×

วิธี Coaching ที่ทำให้คนพัฒนา และทำงานได้เต็มขีดความสามารถ

20.02.2019
  • LOADING...

Coaching คืออะไร การโค้ชที่ทำให้คนทำงาน Productive เป็นอย่างไร ทำไมเจ้านายถึงควรมีทักษะโค้ชชิ่ง

 

รวิศ หาญอุตสาหะ แนะนำวิธีการโค้ชชิ่งให้คนเป็นเจ้านายได้ลูกน้องที่มีประสิทธิภาพพร้อมทำงานเต็มที่ ในพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE

 


 

การโค้ชระหว่าง ‘เจ้านาย’ กับ ‘ลูกน้อง’ คล้ายเวลาผู้จัดการทีมฟุตบอลสอนหรือฝึกฝนผู้เล่นในทีมเพื่อให้พวกเขาเก่งขึ้น มีความสามารถมากขึ้น และพัฒนาตนเองได้เต็มศักยภาพ แตกต่างเพียง ‘สาร’ ที่ถูกส่งออกไปในบริบทที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น

 

สำหรับหัวหน้าที่สงสัยว่า การจ้างคนภายนอกเข้ามาช่วยโค้ชชิ่งคนในองค์กรเป็นสิ่งที่ดีไหม จริงๆ แล้วคุณสามารถจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาสอนได้เป็นบางเรื่อง แต่ท้ายที่สุด เรื่องโค้ชชิ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลา คุณไม่สามารถพึ่งพาคนอื่นได้ทุกครั้ง โค้ชชิ่งจึงเป็นงานของหัวหน้าที่ต้องทำเองอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ

 

เมื่อไรที่หัวหน้าควรทำโค้ชชิ่ง

ถ้าคุณเป็นหัวหน้าที่ยุ่งมากจนต้องแจกจ่ายงานให้ลูกน้องช่วยทำ แต่ไม่ว่าจะมอบหมายงานไปกี่ครั้ง เขาก็ยังคงทำงานผิดซ้ำๆ โดยไม่รู้วิธีแก้ไข สิ่งที่หัวหน้าควรทำคือโค้ชชิ่งอย่างเข้าใจ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน

 

1. วิเคราะห์ก่อนว่าปัญหาที่อยากโค้ชชิ่งลูกน้องแต่ละคนคืออะไร

2. ต้องให้ฟีดแบ็กอย่างสม่ำเสมอ

3. เชื่อไว้ก่อนว่าทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

โค้ชชิ่งจะแบ่งออกเป็น 5 ระดับสำหรับลูกน้องประเภทต่างๆ ดังนี้

 

1. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

สำหรับลูกน้องที่ทำงานไม่เป็นและยังไม่รู้เหตุผลว่าทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้ ทางที่ง่ายที่สุดในการโค้ชคนกลุ่มนี้ คือการลงมือทำให้เห็นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนโดยละเอียด เช่น การสอนลูกน้องทำพรีเซนเทชัน คุณต้องนั่งทำให้ดูทีละหน้าอย่างใจเย็น พร้อมบอกเหตุผลของการเลือกทำแต่ละสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฟอนต์ วิธีการนำเสนอหัวข้อ หรือเทคนิคต่างๆ ที่ควรรู้ เพื่อให้ลูกน้องเริ่มเข้าใจการทำงาน และนำไปพัฒนาตนเองต่อได้

 

2. สอนโดยการอธิบาย

สำหรับลูกน้องที่ทำงานไม่เป็น แต่รู้เหตุผลว่าทำไมตัวเองถึงทำไม่ได้ ลองสอนโดยการตั้งคำถามที่ให้เขาได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ที่คุณทำ เช่น เห็นด้วยไหมที่คุณจะเลือกใช้ฟอนต์แบบนี้ ใช้พื้นหลังสีนี้ กำหนดหัวข้อพรีเซนต์ตามนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการคิด

 

3. ชี้ให้เห็น ‘อุปสรรค’ ที่ก่อให้เกิดปัญหา

สำหรับลูกน้องที่ทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ยังมีบางจุดที่ติดปัญหา แนะนำว่าไม่ต้องสอนคนกลุ่มนี้ทุกกระบวนการ แต่พยายามสังเกตให้เจออุปสรรคที่มักทำให้เขาสะดุดในจุดเดิมๆ และตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการนำไปคิดต่อ และพัฒนาวิธีการทำงานให้ดียิ่งขึ้นในที่สุด

 

4. ตั้งคำถามกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

สำหรับลูกน้องที่ทำได้ดีเมื่อมีคู่มือฉบับสมบูรณ์ให้ทำตาม แต่ไม่สามารถพลิกแพลงอะไรได้เมื่อต้องคิดต่อเอง ทางที่ดีควรตั้งคำถามด้วยการเริ่มต้นว่า ‘ทำไม’ กับเขาให้มาก เพื่อกระตุ้นการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ อยู่เสมอ

 

5. สนับสนุน

สำหรับลูกน้องประเภทซูเปอร์สตาร์ที่ทำงานเก่งมากอยู่แล้ว โยนอะไรไปก็สามารถนำไปจัดการต่อได้  อย่าลืมว่าพวกเขาก็ยังต้องการการสนับสนุนจากหัวหน้า อย่าปล่อยมากเกินไป จนเมื่อไหร่ที่เขาติดปัญหาแล้วไม่กล้ามาขอความช่วยเหลือ มองหาจุดบกพร่องที่เขายังรู้สึกฝืนหรือเหนื่อยมากเป็นพิเศษเมื่อต้องลงมือทำ คอยอยู่ให้เขารู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ยังมีคุณอยู่ข้างหลังเสมอ

 

ท้ายสุดอย่าลืมว่าลูกน้องไม่ได้เชื่อเพราะแค่คุณเป็นเจ้านาย แต่เขาเชื่อเพราะเห็นตัวอย่างจากสิ่งที่คุณพูดและลงมือทำได้จริง ฉะนั้นอย่าโค้ชลูกน้องในสิ่งที่ตัวเองยังทำไม่เป็น หรือยังไม่สามารถทำได้ และเชื่อไว้เสมอว่าคนเราเปลี่ยนแปลงได้ แม้ในคนที่อาจดูเลวร้ายที่สุด เขาก็อาจยังมีมุมอื่นที่ดีและนำมาพัฒนาต่อได้ ด้วยการโค้ชอย่างเข้าอกเข้าใจและทำแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างถูกวิธี

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ SUPER PRODUCTIVE
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

The Host รวิศ หาญอุตสาหะ

Show Creator รวิศ หาญอุตสาหะ

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Podcast Intern วริษฐ์ โกศลศุภกิจ

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising