เมกะโปรเจกต์ที่ทั้งคนไทยและต่างชาติจับตามองในหลายปีที่ผ่านมาคือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC นอกจากจะใช้ดึงดูดนักลงทุนเอกชนทั้งในประเทศและต่างชาติ ยังเป็นความหวังให้คนใน 3 จังหวัดฝั่งตะวันออกอย่าง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง กลายเป็นพื้นที่ทองคำ
ทว่าปัญหาที่สั่งสมมา ทั้งเชิงระบบปัญหาหน้างานเชิงพื้นที่ และการสร้างความเข้าใจกับคนท้องถิ่น ทีม EEC ต้องทำงานอย่างไร และจะตอบคำถามที่คนไทยสงสัยว่า EEC จะสร้างประโยชน์ให้ประเทศอย่างไร
เคน นครินทร์ พูดคุยกับ คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ใน The Secret Sauce: Executive Espresso
ทำไม EEC เป็นอนาคตของประเทศไทย
คณิศเล่าว่า โครงการ EEC ตั้งใจสร้างเป็นต้นแบบการพัฒนาเชิงพื้นที่ เป็นครั้งแรกที่ทำโครงการพัฒนาพร้อมกันทั้ง 3 จังหวัด ผ่านการทำตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน การสร้างเมือง วางผังเมืองให้พร้อมต่อการขยายตัวในอนาคต ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ และส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
ทั้งนี้สาเหตุที่ EEC ต้องเร่งให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพราะในช่วง 12-14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดสึนามิที่ภูเก็ต ประเทศไทยประสบกับปัญหามาตลอด ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงอัตราการลงทุนที่ต่ำจนสร้างความกังวล
เมื่อ 3 ปีก่อนยิ่งเห็นชัดเจนว่า ความสามารถในการแข่งขันของไทยใช้แข่งกับประเทศเพื่อนบ้านยาก เช่น ด้านเทคโนโลยี ไม่สามารถแข่งกับมาเลเซีย สิงคโปร์ หรืออนาคตอาจจะแพ้อินโดนีเซีย เวียดนาม ได้หากไม่รีบปรับตัว ซึ่งผลการศึกษายืนยันว่า หากเศรษฐกิจประเทศเติบโตต่ำกว่า 3% จะไม่สามารถจ้างงานเด็กจบใหม่ได้ทั้งหมด
“อันตรายนะ คำว่า 3% ไม่ได้หมายความว่า (เศรษฐกิจ) โตต่ำอย่างเดียว แต่หมายความว่ามันจะมีคนว่างงานถ้าเราโตต่ำ EEC ก็เลยกลายเป็นตัวไดรฟ์เศรษฐกิจของประเทศขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ไปอยู่จุดที่เราควรจะเป็น”
ดังนั้นเมื่อไทยต้องหาทางพัฒนา เมื่อ 3 ปีก่อนจึงมีการพูดคุยกับรัฐบาลและเกิด ‘10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย’ (10 S-Curve) ขึ้น โดยเป้าหมายของ EEC จะสร้างการลงทุนใหม่ราว 3 แสนล้านบาทต่อปี ผ่านการปรับโครงสร้างการผลิต และวิถีชีวิตคน ที่สำคัญจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจาก GDP ที่โตอยู่ 3% ให้เติบโตไปถึง 4.5-5% ซึ่งจะทำให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
คนไทยจะได้อะไรจาก EEC
ภายในโครงการ EEC มีส่วนประกอบหลายอย่าง ทั้งสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ฯลฯ ที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทย พัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม
หากมองด้านความคุ้มค่าการลงทุน กรณีรถไฟความเร็วสูง ผลประโยชน์ของประเทศวัดที่ประมาณ 6.5 แสนล้านบาท (ในช่วง 50 ปี) ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนราว 2 แสนล้านบาท ดังนั้นเมื่อมองผลประโยชน์ในประเทศ ตัวโครงการถือว่าคุ้มทุน
แต่หากมองด้านงบการเงินอาจจะไม่คุ้ม เพราะจากเม็ดเงินที่ใช้ในโครงการรวม 2 แสนล้านบาท ทางรัฐบาลต้องจ่ายเงินลงทุน 1 แสนล้านบาท
“ตอนนี้มันกำลังเกิดอีกหนึ่งภาพ เนื่องจากเราทำรถไฟความเร็วสูง รัฐต้องจ่ายเงินประมาณแสนล้านเพื่อไปทำสนามบิน สนามบินเอกชนต้องจ่ายเงินให้รัฐ เพราะว่าเอาที่สนามบินมาพัฒนา อย่างน้อยที่สุดตอนนี้ที่เราพอทราบมา เงินที่ได้จากสนามบินไม่ต่ำกว่าแสนล้าน หมายความว่าเมื่อเอารถไฟกับสนามบินมาเชื่อมกันเป็นโครงการเดียวกัน รัฐบาลอาจจะไม่ต้องจ่ายเงินเลย”
จากความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP ทำให้โครงการ EEC ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม และไม่ต้องเพิ่มหนี้สาธารณะ ทั้งนี้จะเห็นว่าทุกโครงการมีเอกชนไทยที่เป็นบริษัทใหญ่ พาพันธมิตรมาร่วมลงทุน เช่น กลุ่มซีพี, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บางกอกแอร์เวย์ส
สะสาง 3 ปัญหา EEC โครงการไหนได้ไปต่อ
ในโครงการ EEC ทุกเรื่องเป็นเรื่องใหม่ ทั้งความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ การทำ Policy Sandbox การแก้กฎระเบียบ ยกตัวอย่างเช่น EEC สามารถสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนได้เพราะมี PPP ซึ่งดึงกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยทำ PPP มาช่วยเขียนระเบียบจนเสร็จ จากจุดอ่อนเดิมที่ใช้เวลา 40 เดือน ทำให้เหลือ 8 เดือน สามารถเริ่มต้นสร้างรถไฟหรือสนามบินได้ในระยะเวลาค่อนข้างเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี ซึ่งตัวหน่วยงานที่มาทำงานก็ได้รูปแบบการทำงานใหม่ไปปรับใช้
ขณะที่ปัญหาการลงทุนในไทย จากผลการสำรวจใน 3 อันดับแรกที่จะกระตุ้นให้คนมาลงทุนได้คือ
- เมืองต้องอยู่ได้ เพราะการดึงคนเก่งด้านเทคโนโลยีมาทำงานต้องมีสภาพแวดล้อมให้ครอบครัวเขาอยู่ได้ด้วย เช่น โรงเรียน ฯลฯ
- บุคลากรไทยยังมีไม่เพียงพอ
- สิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งภาครัฐต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม
ปัญหาใหญ่คือ ข้อ 2 หรือเรื่องบุคลากรของไทย เพราะตอนนี้ไทยมีคนจบปริญญาตรีที่ว่างงานหรือทำงานต่ำระดับ (Underemployment) 2 แสนคน มีความต้องการช่างฝีมือชั้นดี 5 หมื่นคน แต่กลับไม่มีคนไปสมัคร เป็นปัญหาซัพพลายไซส์การผลิตคนที่ไม่ตรงความต้องการของตลาด ซึ่งหากดูความต้องการของผู้ประกอบการแล้ว จะพบว่ายังไม่มีคนทำงานเรื่องอุตสาหกรรมใหม่อย่างการบิน หุ่นยนต์ ดังนั้นภาครัฐจึงต้องทำงานร่วมกับเอกชนมากขึ้น
“ฝั่งหนึ่งเราผลิตคนที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ในขณะที่ตลาดก็เรียกร้องคนอีกฝั่งหนึ่งแต่เราก็ไม่สามารถทำได้ ปัญหานี้มันลึกมาก แล้วมันก็เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง มีทั้งกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการทั้งกระทรวง ตั้งแต่ทบวงมหาวิทยาลัย โรงเรียน อาชีวะ พวกนี้เกี่ยวกันหมด”
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มโครงการในโซน EEC เช่น โครงการอาชีวศึกษาที่เป็นสัตหีบโมเดล โดยให้สถาบันฯ ร่วมกับเอกชน ทำหลักสูตรรับเด็กมาเรียน ซึ่งผู้ที่เข้ามาเรียนไม่ต้องจ่ายค่าเรียนทั้งหมด และตอนเรียนจะได้รับค่าอาหารกลางวัน 4,000 บาท ซึ่งเมื่อเข้าปีที่สองจะต้องเข้าไปฝึกที่โรงงาน และค่าแรงวันละ 300 บาท สุดท้ายเมื่อเรียนจบ บริษัทฯ จะรับทุกคนเข้าทำงานโดยมีค่าแรงขั้นต่ำ 20,000 บาทต่อเดือน ในอนาคตโครงการนี้จะขยายผลเพื่อให้รับคนมาเรียนเพิ่มเป็น 6,000 คน
ทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษากับเอกชน ซึ่งพร้อมจะใส่เงินสนับสนุนอยู่แล้ว แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักพัก ตอนนี้ทั้งรัฐบาล กระทรวงแรงงานเริ่มเปลี่ยนแปลงในทางเดียวกัน เรื่องต่อไปที่จะทำคือระบบ Retrain การเรียนรู้เรื่องอื่นๆ เพิ่มเติมเป็นหลักสูตรระยะสั้น 3-6 เดือน โดยเอกชนและรัฐจะออกค่าใช้จ่าย 50 ต่อ 50 ส่วนหนึ่งเอกชนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
“เราทำเพื่อสร้าง New Generation ขึ้นมาใหม่ที่สามารถที่จะเดินให้ EEC ต่อได้ในอนาคต ถ้าไม่มีอันนี้ 1. การลงทุนไม่มา ถ้าไม่มีคน เขาไม่มา สมัยก่อนเวลาพูดถึงการลงทุนภาคเอกชนจะพูดถึงเครื่องจักร เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว จะถามว่าเอาคนมากี่คน เทรนเรื่องอะไรกับใคร”
นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือเรื่องเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น มีเทคโนโลยีใหม่ไม่ต้องซื้อเครื่องที่แพง แต่ยืมเครื่องจักรได้ ซึ่งจะต่อยอดภาคเอกชนทำธุรกิจง่ายขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นมากขึ้น
อัปเดต 5 โครงการใหญ่ EEC ปรับพื้นฐานประเทศไทย
ขณะนี้การพัฒนาเชิงพื้นที่ กฎหมาย และตัวแผนถือว่าเดินหน้าไปได้ด้วยดีแล้ว ขณะที่เฟส 2 การทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่มีความคืบหน้า 70% โดยมี 5 โครงการใหญ่ เช่น
- โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (เสร็จแล้ว)
- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) แล้ว
- โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก คาดว่าปลายเดือนนี้จะดำเนินการเรียบร้อย
- โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปี
- โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) คาดว่าจะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปีหน้า
ส่วนเฟส 3 จะเน้นไปที่การลงทุน โดยเน้นเฉพาะใน 10 อุตสาหกรรมหลัก ซึ่งในภาพรวมทุกโครงการน่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2566 หรือต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี กว่าที่ EEC จะสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศไทยได้
ทั้งนี้การคัดเลือก 10 อุตสาหกรรม มุ่งเน้นเทคโนโลยีใหม่ซึ่งเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศ เช่น 1. Robotics & Automations เพราะพื้นฐานอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยแข็งแกร่ง 2. อุตสาหกรรมการบิน ที่ไทยจะมีศูนย์ซ่อมเครื่องบิน 3. Medical Hub ซึ่งการรักษาพยาบาลในเมืองไทยอยู่ในระดับที่ดี และต้องพัฒนาแบบมีเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยและการเป็นศูนย์กลางการรักษา ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของไทยให้แข่งกับประเทศอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น
อนาคต EEC เมืองต้นแบบด้านเศรษฐกิจและชีวิตคนไทยที่อาจจะ ‘น่าอยู่กว่ากรุงเทพฯ’
EEC เป็นแค่ตัวอย่างในการพัฒนาเชิงพื้นที่แตกต่างจาก ‘Eastern Seaboard’ ที่เคยทำมาก่อน ทั้งนี้ EEC จะสร้างเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดขึ้น รวมถึงเป็นตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยไปสู่แนวทางใหม่ตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเน้นสร้างประโยชน์กับเยาวชนไทยในอนาคต
การพัฒนาพื้นที่หรือสร้างโครงการใหม่ๆ จะยั่งยืนไปถึงอนาคตได้ และอาจทำให้ประเทศพ้นกับดักความยากจนภายในเวลา 20 ปี แต่ความท้าทายนี้ต้องอาศัยพลังของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นจึงต้องสร้างคนไทยในอนาคตตั้งแต่วันนี้
ต้องยอมรับว่าโลกปัจจุบันได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีสูงมาก ส่วนหนึ่งเพราะการผสานระหว่างโลกดิจิทัลและเทคโนโลยีมาอยู่บนจุดเดียวกัน ซึ่งกลายเป็นวิถิชีวิตการทำงานในยุคนี้ ซึ่งหากถ้าคนไทยปรับตัวจะแข่งขันยากขึ้น เช่น อีคอมเมิร์ซจากเดิมคนอยากเริ่มทำธุรกิจต้องไปเดินสำรวจตลาด แต่ปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว เรียกว่าความรู้ที่สั่งสมมา 30 ปี อาจจะใช้ในปัจจุบันได้เพียง 10% ดังนั้นคนรุ่นนี้ต้องเรียนเพิ่มอีก 90% ที่เหลือ และต้องเรียนรู้ตลอดเวลา
“ใน 5-10 ปีข้างหน้า EEC จะเป็นชีวิตใหม่ที่น่าอยู่มากกว่าอยู่กรุงเทพฯ ทั้งรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ รถก็คงจะไม่ติด เพราะเราใช้รถไฟฟ้าแทนที่รถประจำทาง ชีวิตก็จะเปลี่ยนไป และเป็นต้นแบบในเชิงของประเทศ คิดว่าถ้าเราเดินแบบนี้แล้วคนอื่นเดินได้ เราก็จะก้าวพ้นระยะที่เราเป็นอยู่ เทียบกับประเทศรุ่นเดียวกันเราจะสามารถแข่งขันได้ ซึ่งประเทศแถวๆ นี้เขาก็กำลังทำ ดังนั้นเราจะต้องเปลี่ยนให้เร็วด้วย”
สุดท้ายสิ่งสำคัญในการพัฒนา EEC คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการพัฒนา หากทุกอย่างเป็นไปในแนวทางนี้ คนไทยจะมีสภาพความเป็นอยู่ที่น่าอยู่มากขึ้น
สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note ชุตินันท์ สงวนประสิทธิ์
Photographer ภาณุ วิวัฒฑนาภา
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์