×

วิธีสร้างความมั่นใจและลดอาการประหม่าเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก

05.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:00 ทำไมเราจึงมีวิธีการรับมือกับความกดดันแตกต่างกัน

02:43 ทำไมบางคนจึงลนเมื่อเจอความกดดัน

04:20 ประสบการณ์และการเลี้ยงดูมีผลต่อการรับความกดดัน

05:39 วิธีการรับมือกับความประหม่าเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนเยอะๆ

เคยสังเกตไหมว่าเมื่อเจอสถานการณ์กดดัน คนเรามีการรับมือที่แตกต่างกัน บางคนหัวเราะใส่ บางคนร้องไห้ บางคนโวยวาย แต่บางคนตัวสั่นงันงก ล่ก ลน จนไม่เป็นตัวของตัวเอง

 

R U OK เอพิโสดนี้จะชวนลงลึกไปถึงวิธีการเผชิญหน้ากับความกดดันของแต่ละคนว่าทำไมจึงแตกต่างกัน พร้อมทั้งเทคนิคฝึกฝนตัวเองอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อสร้างความมั่นใจเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก

 


 

ทำไมบางคนเมื่อกดดันถึงล่ก ลน

โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เรามีวิธีเผชิญหน้ากับสถานการณ์แตกต่างกัน โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ตึงเครียด กดดัน ลองนึกภาพว่าถ้ามีฟักต้มร้อนๆ ถูกโยนมาใส่เรา แต่ละคนจะมีปฏิกิริยาแตกต่างกัน บางคนโยนทิ้งทันที บางคนร้องไห้ทั้งๆ ที่ยังถือไว้ บางคนมือไม้สั่น แต่ไม่ยอมปล่อย ซึ่งประเภทหลังคือคนที่แสดงอาการล่ก ลน ที่เรามักจะพบเห็น ซึ่งอาการนั้นไม่ใช่การเลือกทำ แต่คือการแสดงออกอย่างไม่รู้ตัว เพราะคนเหล่านี้อาจมีทักษะในการจัดการอารมณ์ในภาวะกดดันน้อย หรือไม่ค่อยได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กดดัน ทักษะส่วนนี้เลยไม่ได้บริหาร คล้ายกับคนที่ไม่ได้ออกกำลังกาย แต่สามารถฝึกฝนจนสามารถทำให้อาการนี้ลดลงได้

 

วิธีลดความประหม่าเมื่อพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก

สถานการณ์ความลน ประหม่า อย่างหนึ่งที่หลายคนต้องพบเจอตั้งแต่เด็กจนถึงวัยทำงานคือการต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมาก บางคนพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด แต่สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้น วันนี้ R U OK จะมาแนะนำวิธีการคร่าวๆ ให้ลองไปปรับใช้กับตัวเอง แรกๆ อาจยังไม่เก่งและชำนาญ แต่ลองฝึกฝนให้บ่อยครั้ง อาการตื่นเต้นหรือควบคุมตัวเองไม่ได้จะค่อยๆ ลดลงอย่างแน่นอน

 

1. บอกให้ทุกคนสบายใจก่อนว่าอาการตื่นเต้นจนประหม่าเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนเยอะๆ นั้นเป็นกันทุกคนในโลก เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ คนที่เราเห็นว่าพูดจนคล่องชำนาญก็ล้วนผ่านการเหงื่อตกมือสั่นกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ใช่อาการผิดปกติแต่อย่างใด ประเด็นมันอยู่ที่ว่าแต่ละคนมีวิธีการรับมือต่ออาการของตัวเองแตกต่างกัน บางคนปล่อยให้ตัวเองตื่นเต้นอยู่อย่างนั้นโดยไม่เปลี่ยนแปลง แต่บางคนรีบจัดการด้วยการเผชิญหน้าและสร้างทักษะ ทำให้ความกลัวนั้นลดลง

 

2. เตรียมความพร้อมของข้อมูลในเรื่องที่พูด โดยเรียบเรียงให้เป็นภาษาที่ตัวเองเข้าใจ ฝึกฝนท่องจำจนถ่ายทอดออกมาได้ไม่ผิดพลาด ให้เวลากับตรงนี้มากๆ เพราะความพร้อมจะทำให้เกิดความมั่นใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่กดดัน ที่สำคัญอย่าลืมซ้อมกับตัวเองที่หน้ากระจก เพื่อจะได้มองเห็นระเบียบร่างกายของตัวเองด้วย

 

3. ถ้าใครมีเวลามากหน่อยให้ลองลงเรียนคอร์สสั้นๆ อย่างการเล่นโยคะ เรียนเต้น หรือทำสมาธิ แม้จะดูว่าเป็นการฝึกฝนทางอ้อม แต่เชื่อหรือไม่ว่าการเรียนคอร์สเหล่านี้จะช่วยเราในการลดความประหม่าได้เป็นอย่างดี เพราะความประหม่าเป็นเรื่องนามธรรมที่แสดงออกเป็นรูปธรรมผ่านความล่กและลนทางกาย การเรียนคอร์สเหล่านี้เลยไม่ได้ทำให้เราเต้นเก่งหรือยืดเหยียดร่างกายให้สวยงามเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราได้ฝึกทักษะการควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น เมื่อขึ้นพูดเราจะได้หยิบทักษะการควบคุมมาใช้

 

4. เตรียมคลังคำ คำพูดของตัวเอง หรือคนที่เป็นซัพพอร์ตของเราไว้ เมื่อประหม่าก็ให้นึกถึงคำเหล่านี้ในหัว พูดในใจกับตัวเองด้วยเสียงเย็นๆ จะทำให้รู้สึกมีกำลังใจและผ่อนคลายลงได้ หากไม่มีชุดคำเหล่านี้ คำพูดที่ลั่นในหัวจะมีแต่เรื่องด้านลบที่บั่นทอนความมั่นคง หรือหากไม่คิดเป็นคำพูดก็อาจคิดเป็นภาพ ที่แม้ไม่ได้เกิดขึ้นจริงแต่ก็ช่วยให้เรามั่นใจขึ้นได้ เช่น บอกตัวเองว่าคนที่เรารักกำลังนั่งให้กำลังใจอยู่ที่แถวหลังสุด เป็นต้น

 

5. ถ้ารู้สึกว่าอาการตื่นเต้นประหม่ากำลังก่อตัวขึ้นเล็กๆ ให้ลองสังเกตลมหายใจของตัวเองว่ามีความกระชั้นหรือไม่ หากเริ่มถี่ให้ลองยืดถ่ายลมหายใจของตัวเองออก หายใจให้ช้าลง การพยายามควบคุมลมหายใจของตัวเองเป็นการแก้ไขทางกายภาพที่ส่งผลไปถึงทางใจ ช่วยลดความเครียดเกร็งที่เกิดขึ้นได้

 

6. วิธีหนึ่งที่ได้ผลสำหรับบางคนคือการเอาแผ่นหลังไปพิงกับผนังแล้วกระแทกเบาๆ ให้กระดูกสะบักกระทบกับผนัง คล้ายกับมีคนกำลังตบหลังเราอยู่ เนื่องจากแผ่นกระดูกสะบักเป็นพื้นที่รองรับความกลัว การมีอะไรคอยพิงอยู่จะทำให้ความกลัวนั้นคลายลง

 

7. เมื่อต้องออกไปพูด ให้ก้าวเท้าลงส้นหนักๆ เพื่อให้น้ำหนักนั้นสะเทือนมาถึงร่างกายจนทำให้รู้สึกถึงตัวตนและการมีอยู่ของเรา ทำให้ความรู้สึกของเราหนักแน่นมั่นคงมากขึ้น

 

8. เมื่อถึงกลางเวทีให้หยุดสักครู่ ปล่อยน้ำหนักลงส้นเท้า มองไปให้ทั่วๆ แล้วค่อยเริ่มพูด

 

วิธีการเหล่านี้อาจใช้ไม่ได้ผลทันที เพราะทั้งหมดต้องเกิดขึ้นจากทักษะและการฝึกฝน เมื่อทำบ่อยเข้า ความมั่นใจจะค่อยๆ ก่อตัว ความชำนาญจะพอกพูน และสุดท้ายอาการประหม่าลนเมื่อต้องพูดต่อหน้าคนจำนวนมากจะลดลงในที่สุด

 


 

Credits

The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising