×

สรุป The Secret Sauce EP.515 บุกโรงงานแบตเตอรี่ ใหญ่ที่สุดในอาเซียน กับสมโภชน์ EA

28.03.2022
  • LOADING...
สมโภชน์ อาหุนัย

The Secret Sauce พาไปลงพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่แค่ความใหญ่ของ Gigafactory ที่มีช่ือว่า Amita Thailand ผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่อยู่ที่ความน่าทึ่งของ คุณสมโภชน์ อาหุนัย ‘สารตั้งต้น’ ผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนความฝันและแผนในกระดาษให้กลายเป็นความจริง 

 

เส้นทางของ Amita Thailand เป็นหนึ่งใน Real Case และ Best Practice แห่งการสร้างธุรกิจนวัตกรรมที่ผู้ประกอบการน่าเรียนรู้ เพื่อปรับใช้และทำให้ธุรกิจพร้อมโต้ไปกับคลื่นความเปลี่ยนแปลง

 


RELATED STORIES

 


[Chapter 1]

From a Thinker to Player

#มองเทรนด์ #หาโอกาสจับคลื่นอนาคต    

 

Amita Thailand เป็นโรงงานผู้ผลิตเซลล์แบตเตอรี่ชนิด NMC (Nickel, Manganese and Cobalt) อยู่ในตระกูลหนึ่งของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน มีขนาดกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 1,000 MWh หรือที่เราเรียกกันว่า GWh (จิกะวัตต์) และโรงงานแห่งนี้ก็เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน 

 

ถามว่าทำไมคุณสมโภชน์จึงคิดว่าแบตเตอรี่จะเป็น Game Changer หรือเป็นกุญแจสำคัญนำพาวงการไปสู่ New S-Curve มันสำคัญอย่างไรกับอุตสาหกรรมพลังงานหรืออุตสาหกรรมยานยนต์ 

 

พลังงานสะอาดในปัจจุบันไม่เสถียร 

เวลาพูดถึงพลังงานสะอาดในโลกนี้ก็มีอยู่ไม่กี่ชนิด เช่น น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ไฮโดรเจน หรือนิวเคลียร์

น้ำเป็นโครงการพิเศษเฉพาะ ต้องอยู่ในบางจุดของแม่น้ำจึงจะสร้างเขื่อนได้ ส่วนแดดและลมมีอยู่ทุกที่ หาได้ทั่วไป แต่มีปัญหาเรื่องความไม่เสถียร ยกตัวอย่างเช่น แดด บางครั้งแดดสดใสก็มีพลังงาน แต่ถ้ามีเมฆ พลังงานอาจตกหรือไม่มีเลย ทำให้ไม่สามารถควบคุมมันได้ 

 

อุปกรณ์เก็บกักพลังงานจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

พลังงานจำเป็นต้องมีพื้นที่จัดเก็บและควบคุม ซึ่งในยุคก่อนหน้านี้เราค้นพบว่าระบบเก็บกักพลังงาน (Energy Storage System: ESS) ที่ดีและเสถียรคือ ‘แบตเตอรี่’ แต่สมัยก่อนต้นทุนของมันมีราคาสูง คำนวณแล้วไม่คุ้มกับการใช้งาน จึงยังไม่เป็นที่นิยม จนเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ราคาของแบตเตอรี่ลดลง ประกอบกับภาพใหญ่ เมื่อโลกร้อนขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้คนเริ่มคำนึงถึงต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม จึงถึงเวลาที่แบตเตอรี่จะก้าวเข้ามาเป็น Game Changer ของโลกในยุคต่อไป 

 

เพราะทุกอย่างในโลกข้างหน้าต้องมีการเก็บพลังงาน 

 

#แบตเตอรี่คือหัวใจของการ ‘เปลี่ยน’

#ความกล้าคือหัวใจของนวัตกร 

#มองให้ใหญ่มองให้ไกลมองให้เกินคาด 

#เกินคาดคือเกินกว่าที่คนอื่นคาด 

 

เมื่อเห็นเทรนด์เช่นนี้ คุณสมโภชน์จึงกระโดดเข้าไปลุย แม้จะรู้ว่ามัน ‘ยาก’

นี่คือ Innovator Mindset

คุณสมโภชน์เชื่อเสมอว่า ‘High Risk’ เท่ากับ ‘High Return’ ทำสิ่งที่ทุกคนทำได้มันก็ทั่วไป ทำพื้นๆ ย่อมได้ผลลัพธ์พื้นๆ

ดังนั้นดีเอ็นเอของ ‘พลังงานบริสุทธิ์’ คือ #ทำเรื่องยากและบุกเข้าไปก่อนคนอื่นเสมอ

เรื่องยากที่ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง 

  1. สมัยทำ Biodiesel พลังงานบริสุทธิ์เป็นบริษัทแรกของประเทศไทยที่ผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์สำเร็จ และจนถึงวันนี้ก็ยังเป็นแค่ 1 ใน 4 ของประเทศที่ผลิตได้ 

 

  1. เลือกทำโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ถึง 90 เมกะวัตต์ ซึ่ง ณ ขณะนั้น ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีขนาดเพียง 20 เมกะวัตต์ คุณสมโภชน์เดินเข้าหานักลงทุนต่างชาติ นักลงทุนถามประโยคที่ฝังอยู่ในใจมาจนทุกวันนี้ว่า 

 

“Why Thailand?” 

 

แต่วันนั้นคุณสมโภชน์ถามกลับว่า “Why not Thailand?” 

 

แล้วเขาก็สู้จนทำสำเร็จจริงๆ

 

Business Insight is an Advantage 

คุณสมโภชน์ทำธุรกิจด้านพลังงานสะอาดมาตลอด เริ่มจากแดด ต่อด้วยลม ทำให้มีประสบการณ์และข้อมูลเบื้องลึกที่ทำให้พอจับทางได้ว่าทั่วโลกกำลังมุ่งไปหาแบตเตอรี่ เขาจึงเริ่มบุก แม้เห็นอนาคตอยู่แล้วว่าจะยาก เพราะเมืองไทยไม่มีความรู้ ไม่มี Know-How ไม่มีเทคโนโลยี

ใครๆ ก็คงคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรค แต่คุณสมโภชน์เลือกที่จะคิดสวนทาง มองอุปสรรคให้กลายเป็นโอกาสสำคัญ

 

  1. เมื่อทำสิ่งยาก หมายความว่าคู่แข่งก็จะน้อย และถ้าทำสำเร็จ ผลตอบแทนที่ได้จะสูงมาก

 

  1. เทคโนโลยีที่เป็นอนาคต เรามี ‘โอกาส’ มากน้อยขนาดไหน วันที่พลังงานบริสุทธิ์เริ่มบุกธุรกิจแบตเตอรี่เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ฝั่งตะวันตกยังทำแบตเตอรี่ไม่เป็น ประเทศที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในสมัยนั้นมีแค่ 3 ชาติ คือ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน จากนั้นจึงขยายเข้าไปสู่จีน และเมื่อตลาดเริ่มเติบโตขึ้นมา ฝั่งตะวันตกจึงเริ่มหันมาศึกษาธุรกิจแบตเตอรี่อย่างจริงจัง นั่นหมายความว่ากลุ่มที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เริ่มต้นก่อนคนอื่นนั้นเป็นกลุ่มประเทศในแถบเอเชียแทบทั้งหมด

 

  1. สำหรับประเทศไทย ไม่ว่าอย่างไรก็ตามในอนาคตยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปจะต้องเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า นั่นทำให้ความต้องการ ‘แบตเตอรี่’ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

 

  1. ธุรกิจแบตเตอรี่เป็นธุรกิจที่ผู้เล่นใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก (High Barriers to Entry) หากใครสามารถเข้ามายังตลาดได้จะสามารถอยู่ในตลาดได้นาน ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อคุณสมโภชน์ต้องการพาพลังงานบริสุทธิ์ออกจากบริบทที่ต้องหนีคู่ต่อสู้อยู่ตลอดเวลา ทำโซลาร์ฟาร์มก็ถูกดิสรัปต์ด้วยคู่แข่ง เมื่อคู่แข่งเยอะขึ้น Margin ก็บางลง ทำให้ต้องหนีไปยังธุรกิจอื่น และหากยังเป็นแบบนี้ต่อไปก็คงไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืน นั่นทำให้คุณสมโภชน์มองหาธุรกิจที่ ‘ยาก’ ยิ่งยากก็ยิ่งดี เพื่อให้พลังงานบริสุทธิ์ได้หลุดพ้นจากวงจรเดิมๆ

 

ในเมื่อคุณสมโภชน์มองเห็น ‘โอกาส’ มากมายที่แม้ว่าจะเปรียบเป็น ‘อุปสรรค’ สำหรับคนอื่นก็ตาม คำถามก็คือจะทำอย่างไรให้สามารถจับโอกาสที่ล้วนเป็นความยากทั้งหมดนี้ให้กลายเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นได้จริง

 

#วิธีเปลี่ยนความยากให้เป็นไปได้ 

 

หาโอกาสผ่านความต้องการของโลกข้างหน้า

อย่างที่คุณสมโภชน์กล่าวไป นั่นคือหาสิ่งที่ผู้คนต้องการในอนาคต ซึ่งเป็นหัวใจของการสร้างธุรกิจนวัตกรรม

 

#นวัตกรต้องเป็นนักจินตนาการ  

 

ศึกษาสิ่งที่จะทำให้ ‘ลึก’ 

คุณสมโภชน์เริ่มศึกษาก่อนว่าโลกนี้มีแบตเตอรี่กี่แบบ กว่าจะมาลงตัวที่ลิเทียมไอออนก็หลงทางเข้าสู่วงจร Test and Let Go อยู่หลายตัว ในอดีตแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออนยังมีต้นทุนที่สูง กล่าวคือต้นทุนต่อ kWh สูงถึง 1,000 เหรียญ นั่นทำให้คุณสมโภชน์ไม่คิดว่าแบตเตอรี่ประเภทนี้จะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ตลาด ทำอย่างไรก็ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการเงิน

 

#นวัตกรต้องเป็นนักการเงิน 

 

นั่นทำให้คุณสมโภชน์หันมาสนใจ Flow Battery (Vanadium Redox Flow Battery) ที่มีองค์ประกอบจาก Zinc Bromine ก่อน ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีต้นทุนสูงมาก แต่ว่าอายุการใช้งานยาวนานกว่าลิเทียมอย่างน้อย 10 ถึง 100 เท่า ด้วยความที่คิดว่าน่าจะคุ้มเลยเข้าไป ‘ยุ่ง’ เรียกได้ว่า ‘พุ่ง’ ไปทางนี้อยู่ 3 ปี

 

ยุ่งในที่นี้หมายถึงการเข้าไปค้นหาว่า Major Technology อยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต พยายามเข้าไปพบและร่วมทุน อย่างไรก็ตาม ระหว่างการค้นหา คุณสมโภชน์ก็เปิดทางเลือกอื่นๆ ไว้อยู่ตลอด เสมือนการเปิดเรดาร์อยู่ตลอดเวลา ไม่ปิดกั้นตัวเองจากโอกาสอื่นๆ เพราะตระหนักดีว่าพลังงานบริสุทธิ์จะต้องทำธุรกิจแบตเตอรี่ และต้องหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อมาตอบโจทย์ทิศทางของธุรกิจ

 

#นวัตกรต้องเป็นนักสำรวจ ต้อง Explore ทุก Possibilities 

 

และในท้ายที่สุดตลาดจะเป็นตัวบอกเองว่าสิ่งไหนคืออนาคต ระหว่างที่ศึกษาค้นคว้าไปปรากฏว่า บริษัทแบตเตอรี่ประเภท Flow Battery ก็เริ่มทยอยปิดตัวลง แต่ธุรกิจแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนนั้นกลับเติบโตขึ้น ทำให้คุณสมโภชน์เริ่มเฉลียวว่าเขาอาจจะมาผิดทาง 

 

จากสิ่งที่ดูไม่น่าเป็นไปได้กลับเริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ราคาที่เคยสูงก็กลับต่ำลง จนถึงจุดหนึ่งก็เริ่มตระหนักได้แล้วว่าแบตเตอรี่ที่น่าจะเป็นคำตอบของธุรกิจสำหรับคุณสมโภชน์นั้นไม่ใช่ Flow Battery แต่กลับเป็นลิเทียมไอออนที่ถึงแม้จะไม่ทนทาน แต่ราคาที่กำลังลดลงอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นว่า ‘จุดตัด’ ทางธุรกิจกำลังเกิดขึ้นแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมองเห็นโอกาสที่เป็นจุดตัดสำคัญ แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าไม่ได้หลงทางแบบที่ผ่านมา นั่นทำให้เราต้องหาทาง ‘ยืนยันคำตอบ’

 

อ่านข้อมูลรอบด้าน วิเคราะห์ และวิจัย 

โดยพื้นฐานคุณสมโภชน์เป็นนักวิจัย ชอบทำรีเสิร์ช และในฐานะนักธุรกิจนวัตกรรม เมื่อทราบข้อมูลทั้งหมดแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาต่อภาพและวิเคราะห์ เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘สมมติฐาน’ และสุดท้ายถึงต้องยืนยัน (Confirmation)

 

#นวัตกรต้องเป็นนักวิเคราะห์วิจัย 

 

วิธียืนยันที่ดีคืออะไร คือการหาผู้เชี่ยวชาญ (Expert) เราต้องดูว่าผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนี้คือใคร และพยายามติดต่อเขาให้ได้ ศึกษางานของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เรามั่นใจได้อย่างแท้จริงว่าสิ่งที่เราคิดนั้นไม่ผิด และสุดท้ายจึงถึงเวลาของการ ‘ตัดสินใจลงมือ’

 

Go

ลงมือทำ หาโอกาส ศึกษา วิเคราะห์ แม้จะยืนยันจนมั่นใจมากแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำ ทุกอย่างก็ไม่เกิด

 

#นวัตกรต้องเป็นนักลงมือทำ 

 

#เชื่อในสิ่งที่เลือก

 

ความยากต่อมาของการเป็นผู้บุกเบิกคือมักจะมี ‘เสียง’ ลอยมาตามลมว่าคิดอะไร ทำไมถึงเป็นลิเทียมไอออน คนอื่นเขาไป Solid State หรือบริษัทใหญ่ๆ ก็ไปไฮโดรเจน คุณสมโภชน์บอกว่าเมื่อตัดสินใจแล้วต้องเชื่อในสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจ และเขาเองก็เชื่อในลิเทียมไอออน

 

นอกจากเชื่อในความเป็นไปได้ (Feasibility) ในเรื่องของราคา เพราะเห็นอัตราเร่งของต้นทุนที่ลดลงเร็วมากๆ แล้ว คุณสมโภชน์ยังเชื่อในวิทยาศาสตร์ของแบตเตอรี่ ‘ลิเทียมไอออน’ เช่นกัน

 

เพราะเป็นวิศวกรจึงทำให้คุณสมโภชน์มี Engineer Concept ที่ ‘เห็น’ ในมุมอื่นๆ 

 

ไม่ใช่ต้นทุนในการสร้างแบตเตอรี่อย่างเดียว แต่ต้นทุนในการเก็บประจุก็สำคัญ หากลิเทียมใส่พลังงานไป 100% จะเอาออกมาใช้ได้ 99% กล่าวคือสูญเสียแค่ 1% เท่านั้น ในขณะที่ไฮโดรเจนเอากลับมาใช้ได้ไม่ถึง 40% 

 

ลิเทียมเป็นธาตุหมู่ 1 ในตารางธาตุ ซึ่งมีความหนาแน่นของอิเล็กตรอน (Electron Density) ต่อหน่วยของอะตอมสูง นั่นหมายความว่าลิเทียมสามารถเก็บพลังงานได้ดี และเป็นธาตุที่เป็นของแข็งเพียงตัวเดียวที่มีคุณสมบัติข้างต้นรองจากไฮโดรเจน เพราะฉะนั้นสำหรับคุณสมโภชน์ไม่มีอะไรในตารางธาตุที่ดีกว่านี้อีกแล้ว

 

And that’s why Lithium… 

 

นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสำหรับคุณสมโภชน์ ‘ลิเทียม’ ถึงเป็น Game Changer ของวงการแบตเตอรี่

 


[Chapter 2]

From Paper to the Market 

#มองทาง #หาวิธีเปลี่ยนความคิดให้เป็นความจริง   

 

มีไอเดียแล้ว มั่นใจแล้วว่าเทคโนโลยีกำลังมาทางนี้ แต่นั่นเป็นแค่การหาโอกาส ในโลกของธุรกิจสิ่งที่ยากกว่าคือการเปลี่ยนจินตนาการในกระดาษให้ออกมาเป็นการลงมือทำ

 

เมื่อมีไอเดียเทคโนโลยีแล้ว คำถามต่อไปคือเรามีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ชนะหรือไม่

 

 เราทำได้ดีกว่าคนอื่นไหม

 เรามีตลาดรองรับไหม 

 

การค้นหา Hidden Gem ของพลังงานบริสุทธิ์ เทคโนโลยีที่ไม่มีใคร ‘จองที่’ คือโอกาสที่ดีในการสร้างนวัตกรรม

 

#เราทำได้ดีกว่าคนอื่นไหม

 

เมื่อวันนี้พลังงานบริสุทธิ์ยังทำไม่ได้ก็ต้องต้นหาและนำองค์ความรู้เข้ามา และนั่นคือสิ่งที่คุณสมโภชน์พบกับ Amita ที่ไต้หวัน

 

Why Taiwan? 

 

อย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้น ประเทศที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแถบเอเชียนั้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน แต่เพราะเหตุใดถึงไม่ใช่ 2 ประเทศที่เหลือ

 

 จะไปหาญี่ปุ่น ก็มี Panasonic ที่ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หากพลังงานบริสุทธิ์เข้าไปก็คงไม่ดึงดูดให้เขาอยากมาร่วมธุรกิจกับเรา

 

 หันไปหาเกาหลี ไปหา LG, Samsung เขาก็คงไม่รู้จักพลังงานบริสุทธิ์ ไม่สนใจเรา

 

 ไต้หวันจึงน่าสนใจ เพราะไต้หวันมีเทคโนโลยีเหมือนสองประเทศแรก แต่ยังไม่มีแบรนด์ของตัวเอง ยังเป็น OEM เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีของประเทศนี้ มีแบรนด์แต่ยังไม่มีตลาด คนยังไม่รู้จัก นอกจากนั้นที่ไต้หวันยังมีสถาบันวิจัยชั้นนำ 1 ใน 5 ของโลกคือ ITRI นั่นทำให้ไต้หวันกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่พลังงานบริสุทธิ์จะเข้าไปร่วมธุรกิจ

 

คุณสมโภชน์ไปจึงตัดสินใจไปทัวร์ยังไต้หวัน ไปหาว่าเทคโนโลยีดีๆ อยู่ที่ไหน ใครเก่ง ใครเป็นตัวจริง และใช้คอนเซปต์ง่ายๆ แต่ชัดเจนว่าคุณมีเทคโนโลยี แต่คุณไม่มีตลาด ในขณะที่ประเทศไทยมีตลาดที่ใหญ่มาก เพราะไทยรวมกับอาเซียนใน ASEAN Free Trade (AFTA) กล่าวคือมีถึง 600 ล้านคน มี GDP เท่ากับอินเดีย คุณสมโภชน์ถามว่าไต้หวันมี 20 ล้านคนจะขายได้ขนาดไหน มาขาย 600 ล้านดีกว่าไหม ในที่สุดก็เจอ Amita ที่เรียกได้ว่าเป็น Hidden Gem เพราะมีเทคโนโลยีขั้นสูงแล้วยัง OEM อยู่ และยังไม่มีแบรนด์ของตัวเอง 

 

ถามว่า Amita ไม่มีคนเข้ามาก่อนหน้านี้เลยไหม พลังงานบริสุทธิ์ไม่มีคู่แข่งเลยหรือเปล่า ก็คงต้องตอบว่าไม่ เพราะแท้จริงแล้วบริษัท Amita ก็มีคนเข้ามาขอลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น Delta Electronics ที่คุณสมโภชน์ต้องซื้อหุ้นบางส่วนต่อมา เพียงแต่ว่ามันผิดเวลา เมื่อตอนที่คนอื่นมาร่วมธุรกิจนั้นแบตเตอรี่ยังมีราคาสูงอยู่ นั่นทำให้ Amita ไม่ได้เติบโตอย่างเต็มที่ จนกลายเป็นม้านอกสายตา

 

แต่ ณ เวลานี้ นี่คือคำตอบที่ถูกต้องของพลังงานบริสุทธิ์ เพราะต้องการคนที่มี Know-How จริงๆ มาพัฒนา ‘แบตเตอรี่’ ที่เป็นโจทย์หลักของบริษัท

 

อย่างไรก็ตาม ต่อให้เจอ ‘มือ’ ที่จะมาช่วยสร้างผลิตภัณฑ์แล้ว ก็ยังไม่มากพอที่ทำให้พลังงานบริสุทธิ์สามารถกระโดดเข้ามายังธุรกิจนี้ได้ แม้มีของดีแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะรอดเสมอไป เพราะถ้าทำธุรกิจ สิ่งที่ต้องมีก็คือ ‘ตลาด’

 

#เรามีตลาดไหม
 

ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีนวัตกรรมอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขายได้ สร้างรายได้ให้เราได้ด้วย นั่นคือเราต้องทำ Product-Market-Fit สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด 

 

มีหลากหลายวิธีที่เราทำได้ แต่สิ่งที่น่าสนใจสำหรับคุณสมโภชน์คือ เขาไม่ได้หาตลาดใหม่ แต่กลับใช้วิธีการ ‘สร้างตลาด’

 

#ไม่มีก็สร้าง

 

ก่อนที่คุณสมโภชน์จะตัดสินใจทำแบตเตอรี่อย่างจริงจัง คำถามที่ต้องตอบให้ได้คือ พลังงานบริสุทธิ์จะขายแบตเตอรี่ให้ใคร ถึงแม้ในอนาคตประเทศไทยจะต้องการแบตเตอรี่ และมีตลาดถึง 600 ล้านคนก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีในวันนี้ แต่ถ้าจะให้รอถึงวันนั้นและทุ่มทุนสร้างโรงงานไปก่อนก็คงไม่รอดแน่นอน คุณสมโภชน์จึงต้องคิดใหม่ ถ้าทำแบตเตอรี่ก็คงไม่พอ นั่นทำให้เขาต้องทำให้ครบทั้ง Ecosystem จนกว่าจะทำให้เกิดตลาดขึ้นมา

 

#นวัตกรต้องสร้างตลาด 

 

สร้างอะไรดี? ถ้าจะสร้างรถยนต์ส่วนบุคคล พลังงานบริสุทธิ์จะต้องแข่งกับ Toyota, Mercedes-Benz, Nissan มีแต่บริษัทใหญ่ๆ นึกไม่ออกเลยว่าพลังงานบริสุทธิ์จะสู้ได้อย่างไร แล้วมีเซกเมนต์อื่นไหมที่น่าจะพอเข้าไปได้ อย่างเช่น ‘ยานยนต์เชิงพาณิชย์’

 

ตลาดของยานยนต์เชิงพาณิชย์น่าสนใจสำหรับคุณสมโภชน์ เพราะอะไร ตลาดนี้เป็นตลาดที่คนขับไม่ใช่เถ้าแก่ และเถ้าแก่ไม่เคยคิดจะขับ ดังนั้นการเลือกรถนั้นจะถูกพิจารณาโดยใช้ตรรกะล้วนๆ ไม่มีการนำอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาพิจารณา ยานยนต์เชิงพาณิชย์ที่ดีจะถูกตัดสินว่าคุ้มทุนหรือไม่ ทนทานขนาดไหน ซึ่งตอบโจทย์ความถนัดของพลังงานบริสุทธิ์ที่เป็นเชิงวิศวกรรม นั่นทำให้คุณสมโภชน์มองว่า ก้าวแรกของพลังงานบริสุทธิ์นั้นก่อนที่จะทำยานยนต์ที่สวย จะต้องเอาความทนทานและคุ้มค่าให้ได้ก่อน

 

แต่ถึงจะไปเซกเมนต์นี้ก็ยังมีคู่แข่งเจ้าตลาดที่ต้องสู้อย่างหนักอยู่ดีทั้ง Hino และ Isuzu แล้วพลังงานบริสุทธิ์จะสู้ได้อย่างไร คุณสมโภชน์มองว่า ก็ด้วย Game Changer ที่เราค้นคว้ามา นั่นก็คือแบตเตอรี่ ซึ่งในตลาดปัจจุบันยังไม่มีใครทำยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นยานยนต์ขนาดใหญ่ แม้แต่ อีลอน มัสก์ ที่กล่าวว่าจะทำรถหัวลากไฟฟ้ามา 4-5 ปีแล้ว ตอนนี้ก็ยังไม่เข้ามาทำจริงจัง 

 

คุณสมโภชน์เริ่มตั้งคำถามแบบนวัตกร เพราะเหตุใดธุรกิจถึงไม่หันมาทำยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ซึ่งหากเราค้นคว้าข้อมูลจะพบว่า ยานยนต์ขนาดใหญ่นั้นชอบใช้พลังงานจากไฮไดรเจน เพราะเหตุผลดังนี้

 

 ไฮโดรเจนสามารถเติมเร็ว 

 ไฮโดรเจนมีความจุของพลังงาน (Energy Density) สูงเมื่อเทียบกับแบตเตอรี่

 

พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการ ‘เติมเร็ว วิ่งได้ไกล’ คือคำตอบของยานยนต์ขนาดใหญ่นั่นเอง

 

นั่นหมายความว่าถ้าพลังงานบริสุทธิ์สามารถทำให้แบตเตอรี่ชาร์จเร็วขึ้นและสามารถทำให้รถวิ่งได้ไกล ก็สามารถไปแทนพื้นที่ในตลาดที่ถูกจับจองโดยไฮโดรเจนได้

 

นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณสมโภชน์ตัดสินใจจับตลาดนี้ และเพิ่มความดึงดูดให้อีกว่านอกจากจะเติมเร็ว วิ่งได้ไกลแล้วยัง ‘เสื่อมช้า’ อีกด้วย ซึ่งเป็นจุดอ่อนของแบตเตอรี่ที่เมื่อมีคุณสมบัติชาร์จเร็วแล้วมักจะมีความทนทานน้อย เพื่อให้ตอบโจทย์ตลาดและสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริง 

 

จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่ารถเชิงพาณิชย์ของพลังงานบริสุทธิ์จะกลายเป็นที่ต้องการของตลาด ในเมื่อประเทศไทยก็มีแบรนด์ยอดนิยมอยู่หลายแบรนด์

 

  1. คุณสมโภชน์เชื่อว่า ตลาดรถเชิงพาณิชย์เป็นตลาดที่ใหญ่พอ ประเทศไทยมีรถเชิงพาณิชย์อยู่ 1 ล้าน 3 แสนคัน ในปีหนึ่งมีรถจดทะเบียนใหม่ประมาณ 80,000 คัน แม้ว่าอาจจะดูไม่ใหญ่ถ้าเทียบกับ 20 ล้านคันของรถทั้งหมดในประเทศ แต่สำหรับบริษัทที่กำลังจะเริ่ม 80,000 คันก็มากพอแล้วสำหรับการสร้างรายได้ให้ธุรกิจ 

 

  1. ด้วยปริมาณ (Volume) เท่านี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เกิด Economy of Scale ได้

 

  1. รถกลุ่มนี้มีการบริโภคพลังงาน (Energy Consumption) สูง เพราะฉะนั้นหากบริษัทสามารถเปลี่ยนผ่านการใช้ยานยนต์ขนาดใหญ่ในปัจจุบันไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าได้ จะช่วยลดต้นทุนให้ประเทศได้อีกมาก 

 

#หัวใจที่สำคัญที่สุดคือทุกคนไม่เชื่อว่ามันทำได้ 

 

ทุกคนยังวิ่งไปที่ไฮโดรเจนอยู่ คุณสมโภชน์มองว่านี่คือโอกาสสำคัญ

 

เมื่อเห็นว่าเป็นโอกาส คุณสมโภชน์ก็ลองค้นคว้าต่อว่าจะถ้าเขาจะต้องทำธุรกิจนี้ให้เกิดขึ้นนั้นต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

 

  1. แบตเตอรี่ ต้องมีแบตเตอรี่ที่ชาร์จเร็วเสื่อมช้า ค้นหาจนเจอ Amita

 

  1. Drivetrain องค์ประกอบสำคัญเพื่อสร้างยานยนต์ ในส่วนนี้มีวิศวกรอยู่แล้ว คาดว่าสามารถทำได้

 

  1. ระบบชาร์จพลังงาน (Charging System) ที่สามารถชาร์จแบตเตอรี่ที่สร้างขึ้นใหม่นี้ได้ เรื่องนี้ยาก แต่ก็ได้ค้นคว้าจนไปเจอ A-test ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและน่าจะทำได้

 

#User_Validation 

#คุยกับใครพูดเรื่องที่เขาอยากฟัง

 

เมื่อองค์ประกอบของเทคโนโลยีเป็นไปได้ก็กลับมาที่เรื่องตลาด ดังนั้นก็ต้องกลับมาถามผู้ใช้งานว่ารถใหญ่ในไทยที่ใช้ก๊าซ NGV เป็นหลัก เวลาเติมแก๊สแถวยาวล้นออกมานอกปั๊ม คนก็จะบ่นว่าต่อแถวนานและชาร์จก็นาน คุณสมโภชน์ที่ตัดสินใจไปถามผู้ใช้งานเองว่าถ้ารถใหญ่แบบนี้ชาร์จสัก 15-20 นาที เขาสนใจหรือไม่ และได้คำตอบว่าถ้าชาร์จได้อย่างนี้แล้วต้นทุนก็ถูกลง ทำไมจะไม่เอา

 

ทีนี้ก็จะมีคำถามว่าราคาต่อคันจะแพงกว่าหรือถูกกว่ายานยนต์แบบเดิม แน่นอนว่าแบตเตอรี่มีต้นทุนที่สูง แต่เมื่อใช้งานแล้วเทียบต้นทุนต่อการวิ่ง 1 กิโลเมตรแล้วถูกว่า กล่าวคือต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) แพง แต่ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ถูก เพราะฉะนั้นรถที่ใช้ไปสักพักก็จะสามารถประหยัด (Cost Savings) ได้มากกว่า นั่นจึงทำให้มั่นใจได้ว่า ณ เวลานี้ ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีที่เป็นไปได้ แต่ตลาดเองก็ขานรับต่อผลิตภัณฑ์เช่นกัน

 

จะทำของยากต้องมีความได้เปรียบทางการแข่งขัน Patented and Competitive Advantage 

 

คอนเซปต์มี เทคโนโลยีเป็นไปได้ ตลาดรองรับ แล้วรถคันนี้สร้างยากไหม คุณสมโภชน์เดินทางไปดูและคุยบริษัททำรถใหญ่ๆ ทั่วโลก ทั้งอังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ในตอนแรกคิดว่าถ้าทำรถไม่เป็นก็อาจใช้วิธีจ้างบริษัทอื่นทำ แต่พบว่าต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่สูง ไม่คุ้มค่าแน่นอน แต่การเดินทางไปเจอผู้เชี่ยวชาญด้านการทำรถทั่วโลกนั้นกลับให้อะไรหลายอย่าง เพราะเท่ากับว่าคุณสมโภชน์ได้ปรึกษา ได้ตรวจสอบไอเดียกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ได้แอบถามบางข้อที่คาใจ ราวกับว่ากำลังต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้น

 

 Customer คนนี้ตอบว่าแบบนี้เอา 

 Technology คนนั้นตอบว่าทำได้ 

 Engineer คนโน้นบอกว่าแบบนี้ถ้าทำได้คือปาฏิหาริย์

 

#ทำของยากต้องกลัวคนก๊อบปี้

อย่าลืมว่าที่ทำมาทั้งหมดนั้นเพื่อให้พลังงานบริสุทธิ์ได้หลุดพ้นจากวงจรหนีคู่แข่ง นั่นทำให้คุณสมโภชน์ได้ลองค้นหาสิทธิบัตร (Patent) ของเทคโนโลยีที่ตนทำ ดังนั้นต้องตระหนักไว้เลยว่าถ้าจะสร้างนวัตกรรมต้องไปดูก่อนว่ามีใครทำไปแล้วบ้าง ปรากฏว่าคนที่จดวิธีที่พลังงานบริสุทธิ์คิดจะทำนั้นมีน้อยมาก ก็แปลว่าทุกอย่างนั้นถือว่าเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมด เมื่อเห็นอย่างนั้นคุณสมโภชน์ไม่ลังเลที่จะจดสิทธิบัตรไว้ทั่วโลก เพื่อยืนยันว่าพลังงานบริสุทธิ์ได้ครอบครองเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

 

ณ วันนี้ พลังงานบริสุทธิ์ได้ต่อภาพไว้หมดแล้ว สามารถพูดได้แล้วว่าไม่ได้เป็นเพียงบริษัทที่ทำแค่แบตเตอรี่ ไม่ได้ทำแค่ระบบชาร์จพลังงาน แต่วันนี้เราทำ Ultra-Fast Charge Solution Ecosystem ที่ตอบโจทย์ตลาดยานยนต์ไทย 

 


[Chapter 3]

From a Challenger to the Winner  

#มองท่าไม้ตาย #สร้างความแตกต่างเหนือคู่แข่ง    

 

ไม่ใช่ว่าทำแล้วจะชนะ แม้ว่าพลังงานบริสุทธิ์จะทำการบ้านจนมี Product-Market-Fit ตอบโจทย์ตลาดแล้วก็ตาม แต่ความยากหลังจากนี้คือการยืนอยู่ให้ได้ท่ามกลางการแข่งขันกับคู่แข่งมากมาย ซึ่งล้วนเป็นคู่แข่งระดับโลก 

 

#คนไม่เชื่อว่าไทยทำได้

#คนไทยก็ไม่เชื่อคนไทยกันเอง

 

ระหว่างที่ทำไปคุณสมโภชน์ก็ภูมิใจในนวัตกรรมที่ตัวเองคิดมาก แต่เมื่อไปเล่าให้ใครฟังกลับไม่มีใครเชื่อ 

 

ถ้าเป็นบริษัทจีนอย่าง MEO แค่มีนวัตกรรม แม้ยังไม่ทำอะไรก็ตาม ต่อให้ขายรถยังไม่ถึง 1,000 คัน ก็สามารถระดมทุนได้เป็นแสนล้าน หรือถ้าเป็นที่สหรัฐฯ ขอเพียงพูดเท่านั้นตลาดก็พร้อมจะให้เงินทุนสนับสนุน แต่พอเป็นไทย คุณสมโภชน์จะเจอคำถามปวดใจคำถามเดิมที่ตามมาหลอกหลอนนั่นคือ 

 

Why Thailand? 

 

Why? ทำไมเราโดนคำถามนี้ เพราะคนไทยไม่เคยไปอยู่ในพื้นที่ของนวัตกรรมมาก่อน ทุกครั้งที่พอจะทำได้ก็จะถามกันว่าเอาเทคโนโลยีมาจากไหน จับมือกับใคร ที่ผ่านมาเราไม่เคย ‘คิด’ เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำเอง และด้วยมายด์เซ็ตของเราจึงทำให้เรา ‘นวัต’ ไม่ได้สักที เวลาที่ต่างชาติมองเข้ามาเขาก็เลยไม่คิดว่าเราจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ ราวกลับว่าแค่เราเริ่มก็เหมือนแพ้ไปแล้ว 

 

แล้วพลังงานบริสุทธิ์จะทำอย่างไร เราคิดว่าเราทำได้แต่เขาไม่เชื่อ นั่นทำให้คุณสมโภชน์คิดถึงการทำโปรเจกต์ เราต้องทำของมาโชว์เพื่อให้เขาเชื่อเรา แต่เงินเราไม่ได้เยอะมาก ถ้าเอาเงินไม่เยอะไปทำของโชว์ด้วยงบ 100 ล้านบาท 500 ล้านบาท พลังงานบริสุทธิ์คงจะเจ๊งไปเสียก่อน  

 

ดังนั้นเราต้อง #หาวิธีพิสูจน์โปรดักต์ที่หาเงินได้ด้วย เป็น Proof of Concept ที่ทำให้คนเชื่อไปด้วย แล้วเราก็ได้ผลตอบแทนบางส่วน ถามว่ามันมีวิธีที่ดีขนาดนั้นเลยหรือไม่ คุณสมโภชน์ให้คำตอบเพียงสั้นๆ 

 

“ก็ต้องคิดไง”

 

ไปบอกคนอื่นว่าจะชาร์จแบตเตอรี่ขนาดใหญ่เท่าไรก็ได้ภายใน 15 นาที เขาก็บอกเราว่าเคยเห็นแต่ในรถเล็ก แต่ถ้าขนาดใหญ่ๆ เขาไม่เคย แล้วจะทำอย่างไรถึงจะพิสูจน์ได้ คุณสมโภชน์นึกขึ้นมาได้ 1 อย่าง ที่ถึงแม้จะใหญ่เกินไปก็ตาม แต่ก้ตอบโจทย์ได้ชัดเจนดีเช่นกัน และนั่นคือการสร้าง ‘เรือ’ 

 

เพราะว่าเรือลำใหญ่ใส่แบตเตอรี่ได้เยอะ เรือลำหนึ่งใส่แบตเตอรี่ได้มากกว่ารถบัสเสียอีก รถบัสใส่แบตเตอรี่มากกว่ารถเล็กประมาณ 4 เท่า แต่เรือใส่มากกว่ารถบัส 3 เท่า 

 

แล้วกระบวนการผลิตเราก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะตอนที่สร้างรถยนต์ ทีมงานบางส่วนก็มาจากทีมสร้างเรือ เรียกว่าทำเรือมาทั้งชีวิต เป็นความบังเอิญที่ลงตัว เพราะตอนเริ่มต้นคุณสมโภชน์ไม่ได้คิดจะทำเรือ แต่ว่าหาคนทำรถซึ่งเป็นวิศวกรโครงสร้างไม่ได้ ที่หามาได้คือคนทำเรือที่เชื่อในเรื่องเดียวกัน ดังนั้นการกลับมาทำเรือจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แค่หลับตาก็นึกออก เพราะเขาทำมาตลอดชีวิต 

 

แล้วเอา Ultra-Fast Charge System ใส่เข้าไป แบตเตอรี่ขนาด 800 kWh ถือว่าใหญ่มาก แต่เรือลำนี้ใช้เวลาชาร์จแค่ 20 นาที ใช้พาวเวอร์ 3.2 MW ซึ่งถือว่าเร็วมาก คุณสมโภชน์เชื่อว่าเขาน่าจะเป็นกลุ่มคนแรกๆ ของโลก ดังนั้นในท้ายที่สุดพลังงานบริสุทธิ์จึงสามารถทำเรือไฟฟ้าออกมาเป็น Proof of Concept ถึงจะไม่สามารถสร้างรายได้เป็นหลัก แต่ก็ยังให้ผลตอบแทนกลับมา สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ เราพูดได้เต็มปากแล้วว่าพลังงานบริสุทธิ์สามารถทำ Ultra-Fast Charge ได้จริงๆ เป็นการยืนยันว่า เรา-ทำ-ได้

 

สร้าง Gigafactory ถึงเวลาลงมือทำจริง ถ่ายโอนองค์ความรู้จากไต้หวันสู่ประเทศไทยยากขนาดไหน

 

ยากมาก เพราะเงื่อนไขเหล่านี้

 

  1. ถึงแม้เราไป Take Over เขามา ก็ต้องพยายามให้เขาถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เรา 

 

  1. ไม่มีใครอยากให้นำองค์ความรู้ออกนอกประเทศ เราต้องโน้มน้าวให้เขามาตั้งโรงงานที่ประเทศไทยให้ได้

 

  1. ทำให้เขามาตั้งในไทยได้แล้ว ก็ต้องพยายามให้คนของเขามาช่วยเราสร้างที่นี่ด้วย เพื่อให้องค์ความรู้ถูกถ่ายทอดมาจริงๆ

 

  1. การสร้างที่นี่เป็นการ Scale Up จาก Capacity เดิมที่ไต้หวัน 4 เท่า Amita เองถึงแม้ว่าจะมีเทคโนโลยี แต่โรงงานก็ไม่ได้ใหญ่เป็น Gigafactory ขนาดนี้ การที่ต้องสร้างโรงงานที่ขยายกำลังการผลิตขึ้นมาอีก 4 เท่าก็จะเจอปัญหาใหม่ๆ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ทั้งพลังงานบริสุทธิ์และ Amita ต้องร่วมมือกัน

 

  1. วิกฤตโควิดทำให้การสร้างโรงงานมีความยากเพิ่มขึ้นอีก ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถเข้าประเทศมาได้ ของที่ต้องใช้ก็ไม่มาตามแผนงาน การก่อสร้างก็ต้องดูแลให้ปลอดภัยสูงสุด เพราะหากเกิดมีใครคนหนึ่งติดเชื้อ แผนทั้งหมดก็จำเป็นต้องหยุดทันที

 

พลังงานบริสุทธิ์ต้องบริหารความเสี่ยงทุกอย่าง ตอนนั้นมีทางเลือกแค่ 2 ทาง คือ ยอมแพ้ รอให้โควิดดีขึ้นแล้วค่อยทำ แต่เราเลือกที่จะไม่ยอม ต้องทำให้ได้ ถ้าผู้เชี่ยวชาญเข้าประเทศมาไม่ได้ เราก็ใช้ช่องทางออนไลน์แทน เป็นอีกครั้งที่เราเปลี่ยนวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส ถึงมันจะมีความเสี่ยง แต่ในขณะเดียวกันมันก็เป็นโอกาสให้เราได้เรียนรู้และกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญจำเป็นต้องสอนเรา เพราะเขาเข้าประเทศมาไม่ได้ กลายเป็นการถ่ายโอนความรู้เกิดได้ง่ายมากขึ้น

 

#ความรู้คือกำไรไม่มีใครให้กันง่ายๆ

 

ต้องยอมรับว่าการถ่ายโอนความรู้นั้นไม่ง่าย ใครๆ ก็หวง Know-How ของตนเอง ซึ่งเราก็ต้องใจเขาใจเรา ใครที่ไหนอยากจะให้ความรู้ ใครอยากจะให้ Margin มันถือเป็นเรื่องปกติ เราจึงต้องยอมรับว่าเรามีความรู้ที่จำกัด (Limited Knowledge) ไม่ใช่ว่าไม่มีแต่มีจำกัด อย่างที่เราเป็นฐานการผลิตรถยนต์ให้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เขาก็มี Handbook มาให้เลยว่าในการสร้างรถยนต์ต้องใช้วัสดุอะไร มอเตอร์ขนาดนี้ต้องใช้สายไฟขนาดไหน แต่เขาไม่บอกเราว่า ‘ทำไม’ ถึงต้องใช้แบบนี้ เพราะฉะนั้นความรู้ที่เป็นเบื้องหลังจริงๆ คนไทยเราไม่เคยรู้ เมื่อไทยผลิตทุกอย่างเสร็จก็ส่งกลับไปให้เขาตรวจสอบ แล้วก็ส่งกลับมา 

 

คุณสมโภชน์ย้ำว่า นี่ไม่ใช่เรื่องผิด หากเราเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเราก็ทำอย่างนั้นเช่นกัน แต่ถ้าเราอยากเก่งขึ้น เราก็ต้องค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ถึงแม้วันนี้เราอาจจะทำ 100 ไม่ได้ วันนี้เราก็ทำ 10 พรุ่งนี้เพิ่มอีก 10 เราก็ได้ 20 ทุกคนก็ต้องเริ่มอย่างนี้ ญี่ปุ่นก็เริ่มอย่างนี้ เกาหลีก็เริ่มอย่างนี้ ไทยเองก็ต้องเริ่มอย่างนี้เช่นกัน

 

#แต่เราต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ 

 

สำหรับที่ Amita Thailand มีการถ่ายโอนความรู้และพัฒนาความรู้ร่วมกันกับทางไต้หวันด้วยการสร้าง Gigafactory 

 

  1. วิธีการจัดการ Production Line เป็นการส่งต่อประสบการณ์จากของเจ้าของเดิมคือ จาก Capacity เดิม พอต้องมาทำโรงใหญ่ ทางไต้หวันก็จะมีการทบทวนว่าที่ทำมา 20 ปี เขาพลาดอะไร ตรงไหน พอถึงเวลาที่จะเกิดใหม่อีกครั้งเขาก็มีความฝันว่าถ้าได้สร้างใหม่ เขาต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ก่อให้เกิดการทำ System Integration ใหม่และเราก็เรียนรู้ไปกับเขา 

 

  1. การ Reengineer ให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ คุณสมโภชน์บอกพนักงานทุกคนเสมอว่า พลังงานบริสุทธิ์ต้อง Evolve ไปกับอุตสาหกรรม อย่ามาบอกว่าวันนี้เราไม่ Competitive เราต้อง Competitive ตลอดเวลา 

 

อะไรคือสิ่งที่พลังงานบริสุทธิ์ Competitive อย่างแท้จริง

 

 หากพูดถึงคุณสมบัติของแบตเตอรี่ ต้องบอกว่าสิ่งที่พลังงานบริสุทธิ์ทำนั้นแตกต่างจากคนอื่น คนส่วนใหญ่จะนิยมใช้วิธีการใช้แบตเตอรี่จำนวนมาก เพื่อทำให้ผู้ใช้งานสามารถขับรถยนต์ได้เป็นเวลานาน กล่าวคือมีความจุสูง แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือ นำ้หนักที่รถยนต์ต้องแบกรับมากขึ้น แต่พลังงานบริสุทธิ์คิดอีกแบบคือ ใช้แบตเตอรี่ที่จำนวนน้อยกว่า แต่สามารถชาร์จได้เร็ว มีความทนทาน และความจุที่ใช้ก็ทำให้รถยนต์สามารถวิ่งได้ราว 250 กิโลเมตรต่อชาร์จ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งาน เกิดเป็น Unique Selling Point ของแบตเตอรี่จากพลังงานบริสุทธิ์

 

 หากพูดถึงเรื่องต้นทุนการผลิตยิ่งเป็นเหมือนหัวใจสำคัญที่สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ใครที่มีต้นทุนต่ำก็ยิ่งได้เปรียบมากกว่า คำถามคือเราจะทำอย่างไรให้โรงงานมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงเรื่อยๆ คุณสมโภชน์ดูในทุกมิติ เช่น เรื่องการทำ Engineering การทำ Process การทำ Machinery การทำ Economy of Scale

 

โดยเอาบริษัทชั้นนำของโลกมาเป็นหมุดหมายว่า ปริมาณเงินที่ต้องใช้ลงทุนต่อจิกะวัตต์นั้นเขาใช้เงินเท่าไร และพลังงานบริสุทธิ์จะทำอย่างไรเพื่อให้ต้นทุนต่อจิกะวัตต์นั้นต่ำกว่ารายอื่น สิ่งที่ค้นพบก็คือในการทำแบตเตอรี่ หากวัตถุดิบตั้งต้น (Raw Material) ราคาเท่ากัน แต่เราสร้างโรงงานแพงกว่า แบตเตอรี่ของเราก็ต้องแพงกว่าเขา แต่ถ้าเกิดเราทำให้ราคาวัตถุดิบตั้งต้นต่ำกว่าได้ ทำให้โรงงานเราถูกลงได้ เราก็จะได้เปรียบและ Competitive มากขึ้น

 

ดังนั้นจึงต้องสำรวจลงไปเพิ่มเติมว่าวัตถุดิบที่ใช้นั้น สารตัวไหนมีราคาแพง และสาเหตุที่ราคาแพงนั้นเกิดจากอะไร บางอย่างอาจเกิดจากต้นทุนการขนส่ง เราก็อาจใช้วิธีต่อรองกับผู้ผลิต หากเราสั่งปริมาณมากเราสามารถเจรจาให้เขามาตั้งโรงงานใกล้ๆ เราได้หรือไม่ เพื่อลดต้นทุนจากการขนส่งแล้วแบ่งกำไรที่ได้จากการขายแบตเตอรี่ หรือสารตัวไหนที่เป็นความลับ เป็นนวัตกรรม ถ้าเราสามารถผลิตเองได้ก็จะช่วยลดต้นทุน เราก็ต้องมองหาวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะลดต้นทุนของแบตเตอรี่ลงให้ได้เรื่อยๆ

 

ขณะเดียวกันในด้านของคุณสมบัติ (Characteristic) ของแบตเตอรี่ที่ว่าดี เราก็ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนต่อหน่วยถูกลงแล้วประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร สามารถเก็บพลังงานให้มากกว่าที่เคยได้หรือไม่ สำหรับคุณสมโภชน์นั้นการ Evolve ไม่มีวันจบ มีหลากหลายมิติที่จะต้องเดิน มีหลากหลายมุมที่จะต้องทำ

 

มายด์เซ็ตของพลังงานบริสุทธิ์คือ ทุกๆ จิกะวัตต์ที่โตขึ้น เราต้องเก่งขึ้น ถูกขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณสมโภชน์ถึงต้องแวะเวียนมาที่โรงงานเป็นประจำและเดินตรวจงานตลอด เพราะต้องการเข้าใจกระบวนการทั้งหมดและต้องการเข้ามาเก็บปัญหา คุณสมโภชน์เชื่อว่า ปัญหาที่เจอวันนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เขาแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้นในอนาคต


 

[Chapter 4]

From Me to You  

#มองทีม #สร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อส่งต่ออนาคต    

 

คุณสมโภชน์เป็นทั้งนักฝัน นักจินตนาการ นักคิด นักลงมือทำ นวัตกร นักบุกเบิก และนักธุรกิจ แต่คุณสมโภชน์มองว่า ตัวเองเป็นคนไทยคนหนึ่งที่อยากตอบให้ได้ว่า Why Thailand? อยากจะตอบว่า คนไทยเราเก่งไม่แพ้ชาติอื่น แต่เราแค่ไม่เคยทำกันอย่างนี้มาก่อน แล้วเราก็เลยชินกับการนำเข้าเทคโนโลยี โดยที่เราไม่เคยหยุดคิดด้วยซ้ำว่าเราเก่งขนาดไหน

 

#คนไทยเก่งไม่แพ้ใครนะ 

 

สำหรับอนาคตของพลังงานบริสุทธิ์ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คุณสมโภชน์หวังว่า พลังงานบริสุทธิ์จะใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก หวังว่าจะเป็น World Class Company และอยากจะเป็นบริษัทที่เป็นผู้นำในการทำอะไรใหม่ๆ สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประเทศและคนไทย ถ้าทำอะไรที่เกิดขึ้นแล้วดีกับสังคมได้นั่นเป็นเป้าหมายของพลังงานบริสุทธิ์

 

ชื่อภาษาอังกฤษของพลังงานบริสุทธิ์คือ วิสัยทัศน์ (Vision) ที่เราอยากจะเป็น Energy Absolute ถ้าแปลจริงๆ ไม่ได้แปลว่าพลังงานบริสุทธิ์ แต่แปลว่าความบริสุทธิ์ที่มีพลัง นี่คือความตั้งใจของเรา ตั้งแต่วันแรกที่ผู้ก่อตั้งจัดตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาว่า เราอยากจะเป็นบริษัทที่มีความบริสุทธิ์ใจ มีความตั้งใจที่จะทำสิ่งดีๆ ให้เกิด 

 

ในอนาคตเราจึงไม่ได้จำกัดตัวเองว่าต้องทำแค่ธุรกิจพลังงานเท่านั้น เราจะไม่มีขอบเขต เราเปิดโอกาสที่จะทำอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมันดี ทำให้สังคมดี ทำให้บริษัทดี แต่ก็ไม่ใช่การเพ้อฝัน ต้องมียุทธศาสตร์ที่จะเดินไป 

 

 คำแนะนำถึงบริษัทที่จะทำธุรกิจนวัตกรรม

 

#ตีโจทย์ให้แตก #กล้าอย่าลืมกลัว 

 

จะทำอะไรต้องตีโจทย์ให้แตก ต้อง ‘ทั้งกล้าและกลัว’ กลัวเจ๊งให้มากๆ ถ้าเรากลัวเจ๊ง เราก็จะนั่งคิดนอนคิด ถ้าเราคิดเยอะๆ ตอนทำจริงปัญหาก็จะน้อย ถ้าเราคิดน้อย เรารีบลงไปทำ เดี๋ยวเราก็ต้องแก้ปัญหาอีก หน้างานมันก็จะยากขึ้น 

 

บริษัทในแต่ละยุคแต่ละสมัยก็จะมีรูปแบบต่างกัน ตอนที่มันเล็กๆ มันก็เป็นแบบหนึ่ง ตอนมันขนาดกลางมันก็เป็นแบบหนึ่ง ก็เหมือนมนุษย์ มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย บางบริษัทโตจุดหนึ่งมันก็จะเริ่มเสื่อม ความท้าทายหรือความยากจริงๆ ก็คือจะทำอย่างไรให้ DNA ยังคงอยู่กับบริษัท และถ้าจะทำได้ผู้นำก็ต้องรู้จักปรับตัว ต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้อายุเราเปลี่ยนไปแล้ว จะไปแข่งกับเด็กก็คงจะแข่งไม่ได้ ต้องยอมรับก่อนว่าเวลาผ่านไปเราจะเริ่มมีแก็ป มีช่องว่างของมุมมอง เราเริ่มมองไม่เหมือนกัน วิธีคิดคนรุ่นใหม่เปลี่ยน และเขาคือตลาดในอนาคต เราคิดไม่เหมือนเขาแล้ว แต่เขากำลังจะเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของตลาด

 

มันคือความท้าทายที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้องค์กรเรา Agile ทำอย่างไรให้มีความคล่องตัว (Dynamic) คนที่จะทำตรงนี้ได้ก็คือผู้นำ 

 

‘ผู้นำต้องเปลี่ยน’ คุณสมโภชน์บอกว่า ตัวคุณสมโภชน์เองก็ต้องเปลี่ยน ถึงวันหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าต้องไปและต้องไปในเวลาที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นสัจธรรมที่ต้องเกิดขึ้น

 

#ความฝันสูงสุดของพลังงานบริสุทธิ์ 

 

คุณสมโภชน์อยากสร้างให้พลังงานบริสุทธิ์เป็นสถาบันที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม สร้างอะไรให้กับคนไทยได้เยอะๆ เพราะตัวคุณสมโภชน์เองก็มาจากครอบครัวที่ไม่ได้มีอะไรมากนัก มาถึงขั้นนี้ได้ก็ได้มาจากประเทศนี้ จึงอยากคืนสิ่งเหล่านี้กลับให้สังคม คืนคุณแผ่นดิน 

 

คุณสมโภชน์คิดว่าประสบการณ์ทั้งชีวิตที่ผ่านมาเป็น Know-How ที่สำคัญ และคงน่าเสียดายถ้าหากพรุ่งนี้ตายไปเหมือนกับคอมพิวเตอร์ที่ถูกปิดลง ความจำที่อยู่ในสมองก็หาย คุณสมโภชน์อยากส่งต่อองค์ความรู้นี้ไปให้กับคนที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ต่อ คุณสมโภชน์ได้โอกาสจากคนอื่นมา ก็อยากจะให้โอกาสนี้กับคนอื่น และอยากจะขอให้คนที่ได้โอกาสไปแล้ว ส่งต่อโอกาสให้คนต่อๆ ไป

 

วันนี้พลังงานบริสุทธิ์ได้เริ่มสร้างพาร์ตเนอร์โปรแกรม ถ้าเห็นคนไหนเป็นเพชรก็จะหยิบมาเจียระไน หากใครมีไอเดียดีๆ สามารถเดินเข้ามาได้เลย พลังงานบริสุทธิ์จะเป็นพาร์ตเนอร์และให้เงินสนับสนุน พูดง่ายๆ ว่ามาแต่ตัวกับความคิด ลงทุนออกไปกลายเป็นเถ้าแก่จริงๆ 

 

พลังงานบริสุทธิ์จะเป็นโรงงานผลิตธุรกิจรุ่นใหม่ๆ ถ้าใครอยากจะได้โอกาส อยากจะได้คนที่มาสนับสนุน ก็ให้นึกถึงที่นี่ แล้วที่นี่ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องล็อกคุณไว้ คนที่อยากจะเจริญทุกคนก็อยากจะมีอิสระ เขาอยากจะเป็นเจ้าของของตัวเอง โลกเปลี่ยนไปแล้ว เราต้องยอมรับ 

 

#การให้จะได้กลับมามากกว่าที่เราให้ไป 

 

นี่เป็นสิ่งที่คุณสมโภชน์อยากจะทำกับพลังงานบริสุทธิ์

 

ในแง่ส่วนตัว สุดท้ายแล้วคุณสมโภชน์ก็อยากเป็นแค่คนธรรมดา การเป็นคนชนชั้นกลางที่มี Minimum Needs คุณสมโภชน์คิดว่าเป็นคนที่มีความสุขมากที่สุดแล้ว มีชีวิตที่ดี อยู่ดีกินดี คุณสมโภชน์คิดว่าต้องสร้างกลุ่มนี้ให้เกิดขึ้นได้เยอะๆ แล้วก็ขอไปอยู่ตรงนี้ด้วยคน

 

#สรุปบทเรียนสำหรับนักธุรกิจ

#ที่อยากเปลี่ยนโลกด้วยการสร้างนวัตกรรม

 

จากเส้นทางสู่ Giga Project ของ คุณสมโภชน์ อาหุนัย 

 

  1. หาโอกาส
    มีวิสัยทัศน์ว่าอะไรคือคลื่นแห่งอนาคตที่เราต้องจับไว้ให้ได้ 

 

  1. ลงสนาม
    ลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ต้องเชื่อในความเชื่อของตัวเอง และหาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยทำสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นให้เกิดขึ้นจริง

 

  1. สร้างความแตกต่าง
    มองท่า (ไม้ตาย) สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อยืนระยะในสมรภูมิเหนือคู่แข่ง

 

  1. ส่งต่อ
    มองหาทีม ถ้ามีแค่คนเดียวเกมก็จบแค่นี้ สร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ตรงกัน เพื่อส่งต่อวิสัยทัศน์ที่สร้างขึ้นมา

 

เส้นทางเปลี่ยนโลกมันไม่ง่าย แต่บทเรียนที่คุณสมโภชน์ให้ไว้นี้น่าจะเป็นแนวทางให้ทุกคนนำไปประยุกต์ใช้ได้สำหรับการเป็นบุคคลที่จับกระแสคลื่นแห่งอนาคต เป็นนักธุรกิจที่เปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรม

 

 

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising