×

ICO คืออะไร เป็นโอกาสใหม่ของคนอยากมีธุรกิจและชอบลงทุน จริงหรือ

07.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:56 ICO คืออะไร

05:26 ความต่างระหว่าง ICO กับ IPO

09:40 กฎกติกาและการยอมรับในระดับโลก

15:04 ICO ช่วยคนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจได้อย่างไร

20:08 เหรียญ Carboneum ของ StockRadars

26:30 แนะนำคนที่สนใจอยากลงทุนในเหรียญ และ ICO

29:13 ดูอย่างไรในเมื่อใครๆ ก็ ICO ได้

31:56 ทิ้งท้ายเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain ที่กำลังเปลี่ยนโลก

The Money Case เอพิโสดที่แล้ว มันนี่โค้ช คุยกับ คุณแม็กซ์ ก่อตระกูล และคุณตูน ภาวลิน จาก StockRadars เรื่อง Cryptocurrency, Bitcoin และ Blockchain ทำให้ได้เห็นไอเดียเรื่องสกุลเงินดิจิทัลที่กำลังเข้ามาในชีวิตพวกเรามากขึ้นเรื่อยๆ

 

เอพิโสดนี้คุยกันต่อเรื่องของการนำเหรียญดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เกิดเป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า ICO (Initial Coin Offering) นี่น่าจะเป็นโอกาสใหม่สำหรับคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง และสำหรับคนที่สนใจเรื่องการลงทุน

 


 

ICO เกิดขึ้นจากอะไร

สมัยก่อนถ้าเราต้องการแหล่งเงินทุน เราต้องไปกู้จากแบงก์ พอมาถึงโลกยุคสตาร์ทอัพ เราไปกองทุนร่วมลงทุน หรือ VC (Venture Capital) ก็ต้องเขียนแผนธุรกิจ มีคนมาวิเคราะห์ และอยู่ที่ว่าตอนนั้นกองไหนเขาอยากลงเรื่องอะไร และเราอยู่ในอุตสาหกรรมแบบไหน ประเทศอะไร พอมาถึงโลกที่เรามี Cryptocurrency และ Blockchain พอคนเริ่มเชื่อถือ ก็เริ่มมาดูกันต่อแล้วว่าเทคโนโลยี Blockchain เอามาใช้อะไรได้อีก ปรากฏว่ามันมี Smart Contract ซึ่งตกลงกันแล้วเป็นไปตามนั้น มีสัญญาระหว่างกันชัดเจน ไม่ได้อยู่ในกระดาษแต่อยู่ในโปรแกรมเลย

 

ถ้าผมทำสัญญากับคุณมันจะถูกฝังอยู่ในนั้น และทุกคนก็เห็นสัญญานี้ได้

ใช่ครับ เป็นระบบที่ช่วยกันตรวจสอบ สมมติผมบอกว่าเหรียญบางส่วนของทีมที่ออกมาจะไม่เอามาขาย ติด Silent Period เหมือนหุ้น จะไม่เข้ามาภายใน 1 ปี มันก็จะดูได้เลยว่า Wallet นี้ของทีมจะไม่ขยับภายใน 1 ปี ถ้าขยับมีปัญหา อันนี้เลยเอา Blockchain มาประยุกต์ใช้กับการระดุมทุน

มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งอธิบายไว้ว่า ICO เหมือนเราจะสร้างสนามกอล์ฟ แล้วเปิดขายบัตรสมาชิก บัตรนี้อาจใช้ลดค่าอาหารหรือค่าบริการต่างๆ แต่สนามกอล์ฟยังไม่เสร็จนะ ยังเป็นเพียงโปรเจกต์ และบัตรจะมีจำนวนจำกัด แถมเปลี่ยนมือกันได้ ก็เกิดการเก็งกำไร และเกิดเป็นโมเดลนี้ขึ้นมา

สนามกอล์ฟที่ยังไม่เสร็จก็เปรียบเหมือนธุรกิจที่ยังไม่ได้ขึ้น แต่มันมีรูปแบบไว้แล้วว่าอยากทำอะไร อย่างไร

ใช่ครับ ใน White Paper (รายละเอียดเชิงลึกของโปรเจกต์) ก็จะบอกว่าแปลนของสนามเป็นอย่างไร ที่ปรึกษาเป็นใคร ใครเป็นคนออกแบบ ฯลฯ

 

คนก็มาซื้อบัตรสมาชิกก่อนได้

แล้วบัตรเหล่านี้จะมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า Exchange พวกเขาจะสร้างตลาดไปแลกเปลี่ยนบัตรกัน ซึ่งอยู่ในตลาดรอง

 

ทำให้ราคาอาจแพงขึ้นเรื่อยๆ หรือราคาตก คล้ายกับการ IPO ในตลาดหลักทรัพย์

จุดต่างที่สุดระหว่าง IPO (Initial Public Offering) คือ ICO จะไม่ให้สิทธิการเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัท เราจะไม่มีสิทธิในการโหวต และไม่มีอะไรมาค้ำ ถ้าเป็น IPO เรามีหุ้นของบริษัท ถ้าบริษัทเจ๊งเราก็ขายสินทรัพย์ออกแล้วเอาเงินมาแบ่งกัน แต่ ICO เขาดีไซน์เทคโนโลยีออกมาเพื่อไม่มีให้ปัญหากับข้อบังคับ (Regulation) เขาจะไม่มีการเอาสินทรัพย์มาวางใน ICO เลย

 

บางคนเรียกเป็น ITO (Initial Token Offering) คือจะมีเหรียญสองประเภท หนึ่ง Utility Token เอามาใช้ทำอะไรก็ได้ในเซอร์วิสที่เรามี อย่างของ StockRadars บอกว่าผมมีเหรียญชื่อ Carboneum (C8) ซึ่ง C8 เอามาใช้ในบริการของ StockRadars ได้ทั้งหมด ส่วนอีกประเภทคือ Security Token คือเหรียญที่มีความเป็นเจ้าของด้วย เหรียญประเภทหลังนี่จะสนุกมาก เพราะมันจะไปตรงกับกฎหมายทุกอย่างที่มีอยู่ มันมีปัญหาเยอะมาก แต่มันคือก้าวกระโดดครั้งสำคัญก่อนกฎระเบียบต่างๆ จะลงตัว เพราะมันจะเปลี่ยนวิธีการระดมทุนตลอดกาล ตัวอย่างเช่น ผมไม่มีปัญญาซื้อที่ดินกลางสีลมแน่ๆ แต่ถ้าเอาที่ดินกลางสีลมมาออก ICO กัน ผมขอเป็น 1 ใน 1,000,000 ของสีลม ก็ทำได้ เขาเรียกกระบวนการนี้ว่า Tokenize และใน Smart Contract ก็บอกได้ว่าเมื่อที่ดินสีลมนี้ได้ค่าเช่ามาก็ให้เข้า Wallet Address นี้เสมอ พอเข้าอันนี้ปุ๊บ มันก็จะแจกไปให้เจ้าของทุกคนตลอดโดยอัตโนมัติ นี่คือโลกใหม่ที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปเลย

 

เหรียญจะมี 2 แบบ แบบแรกเอามาใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้ ตามสิทธิของผู้ออกกำหนดไว้ให้

ใช่ครับ เช่น สมมติผมบอกว่าที่ Bitcoin Center (ตั้งอยู่ที่ออฟฟิศ StockRadars) ซื้อกาแฟ ใช้เหรียญ C8 ได้ มูลค่ามันคือ 1 เหรียญเท่ากับ 1 แก้วกาแฟ ก็เทียบค่าเป็นเงินได้

 

อีกแบบนี่เหมือนเป็นทุนเลย ซึ่งมันจะมีลักษณะคล้ายๆ IPO

ใช่ครับ ตลาดหลักทรัพย์จะโดนแทรกแซงในที่สุด มันโหดตรงนี้ เพราะมันจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่ตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นจะต้องมีคนมาคอยกวาด คอยตรวจสอบอะไรมากมายนัก ใช้ระบบเอา แต่แน่นอนว่าจะทำกับบริษัทจดทะเบียนที่มีความซับซ้อนไม่ได้ แต่สมมติว่าสินทรัพย์ที่มีความชัดเจน เช่น ร้านสะดวกซื้อสาขาหนึ่งบอกว่าขอ Tokenize ให้ทุกคนตรวจสอบยอดขายได้ ให้ทุกอย่างโปร่งใส ก็อาจจะทำได้

 

บ้านเมืองเรามีกฎกติกาต่อสิ่งนี้ชัดเจนหรือยัง

กฎกติกามันตอบยากมาก เพราะว่าพอเราบอกว่า ICO ปุ๊บทุกอย่างมันอยู่ออนไลน์หมด แล้วพอออนไลน์มันจะไม่มีพื้นที่ที่มีอยู่จริง ว่าอยู่ในประเทศไหน จะเอากฎหมายประเทศไหนมาคลุมก็ไม่ได้ แต่กิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศก็ต้องใช้กฎหมายของประเทศนั้นๆ ดูแล เช่น ถ้าออกเหรียญในเมืองไทย กลต. ก็ต้องเข้ามาดูแล ซึ่ง กลต. ก็อยู่ระหว่างคุยกับคลังเพื่อออกกฎระเบียบ ทุกอย่างยังไม่ได้เป็นทางการ แต่ข่าวที่ออกมาตอนนี้และน่าจะเป็นไปทางนั้น คือจะมีบริษัทกลุ่มหนึ่งตั้งตัวเป็น ICO Portal เป็นศูนย์กลางการตรวจสอบว่าโอเคไหม อันนี้มันย้อนแย้งนิดหนึ่ง เพราะเราบอกว่า ICO คือการทำ Decentralize แต่เรากำลังรวมศูนย์กลับมา เหมือนที่เขาบอกว่า ปัญหาของโลกมี 2 แบบคือ Centralize แก้ด้วย Decentralize กับปัญหา Decentralize แก้ด้วย Centralize มันก็จะวนกลับไปกลับมาอย่างนี้

 

เรื่องของเหรียญมันอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต มันไม่มีพรมแดน มันเลยต้องมาขึ้นกับว่าบริษัทที่ออกเหรียญอยู่ในประเทศไหน ก็จะตามกฎหมายประเทศนั้น

ตอนนี้ในโลกกำลังเห่อประเทศมอลตา เพราะเขาเห็นโอกาสว่า Cryptocurrency มันกำลังมา เขาเลยพยายามดึงดูดตัวใหญ่ๆ Exchange ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อ Binance ก็จะไปจดที่มอลตา เพราะ CEO ถูกเชิญจากประธานาธิบดีของมอลตา เขาจัดการกฎระเบียบให้หมด เพราะเชื่อว่านี่คือโลกใหม่ หรืออย่างสวิตเซอร์แลนด์มีเมืองหนึ่งเป็นเมืองของ Cryptocurrency แม้แต่ญี่ปุ่นก็ยังให้คนจดทะเบียน Exchange กับทางรัฐเลย

 

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียอยากทำธุรกิจต่างๆ การทำ ICO จะเข้ามาช่วยคนกลุ่มนี้อย่างไรบ้าง

ข้อดีคือเราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงในการระดมทุน คนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำกิจการของตัวเอง ถ้าเชื่อว่าไอเดียโอเค มีทีมที่แข็งแรง และน่าจะทำได้จริง ก็ทำได้เลย เช่น เราระดมทุนจากหมู่บ้านหนึ่งเพื่อไปซื้อผัก แล้วเมมเบอร์ก็จ่ายเหรียญ Pre-Sale มาก่อนเพื่อให้มีทุนไปซื้อผัก ต่อไปนี้ทุกคนในหมู่บ้านก็จะได้สลัดผักทุกวัน เราช่วยบริหารให้ ใครไม่กินไม่เป็นไรเราเก็บไว้ขายให้หมู่บ้านอื่น เราบริหาร Supply ให้ดี กินส่วนต่างนิดหน่อย ตัว Token นี้อาจจะดีขึ้น พอหมู่บ้านข้างๆ บอกว่าเอาด้วย ก็เอา Token ไปใช้กับอีกหมู่บ้าน พอ Demand เพิ่ม มูลค่าของเหรียญก็เพิ่ม คนในหมู่บ้านเดิมที่สร้างเหรียญก็ได้มูลค่าเพิ่มจาก Capital Gain

 

StockRadars ก็มีเหรียญของตัวเองชื่อ Carboneum (C8) ความตั้งใจคืออะไร

StockRadars คือแอปฯ ที่ช่วยคนเทรดหุ้นอยู่แล้ว ผมมองว่าทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องกังวลมากนัก วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือ เรียนจากคนที่เขารู้อยู่แล้ว เราเลยทำระบบ Social Trading เช่น มีคนหนึ่งถนัดในการลงทุนคริปโตฯ มากๆ แล้วเราไม่มีปัญญาไปศึกษาแน่นอนว่าเหรียญนี้คืออะไร ทำอย่างไร พื้นฐานมาอย่างไร เขาเปิดพอร์ตให้เราดูแล้วให้เราก็อปปี้เลย คาร์บอร์เนียมมันมาจากกระดาษคาร์บอนก็อปปี้นี่แหละ เวลาส่งเมลก็เหมือน cc ไปด้วย ถ้าคนสำเร็จเราก็ขอสำเร็จด้วย เราก็กด Follow เลย สมมตินาย A เทรดได้เก่งมาก ผมไปขอ Follow ถ้าผมลงเงินไป 1,000,000 บาท กำไร 10% ผมก็แบ่งให้เขาเป็นค่าต๋งในการนำ

 

จริงๆ การลงทุนมันทำอย่างนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า Blockchain มันมีความโปร่งใส คือเอามาวางบนโต๊ะให้คนมาตามกันได้ พอตามปุ๊บได้ต๋ง เขาก็จะพยายามเทรดให้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าได้ก็ไม่ได้แบ่ง เสียก็โดนด่า มันก็ไม่มีประโยชน์ พอคนนำได้ 10% เขาก็จะเอา 10% ของส่วนนี้เข้าบริษัทด้วย เท่ากับว่ากำไรทุก 100 บาท ก็จะเป็นของบริษัท 1 บาท บริษัทเองก็จะเอา 1 บาทไปเป็นรายได้ในบริษัท หักลบเหลือกำไร 20% เข้าบริษัททุกปี ก็จะเอากลับมาซื้อเหรียญคืน เพื่อให้ Supply เหรียญ C8 ลดลง เพื่อคนก็จะได้ Capital Gain ในที่สุด แต่เราคงไม่สามารถการันตี เราออกแบบมาให้คนที่เชื่อและอยากใช้ C8 ในการตามคนกันได้ เอามาจ่ายค่าต๋งในการให้ความรู้ ให้ข้อมูล และรายได้ด้วย หรือว่าการจัดสัมมนาหรือเวิร์กช็อปอีกหน่อยก็จ่ายด้วย C8 ได้ มันก็เหมือน Virtual Currency แบบหนึ่งที่ให้คนมาใช้ในโลกของการลงทุน

 

สำหรับคนที่สนใจเรื่องการลงทุนใน ICO หรือเหรียญ แนะนำอย่างไรบ้าง

จริงๆ อยากให้เปิดโอกาสตัวเอง ลองเปิดโลกใหม่ดูว่าการลงทุนใน Cryptocurrency มันเป็นอย่างไร มันเป็นวิธีการลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงสุด แม้แต่ผมที่ออกเหรียญ C8 เอง แต่มันก็ต้องเตือนกันก่อนว่าควรศึกษาให้ชัดเจน และคิดให้รอบด้าน ของมันมีบวกก็ต้องมีลบ เพียงแต่ว่ารอบนี้ที่เราทำ C8 เราคิดเยอะมาก ว่าอยากเอาเทคโนโลยีมาช่วยคนลงทุนง่ายขึ้นเยอะจริงๆ เหมือนสตาร์ทอัพที่มีฝัน อยากทำ อยากได้คนสนับสนุน ถ้ามี Demand เพิ่มขึ้นทุกคนก็แฮปปี้ไปด้วยกัน แต่เราก็ไม่สามารถควบคุมทิศทางมันได้

 

ถ้าตอนนี้ไม่มีอะไรควบคุม ทุกคนทำได้หมด ต้องดูอย่างไร

ต้องกลับมาที่ตัวเอง เราต้องศึกษาว่ามูลค่าแต่ละตัว อยู่ที่ว่าทีมเขาทำอะไรมาก่อน ฝันเขาเป็นอะไร โมเดลเขาหาเงินเท่าไร จะทำได้สำเร็จจริงไหม

 

อยากให้คุณแม็กซ์ฝากข้อคิดส่งท้ายถึงเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโลกนี้

โลกใหม่มันมาแล้ว เราไม่เคยอยู่ในยุคที่โลกมันหมุนเร็วขนาดนี้ อาจให้ทุกคนช่วยกันเป็นกระบอกเสียงกระจายออกไป ไม่ว่าจะถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ถึงเพื่อน พ่อแม่ เด็กรอบตัวเรา ให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดกับโลกเรา ประเทศเรา การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมันมีสองทางเลือก คือ หนึ่ง เราเปลี่ยนเอง กับ สอง ให้มันมาเปลี่ยนเรา สำหรับผมเลือกอย่างแรก ฉะนั้นถ้าเราเปิดใจพอ เราเปลี่ยนทัน เราก็จะได้เปรียบในโลกที่มันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

 


ฟังรายการ The Money Case by The Money Coach พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 



 

Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

The Guest ธีระชาติ ก่อตระกูล


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising