×

6 กิจกรรมทางการเงินที่แนะนำให้ทำต้อนรับปีใหม่

08.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time Index

03.17 ทบทวนสถานะทางการเงินในปีที่ผ่านมา

11.40 กำหนดเป้าหมายทางการเงินสำหรับปีใหม่

15.53 ทำงบการเงิน

25.03 วางแผนภาษี

26.26 ปรับแผนเรื่องความเสี่ยง

28.21 ตรวจสุขภาพ

ผ่านปีใหม่มาสักระยะแล้ว ใครที่มีเป้าหมายเรื่องการเงิน แต่ยังไม่ได้เอาจริงหรือลงมือทำเสียที คราวนี้มันนี่โค้ชมี กิจกรรมทางการเงินต้อนรับปีใหม่ ที่ถ้าใครลองเอาไปทำรับประกันว่าการเงินของปีนี้จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

  

1. ทบทวนสถานะทางการเงินในปีที่ผ่านมา

ที่ต้องมองย้อนหลังเพราะว่าการเงินมันผูกอยู่กับนิสัยโดยที่เราไม่รู้ตัวเลย ถ้าเราปล่อยให้นิสัยแย่ๆ ยังอยู่กับเราโดยที่ไม่ทบทวนปรับปรุง มันก็จะผูกติดกับเราโดยไม่รู้ตัวและทำให้การเงินปีนี้และปีที่แล้วไม่ต่างกัน

 

ใช้คำถามง่ายๆ 2 คำถามไว้ทบทวน คือ หนึ่ง ปีที่ผ่านมาเรามั่งคั่งมากขึ้นหรือเปล่า? เช็กดูว่าปีที่ผ่านมามีเงินไหลผ่านมือเราสักเท่าไร ยกตัวอย่าง ใครเงินเดือน 30,000 บาท เงินทั้งปีประมาณ 3 แสนกว่าบาท สุดท้ายแล้วมันไปไหน กลายเป็นทรัพย์สินบ้างหรือเปล่า หรือกลายเป็นการกินอยู่ ใช้จ่ายบริโภคแล้วก็หมดไปโดยไม่เหลืออะไร ถ้ามันเป็นอย่างหลังอันนี้น่ากลัว แต่ถ้าเกิดว่ากลายเป็นทรัพย์สิน อันนี้ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ทรัพย์​สินตัวอย่างเช่น กลายเป็นเงินฝากเงินออมบ้างหรือเปล่า กลายเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่าไร กลายเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญเท่าไร หรือซื้อ LTF RMF บ้างหรือไม่ ซื้อสลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. ​ทองคำ หรือเป็นของสะสมมีมูลค่า ถ้าเกิดมันไหลไปช่องทางต่างๆ สัก 10% แสดงว่าเป็นปีที่สะสมความมั่งคั่งอยู่ในระดับท่ีใช้ได้

 

คำถามที่สองคือ หนี้เราลดลงจากปีที่แล้วหรือเปล่า? โดยเฉพาะหนี้บริโภคต่างๆ บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด ผ่อนของ นอกระบบ หรือหนี้อะไรก็ตามที่เรากู้มากิน มาอยู่ มาใช้ หนี้พวกนี้ลดลงบ้างหรือเปล่า ขณะเดียวกันพวกหนี้บ้าน หนี้รถยนต์เป็นอย่างไร ลดลงบ้างหรือเปล่า สำหรับบ้านในช่วงปีใหม่จะทบทวนอยู่เสมอคือการลดดอกเบี้ยหรือรีไฟแนนซ์ เพื่อให้เราปรับยอดผ่อนต่อเดือนลง ควรนั่งลิสต์หนี้ดู ถ้าเพิ่มขึ้นก็อาจจะอันตราย ยกเว้นหนี้บางตัวอย่าง ซื้อบ้านใหม่ รถใหม่ เพื่อประโยชน์ของเรา เราจะใช้เป็นที่พักอาศัยหรือใช้สอยเพื่อความสะดวกของเรา แบบนี้ถือว่ายังโอเค แต่หนี้บริโภคควรลดลง ถ้าบ้านกับรถซื้อภายใต้การวางแผนของเรามาเป็นอย่างดี

 

สองคำถามนี้ควรตรวจสอบตัวเองทุก 6 เดือน ทำตอนปีใหม่ไปแล้ว 1 ครั้ง กลางปีก็ควรทำอีกสักครั้ง การมอนิเตอร์อยู่ตลอดทำให้เรามีสติ และการตรวจสอบก็ใช้เวลาไม่มากเลย

 

2. กำหนดเป้าหมายทางการเงินสำหรับปีใหม่

ปีหน้าเราจะเติบโตทางการเงินในทิศทางไหนดี ตรงนี้ก็อาจจะลองใช้เรื่อง เป้าหมาย 6 มิติ 1 ใน 6 เป้าหมายนั้นคือเรื่องการเงิน ซึ่งถ้าอยากจะตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการเงินให้ได้ อย่าตั้งแค่ว่าปีนี้จะเก็บเงินให้ได้ แต่ให้มีตัวเลขชัดเจน เช่น ปีนี้จะเก็บให้ได้ 50,000 บาท 100,000 บาท และ 12 เดือนจากนี้จะทำให้ได้

 

“การตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน วัดผลไม่ค่อยได้ ไม่ได้ใส่เงื่อนไขเรื่องเวลา จะไม่ใช่เป้าหมายที่ดี เพราะมันไม่บีบตัวเราให้ทำให้สำเร็จ แต่อย่าไปโหมมาก เอาในระดับที่เป็นไปได้ก่อน แล้วถ้าได้เกินจากเป้าหมายก็ถือเป็นโบนัส”

 

อีกแบบหนึ่งที่เจอคือตั้งเป้าหมายทางการเงินในระยะสั้น เช่น ตั้งใจเก็บเงินซื้อกระเป๋าที่ชอบก็ไม่ผิดอะไร จะออมเพื่อซื้อสิ่งที่เติมเต็มความสุขเราก็เป็นเรื่องที่โอเค หรือบางคนอาจจะวางแผนเก็บเงินไปเที่ยว อย่างนี้ก็ถือว่าเป็นเป้าหมายทางการเงิน ลองกลับไปคิดดูว่าเราอยากได้เป้าหมายในปีนี้เป็นอย่างไร

 

3. ทำงบการเงิน

เวลาพูดถึงงบการเงิน หรืองบรายรับ-รายจ่าย คนจะเข้าใจผิดกับการจดบัญชี ซึ่งมันคนละอันกัน การจดบัญชีคือการบันทึกว่าได้รับเงินมาอย่างไร ใช้จ่ายเงินไปกับอะไรบ้าง ถ้าจดอย่างเดียวมันจะไม่มีประโยชน์ ไม่รู้จดทำไม เราเอาเงินไปซื้อของฟุ่มเฟือยแล้วเราก็จดว่าเราซื้อของฟุ่มเฟือยไป สุดท้ายเงินก็ไม่พอ ทั้งๆ ที่เราควรจะเห็นตัวเองอยู่แล้วว่าเราซื้อของสิ่งนี้ได้หรือเปล่า จะต่างกับการทำงบรายรับ-รายจ่ายล่วงหน้า

สิ่งที่เราต้องทำก็คือมองไปล่วงหน้า 12 เดือน ทำให้เห็นเลยว่าในแต่ละเดือนต่อจากนี้ เราจะได้เงินรายรับจากที่ไหนบ้าง? จะเก็บออมได้อย่างไรบ้าง? จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง? และ สุดท้ายจะเหลืออะไรบ้าง? พอเราทำปุ๊บ เราจะเห็นเงินคงเหลือว่าการเงินของเราจะเป็นอย่างไรในอีก 12 เดือนข้างหน้า ถ้าบรรทัดสุดท้ายลบยาวเป็นสไตรก์ 12 เดือน บ่งบอกเลยว่าเรามีปัญหาทางการเงินตลอดปี

 

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นโค้ชก็เป็นคนที่จัดการเงินได้แย่มาก ทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายแต่มันไม่ได้ผล สุดท้ายทำงบก่อน แล้วค่อยมาตามดูว่าเราใช้ตามที่กำหนดไว้หรือเปล่า เพราะฉะนั้นงบที่ดีควรยืดหยุ่นได้บ้าง โค้ชทำงบมาปีนี้ปีที่ 16 แล้ว มันดีมาก เพราะเรารู้สถานะทางการเงินตัวเองล่วงหน้าชัดเจน

 

“คนเราพอเห็นชีวิตว่าวันข้างหน้าเป็นอย่างไร เราจะวางแผนได้ เราจะอุ่นใจที่ควบคุมการเงินตัวเองได้ ชีวิตที่ไม่เห็นวันข้างหน้า รู้ว่ามันวุ่นวายยุ่งเหยิง รู้ว่ามันไม่พอ แต่ไม่ได้ขยับจับทำอะไร สุดท้ายจะกลายเป็นความกังวลที่อยู่กับเราตลอด”

 

4. วางแผนภาษี

ถ้าใครจำ Episode ที่คุยกับ หมอนัท ได้ว่าคนที่ซื้อหรือลงทุนอะไรเพื่อประหยัดภาษีปลายปีจะได้ของแพงเสมอ และหลายครั้งซื้อกันไม่ทันด้วย หรือบางทีจัดสรรเงินไว้ซื้อพวกนี้ไม่พอ เพราะไม่เคยเก็บออมไว้เลย พอเราทำงบรายรับ-รายจ่ายแล้ว รู้ว่าทั้งปีเรามีรายได้เท่าไร แล้วเราพอจะมีเงินเหลือประมาณเท่าไร เราจะรู้ว่าเราจะซื้ออะไรได้เท่าไรบ้าง ซื้อประกันได้เท่าไร ซื้อ LTF RMF ได้เท่าไร จะได้วางแผนตัดซื้อรายเดือนไปเลยไหม จะได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า และเป็นผลดีกับการลงทุนมากกว่า เพราะฉะนั้นลองวางแผนภาษีกันตั้งแต่ต้นปี เราจะได้รู้ว่ามีภาษีที่ต้องเสียเท่าไร และควรซื้ออะไรลดหย่อนบ้าง เราซื้อได้แค่ไหน งบการเงินจะบอกเราทุกอย่าง

 

5. ปรับแผนเรื่องความเสี่ยง

พอเวลาเราอายุมากขึ้น เรื่องความเสี่ยงก็เปลี่ยนไป ยกตัวอย่างความเสี่ยงกลุ่มแรก เช่น ประกัน พอเราอายุมากขึ้นเรามีเงินเก็บเงินสะสมมากขึ้น เราอาจจะไม่ซื้อประกันเพิ่ม หรือคงประกันไว้เท่านั้น หรือเวนคืน เพราะไม่มีความจำเป็นแล้ว เพราะฉะนั้นเอามาปรับแผนอะไรต่างๆ ได้หมดเลย ในขณะที่บางคนอาจต้องซื้อเพิ่ม เช่น ประกันสุขภาพ ปีที่เพิ่มขึ้น ตัวประกันพวกนี้อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เราก็อาจจะต้องปรับเพิ่มตามความเสี่ยงความกังวล บางคนมีลูก ก็อาจจะต้องซื้อเพิ่มให้กับลูก

 

ในอีกมุมหนึ่งนอกจากการซื้อประกันก็อาจจะเป็นเรื่องของเงินเผื่อสำรองฉุกเฉิน ถ้าอยู่คนเดียวก็ประมาณหนึ่ง แต่พอซื้อบ้านซื้อรถ รายจ่ายต่อเดือนสูงขึ้น แบบนี้เราต้องมีเงินเผื่อสำรองฉุกเฉินเพิ่มขึ้นด้วย เรื่องเงินมันไดนามิก เราควรบริหารจัดการตามสภาวะของวัยและของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต

 

6. ตรวจสุขภาพ

ตรวจ 2 ส่วน คือ สุขภาพจริงๆ ถ้าเราเจ็บป่วยไม่สบายขึ้นมาจะมีผลกระทบกับการเงินเราสูง โรคบางอย่างถ้าเราเห็นก่อน รู้ก่อน เราต้องดูแลตัวเองดีกว่าไปรู้ทีหลังแล้วมาเจ็บหนัก แล้วต้องมาจ่ายแพงๆ

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ การตรวจสุขภาพทางการเงิน ที่โค้ชมักจะทำคือการตรวจข้อมูลเครดิต คนเราทุกคนจะมีสินเชื่อต่างๆ โค้ชเองก็มีบัตรเครดิต เวลาใช้ไป แม้ว่าสิ้นเดือนเราจะจ่ายครบจ่ายเต็มก็ตาม ก็ต้องไปขอดูบันทึกหน่อยว่า บันทึกได้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร ถ้าใครจำ Episode เรื่อง เครดิตบูโร ได้ คุณสุรพลบอกว่าข้อมูลเครดิตจะโชว์อยู่ 3 ปีย้อนหลัง ลองนึกภาพว่าบางเดือนเราเกิดมีปัญหา จ่ายช้า ก็จะมีการบันทึกไว้ทำให้เครดิตทางการเงินเรามีปัญหาได้เหมือนกัน หรือสถาบันทางการเงินส่งข้อมูลไปให้เครดิตบูโรแล้วมีการบันทึกผิดพลาด เราก็จะตรวจสอบป้องกันไว้ เพราะเครดิตที่พร้อม ก็หมายถึงโอกาสทางการเงินต่างๆ ที่จะมีได้

 

ทั้งหมดนี้คือ 6 ข้อ ที่โค้ชมักทำเป็นประจำทุกปี เอาเข้าจริงๆ เราเสียเวลาในแต่ละข้อไม่นานเลย หลายอย่างถ้าเราทำปุ๊บก็จะเบามือ ยิ่งทำยิ่งคล่อง

 

“คนที่ทำเป้าหมายของตัวเองสำเร็จทุกปี จะมีความภูมิใจและมั่นใจในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และคนที่อยู่บนพื้นฐานความมั่นใจ ทำอะไรก็มีความสุข และความสุขก็คือต้นทุนของความสำเร็จนั่นเอง”

 

 


 

Credits

 

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริน ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising