×

From Roots to Riches ถอดเคล็ดลับสานต่อธุรกิจครอบครัวจาก Thai German Meat Product

11.11.2023
  • LOADING...

เอพิโสดสุดท้ายของซีซั่นที่ 7 ของ The SME Handbook by UOB ครั้งนี้อยากพาทุกคนไปถอดประสบการณ์จากหนึ่งใน Family Business ที่ส่งต่อความสำเร็จกันมาถึงรุ่นที่ 4

 

เฟิร์น-ศิรัถยา อิศรภักดี ชวน ทรงวุฒิ พัวพัฒนขจร Vice President ของบริษัท Thai German Meat Product มาแชร์เคล็ดลับความสำเร็จที่ช่วยให้การส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งแนวทางในการวางรากฐานเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

 


 

จุดเริ่มต้นของ Thai German Meat Product

 

Thai German Meat Product หรือ TGM เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับเยอรมนี สินค้าหลักที่เราผลิตจะเป็นสินค้าแปรรูปจากเนื้อสัตว์ ทั้งไส้กรอก หมูแฮม เบคอน และสินค้าหมักแห้ง เช่น ซาลามี เป็นต้น จนถึงวันนี้เราดำเนินธุรกิจมา 60 ปีเต็ม และบริหารงานโดยรุ่นที่ 4 แล้ว

 

จุดเริ่มต้นการก่อตั้งต้องย้อนไปตั้งแต่รุ่นคุณตาทวด สมัยก่อนท่านเป็นลูกจ้างนายห้างฝรั่งที่เป็นบริษัทผลิตไส้กรอกเจ้าแรกของไทย แล้ววันหนึ่งอยากจะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง นายห้างฝรั่งเป็นคนที่ใจดีมาก เขาให้เงินก้อนมาตั้งตัวด้วยเพื่อเป็นการขอบคุณที่ช่วยงานกันมาตลอดสิบกว่าปี แล้วก็อยากให้คุณตาทวดมาเผยแพร่อาหารเยอรมันให้คนไทยได้รู้จักมากขึ้น

 

สำหรับ 60 ปีที่ผ่านมา เราแบ่งการบริหารออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกคือรุ่นที่ 1-2 ซึ่งเป็นยุคของคุณตาทวดกับคุณตา สมัยนั้นจะเปิดเป็นบุชเชอรีเล็กๆ อยู่ที่ถนนสาทรใต้ ผลิตเองขายเองหน้าร้านประมาณ 5-10 กิโลกรัมต่อวัน

 

เฟสต่อมาคือรุ่นที่ 3 ที่บริหารโดยคุณแม่และน้าๆ เฟสนี้เป็นช่วงที่เราขยายกิจการค่อนข้างเยอะ จากบุชเชอรีเล็กๆ ก็ขยายเป็น Retail ที่กว้างขึ้น มีสินค้าวางอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต และขยายไปตามหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สมุย และในยุคนั้นเราไม่เคยทำโฆษณา แต่ใช้การบอกต่อเป็นหลัก เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นของดีจริงๆ เดี๋ยวคนก็จะชอบและรู้จักสินค้าเราเอง 

 

และจากความสำเร็จที่เราสามารถขยาย Retail ได้ค่อนข้างเยอะ จึงเป็นการผลักดันให้เกิดเป็นธุรกิจเซกเมนต์ต่อมาคือ Wholesale คือมีลูกค้ามาติดต่อเอาเบคอนกับไส้กรอกของเราไปใช้ในร้านอาหารของเขา ทำให้ฝั่ง Retail ได้ขยายจาก B2C เป็น B2B มากขึ้น ส่งผลธุรกิจในเฟสนี้โตขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ส่วนเฟสล่าสุดคือรุ่นที่ 4 ซึ่งเป็นยุคของผม เราได้เพิ่มช่องทางการขายผ่านอีคอมเมิร์ซ มีการพัฒนาในเรื่องของเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น รวมถึงเพิ่มในเรื่องของระบบการจัดการต่างๆ เพื่อให้การบริหารองค์กรไปได้ดีขึ้น

 

การบริหารงานในแต่ละรุ่นมีความเหมือนหรือต่างกันแค่ไหน มีการเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอย่างไรบ้าง 

 

ยุคแรกสมัยคุณตา เนื่องจากยังเป็นร้านขนาดเล็กที่ผลิตเองด้วยมือแบบโฮมเมด จึงทำได้แค่วันละ 5-10 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ ณ ปัจจุบันที่เรามีสมาชิกครอบครัวเพิ่มมากขึ้น หลายคนมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์จากหลายๆ ธุรกิจ จึงมีการพัฒนาในเรื่องการบริหารงานมากขึ้น เช่น ตอนนี้เราก็มีกลุ่มลูกค้า Strategic Customer Targeting คือไม่ใช่ว่าขายใครก็ได้ แต่จะศึกษาว่าควรจะขายใคร ธุรกิจอะไรที่เป็น Sunrise หรือ Sunset มีการวิเคราะห์ความเสี่ยงว่าไม่อยากให้ยอดขายหลักอยู่กับลูกค้ารายใดรายหนึ่งมากเกินไป เพราะหากวันหนึ่งเขาไม่ได้ซื้อสินค้าของเราแล้วจะเกิดปัญหา 

 

ธุรกิจของ TGM มีรายได้หลักมาจาก 3 ส่วนคือ Retail, Wholesale และ Agengy/Export เราพยายามจะทำให้รายได้ของทั้ง 3 ช่องทางบาลานซ์กัน (Balance Revenue Streams) เหตุผลเพราะเราเรียนรู้จากวิกฤตหลายๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้นมา อย่างยุคของคุณแม่ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เราพบว่าลูกค้าฝั่ง Retail จะตก เพราะเศรษฐกิจในประเทศไม่ดี ส่วน Wholesale ซึ่งเป็นร้านอาหารก็ตกเหมือนกัน แต่ฝั่งที่เป็น Agengy/Export กลับไปได้ดี เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่า และต่างชาติก็เข้ามาในไทยเยอะมาก ยอดขายจากเอเจนต์ตามหัวเมืองใหญ่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ สมุย ก็โตมากเช่นกัน

 

มองกลับมาในยุคปัจจุบันที่เราเคยเจอวิกฤตโควิด-19 ช่วงแรกฝั่ง Retail ดีมาก เพราะคนพากันออกมาซื้อของตุน ส่วนฝั่ง Wholesale ตอนนั้นก็จะไม่ค่อยดี เพราะร้านอาหารโดนสั่งปิดหมด ฝั่ง Agengy/Export ก็ไม่ดีเพราะไม่มีการเดินทางต่างประเทศเลย แต่เราก็ยังอยู่ได้เพราะการประคองฝั่งของ Retail

 

แต่พอสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คนเริ่มออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมากขึ้น ฝั่ง  Retail จะตกลงมาหน่อย แต่ฝั่ง Wholesale กลับมาดีขึ้น เพราะร้านอาหารเปิดแล้ว และในฝั่ง Agengy/Export ก็เริ่มจะดี เพราะเริ่มมีคนบินกลับเข้ามา ผมคิดว่ากลยุทธ์นี้เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ธุรกิจของเราอยู่มาได้ถึง 60 ปี เพราะเป็นการบาลานซ์ตัวเองให้อยู่รอดได้เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นในประเทศ

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ TGM ตัดสินใจเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ

 

ผมคิดว่ามันเริ่มตั้งแต่ผู้บริหารรุ่นที่ 3-4 เพราะสมาชิกครอบครัวเราเยอะ มีอยู่ทั้งหมด 38 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 12 คนที่อยู่ในธุรกิจบริษัท และการที่มีคนนอกเข้ามา ผมมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราต้องการหา Right Man for the Right Job และแน่นอนว่าทั้ง 38 คนอาจจะไม่ได้มีใครเก่งทุกอย่าง เก่งทุกเรื่อง หรือเหมาะกับทุกหน้าที่ 

 

อย่างตอนนี้บริษัทของเราจะมีมืออาชีพเข้ามาช่วยดูเรื่องของ Sales Team, HR, Finance และ Logistics ซึ่งการที่มีคนนอกเข้ามาช่วยบริหารแบบนี้ แน่นอนว่าเขามีความรู้ มีประสบการณ์ และสามารถนำ Best Practise ที่เขาเคยทำมาช่วยพัฒนาการบริหารงานขององค์กร และสำคัญที่สุดคือมันทำให้สมาชิกครอบครัวที่ทำงานร่วมกับมืออาชีพเหล่านี้ต้องรู้สึกว่าตัวเองจะต้องแอ็กทีฟขึ้น และต้องทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น

 

แต่ในเรื่องของความท้าทายก็มีแน่นอน โดยเฉพาะ TGM ที่เมื่อก่อนเราเป็นธุรกิจครอบครัวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการที่มีคนนอกเข้ามา เขาจะทำอย่างไรให้พนักงานคนอื่นมีความเชื่อมั่น ให้ความเคารพ เเละเชื่อว่าจะสามารถนำพาทุกคนไปในทิศทางที่ถูกต้องได้ ส่วนนี้ก็เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่มืออาชีพต้องพิสูจน์ให้ได้ 

 

อีกอย่างคือการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรรมขององค์กรก็เป็นอะไรที่ต้องใช้เวลา แต่ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือตัวผู้บริหารระดับสูงเองก็ต้องคอยซัพพอร์ตเขาด้วยในวันที่เขาเพิ่งเริ่มต้นเดินในองค์กรของเรา เพื่อให้เขาสามารถก้าวผ่านอุปสรรคตรงนั้นไปให้ได้ เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพที่สุด

 

Key Success ที่ทำให้ TGM ยืนอยู่ต่อเนื่องมาได้ 60 ปี และยังเติบโตมาตลอดจนถึงการบริหารในรุ่นที่ 4

 

หนึ่ง ครอบครัวต้องแข็งแรงก่อน ของเราจะมีธรรมนูญครอบครัวที่เป็นเหมือนไกด์ไลน์ที่บอกว่าสมาชิกครอบครัวควรจะต้องทำตัวอย่างไร ในนั้นจะพูดถึงเรื่องของผลประโยช์ การจ้างงาน การแบ่งสันปันส่วนในบริษัท และอีกหลายๆ เรื่อง เพื่อให้เกิดความชัดเจนและโปร่งใสกับสมาชิกทั้งหมด เพราะถ้ากฎกติกาทุกอย่างชัดเจน เราจะไม่ต้องมาโฟกัสเรื่องการทะเลาะกันภายใน ไม่มีใครเป็นลูกรักหรือหลานรัก ทุกอย่างจะแฟร์ที่สุด และเราสามารถเอาพลังงานทั้งหมดไปทุ่มให้กับงานได้เต็มที่

 

สอง เนื่องจาก TGM เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่องคนและเทคโนโลยี เรามองเห็นว่าในอนาคตจะมีปัญหาเรื่องแรงงานแน่นอน ทำให้ในไลน์การผลิตของเรา ณ วันนี้เป็น Semi-automation แล้ว และเราเองก็ดูแลพนักงานในเรื่องของ Promotion Within คือเมื่อมีตำแหน่งว่าง เราจะมีประกาศแจ้งทั้งบริษัทเลย ถ้าใครคิดว่าตัวเองเหมาะกับงานนั้นก็สามารถสมัครได้ ไม่จำเป็นต้องหาคนข้างนอกเสมอไป TGM มีนโยบายส่งเสริมสนับสนุนให้พนักงานหมุนเวียนตำแหน่งในองค์กร เช่น คุณอาจจะทำสายการตลาดอยู่ 5 ปี แต่พอเริ่มรู้สึกจำเจแล้ว แทนที่เราจะเสียบุคลากรที่ดีคนนี้ไปให้ธุรกิจอื่น เราก็มีการสนับสนุนว่าคุณอยากจะลองทำสายงานอื่นดูไหม นี่เป็นการ Promotion Within เพื่อให้เรายังเก็บพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่กับองค์กรได้ 

 

สาม เราคิดว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน ทาง TGM มีการลงทุนในเรื่องของ Solar Roof ซึ่งตอนนี้ก็สามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าที่บริษัทได้ประมาณ 30% ซึ่งเรื่องนี้ UOB เปรียบเหมือนกับเป็นพาร์ตเนอร์ของ TGM เลยก็ว่าได้ เพราะเขาซัพพอร์ตเราในเรื่องของ Green Loan ด้วย

 

และในธุรกิจการทำไส้กรอกจะมีเรื่องของการรมควัน ซึ่งเรารมควันด้วยไม้ที่ปลูกในเยอรมนี และปลูกเพื่อใช้กับธุรกิจอาหารโดยเฉพาะ นโยบายของประเทศเขาคือถ้าตัด 1 ต้นต้องปลูกเพิ่ม 3 ต้น ทำให้ไม้ชนิดนี้แพงกว่าที่หาได้ในท้องตลาด แต่เราก็ยังเลือกจะซื้อจากที่นี่ เพราะมองว่ามันเป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งตรงกับความต้องการของ UOB ที่ผลักดันกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน 4 ประการ ประกอบด้วย ขับคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สร้างบุคลากรผู้ชำนาญการ เเละตั้งมั่นบนพื้นฐานรู้รับผิดชอบ

 

มุมมองในการส่งต่อธุรกิจให้กับรุ่นต่อไปของ TGM

 

การจะส่งมอบรุ่นต่อไป สิ่งที่สำคัญอันดับแรกที่ต้องเตรียมตัวเพื่อผู้สืบทอดคนนั้นคือการศึกษา

 

สอง ก่อนจะเข้ามาบริหารงานได้ ควรจะต้องทำงานข้างนอกมาก่อนแล้วค่อยมาทำงานในบริษัท เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ ว่าการทำงานของเราเป็นแบบนี้

 

สาม การจะประสบความสำเร็จ ต้องเป็นการสร้าง Succession Team ไม่ใช่แค่ปั้นคนใดคนหนึ่งในรุ่นนั้นขึ้นมา เพราะเวลาเราจะเปลี่ยนครั้งหนึ่งก็คงไม่ได้เปลี่ยนแค่ซีอีโอคนเดียว แต่เปลี่ยนหลายตำแหน่ง และอาจจะต้องเป็นคนที่มีวิชันหรือประสบการณ์ที่คล้ายๆ กัน 

 

สี่ ต้องมี Co-governance การเปลี่ยนผ่านของรุ่นอาจจะต้องมีช่วงพี่เลี้ยงสักระยะหนึ่งให้ทุกอย่างไปต่อได้อย่างราบรื่น แล้วค่อยๆ ถ่ายความรับผิดชอบจากยุคปัจจุบันไปถึงคนที่จะเข้ามาทำงานแทนในอนาคต ที่สำคัญคือคนที่จะเป็นผู้สืบทอดต้องได้มีแพสชันในธุรกิจนั้นมากๆ ทำอย่างไรก็ได้ให้เขารักในธุรกิจ ให้เขาเข้าใจจนเหมือนอยู่ในสายเลือดไปเลย แล้ววันหนึ่งที่เขากลับเข้ามาสืบทอดธุรกิจที่บ้าน ทุกอย่างจะง่ายขึ้นเยอะ

 

ข้อคิดที่อยากฝากให้คนที่ทำธุรกิจครอบครัวสามารถส่งต่อการบริหารสู่คนรุ่นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่น

 

มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งของ American Family Business Center เขาบอกว่า 30% ของบริษัทอยู่ถึงแค่รุ่นที่สอง, 12% อยู่ถึงรุ่นที่สาม และ 3% อยู่ถึงรุ่นที่สี่หรือมากกว่านั้น TGM อาจจะเป็นบริษัทที่โชคดีที่ยังสามารถส่งต่อมาถึงรุ่นที่สี่ได้



สิ่งที่สำคัญอันดับแรกคือต้องให้รุ่นถัดไปเข้ามาเรียนรู้หรือสัมผัสธุรกิจให้ได้เร็วที่สุด ให้มันอยู่ในสายเลือด ให้เขาเกิดความชอบเองจากแพสชันภายใน ไม่ได้เป็นการบังคับจากใครบางคน



สอง ถ้าจะให้รุ่นต่อไปเข้ามาทำธุรกิจครอบครัว ควรจะต้องเริ่มจากตำแหน่งระดับล่างก่อน อย่าเพิ่งเอาเข้ามาในระดับบริหาร เพื่อให้เขารับรู้ถึงความรู้สึกของพนักงานในระดับล่าง เช่น ไลน์ผลิต ให้เจอความร้อน ความเย็น ความหนัก จะได้เข้าใจว่าความรู้สึกของพนักงานทุกคนเป็นอย่างไร แล้วก็จะได้รับการยอมรับจากพนักงานกลุ่มนั้นด้วย

 

สาม ต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกันให้กับสมาชิกทุกคน ไม่ใช่มีสิทธิพิเศษให้เฉพาะคนที่เป็นลูกชายหรือเป็นพี่คนโตเท่านั้น และควรจะต้องเขียนธรรมนูญครอบครัวที่ละเอียดและแฟร์กับทุกคน

 

สุดท้ายคืออย่าคิดว่าธุรกิจของเราต้องอยู่กับคนในครอบครัวไปตลอด ต้องเปิดใจยอมรับว่าวันหนึ่งอาจต้องมีการเปลี่ยนมือ เข้าตลาดหลักทรัพย์ หรือขายธุรกิจให้คนอื่น ตราบใดที่เราไม่ยึดติด บริษัทจะอยู่ต่อไปได้ เพราะมีอีกหลายๆ บริษัทที่พยายามยึดอยู่กับเรื่องที่ว่าธุรกิจของครอบครัวต้องอยู่กับคนในครอบครัวเท่านั้น แล้วก็ไม่มีทางเลือกเผื่อไว้ให้เลย ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้

 


 

Credits 

 

Host ศิรัถยา อิศรภักดี

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Co-Producer เจนจิรา เกิดมีเงิน

Creative สกุลชัย เก่งอนันตานนท์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Recording Engineer ธภัทร ตั้งวงษ์ไชย

Graphic Designer อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน

Proofreader Team

THE STANDARD Webmaster Team

THE STANDARD Archive Team

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising