เชื่อว่าเด็กๆ หลายคนมักมีเพื่อนคู่ใจเป็นตุ๊กตาที่คอยถือพาไปไหนมาไหน บางคนมีผ้าห่มผืนเก่านิ่มๆ ที่ต้องห่มก่อนนอนทุกคืน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กทั่วไป แต่บางคน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ทิ้งตุ๊กตาเหล่านี้
R U OK พอดแคสต์ที่จะพาไปทำความเข้าใจอาการติดหมอนเน่าว่าถือเป็นความปกติไหม การพูดคุยกับตุ๊กตาราวกับสิ่งมีชีวิตถือว่าโอเคหรือเปล่า จนถึงคนที่อยากเลิกพฤติกรรมการติด ควรเริ่มต้นอย่างไร
ทำไมตอนเด็กๆ เราถึงติดหมอนเน่า
การติดหมอนเน่าหรือตุ๊กตาในวัยเด็กถือเป็นเรื่องธรรมชาติ เนื่องจากตอนอยู่ในท้อง ร่างกายของเด็กสัมผัสคุดคู้อยู่กับแม่ตลอดเวลา จึงเข้าใจว่าคือคนคนเดียวกัน จนอายุ 6 เดือน เด็กจะเริ่มแยกออกว่าตัวเองกับแม่คือคนละคน เริ่มเรียนรู้ว่าแม่ต้องเดินไปนั่นมานี่ แต่ลึกๆ ก็มีความไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา เด็กจึงยึดฉวยสิ่งของเล็กๆ ไว้กับมือ เพื่อเป็นความอุ่นใจว่าเป็นสิ่งเชื่อมโยงตัวเองและผู้เป็นแม่ การที่เด็กติดสิ่งของเหล่านี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเด็กมีความผูกพันต่อพ่อแม่ค่อนข้างสูง
เมื่อถึงวัย 2-3 ปี เด็กเริ่มห่างจากผ้าเน่าเหล่านี้ เพราะมีความมั่นคงทางใจมากขึ้น และจะเลิกไปเองเมื่ออายุ 5-6 ปี เพราะเริ่มมีความสนใจในสิ่งอื่น หรือถ้าหากยังมีอาการติดอยู่ก็จะกลายเป็นการติดของเล่นอย่างอื่นที่เปลี่ยนไปตามวัย แต่เด็กคนไหนที่ยังมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ก็ถือเป็นธรรมชาติ เพียงแต่ยังไม่สามารถสร้างความปลอดภัยทางใจให้กับตัวเองด้วยวิธีอื่นได้
ทำไมผู้ใหญ่บางคนถึงติดหมอนเน่า
เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ เราจะค่อยๆ เรียนรู้ว่าการที่ทำให้รู้สึกอุ่นใจมีหลายวิธี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวิธีง่ายๆ ที่ผ่านการทดลองถูกผิดมาด้วยตัวเอง เช่น บางคนมีคลังคำเพื่อปลอบโยนตัวเองด้วยน้ำเสียงเย็นๆ เวลารู้สึกเครียด บางคนขอหลีกหนีไปอยู่คนเดียวเพื่อทำสมาธิ บางคนอยากแช่น้ำอุ่น ดื่มอะไรอุ่นๆ เพื่อให้รู้สึกสงบ หรือบางคนยกหูโทร.หาเพื่อนสนิทหรือพ่อแม่ เพราะมั่นใจว่า เมื่อได้ยินเสียงนั้นจะรู้สึกมั่นคง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องถือ ‘น้องเน่า’ ติดตัวไปมาตลอดเวลา
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การติดหมอนเน่านั้นจะเป็นความผิดปกติ เพราะเป็นพฤติกรรมการแสวงหาความมั่นคงทางใจของมนุษย์ แค่เขาอาจไม่เคยสร้างทางเลือก และทดลองวิธีใหม่ๆ แง่ดีคือ เมื่อไม่สบายใจ เขาจะรู้ทันทีเลยว่าความมั่นคงทางใจของตัวเองอยู่ตรงไหน ในกรณีที่น้องเน่าหรือตุ๊กตาเก่าตัวนั้นยังอยู่ในห้องนอน ในรถหรือพื้นที่ส่วนตัว เพราะอีกแง่ การที่พกผ้าเน่าผืนนั้นติดตัวไปไหนมาไหนตลอดเวลา แม้แต่พื้นที่สาธารณะ อาจสร้างความไม่น่าเชื่อถือ มีผลกระทบต่อบุคลิกภาพ เพราะมีความสัมพันธ์กับหน้าที่การงานและมิติอื่นๆ ของชีวิต
คนที่ติดหมอนเน่าอาจต้องเรียนรู้และยอมรับว่า สิ่งของที่ตัวเองยึดถือนั้นมีโอกาสเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา หรือสูญหาย ซึ่งทำให้รู้สึกพลัดพรากอยู่ดี เพราะฉะนั้น การหาวิธีสำรองที่ไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุ อาจทำได้ง่ายกว่าเพียงแค่ต้องเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองและสร้างวิธีใหม่ๆ โดยวิธีแต่ละคนอาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แต่จำเป็นที่จะต้องหาให้เจอด้วยตัวเอง
ตั้งชื่อ พูดคุยกับตุ๊กตา ยังโอเคอยู่ไหม
นอกจากติดหมอนเน่าแล้ว พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนติดตัวมาตั้งแต่เด็กคือ การพูดคุยกับสิ่งของรอบตัว ซึ่งหลายคนอาจมองว่าผิดปกติ แต่ความจริงแล้ว การพูดคุยกับตุ๊กตาถือว่าเป็นเรื่องปกติ เราเรียกสิ่งนี้ว่า Self Talk หรือการพูดคุยกับตัวเอง เพราะทุกครั้งที่เราเปล่งเสียงออกมา ทำให้เราได้ยินเสียงของตัวเองดังกว่าการพูดในใจ ทำให้เรารู้ตัวว่าเรากำลังคิดและทำอะไรอยู่ แต่ต้องหมายเหตุไว้เล็กน้อยว่า พฤติกรรมนี้ยังปกติอยู่ ตราบเท่าที่เรารับรู้ว่าวัตถุนั้นคือตุ๊กตา แต่ถ้าเมื่อไรที่ตุ๊กตานั้นมีฐานะเทียบเท่ามนุษย์ คือต้องกินข้าว ห้ามใครด่าว่า หรือเริ่มได้ยินเสียงแว่วมาจากตุ๊กตา และเชื่อว่าสามารถสื่อสารได้เหมือนมนุษย์จริงๆ หากมีอาการเหล่านี้ควรเริ่มต้นพบผู้เชี่ยวชาญ เพราะเริ่มไม่ดีต่อจิตใจแล้ว
ส่วนการตั้งชื่อให้สิ่งของต่างๆ นั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกัน ทั้งการตั้งชื่อให้รถ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่สุนัขที่เดินผ่าน เพราะแสดงถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) และรู้จักเชื่อมโยงตนเองกับสิ่งรอบข้างด้วย
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น, ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com