ภัตตาคาร ส่วนเทสโก้ โลตัสค้าปลีก ขณะที่เซเว่น อีเลฟเว่นสะดวกซื้อ คือใกล้บ้าน เดินมาซื้อเล็กๆ น้อยๆ 3 ธุรกิจนี้ทั่วโลกเขาไม่เอามาบวกกัน ค้าปลีกเหมือนกัน แต่นั่นมันค้าปลีกตัวจริง เซเว่น อีเลฟเว่นขายสะดวก แม็คโครก็ขายส่ง แล้วถ้าผมซื้อมา ผมจะผูกขาดได้อย่างไร เพราะว่าเทสโก้ โลตัสก็ซื้อจากผมไป แล้วก็มีคู่แข่งอยู่ บิ๊กซีกับเทสโก้ โลตัสแข่งกันอยู่ ถ้าผมไม่ซื้อ เขาก็แข่งกันอยู่อย่างนี้ ถ้าผมซื้อเทสโก้ โลตัสมา ก็เป็นคู่แข่งกันอยู่เหมือนเดิม แทนที่จะอยู่ในมือของอังกฤษ มาอยู่ในมือของคนไทย จะเป็นอะไรไป การแข่งขันเหมือนเดิม เพราะว่าก็ยังมีคู่แข่งเหมือนเดิม เพราะว่าก็ยังมีคู่แข่งอยู่

 

แล้ววันนี้ที่แข่งขันอยู่อย่างนี้มีคนเสียเปรียบไหม เราซื้อมาก็แข่งอยู่ บิ๊กซีก็ยังอยู่ ผมไม่ได้ซื้อบิ๊กซี ผมซื้อแค่เทสโก้ โลตัส แล้วเขาก็แข่งขันอย่างนี้อยู่แล้ว แล้วก็ไม่เกี่ยวกับสะดวกซื้อด้วย มันคนละเรื่อง สะดวกซื้อคนเดินมา ร้านเล็กๆ ขายแพงกว่าเขาอีก แม็คโครก็ขายถูก ขายส่ง ฉะนั้นผมคิดว่า… ในใจผมคิด ข้างนอกคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมวิเคราะห์ให้ฟังว่ามันแข่งกันอยู่แล้ว ถ้าผมซื้อมาหมด ไม่มีใครแข่ง นี่อีกเรื่องหนึ่ง ธุรกิจตัวนี้มันก็แข่งกันอยู่แล้ว 

 

แต่คนนอกมองเข้ามาก็จะเกิดคำถามเหล่านี้ขึ้น 

แต่ความจริงเทสโก้ โลตัสเป็นของผมมาก่อน ตอนที่ทำตอนนั้นบิ๊กซียังไม่มีเลย แล้ววันนี้ผมซื้อกลับมา ก็ไม่ใช่ว่าผมไม่เคยทำธุรกิจตัวนี้ แล้วผมเข้ามาทำ…

 

ผมทบทวนให้ฟัง ผมนี่หลังจากโทรศัพท์ 29 ปี (หมายเหตุผู้เขียน: ปี 2533 รัฐเปิดประมูลสัมปทานระบบสื่อสารครั้งใหญ่ ซึ่งคือกิจการโทรศัพท์พื้นฐาน โดยกลุ่มบริษัทเทเลคอมเอเชีย (TA) ชนะการประมูลลงนามสัญญากับรัฐ ดำเนินการกิจการโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย ต่อมาคือกลุ่มบริษัท ทรู (TRUE) ในปัจจุบัน) เพิ่งจะมาทำรถไฟความเร็วสูง นอกนั้นซีพีไปอยู่ต่างประเทศหมด ไปลงทุนในอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ทั่วไป ฉะนั้นเพิ่งกลับมาใหม่อีก 29 ปี กลับมาเริ่มรถไฟความเร็วสูง ขอถามว่าแล้วรถไฟความเร็วสูงผมไปแข่งกับใคร ผมไปแย่งของใครไหม ไม่มีใครทำนะเมืองไทย ฉะนั้นทุกเรื่องที่ซีพีทำมา ประวัติ ทุกเรื่องที่ซีพีทำไม่มีใครทำ

 

นอกจากเรื่องเทสโก้ โลตัส ซีพีก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้มาตลอด กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำ ปลายน้ำ ไม่เกิดการแข่งขัน ไม่ว่าจะไปในธุรกิจไหนก็ตาม คนก็จะกังวล มีความเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร

ผมว่าที่เราเข้ามาอย่างเช่น เซเว่น อีเลฟเว่น เราก็แฟรนไชส์ ถ้ามีที่ไหนเหมาะสม เขาอยากจะเป็น เราก็แฟรนไชส์ให้… เหมือนกัน อย่างเราทำธุรกิจเกษตร เราไม่ได้ไปแย่งอาชีพเกษตรกร อะไรที่เกษตรกรทำได้ดีเราส่งเสริมให้เขาและเรารับซื้อ เราให้เทคนิคเขา เราให้คำมั่นสัญญาว่าเรารับซื้อหมดในราคาประกัน เขาก็ไปกู้เงินแบงก์ได้ เราช่วยเขาหาเงินแบงก์ ไม่มีเงินก็ทำได้ ฉะนั้นผมว่าคนยังไม่เข้าใจ แต่ผมเข้าใจว่าทำทุกอย่าง ใครที่ทำได้ดีเราส่งเสริมให้เขา อะไรที่เขาทำไม่ได้ซีพีก็ทำ ทำไมซีพีต้องไปแย่ง ไปทำทุกอย่าง ทำทุกอย่างไม่จำเป็น เราต้องทำเอาเทคโนโลยีให้เขา การตลาดช่วยเขา ช่วยการเงินเขา นี่คือนโยบายของซีพี

 

มิเช่นนั้นซีพีไปทำที่เมืองจีน เขาพอใจมากว่าเราคงไม่ใช่มากินรวบ เขาเข้าใจ แต่คนไทยเราอาจจะไม่ได้เข้าใจ นึกว่าเราไปวงไหนเราก็ทำได้ดีที่สุด ทำไมไม่มาเรียนรู้ มาลงลึกดูสิว่าทำไม ซีพีก็มาจากเล็กๆ มีคนไหนเกิดมาแล้วเป็นผู้ใหญ่เลยล่ะ ยกเว้นรัฐวิสาหกิจ ถ้าเป็นเถ้าแก่นี่ ตั้งต้นใหม่ ก็ตั้งต้นจากเล็ก แล้วก็ขยายใหญ่ ทุกคนเหมือนกัน แล้วทำไมเราไม่เรียนรู้ว่าทำไมเขาถึงทำได้ใหญ่อย่างนี้ แต่ละโอกาส แต่ละเวลามันไม่เหมือนกัน 

 

คือเราไม่เคยไปทำอะไรที่ไปแข่งกับรายย่อยนะ เช่น เราส่งเสริมการเลี้ยงไก่ หรือร้านโชห่วย กลัวว่าร้านโชห่วย… เราขายของให้ร้านโชห่วยด้วย เราจะไปทำให้เขาเลิกทำไม หลายคนบอกว่า โอ๊ย! เซเว่น อีเลฟเว่นไปแย่งลูกค้าหาบเร่ รู้ไหมว่านอกจากรัฐบาลห้ามนะ หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นหาบเร่เต็มไปหมดเลย มันอยู่ด้วยกันได้ เพราะลูกค้าความต้องการไม่เหมือนกัน 

 

เหมือนร้านขายทอง ถ้าผมมาตรงนี้ ผมมีร้านขายทองเลือกได้ ทั้งถนนเส้นนี้ มีแต่ร้านร้านเดียว คนก็ไม่มา แต่ถ้ายิ่งมีร้านขายทองเยอะ คนก็อยากจะมา มาแล้วร้านนี้ไม่พอใจก็ไปอีกร้านหนึ่ง มอลล์ใหญ่ๆ เข้าไปทำไมชอบไป เพราะในนั้นมีเสื้อผ้าทุกอย่าง มีอะไรเยอะแยะให้ช้อป นี่คือหลักการเดียวกันว่าเราทำได้คนเดียวที่ไหน ต้องช่วยกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ใครถนัดอะไรทำอันนั้น

 

คุณมีอะไรอยากบอกกับธุรกิจรายเล็กบ้าง

จริงๆ แล้วต้องเข้าใจ พวกที่ทำอยู่ต้องเปลี่ยนแปลง แล้วก็ดูสิว่าเราทำอย่างไร ทำไมเขาขายดี ทำไมเราขายไม่ดี ทำไมเราไม่ทำให้เล็กกลายเป็นใหญ่ เล็กเป็นกลาง อย่าไปนึกว่าเราเล็กอยู่เรื่อย เพราะถ้าธุรกิจไม่มีการเปลี่ยนแปลง ใหญ่ก็ล้มละลาย อย่าว่าแต่เล็กเลย ยิ่งใหญ่ยิ่งล้มละลายง่าย ถ้าไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เบอร์หนึ่งของโลกนี่ล้มไป โนเกียล้มไปเลย ฟิล์มโกดักเบอร์หนึ่งในโลก ล้มไป มีอีกเยอะแยะที่เล็ก กลาง ใหญ่ล้มไป

 

ฉะนั้น เล็กก็ตาม ใหญ่ก็ตาม ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง ต้องเรียนรู้ พัฒนาตัวเอง ถ้าซีพีไม่ทำอย่างนี้ ซีพีจะใหญ่ได้อย่างไรกัน ถ้าทำแต่ของเก่าๆ ผมว่าล้มละลายไปด้วยแล้ว ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ รายเล็กก็เหมือนกัน รายเล็กก็ต้องเรียนรู้ แล้วรายเล็กการเปลี่ยนแปลงคล่องตัวกว่า ได้เปรียบกว่า เพียงแต่เขาไม่เข้าใจ เขาคิดว่าเขาเล็ก ทำไมไม่คิดว่าจากเล็กไปกลาง กลายเป็นใหญ่ล่ะ ขนาดผมยังต้องมีวิกฤตทุกวัน ดีใจก็เพียงวันเดียว เราใหญ่อย่างนี้ ถ้าเรายังเหลิงอยู่ว่าเราสบาย ไม่มีวิกฤต ทำแบบเดิมๆ ไป วันหนึ่งยิ่งใหญ่ ยิ่งล้มง่าย เปลี่ยนไม่ทันแล้ว เล็กยังเปลี่ยนทัน ยิ่งใหญ่ ยิ่งไม่ทำล่วงหน้า ไม่เตรียมพร้อม ยิ่งล้มละลายง่าย 

อย่านึกว่าเราเล็ก แล้วก็ถูกใหญ่กินไป เราต้องพัฒนาตัวเองให้ใหญ่เพื่อสู้เขาให้ได้ แล้วเราก็เติบโตจากเล็กไปใหญ่ได้ 

คุณกำลังจะบอกว่าบางเจ้าเล็กๆ คุณก็สู้ไม่ได้

ไม่ได้ เราจะไปสู้อะไร ฉะนั้นธุรกิจไม่ใช่ทุกธุรกิจเราจะชนะนะ แต่คนมองนึกว่าผมเก่ง ผมต้องเลือกก่อน ธุรกิจตัวนี้ผมมีโอกาสชนะไหม ถ้ามีผมถึงจะไป ไม่ใช่ว่าเราจะชนะทุกเรื่องนะ ฉะนั้นต้องรู้จักเลือก เลือกเสร็จแล้วต้องรู้จักปฏิบัติ รู้จักไปพัฒนา แล้วของใหม่ๆ นี่ถ้าทำไม่ดี เสียเงินหนักกว่าอีกด้วย อย่าไปนึกว่ายักษ์ใหญ่ไม่ล้ม ล้มเหมือนกัน 

 

คนตัวใหญ่ได้เปรียบเรื่องคอนเน็กชัน ข้อได้เปรียบเหล่านี้คุณมองอย่างไร

ผมอยากฝาก ธุรกิจใหญ่ก็มีข้อเสียเปรียบ ปัญหาก็เยอะกว่าตัวเล็ก อย่าไปนึกว่าผมยิ่งใหญ่ ยิ่งสบาย ยิ่งใหญ่เจอปัญหายิ่งหนัก เจอเงื่อนไขยิ่งมาก แล้วบริษัทใหญ่เงื่อนไขไปถึงระดับประเทศหรือระดับระหว่างประเทศแล้ว เห็นไหมว่า Huawei นี่ใหญ่ไหม ใหญ่เกินไป อเมริกาจัดการแล้ว นี่ก็วิกฤตเหมือนกัน อย่าไปนึกว่าใหญ่แล้วสบาย นี่เป็นเรื่องจริง ทุกคนต้องเตรียมพร้อม เล็กก็มีลำบากของเล็ก แต่แก้ไขง่ายกว่า กลางก็ง่ายกว่าใหญ่ แต่ยากกว่าเล็กแล้วนะ ใหญ่ยิ่งแก้ไขยาก ใหญ่ก็มีปัญหาของใหญ่ เล็กก็มีปัญหาของเล็ก แต่หลักเดียวกัน ทุกคนมีปัญหา แล้วเราต้องแก้ปัญหานั้น ทุกคนเจอวิกฤต เราอย่าท้อใจ เราต้องแก้ปัญหาทุกวัน 

 

เหมือนคนเราโตขึ้นหน่อยเสื้อผ้าต้องเปลี่ยนแล้ว เสื้อผ้าตัวเล็กมันใส่ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นมีปัญหาทุกระดับ เพียงแต่เราต้องแก้ แก้มันอย่างไร แล้วต้องยอมรับปัญหา

 

ย้อนกลับมาคุยเรื่องความเป็นมาของธุรกิจเทสโก้ โลตัส อยากให้คุณเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะเจอวิกฤต

คนไม่เข้าใจว่าเราทำอาหารสัตว์ แต่ความจริงเราทำอาหารคน เราทำไปเลี้ยงหมู ไก่ เป็ด ไข่ ให้สินค้าเหล่านี้เป็นอาหารคน อาหารสัตว์เป็นส่วนหนึ่ง ฉะนั้นเราจำเป็นต้องขยายตลาดสมัยใหม่

 

ในยุคนั้นคือ วอลมาร์ตมีอยู่แล้ว วอลมาร์ตก็ใหญ่โตอยู่แล้วในอเมริกา แล้วก็ขายให้คนที่รายได้น้อย ไม่ใช่คนที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ แล้วผมไปเห็นว่าอันนี้น่าจะเอามาขายในเมืองไทย เปลี่ยนแปลง แล้วก็ทำให้มีของใหม่ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงมาบริการให้คนไทย ในเรื่องคุณภาพ สินค้าใหม่ๆ และได้ช่วยผู้ผลิตด้วย เพราะเทสโก้ โลตัสไม่ได้ช่วยขายไก่เป็นอย่างเดียว ตอนที่ผมทำ 30% เป็นอาหารสด แต่วันนี้ผมคิดว่าอาหารสดน่าจะมีความต้องการไปถึง 40-50%

 

ตอนนั้นที่ผมลงทุน ก็ไปเรียนรู้จากวอลมาร์ต ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก แล้วผมก็เชิญ อัล เจนเซน ซีโอโอของวอลมาร์ตในยุคนั้น ซึ่งเป็นรองเบอร์สองของ แซม วอลตัน เจ้าของวอลมาร์ต มาเป็นประธานในการเปิดเทสโก้ โลตัส แล้วผู้ช่วยผู้จัดการคือ ณรงค์ เจียรวนนท์ ลูกชายคนที่ 2

 

ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมจำเป็นต้องขาย แล้วคนซื้อต้องซื้อของดี เขาชอบ และสบายเลย เพราะว่าของดีที่สุดเขาถึงจะซื้อ แล้วเราจำเป็น จำยอมต้องขาย เพื่อรักษาเครือเจริญโภคภัณฑ์ไว้ไม่ให้ล้มละลาย

 

พอวิกฤตตัวนี้มามันไม่ใช่อย่างเดียวนะ ผมเจอปัญหาเมืองจีนด้วย เพราะมันสะเทือนไปถึงเมืองจีน สะเทือนไปถึงฮ่องกง เงินเราที่กู้จากแบงก์ต้องคืน แล้วเป็นบริษัทแม่ แม้ว่าในสัญญาจะบอกไว้ว่าอีก 5 ปีต้องคืน แต่พอประเทศไทยเราล้มละลาย แบงก์มีสิทธิ์บอกให้คืนทันที ถ้าเราคืนไม่ได้ เขามีสิทธิ์จะเอาทรัพย์สมบัติเราไปแบ่ง ตอนนั้นเราต้องรักษาแม่ คือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ไว้ จำเป็นต้องคืนหนี้ให้หมด เพื่อที่จะไม่ถูกฟ้องล้มละลาย ส่วนบริษัทลูกคุยกันได้ว่าให้เราผ่อนหน่อย เพราะอยู่ๆ จาก 25 บาทเป็น 55 บาท ให้ยืดเวลาแล้วเราคืนได้แน่ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ธุรกิจนี้ไม่ดี ปัญหาอยู่ที่อยู่ๆ รัฐบาลบริหารการเงินล้มละลาย

 

ธุรกิจที่เราทำอยู่ดีทั้งนั้น อย่างอาหารมันคู่กับชีวิต ของใช้ อาหาร ที่เราทำเทสโก้ โลตัส มันต้องใช้ โทรศัพท์ก็ต้องใช้ มันเป็นสื่อสารอาหารสมอง เราต้องมีโทรศัพท์ด้วย มีเคเบิลทีวีด้วย หุ้นจาก 130 บาท ลงมาเหลือ 80 บาท ก็ยังมหาศาล ต้นทุนเราแค่ 10 บาทไปถึง 80 บาท ก็ไม่ได้เลิกขายโทรศัพท์ ไปขายอันแรกเลยคือเทสโก้ โลตัส

 

ทำไมเลือกขายเทสโก้ โลตัสก่อน

เพราะอังกฤษต้องการมาก แล้วคนที่จะซื้อบอกผมเองว่าคุณบริหารได้ดีที่สุด เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเราอาปรมาจารย์ของโลกคือวอลมาร์ต อัล เจนเซน คนที่รู้จริง ทำจริง มาช่วยเราวางระบบ ธุรกิจอะไรก็ตามถ้าจะทำใหญ่ ฐานรากต้องดี ระบบทีแรกต้องทำให้ดีก่อน เขาพูดกับผมตรงๆ ว่าราคาเท่าไร เขาซื้อเลย เขาไม่ได้ต่อรองราคา เพราะอะไรรู้ไหม เขาถือว่าถูกมาก เพราะปอนด์เขาแข็ง บาทเราอ่อน

 

เสียดายไหม

ต้องขาย ต้องเอาตัวรอดก่อน เหมือนกับเรือใหญ่เราเจอพายุ เราขนสินค้าเต็มลำ เพื่อให้เจอพายุแล้วไม่ล่ม รักษาตัวฐานของแม่เอาไว้ ธุรกิจหลักของเราจริงๆ คืออาหาร คือเกษตร ตัวนี้ (เทสโก้ โลตัส) คือเป็นตัวเสริมเข้ามา ฉะนั้นมีราคา มีคนชอบ ก็ขาย ยังไม่พอชำระหนี้ ก็ขายแม็คโครไปอีก 

 

ก็จบ ก็พ้นวิกฤตแล้ว แล้วยังมาเจอมรสุมอีก เพราะเคเบิลทั่วโลกมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามา ในชีวิตผมก็เจอว่าเทคโนโลยีใหม่ที่เราไม่เคยเจอ ไม่เคยคิดเลย คิดว่าเราทำตรงนี้ดีที่สุดแล้ว หุ้นก็ดีที่สุด ร่วมกับที่เราเป็นผู้ถือหุ้นเบอร์สอง เบอร์หนึ่งคือโทรศัพท์ระดับโลก เบอร์หนึ่งของอเมริกา แล้วมีคนใช้เต็ม ในโลกนี้มีสายเคเบิลสายเดียวเท่านั้นที่ครบ ตั้งแต่เอเชียไปถึงยุโรป อเมริกา เลยนึกว่าตรงนี้ไฮเทค น่าจะเก็บเอาไว้ แต่รู้ไหมว่าทำไมล้ม เพราะว่าเทคโนโลยีเกิดขึ้น ถ้าเกิดช้าหน่อยจะยอดเยี่ยมกว่านี้อีก เกิดเร็วไป เทคโนโลยีเกิดมีความเร็วสูงขึ้นสามเท่า ทีเดียวของมันเหลือล้น พอมันล้น เลยไม่มีค่า 

 

ตอนนั้นคิดว่าการตัดสินใจครั้งนั้นผิดหรือถูก

เป็นการตัดสินใจที่ผิดที่สุด แต่ตอนนั้นผมคิดว่าถูกที่สุดแล้ว ตอนนั้นคิดว่าต้องรักษาธุรกิจไฮเทค อาหารสมอง เพราะเราทำอาหารปากท้องแล้ว แล้วก็อาหารสมอง ความรู้ ดูหนัง ฟังเพลง ข่าวสาร ผมเรียกว่าอาหารสมอง กินไม่อิ่ม

 

มองย้อนกลับไปคิดว่าบทเรียนที่ได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้นคืออะไร

ทุกวันมีวิกฤต วิกฤตจะมาเมื่อไรเราไม่รู้ บางคนบอกว่าผมเซฟตี้ที่สุดแล้ว ผมคิดรอบคอบที่สุดแล้ว ไม่มีความเสี่ยงแล้ว ใครจะคิดถึงว่าเรื่องโรค (โควิด-19) ที่จีนจะลามมาถึงไทย เรื่องท่องเที่ยว ลามไปทั่วโลกแล้ว แล้วใครจะคิดว่าจะมีสงครามการค้า ไม่มีใครคิดถึง นี่คือความเสี่ยง

 

ฉะนั้นผมจะเตือนนะ ธุรกิจอะไรก็ตาม ต้องคิดว่าถ้าเราลงทุนไปตรงนี้แล้วมันสูญล่ะ ถ้ามันหมดตัวเลยล่ะ บริษัทแม่ล้มละลายไหม ถ้าล้มละลาย ไม่ทำ แล้วเรามีโอกาสกำไรคืนมาไหม ถ้าหมดตัวไป ถ้ามีเราก็ลอง เพราะทุกครั้งผมจะลงอะไร ได้ 70 เสีย 30 ดีกว่าเราไปเล่นการพนันที่มีโอกาสครึ่งครึ่ง เผลอๆ เจ้ามือ 60 เรา 40 ฉะนั้นผมถึงไม่ชอบเล่นการพนัน

 

บทเรียนอีกตัวหนึ่ง อะไรก็เกิดขึ้นได้ ฉะนั้นเราต้องคิดว่าทุกวันมีวิกฤต เราตายทุกคืน เพราะว่าเราหลับไปก็เหมือนตาย แล้วถ้าพรุ่งนี้ไม่ฟื้น ก็ตายไป วันนี้ผมทำธุรกิจ ก็ไปเรียนรู้จาก ปีเตอร์ หม่า ผมบอกว่าผมทำสำเร็จ ดีใจวันหนึ่ง เขาบอกว่าตัวเขาเองกับพนักงานของเขาทั้งหมด 1.8 ล้านคน ต้องมีวิกฤตทุกวัน วิกฤตจะมาทุกวัน คุณต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤต ซึ่งผมประทับใจมาก

เราต้องคิดว่าทุกวันมีวิกฤต เราตายทุกคืน เพราะว่าเราหลับไปก็เหมือนตาย แล้วถ้าพรุ่งนี้ไม่ฟื้น ก็ตายไป

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะตัดสินใจแบบเดิมไหม

วันนี้ทรูนอกจากมีครบทุกคลื่นแล้ว บางอย่างคู่แข่งยังไม่มีดีเท่าทรู แล้วทรูไม่มีเหตุผลจะไม่สำเร็จ เพียงแต่ทรูต้องเปลี่ยนให้เร็วขึ้นอีก เปลี่ยนระบบเก่า เทคโนโลยีเราเปลี่ยนเรียบร้อยไปแล้ว 

 

ธุรกิจสำคัญทั้งสามอัน แต่เราคิดไม่ถึงเหมือนกัน ทุกคนมีโอกาสผิดพลาด ผมถึงจะบอกกับพวกน้องๆ พวกคุณไม่ต้องกลัวผิด ทำไปเลย ผิดเป็นผิด แต่น่ากลัวที่สุดคือผิดแต่ไม่รู้ อย่างนี้ผมอภัยไม่ได้ ถ้าคุณผิดแล้วเสียค่าเล่าเรียน แล้วคุณรู้ คุณเอาคืนมาได้แน่นอน อาจจะร้อยเท่า พันเท่า หมื่นเท่า ถ้าคุณไม่ยอมผิด ไม่ยอมมีโอกาสทำผิด ก็ไม่ต้องทำสิ

 

กลัวอย่างเดียว ผิดแล้วไม่รู้ กลัวอย่างเดียวทำผิดแล้วล้มละลาย ถ้าทำผิดแล้วไม่ล้มละลาย ทำไปเถอะ ของใหม่ใครจะบอกว่าผมทำอย่างนี้ดีที่สุดแล้ว ผมบอกว่าผมรักพ่อแม่มากที่สุด รักภรรยามากที่สุด นี่พูดได้ รักลูกมากที่สุดได้ แต่ธุรกิจไม่มีคำว่าที่สุด ทำธุรกิจต้องบอกว่า ผมจะทำให้ดีขึ้นอีก ไม่มีคำว่าที่สุด เพราะที่สุดก็ไม่ต้องทำอีกสิ ก็มันถึงเพดานแล้ว น้ำเต็มขวดแล้ว จะไปเติมอะไรลงไป ทำธุรกิจต้องมีคำนี้เท่านั้นว่า ผมจะทำให้ดีกว่าเรื่อยๆ ไม่มีสิ้นสุด ไม่มีคำว่าผมทำดีที่สุดแล้ว ไม่มี ธุรกิจคำนี้ใช้ไม่ได้

ผมบอกว่าผมรักพ่อแม่มากที่สุด รักภรรยามากที่สุด นี่พูดได้ รักลูกมากที่สุดได้ แต่ธุรกิจไม่มีคำว่าที่สุด ทำธุรกิจต้องบอกว่า ผมจะทำให้ดีขึ้นอีก ไม่มีคำว่าที่สุด

อยากรู้ถึงสภาพจิตใจของคุณช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เครียดแค่ไหน

ลำบากมาก มืดแปดด้าน แล้วมันไม่ใช่ว่าเราเจอวิกฤตแบบนี้ เรานึกว่าผ่านไปแล้ว เราขายแม็คโคร ขายเทสโก้ โลตัส อ้าว! ทรูต้องจ่ายเงินเดือนแล้ว แบงก์บอกว่าถึงเวลาต้องจ่ายแล้ว แต่เราต้องปิดสวิตช์ นอนก่อน ต้องหลับ พรุ่งนี้ต่อสู้ใหม่

 

มีคืนที่นอนไม่หลับบ้างไหมครับ

ไม่มี นี่คือความดีของผม ผมออกกำลังกาย แล้วคุณต้องคิดอย่างนี้ คุณนอนไม่หลับ แต่เรื่องมันเกิดแล้ว ถ้าคุณนอนไม่หลับ พรุ่งนี้มึนๆ สมองไม่แจ่มใส ทำอะไรก็ไม่ได้ แต่ผมฝึกมาตั้งแต่ช่วงที่ตอนหนุ่มๆ ผมชอบอ่านนิทาน กำลังสนุก พอถึงเวลานอน ผมปิด หลับตา พรุ่งนี้อ่านต่อ

 

ถามตรงๆ ช่วงนั้นผ่านวิกฤตมาได้อย่างไร 

เอาล่ะ ต้องคิดอย่างนี้ เพราะเราเตรียมใจว่าเราดีใจวันเดียว มันต้องมีวิกฤตทุกวัน ฉะนั้นพอวิกฤตมาแล้ว วิกฤตตามมาด้วยโอกาส คุณอย่าคิดลบอย่างเดียว ตอนที่คุณดีที่สุด รุ่งเรืองที่สุด เจริญที่สุด คุณต้องคิดว่าวิกฤตจะมาแล้ว แล้วถ้าวิกฤตมาคุณทำอย่างไร ต้องคิดก่อน ตอนที่มันมืดที่สุดแล้ว วิกฤตมาแล้วล่ะ คุณมัวแต่กลุ้มใจ นอนไม่หลับ เสียใจ เสียดาย ไม่มีประโยชน์อะไร มันมาแล้ว คุณต้องทำสมองให้แจ่มใส แล้วเราจะต่อสู้วิกฤตอย่างไร ต้องใช้ปัญญา ใช้สมองได้ ก็ต้องนอนให้หลับ พรุ่งนี้มึนๆ ทั้งคืนนอนไม่หลับ พรุ่งนี้เจอปัญหายิ่งใหญ่มาอีก

ในชีวิตผม ผมมีช่วงหนึ่งตอนที่คุณแม่เสียชีวิต ผมเสียใจมากที่สุด เพราะเรายังไม่ได้ตอบแทนบุญคุณของคุณแม่ ผมกินยานอนหลับ อะไรที่เราไม่ได้เตรียมใจ อันนี้จะทำให้เราเสียใจมาก เราต้องเตรียมใจ เพราะว่าเราดีใจได้วันเดียวเท่านั้น 

ปัญหาของซีพีในวันนี้ที่คิดว่าใหญ่ที่สุด เป็นความท้าทายที่สุดคืออะไร

ต้องเปลี่ยนแปลง ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือต้องเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง แล้วยิ่งใหญ่ยิ่งเปลี่ยนแปลงยาก องค์กรยิ่งใหญ่ยิ่งเปลี่ยนแปลงยาก ต้องมีวิธี ต้องเข้าใจ นี่คือทีเด็ดของซีพี แล้วซีพีไม่ใช่เพิ่งมารู้นะว่าต้องเปลี่ยนแปลง

 

6 ข้อค่านิยมของเรา หนึ่ง ทำอะไรต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ประโยชน์ต่อประชาชน ถึงจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัท สอง ต้องมีนวัตกรรมใหม่ สาม คือเร็วแล้วต้องมีคุณภาพ ไม่ใช่ว่าเร็วแล้วไม่มีคุณภาพ สี่ ต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง ห้า ต้องทำเรื่องยากเป็นเรื่องง่าย เราบอกคนของเราต้องเปลี่ยนแปลง ต้องเร็ว ต้องมีคุณภาพ แล้ว หก คือต้องเป็นคนมีคุณธรรม เป็นคนดี ไม่ได้เก่งแล้วเป็นคนชั่ว ไม่ได้ ต้องคนดี คนเก่ง

 

ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลง ยิ่งใหญ่ยิ่งต้องเปลี่ยนแปลง และต้องเปลี่ยนแปลงอย่างเร็ว นี่ขัดกันแล้ว เล็กเปลี่ยนแปลงเร็วได้ ใหญ่จะเร็วอย่างไรก็ต้องมีวิธี ผมก็กำลังเอาศูนย์ฝึกผู้นำนี่แหละเปลี่ยนแปลงให้มันเร็วขึ้น 

 

คิดว่ามาถูกทางไหม

แน่นอน เพราะเราทำมาก่อนตั้ง 5 ปี 6 ปีก่อน ไม่ใช่มาคิดที่จะทำแล้วก็ทำ เราต้องเรียนรู้ก่อน ทำไมผมเรียกเป็นเถ้าแก่ คนยังไม่เข้าใจ ทำไมผมถึงเรียกว่าสปอนเซอร์ ไม่เป็นผู้นำ ทำไมผมพูดแล้วพูดอีกว่าชี้แนะ ห้ามชี้นำ ถ้าเราชี้นำก็เอาของเก่าไปนำให้คนใหม่สิ ให้คนใหม่มีอิสระ มีอำนาจ ตัดสินใจเอง แต่รายงานสั้นๆ เราติดตามตลอด

 

ส่วนทรูนี่ก็กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงเหมือนกัน แล้วคุณภาพวันนี้ก็ดีขึ้น เราลงทุนหนักก็จริง แต่เทคโนโลยีเราก็ทันแล้ว เรามีบางอย่างที่คนอื่นก็ทำไม่ได้ ผมก็เชื่อมั่นว่าทรูจะต้องดีขึ้นอีกเยอะ 

 

ระบบเก่าก็ใช้ไม่ได้แล้ว ไม่ง่าย แล้วต้องเปลี่ยนเร็วด้วย ตัวมันเองก็เปลี่ยนเร็วด้วย แล้วเวลาเปลี่ยนแปลงเราต้องเร็วกว่า 

 

รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คิดว่ายากไหม

ถ้าเข้าใจ ยิ่งทำไฮเทค ยิ่งทำของใหม่ที่เขาสำเร็จแล้ว วันนี้เขาสำเร็จแล้ว ไม่ใช่เรามาเริ่มตั้งแต่ศูนย์นะ อย่างรถไฟชินคันเซน ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำสำเร็จมาหลายสิบปีแล้วใช่ไหม วันนี้เราก็ไม่ได้ทำ 250 กิโลเมตรเหมือนเขานะ เพียงแต่เราเอาสิ่งที่เขาประยุกต์มาถึงวันนี้กับหลายสิบปีก่อน เราไม่ใช้เทคโนโลยีของหลายสิบปีก่อน เราใช้เทคโนโลยีของวันนี้มาให้กับรถไฟความเร็วสูง เราใช้ความรู้ของจีนที่เขาไปถึง 400 กิโลเมตรแล้ว วิ่ง 360 กิโลเมตรแล้ว เอาความรู้เขามาใช้ เอาของยุโรป วันนี้เราก็เอาเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่ดีที่สุดมา ของจีนที่ดีที่สุดมา ของยุโรปดีที่สุดมา แล้วจะพลาดได้อย่างไร คือเรายอมรับของใหม่ๆ แล้วเขาทำสำเร็จแล้ว แล้วเอามาใช้อย่างไร ฉะนั้นเราไม่ได้ริเริ่มใหม่ เพียงแต่ธุรกิจตัวนี้เป็นของใหม่ในประเทศไทย เป็นของเก่าของต่างประเทศ ของทั่วโลกที่เขาทำสำเร็จแล้ว 

 

จุดมุ่งหมายที่เข้ามาในธุรกิจรถไฟความเร็วสูงคืออะไร

ผมคิดว่าเราต้องเปลี่ยนแปลง คือต้องใช้ความเร็วสูง ไม่ใช่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้ว เรื่องคมนาคมเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ เห็นไหมว่ารัชกาลที่ 5 เอารถไฟมาแล้วเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไป 

 

สังคมจับตาโครงการนี้ว่ามีความไม่โปร่งใส เอื้อผลประโยชน์ทับซ้อน คุณมีคำตอบไหม

ดูสิมันสู้กัน อย่างอู่ตะเภานี่ราคาผิดกันเท่าไร เหมือนกับรถไฟความเร็วสูงที่ราคาของเราถูกที่สุด ก็อยู่ที่ความสามารถของเรา แต่ผมเชื่อมั่นว่ารถไฟความเร็วสูงเราสำเร็จแน่นอน เพราะเราใช้เทคโนโลยีของ 3 แห่ง นี่ความสามารถของผม ผมชอบเอาของดีที่สุดมาให้คนไทยใช้ แล้วก็เข้าสเปก เข้าเวลา โอกาสเวลามันก็ถึง แล้วต่อไปเมืองไทยจะเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก ไม่ใช่อาเซียน

 

เอาล่ะ โอเคนะ แล้วค่อยคุยกันใหม่วันหน้า

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Creative ภัทร จารุอริยานนท์
Episode Editor ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Music westonemusic.com

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising