×

สำรวจและแก้ไข เป็นคนใหม่ที่มีไฟในการทำงานมากขึ้น

23.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ภาวะหมดไฟ ต้องสำรวจความเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย การกิน อารมณ์ ไปจนถึงพฤติกรรมที่ทำให้ไม่มีความสุขในการทำงาน
  • การแก้ไขให้ห่างไกลภาวะหมดไฟ คือต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ปรับขอบเขตในการทำงาน ปรับบุคลิกที่อาจตึงเกินไป และให้หลีกเลี่ยงพลังงานลบ

ในวัยทำงาน บางคนรู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย ขาดแรงจูงใจ จนเข้าสู่ภาวะ หมดไฟ และปีใหม่นี้อยากกลับมามีชีวิตการทำงานที่ดีขึ้นและกลับมามีไฟอีกครั้ง

 

จูนจูน พัชชา ชวน คุณโอ๋-ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ นักจิตบำบัดด้วยละครและการเคลื่อนไหว มาให้คุณสำรวจภาวะ Burnout Syndrome หรือการหมดไฟในการทำงาน รวมถึงแนะนำการดูแลตัวเองเพื่อให้หายจากภาวะนี้

 


 

สำรวจตัวเองว่าเข้าข่ายภาวะหมดไฟหรือไม่

1. ร่างกาย

มีการนอนที่ผิดเพี้ยน นอนไม่หลับ ผวา กังวล ฝันร้าย คิดซ้ำๆ ในเวลากลางคืน เอาความกังวลของงานไปฝัน หรือมีอาการเบื่ออาหาร หรือกลับกันบางคนกินเยอะผิดปกติ มีการบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น สูบบุหรี่จัดขึ้น เพิ่มการดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง ให้สังเกตความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

 

2. อารมณ์

ให้ลองสังเกตว่าตัวเองมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วไปมาหรือไม่ ท้อแท้ สิ้นหวัง เหนื่อยหน่ายกับการใช้ชีวิตหรือการทำงาน หรือรู้สึกว่าตัวเองอยู่กับความโกรธหงุดหงิดตลอดเวลา ใครพูดอะไรอารมณ์ปรี๊ดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เกิดความไม่มั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น

 

3. พฤติกรรม

เริ่มต่อต้านการไปทำงานหรือเปล่า นำมาสู่การไปทำงานสาย ลางานมากขึ้นหรือเปล่า หรือเป็นพฤติกรรมที่เลิกงานปุ๊บแล้วเคลียร์ทุกอย่างกลับบ้านเลย หรือเริ่มไม่อยากพูดคุย พบปะกับคนในที่ทำงาน เริ่มหลีกเลี่ยงหัวหน้างาน เริ่มทะเลาะเบาะแว้ง เกิดความขัดใจคับข้องใจกับเพื่อนร่วมงานมากขึ้นหรือเปล่า

 

ต้องเยียวยาตัวเองอย่างไร

1. นอนให้พอ

ภาวะหมดไฟเกิดจากความเหนื่อยล้าที่มากเกินไป เพราะฉะนั้นการพักผ่อนสร้างสมดุลให้กับตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการนอนเป็นสิ่งสำคัญมาก เหมือนไฮไลต์ของการใช้ชีวิต เมื่อพฤติกรรมการนอนผิดเพี้ยนจะส่งผลไปถึงการทำงานในระบบสมอง การสั่งการอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ที่เพี้ยนไป การนอนในช่วงวัยทำงานต้องการนอนเฉลี่ย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ถึงจะเพียงพอ

 

2. ขอลาหยุด

ถ้าเป็นไปได้เราอาจจะขอเวลาเบรกจากที่ทำงานเพื่อฟื้นฟูจิตใจ แต่อย่างที่ทราบสำหรับบางท่านเป็นไปได้ยากมาก เพราะว่าการจะขอเวลาหยุด 1-2 วัน หรือทั้งสัปดาห์มันยากลำบาก แต่เราสามารถสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน หากที่ทำงานเข้าใจได้ว่าเรามีภาวะนี้เกิดขึ้น มันมีสัญญาณอะไรบางอย่าง อยากให้ช่วยซัพพอร์ตซึ่งกันและกัน ถึงเราจะดื้อทำงานไปในภาวะแบบนี้ทุกอย่างจะแย่ลง บางคนมีความรู้สึกผิดที่เราจะลาพักหรือปฏิเสธคนอื่น แรกๆ เราอาจจะยื้อหรือต้าน แต่มันจะแย่ลง จนมันตึงแล้วไม่สามารถไปต่อได้ สู้เราดูแลตัวเองไปเป็นลำดับขั้นตอนดีกว่า

 

3. ปรับวิธีการทำงาน

มันมีแพตเทิร์นการทำงานบางอย่างที่ทำให้เราหมดไฟ เช่น เราจมอยู่กับอะไรบางอย่าง หรือใช้เวลานานกับการทำอะไรบางอย่าง เราสามารถเพิ่มเติมเทคนิคให้กับตนเองอย่างการจัดสรรเวลาการทำงาน หรือเราสามารถสร้างสมดุลการใช้เวลาในที่ทำงานกับพื้นที่ส่วนตัวได้ พอเราเลิกงาน อยากให้เวลานี้มันเป็นเวลาพักผ่อนจริงๆ ไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน ต้องปรับทัศนคติการทำงานของเราด้วยว่า มันมีขอบเขตแค่ไหนอย่างไร เรียนรู้ที่จะสร้างขอบเขตในการทำงาน หรือในทีมเราสามารถสร้างวัฒนธรรมการทำงานร่วมกัน ที่ให้ทุกคนทำงานแล้วดูแลซึ่งกันและกันไม่ให้หมดไฟ

 

4. ปรับบุคลิกส่วนตัว

บางคนตึงมาก ต้องสมบูรณ์แบบทุกอย่าง มาตรฐานสูงมาก ฉะนั้นเวลาเราแก้ภาวะ หมดไฟ ต้องย้อนกลับมาที่บุคลิกลักษณะของตัวเรา ที่จะเข้าข่ายสร้างความเครียดในที่ทำงาน ถ้าเรามีมาตรฐานที่สูงมากเกินความจำเป็น เราสามารถปรับลดได้ไหม หรือลดความคาดหวังที่เรามีต่อคนอื่นได้ไหม หรือเราสามารถเรียนรู้ ยอมรับ ปรับทัศนคติด้านบวกที่เรามีต่อองค์กรที่เราทำงานอยู่ได้มากขึ้นบ้างหรือเปล่า

 

5. หลีกเลี่ยงพลังงานลบ

บางคนจมอยู่กับคนทำงานคิดลบ ว่าทุกอย่าง บ่นทุกอย่าง แล้วเราจะรู้สึกหดหู่ไปด้วย ถ้าจะแก้ภาวะ หมดไฟ เราก็จะต้องปรับสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เราปรับเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่ให้เราตระหนักรู้ว่าเราจะวางตัวเองอยู่จุดไหนของการทำงาน ถ้าคนที่เขาชอบคิดลบและเราไปคุยกับเขาทุกวัน ตลอดเวลา โดยอัตโนมัติเราจะรู้สึกเหมือนถูกสะกดจิตให้ลบไปด้วย หรือบางครั้งองค์กรมีปัญหาเยอะแยะมากมาย ให้ลองดูว่าถ้าเราต้องอยู่ในองค์กรนี้เราจะอยู่ตรงไหนอย่างไร ที่เราจะไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงตรงนี้

 

ภาวะหมดไฟไม่สามารถแก้ด้านใดด้านหนึ่งได้ เพราะมันประกอบด้วยหลายส่วน และความรุนแรงของภาวะหมดไฟมันกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรมทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราต้องดูแลรักษาตัวเองแบบองค์รวม

 


 

Credits
The Host พัชชา พูนพิริยะ
The Guest ชนาภัณฑ์ ธรรมรัฐ

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producers อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

FYI
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X