×

LTF & RMF: คุยกับ หมอนัท คลินิกกองทุน ให้รู้เรื่อง หายงง และลงทุนเป็นสักที

18.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index
01.50 หมอนัทเป็นใคร
06.57 LTF กองทุนฮิต
11.01 RMF ที่ไม่ควรมองข้าม
20.07 แนวทางการลงทุน

มันนี่โค้ช ชวน หมอนัท แห่งเพจ คลินิกกองทุน มาคุยเรื่อง LTF และ RMF กองทุนที่คนชอบแห่ซื้อช่วงปลายปีเพื่อใช้ลดหย่อนภาษี มาฟังกันให้เข้าใจแบบเคลียร์ๆ ว่ามันคืออะไร ต่างกันอย่างไร แล้วต้องลงทุนแบบไหนถึงจะเวิร์กที่สุด

 

หมอนัทแนะนำตัวให้คุณผู้ฟังรู้จักกันหน่อย

หมอนัทครับ ปัจจุบันทำเพจคลินิกกองทุน เบื้องหลังเคยอยู่ทีมนักวิเคราะห์กองทุนรวมมาก่อน และทำงานด้านไฟแนนซ์วางแผนการเงินเป็นส่วนใหญ่ ปัจจุบันเป็นหนึ่งในทีมงานของ กลต. ทำหนังสือชี้ชวนฉบับย่อ หรือที่เรียกว่า Fact Sheet

 

ทราบมาว่านัทไม่ได้จบสายการเงินมาตั้งแต่เริ่ม แล้วกระโดดมาตรงนี้ได้อย่างไร

จริงๆ ตอนเรียนสัตวแพทย์ปี 5 สนใจเรื่องลงทุนอยู่แล้ว คืออยากทำงานแต่ว่าไม่อยากทำงานหนักไปตลอดทั้งชีวิต เลยรู้สึกว่าต้องหาอะไรลงทุน เลยอ่านหนังสือลงทุนตั้งแต่ตอนนั้น พออ่านเสร็จ ปี 6 ก็เริ่มหาว่าเรียนจบเดือนแรกจะเอาไปเล่นหุ้นสักหน่อย ตอนนั้นประมาณปี 2007 พอ 2008 ก็วิกฤตเลย จำได้เลยว่าเงินที่ลงทุนไปทั้งหมดเหลือไม่ถึงครึ่ง กะว่าจะเลิกเลย แต่พอดีซื้อ LTF ไว้ ปีแรกๆ ผมอยู่สายการแพทย์เงินเดือนต้องเริ่มเสียภาษี เลยซื้อไว้ ปรากฏพอพ้นวิกฤตมาปีหนึ่ง ผลตอบแทนมันดี เลยรู้สึกว่าเฮ้ย เราไม่รู้อะไรบางอย่างที่เราลงพลาด ก็เลยไปเรียนต่อการเงินปริญญาโท เพราะรู้สึกว่าเราต้องเอาคืน (หัวเราะ) จนได้รู้ว่าสิ่งที่เราลงทุนพลาดมันมีหลายเรื่องมาก

 

วันนี้เรามาคุยกันเรื่อง LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) และ RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) กองทุนทั้ง 2 ตัวนี้ สรุปให้ฟังง่ายๆ ว่าต่างกันอย่างไร และประโยชน์คืออะไรบ้าง

LTF หลายคนไม่รู้ พอเพื่อนบอกว่ากองทุนลดหย่อนภาษีแล้วซัดตามเลย จริงๆ มันคือกองหุ้น ซึ่งลงทุนในหุ้นความเสี่ยงมันสูงมาก ถ้าใครมีเพื่อนเล่นหุ้นอยู่พอหุ้นแดงทีก็จะมาโพสต์ทีว่าชีวิตฉันมันบัดซบขนาดนี้ แต่ถ้าลงทุนระยะยาว 5-7 ปีขึ้นไป โอกาสขาดทุนก็จะน้อยลงไปด้วย แต่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ลงทุนกับ LTF เสร็จปุ๊บ 2 เดือนผ่านไปทำไมมันแดง ทำไมไม่ขึ้นเสียที ก่อนเข้าเขาไม่รู้ว่าเงินที่ลงไปลงกับอะไร และไม่ได้เข้าใจว่าการลงทุนตรงนี้จะใช้เวลายาวหน่อย และเอาใจไปผูกกับผลตอบแทน

 

ซึ่งมันไม่ใช่ประเด็นหลัก ประเด็นหลักของเราคือลงทุนระยะยาว อีกอย่างคือกองหุ้นพวกนี้ซื้อแล้วลดหย่อนภาษีในปีนั้น หลายคนคิดว่ายื่นภาษีเดือนมีนาคม ก็ซื้อเดือนมกราคม จริงๆ มันคือปีหน้า คือเขาไปฟังว่าซื้อปีไหนลดหย่อนปีนั้น จริงๆ หมายความว่าต้องซื้อก่อนธันวาคมปีที่แล้ว เพราะเรายื่นภาษีในปีต่อไป และลงทุนแล้วต้องถือ 7 ปีปฏิทินเพราะขยายเวลา ให้มันเป็นเรื่องของการลงทุนอย่างแท้จริง สมัยก่อนมันแค่ 5 ปีปฏิทิน และมีประเด็นคือคนไปถือประมาณ 3 ปี กับ 4-5 วัน คือซื้อปลายปี แล้วไปขายปลายปีสุดท้ายที่จะออกได้ นับจริงๆ แค่ 3 ปีนิดๆ ซึ่งจริงๆ มันไม่ตรงตามระยะเวลาจริงๆ ที่เขาควรลงทุน มันก็เลยโดนขยายเป็น 7 ปีปฏิทิน เพราะอย่างน้อยถือ 5 ปีกว่าก็ยังโอเค

 

เป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนด้วย

ใช่ครับ และหลายคนนึกว่า LTF ซื้อแล้วต้องซื้อที่เดิมตลอด จริงๆ แล้วซื้อที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องหยุดกับกองเดิม

 

หมายความว่าปีนี้ซื้อกองนี้ ของ บลจ. นี้ ปีหน้าไม่ถูกใจเราก็ย้ายไปซื้ออีกที่ เงินก้อนใหม่ซื้อ บลจ. ใหม่ กลับไปกลับมาได้หมด

หรือจะสลับก็ได้ ระหว่างปีไม่พอใจก็สลับเปลี่ยนได้เหมือนกัน คือจริงๆ เงื่อนไขค่อนข้างกว้างพอสมควร และอีกอย่างหนึ่งต้องระมัดระวังเพราะหลายคนชอบซื้อเกิน ปกติซื้อได้แค่ 15% ของรายได้

 

สมมติรายได้ทั้งปี 1 ล้านบาท ก็ซื้อได้ 150,000 บาท

นี่คือสูงสุด อย่าซื้อเกิน ถ้าซื้อเกินนี่เป็นหนังชีวิตที่วุ่นวายมาก

 

ย้ำอีกทีว่า LTF คือการลงทุนในหุ้นนะ ถ้าคุณเกลียดหุ้นคุณต้องคิดแล้ว ส่วนอีกอย่างคือ RMF

RMF เป็นเหมือนกองทุนลูกเมียน้อยเพราะลงทุนระยะยาวมาก คือเริ่มซื้อเมื่อไหร่ต้องซื้อยาวไปจนถึงอายุ 55 ปี

 

อารมณ์เหมือนแต่งงานเลยใช่ไหม คือซื้อแล้วต้องอยู่กันยาว แต่ LTF นี้พอซื้อปุ๊บต้องอยู่ 7 ปีปฏิทิน แต่ RMF เมื่อเริ่มแล้วหยุดไม่ได้ ต้องลงทุนไปเรื่อยๆ ทุกๆ ปี เหมือนเมีย ทิ้งไม่ได้

แล้วกฎ RMF มีข้อหนึ่งบอกว่าถ้าคุณลืมซื้อ 1 ปีไม่เป็นไร หลายคนเลยบอกว่าซื้อปีเว้นปีก็ได้นี่หว่า แต่ขอบอกว่าอย่าไปทำแบบนั้นเลย

 

วัตถุประสงค์ของ RMF คือการเลี้ยงชีพเพื่อเกษียณอยู่แล้ว ก็สะสมไปทุกๆ ปี

ผมว่าจริงๆ เป็นกองที่ควรซื้อก่อน LTF ด้วยซ้ำ เพราะว่ากองพวกนี้มันช่วยเราในการวางแผนการเงินได้อย่างดีมาก คือเราอาจจะคำนวณแล้วว่าก่อนเกษียณต่อเดือนต้องลงทุนเท่าไรแล้วกับ RMF มันพอดีกับลงภาษีแต่ละปีก็ซื้อ RMF เป็นเงินเก็บเกษียณไปเลย ได้ทั้งลดหย่อนภาษี ได้ผลตอบแทน ได้เงินเก็บเกษียณด้วย คือครบมาก

 

อีกมุมหนึ่งที่ดีมันเป็นการบังคับออม ทำให้เรารู้สึกต้องเก็บเงินเพื่อปลายทาง เพราะมีคนชอบใช้ RMF คู่ไปกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท คู่ไปกับ กบข. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ มีตรงนั้นช่วยส่วนหนึ่ง สะสมเองอีกส่วนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นข้อดี

ต้องบอกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มันเป็นเครื่องมืออีกอย่างที่ดีมากถ้าใช้คู่กัน นึกภาพเราสมทบไป บริษัทสมทบให้อีกเท่าหนึ่ง หาได้ที่ไหนลงทุนแล้วได้ 100% แล้วผมเจอบริษัทหนึ่งให้ 10% ก่อน แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มให้อีกจนสูงสุดที่ 15% ซึ่งสูงมาก คือเหมือนได้โบนัส 1 เดือนทั้งปีทำงาน

 

ถ้าใช้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. แล้วบวกด้วย RMF นี่โป๊ะเชะเลย

บอกเลยว่าอย่างไรก็ทัน อย่างไรก็พอ ผมเคยคำนวณให้หลายคนที่มาปรึกษา เอา 2 อย่างนี้รวมกันอย่างไรก็พอ

 

ข้อที่คนส่วนใหญ่จะมองเป็นข้อเสียคือการผูกพันระยะยาว คนเลยไม่นิยม จะเห็นเลยว่าเงินที่ไหลไป LTF จะเยอะกว่ามาก

แต่ข้อดีของ RMF อีกอย่างที่ไม่อยากให้มองข้ามคือมันมีหลากหลายประเภท ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำถึงความเสี่ยงสูง เราเลือกได้ทุกอย่าง ต่างประเทศก็มี เสี่ยงสุดอย่างทองคำก็มี อยากได้แบบไหนเราเลือกได้

 

แต่ LTF คือหุ้นอย่างเดียว ลงทุนไปก็เจอหุ้นไทย

อย่างมากที่สุดที่ลดความเสี่ยงได้คือ 70:30 คือมีตราสารหนี้ 30%

 

มีบางคนแนะนำว่า LTF ดีกว่าให้ไป LTF เลยเพราะว่า 7 ปีปฏิทินปุ๊บ เงินก้อนครบกำหนดพอดีเอาออก ไม่เสียสิทธิทางภาษี แล้วเอามาลงทุนซ้ำ ชอบมีคนอย่างนี้นัทคิดอย่างไร

จริงๆ ทำอย่างนี้ทำได้ตามสิทธิ แต่ประเด็นคือเงินมันไม่ได้งอกเงยตามที่มันควรจะเป็น มันต้องเอาออกมาก็เสียจังหวะต้องกลับเข้าไปอีก ตอนซื้อ LTF บางกองมีค่าธรรมเนียมในการเข้าอีกทีหนึ่ง แล้วเงินก้อนเดิมมันไม่ได้พอกพูนแบบค่อยๆ ทบต้นไปเรื่อยๆ เหมือนเราไปเบรกมัน แล้วเราไม่มีก้อนไหนเข้าไป แทนที่มันจะพอกพูนเป็นสินทรัพย์ที่ค่อยๆ ใหญ่ มันก็เป็นก้อนเดิม ผมว่าในระยะยาวแล้วมันไม่ได้ประโยชน์เท่าไร ไม่คุ้ม

 

มีคนชอบเชื่อว่าเราสามารถลงทุนด้วยเงินก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่งแล้วมันจะเติบโตเป็นก้อนใหญ่ได้ แต่มาถึงวันนี้วิธีนี้คิดแบบนี้อาจจะผิด สิ่งหนึ่งที่ต้องมีคือเงินที่เราต้องเติมเข้าไปเรื่อยๆ เราลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดี แล้วค่อยๆ ใส่เงินของเราให้มันเติบโตขึ้นไปอีก

ผมเคยคิดเล่นๆ เอาเงิน 20,000 บาท ตั้งผลตอบแทนประมาณ 6-7% ให้มันกลายเป็นเงิน 400,000-500,000 บาท ต้องใช้เวลา 10-20 ปี เพราะฉะนั้นเงินก้อนแรกก้อนเดียวแล้วลงทุนไป มันจะโตยากมาก

 

มีกูรูมาบอกว่าเงิน 100,000 บาท กลายเป็นสิบล้านบาท พูดได้คำเดียวว่าตลกแล้ว คือถ้าเอาการลงทุนจริงๆ มันมีองค์ประกอบ เครื่องมือเป็นตัวหนึ่ง ระยะเวลาเป็นตัวหนึ่ง และคิดว่าเงินที่เราสะสมเข้าไปต่อเนื่องเรื่อยๆ เพราะเครื่องมือทำได้ 10% ต่อปีก็เก่งแล้ว แต่ถ้าคุณไม่มีเงินเข้าไปต่อเนื่องก็ยากหน่อย

 

ทีนี้ต้องถามนัทก่อนว่าเป็นกูรูด้านกองทุนนานๆ มีคำถามไหนที่นิยมถูกถามมากที่สุดเกี่ยวกับ RMF LTF บ้าง

กองไหนดีบอกมาเลย ไม่อยากฟัง ไม่ต้องมาเล่าแล้ว จะบอกว่าไม่มีกองทุน LTF ไหนที่เป็นแชมป์ตลอดระยะเวลา ไม่มี

 

“ผมไม่เคยเห็นกองไหนเป็นอันดับ 1-2 มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่มันจะมีกองทุนประเภทติด 20 อันดับอยู่ตลอดเวลา เราต้องหากองแบบนี้มากกว่า”

 

แสดงว่าเวลาที่ บลจ. ตามธนาคาร เขาจะชอบโปรโมตว่าเขาที่ 1 เขาเสียงดังเลย หูตาเราก็นี่สิที่เราตามหา

จะบอกว่าผมมีเปเปอร์อันหนึ่งที่ กลต. ทำไว้ดีมาก คือถ้าคุณไปเฟ้นหากองทุนที่มีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีดีที่สุดมาแล้วคุณลงทุนกับมัน แล้วต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า กองนั้นหายไปแล้วมีงานวิจัยว่าถ้าปีนี้ผมไปเสิร์ชหาว่าใครเจ๋งสุด แล้วซัดหนักจัดเต็มกับกองนั้นไป ภายในเวลา 2-3 ปี กองนั้นจะหายไปจากสารบบ มันมันตรงนี้แหละ

 

เพราะฉะนั้นเวลาเราได้ยินเขาโฆษณาว่ากองเราเป็นอันดับ 1 คือต้องบอกว่าอยู่ในวงการนี้มานาน ผมก็เห็นมันผลัดกันเป็นอันดับ 1 จนไม่รู้ว่าใครเป็นที่ 1 ตัวจริงกันแน่ เราต้องไม่ลืมว่าเวลา บลจ. หนึ่ง เขามีหลายกอง ปีนี้เขาก็หยิบกองนี้ขึ้นมา ผ่านไป 5 ปี อีกกองชนะ มันชอบมีคำถามว่า เราจะลงทุน LTF RMF บลจ. ไหนดี

ต้องบอกว่าไม่เกี่ยวกับ บลจ. เลย เพราะว่าอันนี้ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้จัดการกองทุน เพราะฉะนั้นสุดท้ายแล้วมันจะตกอยู่ที่ว่าแนวคิดในการเลือกลงทุนของผู้จัดการเป็นอย่างไร ผมมีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่าผู้จัดการกองทุนคนไหนที่ทำเพอร์ฟอร์แมนซ์ย้อนหลัง 5 ปีได้ดี แล้วขั้นตอนดีเหมือนเดิมพิสูจน์แล้วว่าขั้นตอนแบบนี้มันถูกต้องถูกทาง แล้วถ้าเขาทำต่อมันก็จะดีต่อ เราต้องไปเฟ้นหาคนที่ทำเป็นระบบระเบียบ อย่างนี้ดีกว่า

 

ถ้าเป็นส่วนตัวของผม ผมเป็นคนที่ลงทุนใน LTF RMF ด้วยเหมือนกัน ผมคิดว่าตอนที่เราซื้อกอง โจทย์ของผมแทบไม่ได้ฟังอะไรจากใครที่ว่าดีอันดับ 1 แต่ผมตั้งโจทย์ว่ามีเงินก้อนหนึ่งที่เราสามารถใส่ได้ทุกเดือน ลงทุนได้ทุกปี สมมติปีหนึ่ง 100,000-200,000 บาทว่ากันไป ถ้ามันได้ผลตอบแทนในระดับนี้ สมมติ 7% ทุกปีเฉลี่ยกันไป ผมจะไปมองที่ปลายทางว่าอยากได้ประมาณนี้ ถ้าเราใส่ทุกปีปีละประมาณเท่านี้ แล้วผลตอบแทนเท่านี้ ผมเป็นคนลงทุนง่ายๆ แบบนี้ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดอย่างไร

เป็นหลักที่ถูกต้องมาก คือหลายคนชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น อย่างเช่นลงทุนอยู่ จริงๆ แล้วต้องการ 7% อย่างโค้ช กองให้ 8% เผอิญเพื่อนบอกว่า LTF ได้ 12% เราก็รู้สึกหวั่นไหวว่ากองไหน แล้วจำเพื่อนมา หารู้ไม่ว่าจริงๆ แล้วกองที่ตัวเองถืออยู่ความเสี่ยงไม่สูง แต่กองเพื่อนที่ได้ 12% นี่เสี่ยงและหวือหวามาก ถ้าเราลงปุ๊บกองนั้นจาก 12% อาจจะเหลือ 5% ก็ได้ แทนที่จะได้เป้าหมายก็ไม่ได้แล้ว

 

“เราควรลงตามเป้าหมายของตัวเองเวิร์กที่สุด ไม่จำเป็นต้องเลือกหลายกอง ไม่จำเป็นต้องเลือกทุกกอง”

 

ผมเคยเจอบางคนมาถามว่า ช่วยดูกองให้หน่อย ช่วงนี้มี LTF ไหนที่น่าลงทุนบ้าง พูดอย่างนี้แสดงว่าเขาตามหาหลายๆ กองอยู่ ผมเลยถามว่าถือกองไหนอยู่บ้าง เขาตอบว่ามี 15 กอง 15 บลจ. แต่ความเสี่ยงมาก ผมก็เลยบอกว่า มันมี 22 บลจ. อีก 7 ก็ครบทุก บลจ. แล้ว คือจริงๆ ต้องบอกว่าผมเคยทำตัวเลข การที่เราซื้อหลายกองแบบนี้ ไม่ได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น มันกระจายมากเกินไป เพราะกองหนึ่งมันถือหุ้นอยู่แล้ว 30 ตัว แล้วพอไปซื้อหลายกองมันก็ซ้ำๆ กัน ความเสี่ยงไม่ได้ลดลงเลย หุ้นก็ซ้ำกัน แล้วประเด็นคือความเสี่ยงไม่ลดลง แต่สิ่งที่คุณต้องจ่ายคือค่าธรรมเนียม แล้วแต่ละที่ไม่เท่ากัน บางที่มากบ้างน้อยบ้าง แต่ส่วนใหญ่คือ 2-3% แล้วนึกภาพเพอร์ฟอร์แมนซ์ไม่ค่อยดี แต่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่เยอะก็ไม่ค่อยคุ้มเท่าไร ถ้าคนอยากจะทำแบบนี้ อยากจะกระจายจริงๆ ซื้อกองพวก Passive Index, Passive Fund พวกนั้นคุ้มกว่าเพราะในกองเขามีหุ้นอยู่ในนั้นครบทุกตัวในตลาดอยู่แล้ว ก็ซื้อกองแบบนี้ไป ค่าธรรมเนียมถูกกว่า ผมเคยลองทำระหว่างการซื้อ 8-10 กอง กับซื้อ Passive Index เพอร์ฟอร์แมนซ์ดีกว่าเยอะ คือการซื้อไปหมดมันไม่มีประโยชน์ ดูแลยากด้วย

 

เพราะตอนนั้นเริ่มลงทุนก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าเราต้องวิ่งตามทุกปี มันจะเหนื่อย ก็เลยใช้หลักว่า เราอยากได้ผลตอบแทนสักเท่าไรที่ตอบโจทย์เรา สมมติว่าเกษียณอยากเก็บเงินให้ได้ 10 ล้าน เราใส่เงินปีละ 100,000-200,000 บาท แล้วเราได้ผลตอบแทนประมาณนี้มันถึง มันโอเค ปีหนึ่งก็เปิดมอนิเตอร์หน่อย เพราะฉะนั้นพยายามยึดจากตัวเลขของเราว่านี่คือแผนการณ์ของเรา จะได้ไม่ต้องไปวุ่นวายคอยวิ่งตาม เพราะมันมีคนที่ใช้เครื่องมือ เช่น Morning Star Thailand, Wealth Magic เราพยายามหาและวิ่งตามซื้อตัวใหม่ทุกปี มุมอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่อย่างไร

จริงๆ ไม่ควรเท่าไร เพราะเสียเวลาตามหา ถ้ากองที่เราถืออยู่แล้วมันยังดีอยู่ ก็ถือต่อได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ไม่ต้องไปซื้อหลายกองมากเกินไป มันดูแลลำบาก จริงๆ ทำตัวให้ง่ายๆ สบายๆ เบาที่สุด ถ้ามอนิเตอร์แล้วเกิดผิดปกติ เช่น กองอื่นเขาบวกกันเยอะแยะ แต่กองนี้ยังไม่บวกแถมติดลบด้วย เราค่อยดู ค่อยเปลี่ยน ผมว่าน่าจะเวิร์กกว่า

 

“สุดท้ายกลับมาที่ว่าการลงทุนคือเรื่องของวินัย”

 

คนส่วนใหญ่จะซื้อ LTF RMF สัปดาห์สุดท้ายของธันวาคม อยากจะบอกแฟนรายการนิดหนึ่งว่าวิธีการแบบนี้มันโอเคไหม ถ้ามันไม่โอเคมันมีวิธีการที่เหมาะกว่าอย่างไรบ้าง

เวลาผมไปบรรยายที่ไหนผมจะบอกว่าเลิกเถอะวิธีนี้ ประเด็นคือผมทำข้อมูลมา 14-15 ปี มีแค่ 4-5 ปีที่ซื้อตอนเดือนธันวาคมแล้วได้หน่วยถูก ที่เหลืออีก 11 ปีคือแพงหมด แล้วเราจะไปรอของแพงทำไม วิธีที่ดีที่สุดคือสมมติว่าปีนี้ต้องซื้อ LTF 100,000 บาทก็หั่นไปเลย 12 เดือน เดือนละ 9,000 กว่าบาท เหมือนตัดรายเดือนสร้างวินัยให้ตัวเอง อย่างปีนี้ทั้งปีมานิ่งมากไม่มีขึ้น แล้วมากระโดดเอาช่วงเดือนพฤศจิกายน สุดท้ายแพง และผมประหลาดใจมากพอของแพงคนก็ยิ่งไปรอแพงกว่า แล้วพอตลาดหุ้นมันขึ้นไปแล้ว พอจะลงมันลงไม่ได้แล้ว พอจะลงคนก็ซื้อ LTF ดันขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นผมว่าท้ายปี โอกาสที่เราจะได้ของถูกมีน้อยจริงๆ มันเป็นเรื่องธรรมชาติมาก

 

น่าจะมาจากการไม่ได้วางแผนหรือเปล่า บางคนเคยได้ยินมาว่าเงินออมไม่ค่อยมี รายได้เยอะ ภาษีเยอะ ต้องรอปลายปีเพราะกะจะใช้โบนัสซื้อ สุดท้ายเอาโบนัสมาซื้อของแพง

บางทีใช้บัตรเครดิตซื้อด้วย ตังค์ไม่มีแต่ห่วงเรื่องลดหย่อนภาษี แล้วก็ไปผ่อน

 

ต้องบอกว่าเอาจริงๆ แล้วอยากแนะนำว่าปีนี้จะซื้ออะไรก็ซื้อตามจังหวะเพราะเหลือเวลาอีกไม่นาน แต่อยากให้ช่วงเวลาเดียวกันนี้พอซื้อเสร็จปุ๊บ ได้สติ วางแผนปีหน้าเลย

หรือปีนี้ถ้าอยากจะหวังจริงๆ เอาเงินปีนี้ที่ต้องซื้อหารจำนวนสัปดาห์ ซื้อรายสัปดาห์ไปเลย แล้วผมทำย้อนหลัง ผมมีตัวเลขให้ด้วย ซื้อวันจันทร์ อังคารกับศุกร์ ได้หน่วยลงทุนที่ถูกหน่อย แต่อย่าไปยึดติดมาก มันช่วยลดความผันผวนมากแต่ก็ไม่ควรอยู่ดี

 

ถ้าให้ดีกระจาย 12 เดือนดีที่สุด เพราะฉะนั้นอาจจะใช้ช่วงเวลาแบบนี้ซื้อลดหย่อนของตัวเองไป พอซื้อปุ๊บกลับมานั่งทบทวนว่าปีหน้าพอจะรู้ รายได้เราประมาณเท่าไร ภาษีประมาณเท่าไร ถ้าเจตนาเพื่อลดหย่อน ผมเองก็ซื้อตัดทุกเดือน แล้วค่อยมาหาจังหวะซื้อเพิ่มเข้าไปเมื่อไร

หรือบริหารว่าวันไหนอยากแซ่บ มีจังหวะลงก็ทำเป็น timing ก็ได้

 

 


 

Credits

Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director กริณ ลีราภิรมย์

Graphic Designer เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising