พอลลีน งามพริ้ง หรือในอดีตคือ พินิจ งามพริ้ง ผู้ก่อตั้งกลุ่มเชียร์ไทย ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญให้กระแสฟุตบอลไทยคึกคักขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หลังจากเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ด้วยการข้ามเพศ เรื่องฟุตบอลยังหลงเหลืออยู่ในชีวิตเธอแค่ไหน เธอยังอินกับฟุตบอลไทยอยู่หรือไม่ และฟุตบอลให้อะไรกับเธอมาจนถึงวันนี้
ฟุตบอลเข้ามาในชีวิตตั้งแต่เมื่อไร
ตั้งแต่ฟุตบอลโลก ปี 1978 จำได้ว่านักฟุตบอลคนแรกที่เห็นคือ เซปป์ ไมเออร์ ผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมนี ประทับใจในสีสันสวยงามของเสื้อฟุตบอลสีฟ้า เราเองเป็นคนชอบสีฟ้าด้วยโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่ตอนนั้นเลยชื่นชอบฟุตบอลและฝึกเล่นมาตั้งแต่อายุ 11 ปี
เป็นนักฟุตบอลจริงจังเลยไหม
เริ่มแรกเราเล่นให้ทีมโรงเรียน ตอนอยู่โรงเรียนหอวังก็ได้แชมป์กรมพลศึกษา ม.ปลาย ย้ายไปอยู่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีก็เป็นแชมป์โค้กคัพ แต่เราไม่ได้เล่นเลย แต่ตอนอยู่สุรศักดิ์มนตรีก็ได้ไปคัดตัวกับทีมธํารงไทยสโมสร เป็นทีมใหญ่ที่แข่งไทยซอคเกอร์ลีก คล้ายๆ กับไทยลีกในปัจจุบัน พอไปคัดตัวก็ติด ซึ่งเราเด็กที่สุดในทีม แต่หนึ่งฤดูกาลก็ได้เป็นแค่ตัวสำรอง พออายุ 17 ปีก็เลิกเล่นเลย อยู่ๆ อารมณ์หญิงก็โผล่ขึ้นมา อยากทำตัวสำอาง แต่ฟุตบอลก็ยังฝังอยู่ หลังจากนั้นก็ทำมันเป็นงานอดิเรก
การทำเชียร์ไทย
หลังจากเข้ามหาวิทยาลัยแล้วจบออกมาทำงานทำการแล้ว เราก็มีประสบการณ์พอสมควร ได้รับการยอมรับในที่ทำงาน เลยแอบเข้ามาเชียร์บอลเป็นเรื่องเป็นราว ตอนนั้นเจลีกกำลังเริ่ม เราไปญี่ปุ่นก็ได้สัมภาษณ์ประธานเจลีก ไปดูกองเชียร์ของทีมอุลตร้า นิปปอน และสโมสรต่างๆ ในเจลีก ไปคุยกับหัวหน้าของเขา เราก็ถามว่าทำไมเชียร์พร้อมกันจังเลย เขาก็อธิบายว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนขี้อายเหมือนคนไทย จะให้ตะโกนร้องเพลงโดยที่ไม่มีกลองแบบคนยุโรปคงไม่ได้ ต้องมีจังหวะนำ นำเสร็จก็ต้องมีกรุ๊ปลีดเดอร์ คือมีหลายๆ คนที่คอยเป็นต้นเสียง เราก็เลยคิดว่าน่าจะเอามาปรับให้เป็นของไทยเรา ใช้วิธีการเดียวกัน เพราะว่าพื้นฐานคนคล้ายๆ กัน ก็เริ่มก่อตั้งโดยที่ไม่ได้มีอะไรมากมาย เดินเข้าไปในสนามด้วยตัวเอง ทำเว็บไซต์ชื่อว่า cheerthai.com เพื่อเป็นศูนย์รวม เข้าไปที่สนาม เราก็ดึงคนเข้ามาที่เว็บไซต์แล้วก็ดึงเข้าสนาม วันเสาร์-อาทิตย์ก็เตะฟุตบอลเพื่อให้รู้จักหน้าตากัน เวลามีแข่งฟุตบอลจะได้ไม่เขิน ก็เริ่มทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จากตัวเรา จาก 2 คนเป็น 4 คน พอคนเห็นแล้วเขาชอบ เขาก็เข้ามาร่วม
ชีวิตหลังข้ามเพศในวงการฟุตบอล
ภาพที่เราเห็นกับตาก็ดี เวลาที่ไปอยู่ตรงไหนในวงการฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกองเชียร์ หรือว่าไปเจอผู้บริหารสมาคมเก่าๆ ก็รู้สึกว่ามีการยอมรับที่ดี เพียงแต่ว่าความเข้าใจอาจจะไม่ได้เข้าใจมาก เพราะว่าฟุตบอลเป็นวงการของผู้ชายที่โคตรจะแมน คือไม่แมน แต่ก็พยายามทำตัวให้แมนเพื่อที่จะเบ่งกล้ามกับคนอื่น นี่คือสิ่งที่พอลลีนสัมผัสในฐานะผู้หญิงข้ามเพศในคราบผู้ชาย แต่พอเราเข้าไปเขาก็ให้เกียรติ เพียงแต่เขาจะเข้าใจแค่ไหน ผู้หญิงข้ามเพศคืออะไร เป็นกะเทยหรือว่าเหมือนกับเกย์ไหม เราก็เข้าไปแบบนิ่มๆ ไม่ได้บู๊เหมือนเมื่อก่อน
หลังจากข้ามเพศแล้วความชื่นชอบฟุตบอลลดลงไหม
ไม่ลด แต่เรามองเห็นในบางแง่มุมมากขึ้น เช่น การที่ผู้หญิงเข้าไปดูบอล คือสนามฟุตบอลมันไม่ได้ติดแอร์เหมือนคอนเสิร์ต ถึงแม้จะแข่งตอนเย็นๆ ค่ำๆ แต่ว่าออกมาตัวเหนียวทุกคน เราเข้าไปก็รู้สึกว่าเมื่อก่อนเราทำได้ยังไง เดี๋ยวนี้มีเมกอัพ พอเหงื่อออกก็ไม่ค่อยสบายตัว เราได้สัมผัสฟุตบอลในแง่มุมที่แปลกออกไป เราเข้าใจในมุมมองของผู้หญิง บางทีผู้หญิงตามแฟนเข้าไปดู ความชอบของผู้หญิงจะไม่เหมือนผู้ชาย ผู้หญิงจะชอบแบบชื่นชม แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงทุกคนอยากเป็นแฟนนักฟุตบอล
ความชอบฟุตบอลของเรายังอยู่ แต่ถ้าต้องไปแบกกลองอะไรเยอะแยะ เราคงเลือกที่จะสวยๆ ดีกว่า แต่บางทีก็อดไม่ได้ เราเห็นอุปกรณ์วางอยู่ ไม่ได้ขนสักที ฟุตบอลเลิก 4-5 ทุ่มก็ต้องช่วยเขาอยู่ดี พอเราไปขน ทุกคนก็จะมาช่วยกัน ด้วยความเป็นผู้นำในแบบของคุณพินิจ จะลงมือทำเองให้เห็นก่อน แล้วทุกคนก็จะมาช่วยกัน มันอดไม่ได้จริงๆ ทั้งที่เราควรอยู่สวยๆ (หัวเราะ)
พอลลีนกับฟุตบอลไทย
เมื่อก่อนชอบดูมาก แต่พอมาทำเชียร์ไทยมันกลายเป็นภารกิจ เราอยากให้มีกองเชียร์ เวลาถ่ายทอดสดออกมาจะได้มีเสียงคนดู คนจะอยากเข้ามาดู สปอนเซอร์ก็จะได้เข้ามาสนับสนุนฟุตบอล ฟุตบอลไทยจะได้มีเงินและมีการพัฒนาเป็นฟุตบอลอาชีพ และจะไปฟุตบอลโลกหรืออะไรก็แล้วแต่ สำคัญตรงจุดที่ว่าจะต้องมีคนดูก่อน พอเชียร์ไทยเริ่มก่อตั้งมาได้ 3-4 ปีก็ผยองมาก ไปไล่นายกสมาคมคนเก่าออก และหลังจากนั้นเป็นภารกิจที่ต้องทำ
เวลาเข้าสนาม จะบอกว่าเราไม่ใช่จิ๊กโก๋ปากซอยรวมพลมาเชียร์บอล การพูดในสนามฟุตบอลจะต้องมียุทธวิธีที่ไม่ให้มันมากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ไม่กระตุ้นจนคนรู้สึกหวาดกลัว หรือไม่สบายๆ จนกระทั่งไม่มีเสียงเชียร์ เราต้องทำให้มันอยู่ตรงกลาง
อยากเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการฟุตบอลบ้างไหม
ตั้งแต่วันแรกของเชียร์ไทยจนมาถึงวันที่ออกไป เป็นประธานอยู่ 14 ปี มันก็เปลี่ยนมาแล้วในกระบวนการที่พินิจ งามพริ้ง เขาทำไว้ เมื่อมองไปมันก็เกินเป้าที่ตัวเองตั้งไว้แล้ว ในชีวิตคนมันคงทำอะไรได้ไม่เยอะหรอก สำคัญคือเราปูพื้นฐานให้คนรุ่นต่อไปมาทำได้มากแค่ไหน สิ่งใดจะสำเร็จ มันจะต้องมีหลายเจเนอเรชัน แล้วอะไรคือความสำเร็จ สมมติไปฟุตบอลโลก คนอาจจะดีใจแล้วก็หอบประตูกลับบ้าน มันเป็นเรื่องของความเป็นชาติของเรา ความพยายามของคนในชาติร่วมกัน ฟุตบอลมันยากตรงที่ว่ามันใช้ความพยายามเยอะ มันไม่ใช่แค่คนคนเดียว นอกจาก 11 คนแล้วยังมีตัวสำรองอีกเป็น 20-30 คน แล้วก็มีโค้ช สตาฟฟ์โค้ช มีแพทย์ประจำทีม มีนักจิตวิทยา มีคนบริหาร มีคนจ่ายเงิน มีคนดู มีคนเอาไปทำการตลาด มันใช้ความพยายามเยอะ ถ้าทำสำเร็จได้ มันคือความสำเร็จของคนทั้งชาติ มันคือการพัฒนาในวงการที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น สังคมก็จะดีขึ้น จะไปฟุตบอลโลกมันต้องมีความพร้อมทุกอย่าง ไม่มีคำว่าฟลุก ยกตัวอย่าง ซาอุดีอาระเบียเข้าฟุตบอลโลกไปหลายครั้งก็ยังหอบประตูกลับบ้านทุกครั้ง เพราะฉะนั้นทำใจไว้สำหรับทีมที่ไปแรกๆ ได้เสมอนัดหนึ่งก็ยิ่งใหญ่แล้ว หรือชนะขึ้นมาก็ต้องฉลองแล้ว แต่ประเด็นก็คือถ้าเราแพ้วันนี้แล้วเราพยายามต่อไปมากน้อยแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เราคิดว่าเป็นหัวใจมากกว่าสำหรับการพยายามทำในเรื่องฟุตบอล
บอลไทยจะมีโอกาสไปบอลโลกไหม
มี แต่อย่าถามว่าเมื่อไร มันเป็นเรื่องที่คนเอามาเล่นเป็นโจ๊กกันเยอะ เป็นเรื่องที่ขำและก็ไม่ขำ เราได้ยินมาเยอะตั้งแต่เด็กๆ แล้ว บอลไทยไม่ต้องไปดูมันหรอก ยังไงก็แพ้ กระจอก มันมีแต่เส้นสาย แล้วมันจริงไหม จริง แล้วมันถาวรไหม มันไม่ถาวร ถ้าคุณจะเปลี่ยนคุณก็เปลี่ยนได้ หรือคุณทำอะไรบ้างนิดหน่อยหรือเปล่า เข้าสนามไปเชียร์ไหม หรือเปิดทีวีให้กำลังใจเขาบ้างหรือยัง ซื้อเสื้อทีมชาติมาใส่บ้างหรือยัง จะทำอะไรก็แล้วแต่ เราจะชอบวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ตัวเองก็อยู่เฉยๆ เป็นผู้ดู เราว่าคนพวกนี้ไม่มีสิทธิ์วิจารณ์ คนที่มีสิทธิ์วิจารณ์คือคนที่เขาทำแล้วก็บอกว่ามันน่าจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ อันนี้คือสร้างสรรค์
ฟุตบอลสอนอะไร
ต้องย้อนกลับไปเรื่องข้ามเพศ ตอนเป็นพินิจมันยากมาก เพราะเราเกิดมามีจิตใจเป็นผู้หญิง แต่เราต้องพยายามที่จะเป็นผู้ชาย และฟุตบอลก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีความมั่นใจในฐานะผู้ชาย เราเตะฟุตบอลได้ เราทำเรื่องนี้ได้ สิ่งที่พอลลีนได้จากฟุตบอลมันถูกใช้ไปกับพินิจแล้ว พินิจได้พิสูจน์ตัวเองในวงการฟุตบอลแล้ว
ฟุตบอลสอนเราในเรื่องความพยายาม การเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ผู้ที่ชื่นชมความสำเร็จ
กว่าที่ทีมทีมหนึ่งจะได้ชัยชนะ เส้นทางมันมากกว่านั้น มันเคยแพ้มาก่อนทุกทีมแล้วถึงจะชนะ ทุกคนต้องเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จนั้นในทีม ถ้าคนใดคนหนึ่งท้อ มันก็ต้องมีอีกคนไปหยิบเขาขึ้นมา ถ้าเรามองตรงนี้มันก็เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเราด้วย ทำอย่างไรเราจะไปถึงจุดสุดยอดของวิชาชีพที่เราทำ ทำอย่างไรเราถึงจะเข้ารอบบอลโลกในตัวของเราเองได้
Credits
Intro Voice-over จริยา มุ่งวัฒนา
Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข
Episode Producers อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค, เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Photographer กษิดิ์เดช ทัยธิษา
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com