×

นักวางแผนการเงิน กับเคสแยบยลที่ต้องระวัง และเคสดีๆ มีความหวังที่น่าประทับใจ

12.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS


01:36
นักวางแผนการเงินที่ดีดูอย่างไร
09:03 ดูเรื่องคุณวุฒิได้ไหม
15:30 จริง 7 เท็จ 3
20:20 เคส Sub-optimal
25:00 เคสเสนอของที่อยู่นอกกฎหมายไทย
27:57 เคสเสนอของที่ผิดกฎหมาย
34:10 เคสน่าประทับใจ

หลังจากปูพื้นฐานเรื่อง ‘วางแผนการเงิน’ และ ‘นักวางแผนการเงิน’ ในเอพิโสดที่แล้ว (ใครยังไม่ได้ติดตาม แนะนำให้ไปที่ลิงก์นี้ก่อน thestandard.co/podcast/themoneycase27)

 

เอพิโสดนี้ มันนี่โค้ช คุยต่อกับ คุณเอ-ศักดา สรรพปัญญาวงศ์ และคุณเอ้-ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงิน จาก Avenger Planner ที่คราวนี้มาตีแผ่เรื่องนักวางแผนแบบถึงแก่น รวมถึงเรื่องเคสที่แยบยลจนต้องระวังให้ดี และเคสเรื่องราวดีๆ ที่น่าประทับใจ


นักวางแผนการเงินที่ดีต้องมีคุณสมบัติอย่างไร

มีข้อสังเกตง่ายๆ 3 เรื่องดังนี้

 

  1. นักวางแผนคนนั้นจะอิงเป้าหมายของลูกค้า หรือมีเป้าหมายของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง เขาจะรับฟังเป้าหมายหรือความต้องการลูกค้าก่อน แล้วก็ไม่ใช่รับหมดทุกอย่างด้วย นักวางแผนการเงินที่ดีจะมีการตรวจทาน เช่น บางคนวางแผนการเกษียณอายุด้วยเงิน 2 ล้านบาทก็อาจจะไม่เพียงพอ หรือบางคนวางแผนแต่งงาน แต่ลืมคำนวณเรื่องสินสอด แต่สำหรับนักขายบางคนเขาจะมุ่งไปที่งบของลูกค้าเพื่อความง่ายในการเสนอผลิตภัณฑ์ โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก แต่คำนึงถึงเป้าหมายของตัวเอง

 

  1. นักวางแผนทางการเงิน จะช่วยดูความสอดคล้อง ความสุดโต่ง ลูกค้าลืมคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปหรือเปล่า เช่น จะแต่งงานตอนอายุ 40 ปี อายุมากเกินไปไหม จะมีลูกในวัยนี้โอเคไหม หลังเกษียณอยากซื้อบ้านหลังใหญ่จะโหดเกินไปไหม มันรวมกับข้อแรกที่ว่ารับเป้าหมายของลูกค้าและจะเป็นผู้พิทักษ์ให้ลูกค้าด้วย

 

  1. ต้องมีการทำงบการเงิน ถ้าให้คำแนะนำโดยไม่รู้ละเอียดแทบเป็นไปไม่ได้ นักวางแผนการเงินที่ดีจะไม่ได้ดูงบวันเดียว เพราะวันหน้าอาจเปลี่ยนแปลงได้ เช่น เขาอาจแต่งงานมีลูก ทำให้การวางแผนทางการเงินเปลี่ยนไป รายจ่ายเปลี่ยนไป แต่สำหรับสายนักขาย เห็นลูกค้ามีเงินพอ ขายเสร็จปุ๊บ จบ ไปรู้อีกทีตอนเขาเงินไม่พอ แล้วสินค้าที่ขายไปตรงนั้นมันยกเลิกไม่ได้

 

ถ้าพูดคำว่าวางแผนทางการเงินคือต้องเห็นอะไรข้างหน้าและช่วยระวังย้ำเตือน เพราะเรื่องงบการเงินมันก็จะกลายเป็นวิธีปฏิบัติงานของเขาด้วย แค่จะทำงบการเงินให้ได้ก็ต้องนั่งคุยกันเป็นชั่วโมง แล้วลูกค้าก็ต้องเตรียมข้อมูลมาให้มหาศาล อาจจะทั้งที่ดิน ทรัพย์สิน กรมธรรม์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

 

เราดูนักวางแผนการเงินที่คุณวุฒิไม่ได้เหรอ

คุณวุฒิสำหรับที่ปรึกษาทางการเงินมี 2 ประเภท อย่างแรกคือ ใบอนุญาต เป็นสิ่งที่ต้องมีเป็นเรื่องขั้นต่ำ ถ้าไม่มีคือผิดกฎหมาย ต่อให้สิ่งที่แนะนำจะถูกต้องก็ตาม ซึ่งใบอนุญาตสามารถสอบกันได้ บางคนอาจจะสอบ 6-7 รอบแล้วผ่าน บางคนเก่ง สอบรอบเดียวได้เลยก็มี ซึ่งกำลังจะบอกว่าถ้าใครตั้งใจก็สามารถมีกันได้

 

ส่วนอีกประเภทคือ คุณวุฒิทางวิชาชีพ (Professional Certificate) แบ่งเป็น 2 ทางคือ คุณวุฒิด้านความรู้ และคุณวุฒิด้านการขาย อย่างแรกถ้าผ่านข้อกำหนดแปลว่ามีความรู้เชิงวิชาการ และการมีความรู้ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ความรู้ในทางที่ถูกได้อย่างเดียว อาจจะใช้ในทางที่ผิดก็ได้ เพราะไม่มีกระบวนการตรวจสอบงานนี้

 

งานวางแผนการเงินเป็นงานในที่ลับ เรากับลูกค้าจะคุยกันสองคน ตรงนั้นอาจจะเป็นเวทีให้คำปรึกษาชั้นยอด หรือเป็นห้องเชือดก็ย่อมได้

ส่วนคุณวุฒิด้านการขายคือถ้าขายถึงระดับนี้ก็ได้คุณวุฒิ มันบอกได้แค่ว่าขายได้ถึงเกณฑ์นั้นๆ ไม่ได้บอกว่าคุณภาพเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามีคุณวุฒิด้านการขายไม่ดี ความรู้ด้านการขายนั้นถูกต้องหรือไม่ ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่และต้องหาข้อพิสูจน์ แต่ที่พูดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่าจากประสบการณ์ที่เคยเจอมา เราเจอลูกค้าบางคนที่ติดคุณวุฒิที่เกิดจากการขายที่ผิดด้วยซ้ำ เช่น ได้ลูกค้ารายใหญ่ไม่กี่รายก็ติดแล้ว เพราะยอดมันได้ แปลว่ามันยังมีปัญหาอยู่ ทั้งคนที่มีคุณวุฒิด้านความรู้ก็ไม่รู้ว่าเขาจะใช้ความรู้ในทางที่ดีหรือไม่ ถ้ามันมาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง มันจะเป็นสิ่งที่เขาควรภาคภูมิใจอยู่แล้ว แต่เราจะต้องไม่เชื่อไปหมดว่าถ้าได้วุฒินั้นนี้มาแล้วจะดี สุดท้ายแล้วกลับมาที่ลูกค้าควรมีความรู้พื้นฐาน และฟังนักวางแผนทางการเงินด้วยการฟังวิเคราะห์ให้ดีอยู่นั่นเอง

 

คนที่เดินเข้ามาขอคำปรึกษาทางการเงิน เขามีโอกาสที่จะเจออะไรก็ได้ 3 ข้อเบื้องต้น คือสิ่งที่อยากให้พิจารณา อาจจะใช้คำว่ากระบวนการไม่เหมือนกัน บางคนตั้งใจจะมาขาย บางคนมาให้คำปรึกษา แต่สองกลุ่มนี้จะเหลื่อมกันมากและมีความใกล้เคียง เพราะเขาอาจใช้กระบวนการที่ถูกต้องตามที่เราแนะนำกันมา เขาก็เก็บข้อมูล วิเคราะห์ แต่ถ้าเกิดได้มีโอกาสไปปรึกษา ถ้าเราจริงใจกับเขาจริงๆ ลูกค้าเขาสัมผัสได้ว่าเป็นห่วงจริงๆ สุดท้ายลูกค้าต้องมีวิจารณญาณในการใช้บริการนักวางแผนทางการเงินให้ดี

 

โลกในยุคจริง 7 เท็จ 3

เดี๋ยวนี้คนฉลาดขึ้น ถ้าจะไปทำธุรกิจ เขาต้องเป็นคนฉลาดกว่า เรื่องจริง 7 ก็ต้องพูดให้สอดคล้องกับสิ่งที่คนส่วนใหญ่รู้ ดูดี มีหลักการที่ถูกต้อง ส่วนเท็จ 3 คือส่วนที่น่ากลัว เพราะมันจะเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ที่เขาจะขาย เรื่องเท็จอาจเพราะเขาถูกสอนมาผิด คือตัวเองไม่รู้ว่าเท็จด้วยซ้ำ กับอีกแบบคือเท็จเพราะรู้ว่าเท็จ แต่ก็ยังใช้มันอยู่ มันไม่ได้จำกัดว่าเราจะปรึกษาคนได้คนเดียว เหมือนกับหมอ เราสามารถหาความคิดเห็นหมอคนที่สองได้ หรือในบางประเด็นเราอาจใช้วิธีถามคำถามเป็นเรื่องๆ กับคนที่ยินดีจะตอบ คือเราถามกับผู้รู้หลายท่านก็ได้ แต่ก็ต้องฟังหูไว้หูเหมือนกัน เพราะคนไทยชอบแสดงความคิดเห็น แม้แต่ทีม Avenger Planner ยังมีการสอบถามฟีดแบ็กจากลูกค้าเลยว่าในประเด็นที่ได้รับคำแนะนำมาหน้างานยังมีอะไรที่สงสัยหรือเปล่า หรือรู้สึกว่ามีอะไรแปลกๆ หรือเปล่า หรือมีอะไรน่าห่วง เราก็ให้เบอร์โทรศัพท์หรืออีเมลที่ให้ลูกค้าแจ้งกลับมาได้ งานนี้ไว้ใจกันไม่ค่อยได้ แม้แต่เป็นนักวางแผนทางการเงินทีมเดียวกันก็ยังมีกฎการดูแลระหว่างกันในทีมอยู่ดี เพราะลูกค้าบางคนมีกำลังเยอะ ยิ่งเห็นงบลูกค้าที่มีจำนวนมหาศาลก็ยิ่งเป็นความเสี่ยง

 

กรณีตัวอย่างที่ลูกค้าของ นักวางแผนการเงิน ควรระวัง

เคสแนะนำแบบ Sub-optimal   

ที่หน้างานมีแนวทางการแนะนำได้หลายแบบ เช่น มีผลิตภัณฑ์ A กับ B สองอันนี้ถ้าทำก็พอจะตอบโจทย์ได้ใกล้เคียงกัน แต่บางครั้งเขาแนะนำบางผลิตภัณฑ์ที่ด้อยกว่าอีกตัว แต่เขาได้รายได้มากกว่า ได้คอมมิชชันมากกว่า เช่น เอาผลิตภัณฑ์การลงทุนทั่วไปอย่าง LTF-RMF คนที่เป็นตัวแทนขายอิสระ ถ้าขายได้ 100,000 บาท เขาจะได้ 300 บาท แปลว่าถ้าลูกค้าซื้อ 30,000 บาท เขาจะได้ 90 บาท* แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์บางตัวอย่างสายประกันจะได้ 25-30% ของ 100,000 บาท เขาก็จะมีรายได้ 20,000-30,000 บาท

 

สองผลิตภัณฑ์นี้ตอบโจทย์ใกล้เคียงกัน แต่ตัวที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า เขาก็จะได้คอมมิชชันเยอะกว่า เขาเลยแนะนำอย่างนั้นไป บางหน่วยงานเทรนกันมาแบบนี้จริงๆ คือของที่ขายอาจจะไม่ได้ดีเท่าอีกผลิตภัณฑ์ แต่มันก็ดีกว่าของเดิมๆ ที่ขายอยู่ ดังนั้นเขาจึงเทรนกันมาว่าเราก็ต้องอยู่ได้ ลูกค้าก็ต้องได้สิ่งที่ดี เลยเป็นมายด์เซตของคนกลุ่มนี้ว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ทุกคนก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว นักวางแผนทางการเงินคนอื่นจะรู้ว่าจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่า แม้จะดีกว่าไม่มาก แต่ทำไมถึงไม่แนะนำเหมือนเป็นเงินตัวเอง ถ้าเลือกได้แบบไม่ติดว่าต้องซื้อให้ใคร เราก็เลือกของที่ดีที่สุดอยู่แล้ว นี่คือตัวอย่างของคำว่า Sub-optimal กรณีนี้จะไม่รุนแรงมาก แต่ส่วนต่างในระยะยาวอาจจะเป็นหลักแสนหรือล้านได้

 

เคสเสนอของที่อยู่นอกกฎหมายไทย

ผลิตภัณฑ์นี้อาจจะถูกกฎหมายในต่างประเทศ แต่มันเป็นรูปแบบที่ที่ปรึกษาทางการเงินแบบหนึ่งใช้พรีเซนต์ตัวเองในแง่ความฉลาด สามารถหาสิ่งแปลกๆ ที่ลูกค้าไม่สามารถหาได้เอง แต่ต้องมาซื้อผ่านเขาเท่านั้น และมันจะเข้ากับคนบางกลุ่มที่แสวงหาสิ่งนี้อยู่ พยายามบอกว่าการลงทุนแบบนี้เมืองไทยหาไม่ได้ ของเหล่านั้นในยามปกติก็ดีอยู่ แต่เมื่อมีปัญหา มันไม่รู้จะติดตามหรือร้องเรียนกับใคร อย่างบ้านเรา ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์จากธนาคาร เรายังไปหาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ประกันมี คปภ. การลงทุนมี กลต. แต่กรณีนี้ถ้ามีปัญหาต้องติดต่อประเทศอื่น จะเป็นความยุ่งยากและไม่มีใครรับผิดชอบให้ คนที่ขายให้เราก็ไม่สามารถพาเราไปได้ นี่คือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายไทย

 

แต่ที่เขาแนะนำกลุ่มนี้เพราะเขาได้คอมมิชชันดีกว่า หลายอย่างหากซื้อในไทยถูกกำกับโดยกฎเกณฑ์หรือโครงสร้างการแข่งขันบ้านเรา แต่ผลิตภัณฑ์เดียวกันในต่างประเทศอาจมีโครงสร้างการแข่งขันต่างจากเรา เขามีสิทธิ์ที่จะเสนอราคาที่ได้เปรียบในมุมคนขายมากกว่าฝั่งเรา และอีกมุมหนึ่งก็ดูเท่ที่ได้ผลิตภัณฑ์ต่างประเทศ บางทีเป็นแบรนด์ดีด้วยซ้ำ ไม่ได้แปลว่ามันผิดทันที แต่มันอาจจะไม่ได้รับการคุ้มครอง มันเป็นเรื่องความเสี่ยง ซึ่งสำหรับคนที่มีฐานะดีและมีความเชี่ยวชาญจริงๆ เขาอาจจะดูแลตัวเองได้จริง แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วอาจจะเป็นเรื่องยากและไม่ควรเสี่ยง

 

เคสเสนอของที่ผิดกฎหมาย

เสนอการลงทุนที่การันตีผลตอบแทน และบางครั้งเป็นการการันตีที่ไม่เป็นธรรม ลักษณะเหมือนสัญญาเงินกู้ก็มี เช่น ถ้ามาลงทุนด้วยจะการันตีว่าได้ผลตอบแทน 8% ทุกปี ถ้าปีไหนได้เกินก็จะยังได้ 8% อยู่ หรือจะมี Profit Sharing แปลกๆ ที่ลูกค้าได้ผลตอบแทนน้อย เหมือนเอาเงินเราไปปล่อยกู้ เหมือนคนที่ให้เงินกู้ 8% ตลอดทั้งปี ประเด็นคือถ้าเรายอมรับได้ แต่คนที่จะการันตีผลตอบแทนได้ เขาก็ต้องมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง แต่เขาคือใคร บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคู่สัญญาที่ทำด้วยคือใคร ทุนจดทะเบียนเท่าไร ได้รับการอนุญาตให้ระดมทุนในลักษณะนี้ไหม แต่อาศัยว่าตอนพรีเซนต์บอกว่าจะเอาเงินไปเทรดอย่างนั้นอย่างนี้ ดูน่าเชื่อถือ หรืออาจเลยเถิดไปถึงขั้นที่ปรึกษาทางการเงิน ก็ไปหาของมาขายเลย บางคนขายยันอสังหาริมทรัพย์ หรือเปลี่ยนจากการลงทุนในหุ้นโน้มน้าวให้ทำธุรกิจเลย แล้วก็พรีเซนต์แผนธุรกิจให้ฟัง หรืออาจจะไปไกลระดับแชร์ลูกโซ่ก็มี ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ได้ฟังเรื่องเหล่านี้จะตาโต เพราะไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน แล้วรู้สึกว่าโอกาสตกมาถึงมือเขา ซึ่งไม่เป็นจริง

 

สำหรับแนวคิดของ Avenger Planner แล้วจะไม่ไปซื้อของอะไรที่พิสดาร แม้ผลตอบแทนจะไม่มากเท่า แต่ถ้าผลตอบแทนพาให้ลูกค้าบรรลุไปถึงเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง หัวใจมันอยู่ตรงนี้


สิ่งที่น่าเป็นห่วงในบ้านเราตอนนี้คือแนวคิดว่าใครก็จะเป็นที่ปรึกษาการเงินก็ได้ก็อาจจะจริงส่วนหนึ่ง แต่เขาเหล่านั้นต้องฝึกฝนและผ่านชั่วโมงบินที่มากพอ ประเด็นคือคนเป็นกันเร็วมาก บางคนแค่มีนามบัตรก็เป็นได้แล้ว แนวคิดอย่างนี้ค่อนข้างทำร้ายคนที่ทำงานนี้จริงๆ เพราะบ้านเรายังไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเปิดเผย

 

เคสที่ทำแล้วประทับใจ

นอกเหนือจากเคสที่สามารถหลอกลวงกันได้แล้ว Avenger PLanner ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทางการเงินก็ไม่ได้มองว่าอาชีพนี้มืดหม่นเสียทีเดียว ยังมีเคสที่เคยทำแล้วลูกค้าเกิดความประทับใจ ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความต่างจากทีมผู้จัดการทางการเงินอื่นๆ

 

ตัวอย่างเช่น ลูกค้าที่มีฐานะทางการเงินพอสมควร มีพอร์ตทางการเงินเกิน 8 หลัก ได้เข้ามาหาทีม Avenger Planner โดยเตรียมเป้าหมายต่างๆ มา เราก็ได้แนะนำเขาไป ที่เขาประทับใจคือ ตามเป้าหมายที่เขาต้องการ เขาใช้เงินแค่นี้ก็พอแล้ว คือเอาพอร์ตที่มีมูลค่า 8 หลักมาจัดแจงเท่านี้พอ แต่ยังเหลืออีกก้อน 7 หลัก ก้อนนี้ไม่ต้องไปเสี่ยงแล้ว เก็บไว้สำรองในสภาพคล่องหรือตราสารหนี้ระยะสั้นก็พอ เผื่อว่าในอนาคตเรามีเป้าหมายที่เราคิดเพิ่มเติมขึ้นมา เราเบรกลูกค้า แม้เขาจะถามว่าทำไมไม่เอาไปลงทุนให้หมดเลยก็ตาม ตอนนั้นลูกค้ายังมองไม่เห็น แต่ผ่านมาไม่กี่เดือน ปรากฏว่าเขาถูกให้ออกจากงาน ต่อให้ประเมินแล้วว่าเขาไม่เดือดร้อนเท่าไร แต่ทำให้เขาเห็นว่านี่เองคือสิ่งที่เราเตือนเขาไว้ว่าอะไรก็เกิดขึ้นก็ได้ เขาเลยสัมผัสได้ถึงความจริงใจและติดตามวางแผนร่วมกันตลอด

 

ยังมีเคสที่ทำกับลูกค้าที่เป็นหนี้ บางคนหนี้หนักมาก เราไม่ได้ขายอะไรให้เขาแน่ เพราะเขาไม่มีเงินจะซื้ออยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราทำก็คือจะช่วยแก้หนี้เขาอย่างไร เราเริ่มจัดลำดับ หาสิ่งที่เขาจะรีไฟแนนซ์ได้ ควรปลดอะไรก่อน ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ หนี้แรกจะหมดเมื่อไร แล้วเริ่มเก็บเงินสำรองกี่บาท ใช้เวลากี่เดือน กี่ปี เริ่มออมเพื่อเกษียณและมีเงินทำนั่นทำนี่ได้ ทั้งหมดที่พูดใช้เวลา 2-3 ปีกว่าที่จะเริ่มปรับฐานสู่ทางที่เป็นบวกได้ สิ่งที่ประทับใจคือสีหน้าแววตาของลูกค้าเปลี่ยนไป เขาดูมีความหวังขึ้น แม้ว่าวันนี้จะมีหนี้อยู่ แต่เขาเห็นว่ามันไม่หนัก มันมีทางออก

 

อีกเคสเจอลูกค้าที่เป็นสามีภรรยาคู่หนึ่ง มีลูก และค่าใช้จ่ายสูงมาก ขาดส่งรถมา 2 งวดแล้ว พอมีเงินก็จ่ายคืน แต่ก็โดนค่าปรับโน่นนี่ เราพยายามทำให้เห็นว่าเขามีทางออก และอย่างไรก็ต้องออม ต่อให้มีหนี้ก็ตาม ลูกค้าไม่มั่นใจเลยว่าจะออมได้ไหม เลยเสนอว่าลองตัดเข้ามาในกองทุนตลาดเงินเดือนละ 1,000 บาท โดยยังไม่ต้องเสี่ยงอะไร ซ้อมดูก่อนว่าไหวไหม แค่นี้ก็เห็นแล้วว่าคนแบบนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะเขายังสู้

 

บางเคสมีลูกค้าจะซื้อรถ ซื้อบ้าน แต่เราไม่มั่นใจว่าเขาจะลำบากไหม เราบอกลูกค้าว่า ลองซ้อมผ่อนก่อนไหมด้วยการผ่อนลม แต่ตัดเงินจริงๆ ด้วยการฝากแยกบัญชีไว้ แม้ตัวอย่างจะไม่ได้พิสดารอะไร แต่แสดงให้เห็นวิธีการทำงานของนักวางแผนทางการเงินว่าไม่จำเป็นต้องขายของ แต่อยู่ที่การปรับวิถีชีวิต วิธีการใช้เงิน ให้กำลังใจ ให้ความหวังแบบที่มีการคำนวณรองรับเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในที่สุด

 

การทำงานกับนักวางแผนทางการเงินเหมือนร่วมกันตบมือคนละข้าง ถ้าต้องการคนช่วยเหลือ แสวงหาทั้งความรู้ด้วยตัวเอง และแสวงหาความช่วยเหลือ นั่นคือสิ่งที่ควรทำที่สุด

 

*ได้แก้ไขเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว เนื่องจากในพอดแคสต์ให้ข้อมูลว่า ค่าคอมมิชชั่นในการขายกองทุน LTF-RMF ต่อ 100,000 บาท จะได้ค่าคอมมิชชั่นที่ 3,000 บาท ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้คนเข้าใจผิดได้   


 

 


Credits

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์ 
The Guest ศักดา สรรพปัญญาวงศ์, ศิวัตม์ สิงหสุตกร 


Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์ 
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์ 
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ 
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค 
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์ 
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์ 
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์ 
Music Westonemusic

FYI
  • คุณเอ-ศักดา สรรพปัญญาวงศ์ เป็นหนึ่งในทีมคนไทยฉลาดการเงิน เจ้าของเพจ A-academy และผู้ร่วมก่อตั้ง Avenger Planner
  • คุณเอ้-ศิวัตม์ สิงหสุตกร หนึ่งในทีมคนไทยฉลาดการเงินเช่นกัน หลายคนรู้จักในฉายา Insuranger บล็อกเกอร์ประจำของ aomMoney และแพลนเนอร์ประจำ Avenger Planner
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising