×

ลาออกอย่างไรให้สวยงามและมีความเป็นมืออาชีพ

25.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

02:51  สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คนลาออก

13:50  คนเราจะลาออกทุก 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี

20:48  ก่อนลาออก ลองถามตัวเองด้วยคำถามเหล่านี้

32:57  ขั้นตอนการลาออกอย่างมืออาชีพ

46:11  ทริกเล็กๆ น้อยๆ ในการจัดการตัวเอง

ดราม่าสูงสุดของการทำงานสำหรับชาวออฟฟิศอย่างเราๆ คือการลาออก เพราะดูเป็นเรื่องใหญ่และยาก ทั้งยังตัดสินใจไม่ถูก ไม่รู้จะเดินไปบอกเจ้านายอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะดีไหมก็ยังไม่รู้

 

I HATE MY JOB เอพิโสดสุดท้ายของซีซันแรก ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ และ บองเต่า จะชวนกันมาทบทวนตัวเองกันดีๆ อีกครั้งก่อนที่จะเดินไปบอกเจ้านายหรือยื่นหนังสือให้ฝ่ายบุคคล และสุดท้ายการลาออกคือคำตอบจะทำอย่างไรให้ดูเป็นมืออาชีพ รวมถึงทริกเล็กๆ น้อยๆ ที่มนุษย์ออฟฟิศที่กำลังจะลาออกควรรู้

 


 

เจออย่างนี้ใครก็ลาออก

เราชาวออฟฟิศรู้กันดีว่าสาเหตุของการเกิดความรู้สึกอยากลาออกนั้นมีได้หลายร้อยอย่าง และส่วนใหญ่สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นต้นเหตุนั้นมันไม่ได้อยู่อย่างเดี่ยวๆ แต่เกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออก เจออันนั้นนิดอันนี้หน่อย สะสมจนรู้สึกมากขึ้นเรื่อยๆ แถมบางครั้งเมื่อกวาดตาดูเพื่อนที่โตมาพร้อมๆ กัน ต่างคนต่างดูมีชีวิตดี เลยตัดสินใจอยากลองออกไปผจญภัยดูบ้าง แต่ก่อนที่จะกำเอาความมุ่งมั่นเดินไปบอกเจ้านายลองย้อนกลับไปดูที่สาเหตุที่ทำให้เราลาออกจริงๆ ว่าจริงๆ แล้วมันมากมายเกินจะแก้ไขจริงหรือเปล่า

 

1. มีปัญหากับคน

ถือเป็นเรื่องยอดฮิตติดอันดับที่ทำให้อยากลาออกวันหลายร้อยครั้ง ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นเพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง หรือว่าเจ้านาย ที่สร้างความรู้สึกด้านลบให้กับการทำงาน บางคนเจอเจ้านายที่ไม่ฟังความคิดเห็นลูกน้องจนรู้สึกว่าไม่เป็นตัวของตัวเอง บางคนเจอเพื่อนร่วมงานขี้นินทา ขี้เกียจ ขี้โบ้ย จนสุขภาพจิตเสียกันเป็นประจำวัน เพราะเมื่อเราทำงานสักระยะหนึ่งจะรู้ดีว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนธรรมชาติของใครได้ เลยลองพยายามปรับที่ทัศนคติของเรา แต่บางครั้งมันก็บั่นทอนและยากเกินกว่าจะผ่านไปแต่ละวัน

 

2. มีปัญหากับตัวเนื้องาน

ปัญหานี้อาจเกิดได้ทั้งการทำงานที่นานเกินไปไม่ได้ปรับเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นจนตัวเราเองรู้สึกขาดแพสชัน ทำไปให้หมดๆ วันด้วยความอยู่มือ หรือเป็นเพราะเราได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ๆ ที่เราไม่ถนัด ใช้เวลาเรียนรู้นานเกินไปจนเกิดความรู้สึกว่าเราอาจไม่เหมาะกับงานใหม่นี้

 

นอกจากตัวเนื้องานจริงๆ แล้ว ธรรมชาติของงานบางอย่างที่บางครั้งเราก็ยังแฮปปี้กับมันอยู่นั่นแหละ แต่มันกลับไม่ตอบโจทย์ชีวิตเราในช่วงเวลานี้ เช่น กำลังจะมีลูกและต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับครอบครัว แต่งานที่เรากำลังเอ็นจอยอยู่เป็นงานที่เรียกร้องให้เราสละเวลาชีวิตส่วนใหญ่ให้ หรือต้องทำงานไม่เป็นเวลา จากงานที่เคยไม่มีปัญหาอาจกลายเป็นปัญหาจนเราอยากลาออก เพราะว่าข้อแม้ในชีวิตตอนนี้ของเราไม่เหมือนเดิมก็ได้

 

3. มีปัญหาเรื่องเงิน

นอกจากความก้าวหน้าในหน้าที่การงานแล้ว มนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ ก็ยังมองเรื่องเงินเป็นปัจจัยสำคัญด้วย ทำงานไปสักพักตำแหน่งก็สูง ความรับผิดชอบก็มากขึ้น นั่นหมายความว่างานก็มากขึ้นตามไปด้วย แต่บางครั้งเงินก็ไม่ได้โตตามงาน โบนัสไม่มีแถมขึ้นเงินเดือนในอัตราอันน้อยนิด จะมองช่องทางในการหารายได้เสริมก็อาจไม่ช่วยเท่าไร บางคนเลยเลือกการเปลี่ยนที่ทำงานเพื่อเป็นการอัปเงินเดือน หรือบางคนก็พยายามมองหางานกับเงินที่สัมพันธ์กันเพื่อที่จะตอบโจทย์ชีวิตที่จะต้องรับผิดชอบมากขึ้น บางคนใช้วิธีการเปลี่ยนที่ทำงานไปเรื่อยๆ (Job Hopper) เลยก็มี

 

4. มีปัญหากับโครงสร้างบริษัท

ตัวบริษัทเองก็มีผลกับการลาออกเหมือนกัน อย่างบางบริษัทไม่ได้มีแผนผังหรือการวาง Career Path ให้กับพนักงานชัดเจน บางคนทำงานไปก็เริ่มมองไม่เห็นอนาคตตัวเองว่าจะเติบโตไปเป็นตำแหน่งอะไร หรือบางคนอยากวางแผนให้ชีวิตมีความมั่นคงบริษัทก็ตอบไม่ได้ กลายเป็นว่าโครงสร้างบริษัทไม่ตอบโจทย์ชีวิตจึงต้องลาออกเพื่อเปลี่ยนที่ทำงาน หรือบางคนทำงานมานานจนตัน ในโครงสร้างไม่มีตำแหน่งอะไรรองรับให้ก้าวหน้า จึงเหมือนถูกแช่ฟรีซอยู่อย่างนั้น มองไปข้างๆ ก็ไม่มีงานใหม่ให้เรียนรู้ เลยเก็บเหตุผลนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง

 

หรือบางบริษัทที่มีความเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจ เกิดการลดโครงสร้าง คล้ายๆ การถูกบีบให้ออก เพราะรู้สึกว่าตำแหน่งหน้าที่เรามีความหมายน้อยลงเรื่อยๆ และเริ่มเห็นอนาคตแล้วว่าถ้าอยู่อย่างนี้ต่อไปอาจส่งผลกระทบกับการทำงานในระยะยาว บางคนเลยขยับขยายย้ายออฟฟิศ

 

5. ไม่มีปัญหาแต่เริ่มเห็นโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต

บางคนยังแฮปปี้กับงานเดิมอยู่ แต่ด้วยความสามารถเลยมีคนเสนอตำแหน่งในที่ทำงานใหม่ที่น่าสนใจ อาจเป็นเนื้องานเดิมหรือให้เราได้เรียนรู้งานใหม่ๆ ซึ่งรู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทาย น่าลอง และโอกาสแบบนี้ไม่ได้มีเข้ามาบ่อยๆ การลาออกเพราะเหตุผลนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดหนักและต้องชั่งน้ำหนักถึงความเสี่ยงให้ดี

 

อย่าเพิ่งใจร้อน ถามตัวเองให้ดีก่อนเดินไปบอกเจ้านาย

ไม่ว่าสาเหตุของการลาออกจะเป็นเรื่องอะไร อย่าเพิ่งบุ่มบ่ามเดินเข้าไปขอคุยกับเจ้านาย เพราะการลาออกคือความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งกิจวัตรประจำวัน งาน และสังคม ลองให้เวลาตัวเองและถามตัวเองดีๆ ทีละข้อว่าได้คิดตามนี้อย่างถี่ถ้วนแล้วหรือยัง

 

1. ถามตัวเองว่ากำลังใช้อารมณ์อยู่หรือเปล่า

เพราะบางครั้งเวลาเจอปัญหาที่ทำงานแล้วสะสมมาเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ทนไม่ไหว อยากกรีดร้องระบายอารมณ์หรือลาออกกันไปให้รู้แล้วรู้รอด แต่ไม่ว่าสาเหตุนั้นจะเกิดจากคนหรือระบบการทำงานจนทำให้เราไม่อยากอยู่ที่นี่อีกต่อไป ลองให้เวลาความโกรธตัวเองดูก่อนว่าถ้าเริ่มจางลงแล้วเราจะยังรู้สึกเหมือนเดิมอยู่หรือเปล่า เพราะการมองปัญหาหรือการตัดสินใจอะไรด้วยอารมณ์จะทำให้เรามองภาพต่างๆ แคบมาก จนเมื่ออารมณ์เราจางลงนั่นแหละ ภาพต่างๆ ถึงจะชัด มองเห็นปัญหาอย่างรอบด้านขึ้น ถึงเวลานั้นจะตัดสินใจลาออกก็ไม่สาย

 

2. ถามตัวเองว่าได้ลงมือแก้ปัญหาเหล่านั้นแล้วหรือยัง

ย้อนกลับไปที่สาเหตุ 5 ข้อข้างต้นที่ทำให้คนลาออกด้านบน ค่อยๆ ลิสต์มาทีละข้อแบบใจเย็นว่าตอนนี้เรากำลังมีปัญหาในที่ทำงานอะไรบ้าง อาจจะยาวพรืดจนน่าตกใจแต่ก็ไม่เป็นไร ลองดูว่าในลิสต์นั้นมีปัญหาอะไรที่เราสามารถแก้ไขได้บ้าง เช่น ถ้ารู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังทำงานมากกว่าเงินเดือนก็อย่าเพิ่งเดินเข้าไปคุยกับเจ้านายเพื่อต่อรองเรื่องเงินเดือนหรือขอลาออก แต่ให้เอาแก่นของปัญหาคือเรื่องงานที่กำลังล้นมือจนไม่มีเวลาเป็นส่วนตัวนั้นเข้าไปคุยกับเจ้านายโดยตรง ร่วมหาทางออกกันโดยที่ยังไม่ต้องเตรียมคำตอบไว้ล่วงหน้า ทางออกสำหรับปัญหานี้อาจเป็นการเพิ่มกำลังคนเพื่อแบ่งเบาภาระงานของเราก็ได้

 

หรือในอีกกรณีหนึ่งหากรู้สึกว่าปัญหานั้นเป็นเรื่องคน ทั้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่มีนิสัยส่วนตัวบางอย่างที่เรารับไม่ได้ ลองแยกธรรมชาติของเขาเหล่านั้นออกให้เหลือแต่เรื่องที่ส่งผลกระทบในด้านการทำงาน แล้วหอบเอาเฉพาะมุมนี้ไปคุยกับคนที่เกี่ยวข้องอย่างตรงไปตรงมา เช่น ถ้ารู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานคนนี้พูดจากระทบกระเทียบอยู่ตลอดเวลาจนบั่นทอนสุขภาพจิต ไม่ว่านิสัยโดยรวมเขาจะเป็นอย่างไร เราก็เอาเฉพาะเรื่องการสื่อสารซึ่งเป็นอุปสรรคกับการทำงานไปคุยกับเขา อย่างน้อยก็เป็นการสะท้อนให้เขารู้ว่าวิธีการสื่อสารแบบนี้ส่งผลกระทบกับคนอื่นๆ ถ้าเขารู้สึกและลองเปลี่ยนวิธีก็ถือเป็นผลดีกับภาพรวม แต่ถ้าเกิดเรื่องกระทบกระทั่งกันก็ถือว่าเราทำดีที่สุดแล้ว

 

ส่วนถ้าปัญหานั้นเป็นเรื่องของ Work-Life Balance ลองถามตัวเองว่าโจทย์ใหญ่ในชีวิตของเราตอนนั้นคืออะไร ถ้าเป็นเรื่องชีวิต งานที่เราทำอยู่ในขณะนี้ตอบโจทย์ในชีวิตของเราไหม พอปรับงานให้สอดรับกับชีวิตเราได้หรือเปล่า ถ้าทำไม่ได้จริงๆ การลาออกก็อาจเป็นทางออกที่ไม่ได้ผิดอะไร

 

ลองสู้แก้ไขปัญหาที่ยาวเป็นหางว่าวเหล่านั้นก่อน อาจต้องใช้พลังใจพลังกายในการสู้รบปรบมือในขั้นตอนนี้นานสักหน่อยแต่อย่างน้อยเราก็ได้สู้เพื่อตัวเอง ได้รู้ว่าเราได้แก้ไขปัญหาอย่างถึงที่สุดแทนการชิ่งหนีแล้วไปตายเอาดาบหน้า ไม่แน่เหมือนกันว่าถ้าเราแก้ปัญหานั้นจนเรามีชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น การลาออกอาจไม่ใช่คำตอบของเราในเวลานี้ก็ได้

 

3. ถามตัวเองว่าได้คิดถึงงานใหม่ไว้ว่าอย่างไรบ้าง

อะไรที่เรายังไม่เคยได้มาครอบครองมักมองสวยงามไปหมด งานใหม่ก็เช่นกัน เพราะในขณะที่เรากำลังรู้สึกว่าที่ทำงานเก่าเต็มไปด้วยข้อเสีย งานใหม่ที่เรากำลังฝันถึงจึงมีแต่เรื่องสวยงามและน่าท้าทาย คิดว่าเราจะได้เงินเยอะขึ้น ได้สร้างทักษะการทำงานใหม่ๆ ให้เรามากขึ้น แต่ไม่ว่าจะงานไหนก็มีข้อเสียกันทั้งนั้น ลองศึกษาข้อดีข้อเสียของขอบเขตการทำงานในตำแหน่งใหม่ (Job Descriptions) ธรรมชาติองค์กร วิธีการทำงานจากคนที่เคยทำงานที่นั่นมาก่อนแล้วค่อยมาชั่งใจดีๆ คิดถึงประสิทธิภาพในการปรับตัวของเรา รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่เรากำลังถืออยู่ทั้งเรื่องเงินและความรับผิดชอบว่าคุ้มค่าไหมที่เราจะย้ายงานท่ามกลางความรับผิดชอบที่เรามี อย่าลืมว่าถ้ากระโจนไปทำอะไรโดยที่ไม่ได้เตรียมใจและศึกษาข้อดีข้อเสียของมันอย่างถี่ถ้วน เราจะเจ็บหนักเสมอ ส่วนคนที่กำลังจะลาออกไปทำธุรกิจส่วนตัวที่เป็นความฝันของตัวเอง ลองถามตัวเองว่าได้วางแผนเกี่ยวกับอาชีพใหม่ไว้ว่าอย่างไร ทั้งการเงิน ความรักในงานที่ทำ รวมถึงได้ลองวางแผนในระยะยาวไว้แล้วหรือยังถ้าความฝันไม่ประสบความสำเร็จ

 

4. ถามตัวเองว่าได้วางแผนภาพรวมของชีวิตไว้ว่าอย่างไรบ้าง ทั้งการเงินและหน้าที่ความรับผิดชอบ

อย่าลืมว่าการลาออกคือความเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างหนึ่ง เราอาจไปเจอความไม่แน่นอนที่เราไม่สามารถบอกได้ในอนาคต ถ้าลาออกทั้งๆ ที่ไม่มีงานใหม่รองรับลองถามตัวเองดูก่อนว่ามีเงินที่จะใช้บริหารชีวิตต่อไปได้อีกนานเท่าไร และภายในระยะเวลานั้นเราสามารถหางานใหม่ได้หรือเปล่า แน่นอนว่าชีวิตเต็มไปด้วยความเสี่ยงไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน แต่ถ้าสามารถลดความเสี่ยงได้ก็สามารถทำให้เราวางแผนชีวิตได้ในระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็การันตีว่าต่อให้จะไปเจอสภาพสังคมการทำงานที่ต้องปรับตัวอย่างหนัก แต่ในด้านของการเงินแล้วเราจะไม่เสี่ยงมากไปกว่าเดิม

 

แต่ถ้าคนที่อยากเสี่ยงด้วยการไปทำงานใหม่ที่เงินเดือนน้อยลง แต่เป็นงานที่อยากทำ ไม่เคยทำมาก่อน และตอบโจทย์ชีวิตเรื่องการมีเวลาเป็นส่วนตัว ก็ต้องกลับมาดูภาระหนี้ที่เรารับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเลี้ยงดูชีวิตอื่น รวมถึงหนี้บริโภค ว่าภายใต้ข้อจำกัดด้านการเงินข้อใหม่นี้เราสามารถบริหารจัดการดูแลได้หรือเปล่า ลองลิสต์มาดูคร่าวๆ ก่อนก็ได้ว่าในขณะนี้หนี้อะไรบ้างที่เราต้องรับผิดชอบ หากลาออกจากที่เก่าจะส่งผลกระทบอย่างไร ถ้าเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นอาจดูเสี่ยงน้อยลง แต่อย่าลืมปัจจัยเรื่องสวัสดิการที่แต่ละที่ทำงานมอบให้ ที่ทำงานใหม่สวัสดิการอาจไม่ครอบคลุมถึงพ่อแม่ลูกอย่างที่เคยได้ก็ได้ อย่าลืมส่วนนี้

 

5. ถามตัวเองว่า “อยากลาออกจริงๆ หรือ”

 

ลาออกอย่างมืออาชีพ

หากสุดท้ายแม้ว่าจะพยายามแก้ปัญหาขนาดไหนก็ยังรู้สึกว่ายังไม่เห็นการคลี่คลายไปในทางที่ดี หรือว่าเหนื่อยจนรู้สึกว่าการลาออกอาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ฉะนั้นเราก็จงมาลาออกให้สวยงามกันเถอะ เหมือนนักกีฬายิมนาสติกที่สวิงสวายสวยงามระหว่างทางจนหลายคนประทับใจแล้ว ท่าจบก็ต้องสวยงามไม่แพ้ที่ผ่านมาเอาให้คนยกคะแนนสิบ สิบ สิบ กันถ้วนหน้าเลยทีเดียว

 

1. คิดมาให้ดีพอ

ก่อนที่จะเดินไปบอกเจ้านายขอให้ทบทวนตัวเองด้วย 5 ข้อข้างต้นอีกทีว่าได้ถามตัวเองมาแล้ว คิดมาดีแล้ว และคำตอบคือการลาออกก็ขอให้แน่วแน่กับคำตอบนี้ อย่าโลเล เพราะหลายคนอาจเจอการต่อรองจากเจ้านายหรือฝ่ายบุคคลด้วยการยื่นข้อเสนอต่างๆ ทั้งเรื่องตัวงานและเงินเดือน ให้ลองคิดดูง่ายๆ ว่าถ้าได้เงินเดือนเพิ่มแต่ปัญหาที่เราเจอจนเป็นสาเหตุให้ต้องลาออกไม่ได้ถูกแก้ให้เป็นรูปธรรม มันคุ้มกันไหม อีกอย่างไม่มีใครขึ้นเงินเดือนให้เราเปล่าๆ ปลี้ๆ เพราะเงินเดือนที่เพิ่มย่อมมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่มากขึ้นด้วย ชั่งตวงวัดความคุ้มค่าให้ดีๆ แต่ถ้าคิดว่าอยากลาออกก็ขอให้เก็บเป็นความลับ อย่าเพิ่งบอกเพื่อนร่วมงานจนรู้กันทั่วออฟฟิศ ควรให้เกียรติเจ้านายที่เป็นผู้บังคับบัญชาเราโดยตรงก่อน

 

2. หาโอกาสบอกเจ้านายอย่างเป็นทางการ

หาจังหวะเหมาะๆ และอาจบอกเลี่ยงๆ ว่าอยากขอปรึกษาเรื่องงาน แต่ร้อยทั้งร้อยเจ้านายจะมีสัญญาณรู้อยู่แล้วว่าลูกน้องจะมาขอลาออก เราเองก็ต้องเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าและเมื่อถึงเวลาก็ให้เริ่มด้วยเรื่องดีๆ ก่อนว่าได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานที่นี่บ้าง แล้วค่อยบอกอย่างตรงไปตรงมาด้วยความจริงใจว่าจะมาขอลาออกพร้อมเหตุผลประกอบ เจ้านายส่วนใหญ่จะเข้าใจเป็นพื้นฐานว่าถ้าลูกน้องเดินมาขอลาออกแบบนี้แสดงว่าผ่านการคิดมาอย่างถี่ถ้วนแล้ว และยิ่งถ้าเหตุผลนั้นหนักแน่นเพียงพอก็จะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก จากนั้นค่อยเขียนใบลาออกกับฝ่ายบุคคลอย่างเป็นทางการต่อไป

 

แม้ว่าในทางการกฎหมายจะไม่มีการบังคับว่าต้องแจ้งบริษัทล่วงหน้าเป็นเวลาเท่าไรถึงจะลาออกได้ ถ้าไม่มีสัญญาจ้างที่เซ็นไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เพียงแค่แจ้งเจ้านายด้วยวาจาเราก็สามารถออกจากความเป็นพนักงานได้เลย แต่ด้วยมารยาทเราควรเป็นไปตามกฎบริษัท ส่วนใหญ่จะประมาณ 1-2 เดือนล่วงหน้า เพื่อที่ผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้หาคนมารับช่วงต่อในตำแหน่งเราได้ทันเวลา

 

3. ให้ความร่วมมือกับ Exit Interview

บางบริษัทนอกจากจะสัมภาษณ์เข้าทำงานแล้ว ก่อนออกจากงานก็จะมีการพูดคุยเพื่อสอบถามข้อดีข้อเสียจากคนที่กำลังจะออกไปเพื่อนำกลับมาพัฒนา เราควรใช้จังหวะโอกาสนี้ชี้จุดบกพร่องทั้งเรื่องคน ระบบการทำงาน หรือปัญหาต่างๆ ที่เราเจออย่างตรงไปตรงมา เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนร่วมงานที่เหลือ แต่อย่าใช้ Exit Interview เป็นเครื่องมือในการทำร้ายใคร ไหนๆ จะจากกันแล้วก็ควรจะลงท่าจบกันให้สวยงาม

 

4. ส่งมอบงานอย่างเป็นมืออาชีพ

ทั้งการสอนงานคนที่มารับตำแหน่งต่อจากเรา การเคลียร์คอมพิวเตอร์และจัดการเอกสารให้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้สะดวกต่อคนที่มารับช่วงต่อ แจ้งลูกค้าหรือผู้เกี่ยวข้องว่าเราจะลาออกด้วยอีเมลอย่างเป็นทางการ ที่สำคัญคือเราควรรับผิดชอบหน้าที่เราจนถึงวันสุดท้ายที่ยังอยู่ในตำแหน่ง อย่าวางยาทิ้งปัญหาไว้เพราะคิดว่าอีกไม่นานก็ไม่ใช่หน้าที่เรา คิดไว้เสมอว่าโลกของการทำงานมันแคบกว่าที่คิด เพราะไม่แน่เราอาจกลับมาทำงานในบริษัทเดิมหรือต้องร่วมงานกับคนที่มาทำงานต่อจากเราก็ได้

 

5. จัดการชีวิตให้เรียบร้อย

นอกจากจะเป็นมืออาชีพต่อบริษัทแล้วเราก็ต้องเป็นมืออาชีพต่อตัวเองด้วย เพราะการลาออกครั้งหนึ่งนั้นมีส่วนที่ต้องจัดการกับตัวเองมากมาย เช่น ถ้าเราลาออกโดยที่ยังไม่มีงานใหม่มารองรับทันทีก็ควรไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานจัดหางานของรัฐ หรือลงทะเบียนในเว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน (นับจากวันที่สิ้นสุดการเป็นพนักงานในหนังสือรับรองของบริษัท) อาจต้องรายงานตัวประมาณเดือนละครั้ง แต่สิทธิที่จะได้คือเงิน 30% ของเงินเดือนล่าสุดที่ได้โดยที่คิดจากฐานเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งหมดนี้สำหรับคนที่ภายใน 15 เดือนที่ผ่านมาได้จ่ายค่าประกันสังคมมากกว่า 6 เดือน

 

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ก็เป็นเรื่องที่เราต้องจัดการ อาจต้องศึกษาผลประโยชน์ของกองทุนออฟฟิศใหม่ก่อนตัดสินใจว่าจะย้ายมาหรือว่าถอนออกมาเป็นเงินก้อน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการย้ายด้วย นอกจากนี้ประกันสังคมเองถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงอะไรในช่วงที่ว่างงานก็ควรจะรักษาสิทธิผู้ประกันด้วยการจ่ายค่าประกันสังคมด้วย ส่วนเอกสารอื่นๆ ทั้งใบผ่านงานหรือเอกสารรับรองเงินเดือนจากออฟฟิศเก่าก็ควรขอมาให้ครบก่อนลาออกด้วย

 

สุดท้ายแม้ว่าไม่ใช่เรื่องบังคับแต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าก่อนลาออกเราจะส่งอีเมลขอบคุณคนอื่นๆ ในออฟฟิศ ว่าที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไรบ้าง เพราะนอกจากจะได้ให้เครดิตการทำงานครั้งสุดท้ายแล้ว ข้อความเหล่านั้นยังเป็นกระจกสะท้อนตัวตนของคนที่กำลังทำงานอยู่ให้เอาไปเป็นกำลังใจหรือปรับปรุงตัวเองในอนาคต

 

การลาออกเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของมนุษย์ออฟฟิศ แต่ทุกคนก็ต้องอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงนี้ จริงอยู่ที่ในมุมหนึ่งการลาออกคือการสิ้นสุดบางสิ่งบางอย่าง ทั้งหน้าที่การงาน กิจวัตร และความสัมพันธ์ แต่หากมองอีกมุม การลาออกคือจุดสิ้นสุดเพื่อให้เราได้ไปเริ่มต้นใหม่ ได้ออกไปท้าทายในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ได้ทดสอบศักยภาพตัวเอง และสำหรับบางคนคือการได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ ขอให้กำลังใจคนที่กำลังจะลาออกทุกคนให้ชีวิตใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นมีแต่เรื่องดีๆ

 


 

Credits

The Hosts ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Graphic Design Interns ธัญญา ศิริสัมพันธ์, พันธิตรา หอมเดชนะกุล

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising