×

โดนจิกงานผ่านไลน์ตลอดเวลา อึดอัดเรื่องงานมา อยากบ่นลงเฟซบุ๊กทำได้ไหม ใช้โซเชียลมีเดียในออฟฟิศอย่างไรให้เวิร์ก

30.04.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:05 ข้อดีข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดียในออฟฟิศ

07:39 โดนเจ้านายจิกงานผ่านไลน์ตลอดเวลา จะรับมืออย่างไรดี

12:49 ตามงานลูกน้องในวันหยุดอย่างไรให้สำเร็จ

14:48 เพื่อนที่ออฟฟิศแอดเฟซบุ๊กมาจะรับเป็นเพื่อนดีไหม

23:17 อึดอัดมาก บ่นเรื่องงานลงโซเชียลบ้างได้ไหม

โซเชียลมีเดีย คือเครื่องมือที่ช่วยให้ชีวิตการทำงานเราง่ายขึ้นมาก ไม่จำกัดว่าต้องนั่งโต๊ะหน้าคอมพิวเตอร์เสมอไป เราสามารถแก้งานผ่านมือถือได้ หรือพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปในกรุ๊ปสนทนาได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ด้วยความทุกที่ทุกเวลาของมันนี่แหละ บางครั้งโซเชียลมีเดียจึงทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว เพราะเวลาในการทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่แยกขาดออกจากกัน

 

I HATE MY JOB พอดแคสต์ เอพิโสดนี้ บองเต่า และ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ จึงรวมเอาสถานการณ์อึดอัดใจทั้งหลายที่เกิดจากโซเชียลมีเดีย ทั้งมุมลูกน้องที่ถูกตามงาน และเจ้านายที่ต้องตามงาน เพื่อสุดท้ายเราจะได้มีจุดตรงกลางว่าใช้โซเชียลฯ แบบไหนถึงจะพอดีและสบายใจกันถ้วนหน้า

 


ข้อดีของโซเชียลมีเดีย

1. ช่วยให้เราทำงานได้ตลอดเวลา

ปัจจุบันเพียงมีสมาร์ทโฟนเราก็สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา แถมยังทำอย่างอื่นไปได้ด้วย ซึ่งอาจช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้นและจะได้มีเวลาแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้งานนั้นออกมาดีที่สุด

 

2. ช่วยให้เรารู้ปัญหาและแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

เมื่อโซเชียลมีเดียคือสิ่งที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือซึ่งอยู่กับตัวเราตลอดเวลา พอเจองานมีปัญหาเราก็สามารถแจ้งไว้ในห้องสนทนาอย่างกรุ๊ปไลน์ มอบหมายให้คนที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ และขณะเดียวกันอาจระดมไอเดียจากหลายๆ คน ได้อีกด้วย

 

3. ช่วยเก็บหลักฐาน

เราสามารถย้อนกลับไปดูว่า เพื่อนร่วมงานแต่ละคนพูดเอาไว้อย่างไร เช่น สัญญาว่าจะทำงานนี้ให้สำเร็จภายในวันนั้นวันนี้ แต่พอถึงวันที่นัดหมายทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น มีข้ออ้างต่างๆ นานา เราก็สามารถอ้างอิงจากบันทึกการสนทนาต่างๆ ได้

โซเชียลมีเดียเป็นหลักฐานชั้นดีในการบันทึกว่าใครเคยพูดอะไรไว้

4. ช่วยเพิ่มมิติของการสนทนา

การสื่อสารแบบเก่าอย่างการประชุมหรือการคุยงานผ่านอีเมล ส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยบรรยากาศ ภาษา และรูปแบบที่เป็นทางการ การสนทนาผ่าน ‘กรุ๊ปไลน์’ ทำให้บรรยากาศผ่อนคลายขึ้น สามารถตามงาน คุยงานกันเล็กๆ น้อยๆ นอกจากนั้นแล้วสติกเกอร์ไลน์ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มมิติให้รู้สึกสนุกสนานเป็นกันเอง มีเรื่องไว้คอยเล่นสนุกกัน สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานมากขึ้น

 

ข้อเสียของโซเชียลมีเดีย

1. เวลาการทำงานกับเวลาส่วนตัวไม่แยกกันอย่างชัดเจน

เมื่อก่อนเวลาทำงานคือตอนที่เราอยู่ออฟฟิศ และเวลาพักผ่อนคือตอนกลับบ้าน จนเมื่อโซเชียลมีเดียเริ่มเข้ามาอยู่ในโทรศัพท์มือถือ เวลาในการทำงานของเราก็ยืดยาวออกไปมากขึ้น เราต้องเช็กโทรศัพท์ตลอดเวลา เลยเกิดคำถามตามมาว่าเราได้พักผ่อนในเวลาที่ควรได้พักจริงไหม หรือสุดท้ายแล้วโซเชียลมีเดียทำร้ายเรามากกว่าช่วยเรากันแน่

 

2. เกิดการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว

ในโซเชียลฯ อย่างเฟซบุ๊ก เราก็มีบางมุมที่ไม่อยากให้เพื่อนร่วมงานเห็น แต่จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เพื่อนร่วมงานกลับเอามุมนี้ของเราไปเล่าให้คนอื่นฟัง เราเลยรู้สึกถูกก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวมากเกินไป

 

3. เกิดการกระทบกระทั่งหรือเสียความรู้สึกได้ง่ายขึ้น

โดยเฉพาะในห้องสนทนาที่เกิดมีการกระทบกระทั่งกัน ฝ่ายหนึ่งอาจจะโกรธและคิดว่าถ้าต่อว่าอีกฝ่ายผ่านห้องแชตนี้ คนอื่นจะได้รับรู้พร้อมๆ กัน แต่สำหรับคนที่ถูกต่อว่า นั่นคือการประจานเขาอย่างมาก ไม่ต่างอะไรกับที่ลากมาตบหน้ากลางสี่แยกแล้วมีผู้คนมุงดู เป็นการซ้ำเติมและทำให้เรื่องราวถูกขยายมากกว่าที่ควรจะเป็น

 

4. ความลับรั่วไหลได้ง่ายขึ้น

บางเรื่องที่ควรจะคุยในที่ที่เป็นส่วนตัว บางคนกลับเอามาคุยในห้องรวม ทำให้หลายคนรู้กันราวกับเป็นเรื่องสาธารณะ แถมตีความกันไปต่างๆ นานา

ฉะนั้นแล้วสิ่งที่ต้องระวังในการพูดคุยกันผ่านโซเชียลมีเดีย คือการรู้ว่าเรื่องไหนควรคุยแบบไหน เรื่องไหนควรคุยกันเป็นส่วนตัว เรื่องไหนควรคุยกันต่อหน้า เพื่อที่ปัญหาทุกอย่างจะได้ถูกแก้ไขอย่างเหมาะสม

จะทำอย่างไรเมื่อเจ้านายจิกงานในไลน์ตลอดเวลา

หนึ่งในสถานการณ์ที่หลายคนได้รับผลกระทบจากการใช้โซเชียลมีเดียหนักมากคือการถูกตามงานแบบไม่เป็นเวลา บางครั้งดึกดื่นเที่ยงคืนกรุ๊ปไลน์ออฟฟิศก็คุยกันอย่างไม่หยุดหย่อนจนรู้สึกถูกเบียดบังเวลาพักผ่อน เมื่อเจอสถานการณ์อย่างนี้หลายคนก็ได้แต่บ่นกระปอดกระแปด จะให้พูดกับเจ้านายตรงๆ ก็ไม่กล้า แต่ถ้ายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป เรื่องงานอาจจะรุกล้ำเข้ามาในชีวิตเรามากขึ้น ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรสายเกินไปหากทุกคนทำความเข้าใจกัน โดยลองใช้วิธีเหล่านี้

 

1. ออกแบบวิธีการทำงานร่วมกันตั้งแต่แรก

การที่เราร่วมกันออกแบบวิธีการทำงานก็มีส่วนช่วยให้เราพึ่งพาโซเชียลมีเดียน้อยลง สิ่งที่ทุกคนควรมาตกลงร่วมกันคือ งานนี้คืออะไร สถานะของของงานอยู่ในระดับไหน จะตามงานกันอย่างไร เมื่อไรที่เราควรมาประชุมเพื่อมาอัปเดตงานกัน แล้วจากนั้นทุกคนก็แยกย้ายไปทำตามหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งระหว่างนั้นอาจใช้โซเชียลมีเดียในการแจ้งเรื่องราวหรือความคืบหน้าให้ทุกคนทราบ

งานจะสำเร็จได้ถ้าทุกคนรู้จักหน้าที่ของตัวเอง ทำงานให้เสร็จตามเวลาที่ได้รับมอบหมาย การจิกงานแบบโหดๆ ในโซเชียลมีเดียก็จะไม่เกิดขึ้น

2. ออกแบบการใช้โซเชียลมีเดียร่วมกันด้วย

สามารถหาจังหวะสบายๆ บอกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น ตอนกินข้าวกลางวันหรือเดินทางกลับบ้านร่วมกัน แต่ถ้าคิดว่าน่าจะตกลงกันอย่างเป็นทางการ ก็หาโอกาสแทรกเรื่องการใช้โซเชียลฯ ในที่ประชุมไปเลย ก็จะทำให้ทุกอย่างชัดเจน จะได้ไม่เกิดปัญหาประเภทโยนเรื่องเข้าไปในกรุ๊ปไลน์แล้วทุกคนอ่านแต่ว่าไม่มีใครตอบหรือลงมือแก้ปัญหา เพราะต่างคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง

 

3. ถ้าเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ ให้ปรับที่ตัวเอง

สร้างลิมิตให้กับตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นแล้วงานหรือคำสั่งต่างๆ จะทะลักมาหาเราจนเกินรับไหว ถ้าเราบอกให้คนอื่นส่งข้อความหาเราเป็นเวลาไม่ได้ ก็ควรห้ามตัวเองไม่ให้อ่านหรือไม่ไปรับรู้ เช่น เซตลิมิตกับตัวเองว่าหลัง 5 ทุ่มจะไม่เช็กไลน์ แล้วค่อยอ่านอีกทีก่อนไปทำงาน ก็ช่วยทำให้เรามีสุขภาพจิตในการทำงานที่ดีขึ้น

 

เตือนตัวเองว่าอย่าเปิดอ่าน บางครั้งเราเกิดอดใจไม่ไหว เปิดอ่านข้อความทันทีที่มีคนส่งมา ต้องนึกไว้เสมอว่าการเปิดอ่านเท่ากับการเปิดไฟเขียวให้อีกฝ่ายรู้ว่าเขาสามารถส่งข้อความหาเราเมื่อไรก็ได้และเราก็พร้อมที่จะสื่อสาร ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ทุกครั้งเสมอไป

 

สุดท้ายอาจต้องหาวิธีบอกให้เจ้านายรับรู้ อาจจะพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าตอนกลางคืนไม่สะดวกที่จะตอบข้อความ และเพราะอะไร

 

ส่วนเจ้านายที่บางครั้งต้องตามงานลูกน้องในวันหยุด ใจหนึ่งก็อาจจะรู้สึกเกรงใจ แต่อีกใจหนึ่งก็อยากทำงานให้เสร็จ ฉะนั้นอยากให้คนที่เป็นเจ้านายลองคิดไว้ก่อนว่า

 

1. ลูกน้องอาจจะไม่ได้อยู่กับมือถือตลอดเวลา ฉะนั้นที่ตามงานไปเขาอาจจะไม่ได้ตอบเราในทันทีทันใด จำเป็นต้องให้เวลาเขาบ้าง

 

2. คำว่า ‘ขอบคุณ’ และ ‘ขอโทษ’ เป็นเหมือนใบเบิกทางที่ทำให้คนถูกตามงานรู้สึกดีขึ้น และเป็นแสดงถึงความ ‘รู้ตัว’ และ ‘ออกตัว’ ของเจ้านาย พอได้ยินอย่างนี้ ไม่แน่ว่าเราอาจลุกขึ้นมาทำงานให้อย่างเต็มที่แม้วันนั้นจะเป็นวันหยุดก็ตาม

 

ควรแอดเพื่อนที่ออฟฟิศในโซเชียลมีเดียไหม

เมื่อเพื่อนร่วมงานขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก แล้วตัดสินใจไม่ถูก ไม่สามารถฟันธงได้ว่าควรรับใครเป็นเพื่อนในโซเชียลหรือไม่ ลองเอาแนวคิดเหล่านี้ไปถามตัวเองดู

 

1. โซเชียลมีเดียก็คือสังคมหนึ่ง เหมือนกับสังคมจริงที่มีทั้งคนที่เรารู้สึกดีหรือไม่ดีปะปนกันอยู่ ฉะนั้นแล้วการเลือกรับหรือไม่รับเป็นเพียงการกรองเบื้องต้น เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าเพื่อนร่วมงานที่ดีในโลกความเป็นจริง อาจเป็นเพื่อนในโซเชียลที่ไม่เข้าขากับเราเลยก็ได้ หรือเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้มีเรื่องราวอะไรกันในออฟฟิศ อาจเป็นคนแคปหน้าจอเอาเรื่องของเราไปนินทาได้เหมือนกัน

 

2. โซเชียลมีเดียออกแบบมาให้ปรับแต่งเองได้ เราเลือกที่จะแสดงอะไรให้ใครเห็น หรือเลือกที่จะไม่เห็นบางอย่างจากบางคนได้ ฉะนั้นเมื่อรู้สึกว่าต้องการความเป็นส่วนตัว เราก็สามารถตั้งค่าให้บางคนไม่เห็นข้อความที่เราโพสต์ได้แม้ว่าเป็นเพื่อนกันอยู่ ในขณะเดียวกันเพื่อนร่วมงานบางคนมีทัศนคติที่ไม่เป็นมิตรสำหรับเรานัก เช่นสุดแสนจะดราม่าหรือแซะคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เราก็สามารถเลือกที่จะซ่อนข้อความนั้นหรือเพื่อนคนนั้นได้ หากรู้สึกว่ามันเป็นมลพิษ ให้คิดว่าถ้าทุกคนมีเสรีภาพที่จะโพสต์ เราก็มีสิทธิในการเลือกเสพเช่นกัน

 

3. โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้เราได้เห็นมุมอื่นของผู้ร่วมงานนอกจากการทำงาน กับเพื่อนร่วมงานบางคน เราอาจมีปฏิสัมพันธ์กันเฉพาะเรื่องงาน แต่การเพิ่มเขาเป็นเพื่อนในโซเชียลมีเดียอาจทำให้เราเห็นมุมอื่นๆ ที่บางครั้งอาจได้พบว่าสนใจเรื่องเดียวกันกับเรา มีเพื่อนคนเดียวกันกับเรา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนา ที่อาจสร้างมิตรภาพที่ดีในที่ทำงาน และส่งผลต่อการทำงานที่ดีในอนาคตก็ได้

 

เมื่อลองพิจารณาแนวคิดทั้ง 3 ข้อนี้แล้วการจะรับเพื่อนร่วมงานเป็นเพื่อนในโซเชียลมีเดียหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและความเหมาะสมของแต่ละคน

 

อึดอัดเรื่องงาน บ่นลงโซเชียลฯ บ้างได้ไหม

ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียทำให้การบ่นระบายง่ายขึ้น เพียงแค่ตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊ก หรือทวีตลงทวิตเตอร์ ก็มีคนที่พร้อมจะแสดงความเป็นห่วงเป็นใย กดไลก์กันนับร้อย เราก็จะรู้สึกดีที่มีคนคอยเป็นห่วงและคอยเข้าข้าง เราเลยยิ่งชอบบ่นลงโซเชียลมีเดียหนักเข้าไปอีก แต่บางครั้งเราก็ลืมไปว่า ต่อให้ตั้งค่าจำกัดการเห็นไว้แล้ว ทุกเรื่องที่เราโพสต์ลงไปไม่มีวันเป็นเรื่องส่วนตัว มันจะกลายเป็นของสาธารณะที่หลายคนรับรู้และพร้อมที่จะตีความกันไปตามใจได้ทั้งนั้น

 

การโพสต์เรื่องงานลงโซเชียลฯ บ้างไม่ใช่สิ่งผิดบาปที่ห้ามทำ แต่ก็มีบางเรื่องที่หากโพสต์ไปก็น่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เช่น

 

1. โพสต์เรื่องความลับในที่ทำงาน

บางงานต้องเก็บเป็นความลับ เพราะยังไม่ประกาศเป็นทางการ อยู่ในช่วงที่กำลังพัฒนา หรือบางเรื่องควรให้รู้กันเฉพาะในองค์กร ถ้าดันโพสต์ออกไป คู่แข่งรู้ไต๋หมด ผลกระทบจะรุนแรงไปถึงไหนก็ไม่รู้

 

2. โพสต์ถึงบุคคลอื่นนอกองค์กร อย่างซัพพลายเออร์หรือลูกค้า

เสียมารยาท ไม่เป็นโปรเฟสชันนัล และเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะผู้ถูกพาดพิงอาจไม่พอใจจนความสัมพันธ์ทางธุรกิจอาจเสียหายหรือถึงกับจบสิ้น สิ่งที่ควรทำเมื่อเกิดปัญหาระหว่างการทำงานคือหันหน้ามาประชุมกันมากกว่าจะโพสต์ระบาย เพราะนอกจากความสะใจเพียงสั้นๆ ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่ได้รับการแก้ไขจริงๆ นอกจากนั้นแล้วยังดูไม่เป็นมืออาชีพที่ไม่มีวิจารณญาณในการใช้โซเชียลอีกด้วย

 

ถ้าอึดอัดมาก ต้องการระบายอะไรสักอย่าง ควรทำอย่างไร

1. ปรึกษากับมนุษย์สักคนจริงๆ แบบต่อหน้า

จริงอยู่ว่าการโพสต์ลงในโซเชียลฯ ทำให้เราเห็นการตอบรับที่มากกว่าทั้งยอดไลก์และคอมเมนต์ แต่เหล่านี้อาจเป็นเรื่องของปริมาณ เพราะความจริงแล้วการนัดเพื่อนที่เราไว้ใจหรือการโทรหาใครสักคน เราจะได้ยินน้ำเสียง ได้เจอหน้าค่าตากัน อาจเป็นเพียงไม่กี่คนแต่เราอาจมีบทสนทนาคุณภาพ นำไปสู่ทางออกและวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผล และทำให้เราสบายใจขึ้นกว่าการโพสต์ข้อความทางลบในโซเชียลฯ ก็ได้

 

2. เตือนตัวเองว่าการระบายเรื่องงานจะส่งพลังลบให้คนอื่น

เมื่อไรที่เราโพสต์สิ่งที่เป็นด้านลบ คนที่ผ่านมาเจอข้อความเหล่านั้นก็จะได้รับพลังลบไปด้วย ถ้าคนคนนั้นเป็นเพื่อนร่วมงาน บรรยากาศการทำงานก็จะยิ่งแย่ลง จริงอยู่ว่าเป็นสิทธิของเราที่จะแสดงความคิดเห็นหรือความรู้สึกอะไรลงในโซเชียลฯ ก็ได้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องแสดงความอ่อนแอ เกรี้ยวกราด หรือหยาบคายให้คนอื่นเห็นเสมอไป

 

3. เขียนแล้วลบทิ้ง หรือตั้งค่าให้เห็นเฉพาะตัวเอง (Only Me)

ถ้าไม่ไหวจริงๆ ลองใช้วิธีพิมพ์แล้วลบ อย่าเพิ่งกดโพสต์ ความรู้สึกนั้นอาจจะค่อยๆ จางลงเพราะเราได้ระบายมันออกไป หรือการโพสต์แบบตั้งค่าไว้ให้เห็นเฉพาะตัวเองก็เป็นทางออกที่ดี ไม่แน่เหมือนกันว่าความเกรี้ยวกราดที่เรารู้สึกว่าหนักหนาอยู่ช่วงเวลาหนึ่งนั้น อาจหายไปในเวลาอันรวดเร็วกว่าที่เราคิดก็ได้

 

4. เปลี่ยนประสบการณ์แย่ๆ ให้เป็นบทเรียนดีๆ

แทนที่จะเอาแต่บ่น ให้เปลี่ยนมาโพสต์ว่าวันนี้เราได้เรียนรู้อะไรจากปัญหาในครั้งนี้บ้าง อาจฟังดูโลกสวย แต่เชื่อเถอะว่ามันดีกว่าในระยะยาว อาจเขียนเล่าว่าวันนี้ทำงานแล้วเจอปัญหาอะไร เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง แล้วเราก้าวผ่านปัญหานี้ได้อย่างไร กลายเป็นการบันทึกบทเรียนดีๆ ในการทำงานที่อาจเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นได้ด้วย แทนที่จะเป็นข้อความระบายอารมณ์เฉยๆ ที่ไม่มีคุณค่ากับใครเลย

 

ถ้าถูกเพื่อนร่วมงานบ่นลงโซเชียลฯ ควรทำอย่างไร

ต่อให้เราตั้งใจทำงานหรือระมัดระวังตัวเองแค่ไหน เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับเราได้ สำคัญที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเราจะรับมืออย่างไร ซึ่งถ้าจะมองให้เป็นข้อดีก็ได้เหมือนกัน เพราะอย่างน้อย เรารู้แล้วว่าสิ่งที่เราทำกำลังเป็นปัญหา และปัญหานี้อาจจะหนักหนาสำหรับคนอื่นเกินกว่าที่เขาจะเดินมาบอกกันตรงๆ

 

ถ้าเป็นเรื่องงาน เราก็ต้องกลับมามองตัวเองว่าเราเป็นอย่างที่คนอื่นพูดจริงหรือเปล่า สามารถปรับแก้อะไรได้ไหม หรือถ้าต้องการความช่วยเหลือจากเจ้านาย เราก็สามารถปรึกษาเพื่อหาทางออกร่วมกันได้

 

แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับงาน บางครั้งเราก็จำเป็นที่จะต้องปล่อยไป เพราะเราไม่สามารถมานั่งอธิบายกับทุกคนได้ว่าสิ่งที่เราคิดและทำนั้นหมายความว่าอะไร ยิ่งถ้าเรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องจริง เราก็ไม่ควรเก็บมาคิดใส่ใจ เพราะเราไม่สามารถรับผิดชอบความรู้สึกทุกคนบนโลกนี้ได้อยู่ดี

 


 

ฟังรายการ I HATE MY JOB พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน

 

 


 

Credits


The Host
ไชยณัฐ สัจจะประเมฐ์, ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising