×

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ทฤษฎีหมู 3 ชั้น กับความสัมพันธ์ผัวเมียที่ทั้งรักทั้งเกลียด

04.06.2019
  • LOADING...

การเปิดฉากสั่งให้ Google แบน Huawei ของ โดนัลด์ ทรัมป์ การตอบโต้แบบไม่เกรงกลัวของ สีจิ้นผิง และตามมาด้วยคลื่นอีกหลายระลอกจากบริษัทใหญ่ๆ ที่มีต่อ Huawei ทำให้เรื่องสงครามการค้าเป็นเรื่องใกล้ตัว เรื่องนี้มีผลกระทบต่อการทำธุรกิจและการลงทุน เป็นผลกระทบที่ต้องมองกันยาวๆ

 

The Secret Sauce ชวนทำความเข้าใจเรื่องสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ แบบเข้าใจง่ายๆ เห็นถึงที่มาที่ไป เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ วิเคราะห์ หรือวางกลยุทธ์ กับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร อาจารย์และนักเขียนที่รอบรู้เรื่องจีนที่สุดคนหนึ่งในประเทศ

 


 

สงครามการค้า

 

สถานการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร ใครได้เปรียบเสียเปรียบ

ผมใช้คำว่า ‘ทฤษฎีหมู 3 ชั้น’ คือมันไม่ใช่แค่สงครามการค้า แต่มีถึง 3 ชั้นด้วยกัน

 

ชั้นที่ 1 การขาดดุลการค้ากับประเทศจีน อเมริกาซื้อของจีน แต่จีนไม่ค่อยซื้อของอเมริกา นี่คือชั้นผิวๆ

 

ชั้นที่ 2 สงครามเทคโนโลยีระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ ตอนนี้สหรัฐฯ เริ่มออกมาเล่นกับ Huawei และบริษัทจีนอื่นๆ เราก็เริ่มเห็นแล้วว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการค้า มันมีเรื่องเทคโนโลยีด้วย

 

ชั้นที่ 3 เรื่องความมั่นคง ในอนาคตคือยุค 5G ซึ่งเป็นยุคที่เร็วและแม่นยำมากขึ้น มันเร็วกว่า 4G เป็นร้อยเท่า และจุข้อมูลได้มากขึ้น 5G จะมาพร้อมกับ Internet of Things (IoTs) ซึ่งข้าวของเครื่องใช้ในอนาคตจะเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตหมดเลย สามารถคุยกันเอง และเราก็ยังสามารถคุยกับของใช้ได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลมหาศาลผ่านเครือข่าย 5G ใครที่ขึ้นมาเป็นผู้นำโลกด้าน 5G ก็จะเป็นคนคุมข้อมูลเหล่านี้ด้วย สหรัฐฯ ไม่ไว้ใจ Huawei เนื่องจากเทคโนโลยี 5G สามารถติดตั้งมัลแวร์ การตรวจสอบจะยากมาก ซึ่งอาจมีการส่งข้อมูลกลับไปที่จีน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่มากกว่าการค้าขายทางธุรกิจ แต่มันรวมถึงเรื่องเทคโนโลยีและความมั่นคงด้วย

 

 

ผลกระทบจากสงครามการค้าของทั้งสองฝั่ง

Huawei เป็นผู้นำ 5G สามารถผลิตสมาร์ทโฟนไม่แพ้ Apple แต่ข้อเท็จจริงคือเทคโนโลยีหลายอย่างยังต้องพึ่งของสหรัฐฯ Huawei เก่งในเรื่องเทคโนโลยีชั้น 2 และ 3 หรือการต่อยอด แต่เทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น ซอฟต์แวร์ หรือโค้ด เป็นของสหรัฐฯ

 

สหรัฐฯ บอกจะไม่ส่งชิปให้จีน จีนโต้กลับว่าจะไม่ส่งวัตถุดิบในการผลิตชิปให้สหรัฐฯ  เพราะแร่ในการผลิตชิปที่ชื่อว่า Rare Earth 90% มาจากจีน ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ก็เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของจีน จีนก็จะเจ็บตัวไปด้วย ทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมดหลายคนจึงคาดเดาว่าต้องหาข้อตกลง เพราะถ้ายังทะเลาะต่อไปจะยิ่งเจ็บตัวทั้งสองฝ่าย

 

3 มุมมองระยะยาวจาก ดร.อาร์ม

มุมมองแรก เดี๋ยวก็ตกลงกันได้ หากไปถามนักเศรษฐศาสตร์ก็จะบอกว่ามีแต่เสียกับเสีย

 

มุมมองที่สอง เป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งสำคัญ จึงต้องทุบ Huawei ให้ตายไปข้างหนึ่ง

 

มุมมองที่สาม ดีๆ ร้ายๆ สลับกันไป ตีกันแล้วก็มาตกลงกัน แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้จริง เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงและยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ เมื่อฝ่ายหนึ่งไม่ทำตามตกลง ก็จะกลับมาทะเลาะและกลับมาตกลงกันอีกรอบ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายเหมือนสามีภรรยาทะเลาะกัน มันมีคำเรียกว่า ชิเมริกา คือ China + America เป็นเหมือนประเทศเดียวกัน เศรษฐกิจทั้งสองเชื่อมโยงกันมาก เหมือนสามีภรรยาที่ไม่มีทางดีกัน แต่มีลูกด้วยกัน สุดท้ายก็ต้องกลับมาเจอกัน ไม่ก่อเกิดสงครามโลกครั้งใหม่

 

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาพูดถึงสาเหตุที่จีนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญเนื่องจากจีนเป็นศัตรูของสหรัฐฯ ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลกไม่เหมือนสหภาพโซเวียต ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐฯ ทุบสหภาพโซเวียตจนตายแต่ก็ไม่กระทบสหรัฐฯ และโลก แต่ปัจจุบันจีนเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกอย่างมากจากการค้าเสรีมากกว่า 10 ปี ในมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดนี้คิดว่า การที่จีนเชื่อมโยงกับสหรัฐฯ นั้นเป็นเรื่องแย่ จึงต้องแยกห่วงโซ่การผลิตออกมา ภาพใหญ่คือเศรษฐกิจโลกจะผันผวนหรือขึ้นๆ ลงๆ อีกนาน หากสงครามยกระดับขึ้นก็จะกระทบเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายและโลกด้วย โดยไทยได้ประเมินออกมาแล้วว่าการส่งออกของเราติดลบแน่นอน โลกจะผันผวน ซึ่งรวมถึงการลงทุนแบบเน้นคุณค่าที่วอร์เรน บัฟเฟตต์แนะนำอาจจะไม่มั่นคงอีกต่อไป เช่น Apple หรือ Huawei ที่เป็นบริษัทพื้นฐานดี อาจไม่แน่นอน

 

สงครามการค้า

 

Mindset ของผู้ประกอบการหรือนักลงทุนต้องปรับตลอดเวลา ไม่ใช่การวางแผนระยะยาวแบบเดิมอีกต่อไป

หมดยุค one size fits all หรือการมีเพียง solution เดียวที่ทำแล้วได้กำไร คุณไม่สามารถทำอย่างเดิมได้

 

คำว่าวิกฤตในภาษาจีนมาจากคำว่า ภัยและโอกาส รวมกัน ความหมายก็คือ คนจีนจะคิดตลอดเวลาว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร คนจีนจึงไม่กลัว และหาโอกาสจากวิกฤตครั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใครในห่วงโซ่ จะหาโอกาสจากจุดนี้ได้อย่างไร และจะลดผลกระทบอย่างไร ทุกคนจะมีแบบแผนนโยบายและกลยุทธ์ที่ไม่เหมือนกัน

 

ทฤษฎีโลกสองอินเทอร์เน็ต

เอริก ชมิดต์ เป็นคนพูด ซึ่งเขาเคยทำงานที่ Google เขาบอกว่า อนาคตโลกจะมีสองอินเทอร์เน็ตแยกออกจากกัน ทุกวันนี้หากเป็นคนจีนก็จะไม่ได้ใช้ Facebook, Google และ YouTube จีนจะมีเว็บไซต์ต่างๆ ของตัวเอง แต่คนทั้งโลกที่อยู่นอกประเทศจีนก็ยังใช้ของตะวันตก แต่อนาคตเราอาจต้องมีโทรศัพท์สองเครื่อง เครื่องหนึ่งใช้สำหรับแอปฯ บริษัทจีน เช่น Alibaba, Joox หรือ WeChat เพื่อติดต่อกับลูกค้าจีน และมีโทรศัพท์อีกเครื่องหนึ่งสำหรับใช้ YouTube, Google และ Gmail แต่ในเคสที่หนักกว่านี้คือ แต่ละประเทศอาจจะต้องเลือกข้าง เช่น แอฟริกาที่ตอนนี้จีนบุกมาก 5G ของแอฟริกาในอนาคตเป็นของ Huawei แน่นอน สหรัฐฯ เริ่มพูดแล้วว่า ประเทศใดใช้ Huawei เขาจะไม่เชื่อมต่อกับประเทศนั้น แต่สิ่งนี้ไม่เป็นผลดีกับใคร เพราะโลกควรมีอินเทอร์เน็ตเดียว เราควรดึงจีนเข้ามาสู่โลกอินเทอร์เน็ตสากล อันนี้ก็จะเป็นมุมมองคนแบบโอบามาหรือแบบโลกสวย  

 

 

ท้ายที่สุด ควรติดตามข่าวจีน-สหรัฐฯ ด้วยมุมมองแบบใด

อย่างที่บอกคือมี 3 ชั้น แต่ไม่มีฝ่ายธรรมะหรืออธรรม จริงๆ แล้วเกมการเมืองระหว่างสองประเทศคือเรื่องของผลประโยชน์ ต่างคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง เราต้องใจกว้าง เป็นกลางและดูสถานการณ์ตามความเป็นจริง จะทำให้เรามองสถานการณ์ได้ดีขึ้น ในระดับประเทศทุกคนคงเห็นเหมือนกันว่าเราต้องทำให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศเรา เราไม่สามารถเลือกข้างได้ ต้องบาลานซ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ ในเชิงธุรกิจเราต้องวิเคราะห์ว่าจะมีโอกาสอยู่ตรงไหน ความผันผวนเป็นอย่างไร คุณต้องมองและวิเคราะห์สถานการณ์ให้เข้ากับธุรกิจของตัวเอง มันไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ทุกวิกฤตจะมาพร้อมกับโอกาส

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

The Guest ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising