×

เราควรวาง Career Path ในการทำงานไหม แล้วทำอย่างไรจะไปถึงเป้าหมาย

18.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

00:51 Career Path คืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร

03:09 ทำไมเราต้องวาง Career Path ให้ตัวเอง

07:58 Career Path มีทั้งการวางแผนแต่แรกและค่อยๆ รู้ระหว่างทาง

14:19 Career Path คือเรื่องความสุขและความพอใจ

18:54 เราจะวาง Career Path อย่างไรดี

28:00 ถ้าเราไม่มี Career Path เลยได้ไหม

อนาคตเป็นเรื่องที่เราฝันถึงเสมอ โดยเฉพาะการทำงานที่หลายคนมักฝันว่าอยากประสบความสำเร็จ แต่พอตัดภาพมาที่ความจริง อนาคตที่เราคิดถึงมักอยู่ไกลแค่มื้อเที่ยงนี้จะกินอะไรดีเท่านั้น

 

I HATE MY JOB เอพิโสดนี้ บองเต่า และ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ จะชวนกันคุยถึงการวางแผนอนาคตการทำงานหรือที่หลายคนรู้จักกันในคำว่าการวาง Career Path ว่าคืออะไร เราจำเป็นต้องเห็นอนาคตตัวเองไหม แล้วถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมาย จะทำอย่างไรกับระหว่างทางที่ไม่แน่ไม่นอนแบบนี้

 


 

Career Path คืออะไร

คือการวางเส้นทางความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ที่ไม่เพียงแค่เราต้องรู้ตั้งแต่ต้นว่าตอนนี้กำลังทำตำแหน่งอะไร เจริญเติบโตไปเป็นตำแหน่งไหน เป้าหมายสูงสุดในการทำงานคืออะไร และที่สำคัญที่สุดคือต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น แม้ว่าหลายคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำนี้ แต่ความจริงแล้วเราเคยเจอกันมาตั้งแต่ตอนสมัครงานที่อาจถูกพนักงานฝ่ายบุคคลถามว่า 5 ปี 10 ปีผ่านไป เราเห็นตัวเองในที่ทำงานอย่างไรเป็นอย่างไร หรือบางครั้งเราเองอาจเคยนึกฝันเล่นๆ ว่าเมื่อเวลาผ่านไปจะประสบความสำเร็จขนาดไหน แต่ไม่เคยวางแผนอย่างจริงจังเพื่อไปให้ถึงฝันนั้นสักที

 

เพราะหลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำให้อนาคตของเราชัดเจนขนาดนั้น ด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบางคนอยู่ในออฟฟิศที่ไม่มีแผนผังองค์กรที่ชัดเจนว่าจะก้าวหน้าไปในทางไหน เงยหน้าไปก็เห็นแค่เจ้านายและเจ้าของบริษัท หรือบางคนก็รู้สึกว่าอนาคตเป็นเรื่องไม่แน่นอน หากวางแผนไปก็สามารถผิดแผนได้ง่ายๆ เลยใช้ชีวิตตามใจวันต่อวันโดยที่ไม่คิดว่าจะวางแผนอะไรให้ไกลเกินกว่าวันพรุ่งนี้ แต่เชื่อไหมว่าคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหลายคนมักมีการวางแผนและมองเห็นอนาคตตัวเองไว้ก่อน เพราะต่อให้เจอความเปลี่ยนแปลงขนาดไหนก็ยังมีแผนสำรอง และมองเห็นเป้าหมายที่ตัวเองต้องการจะไปให้ถึงอยู่เสมอ

 

ทำไมเราต้องวาง Career Path ให้กับตัวเอง

 

1. เพื่อหาความหมายในการทำงาน

อาจจะฟังเป็นนามธรรมอยู่สักหน่อย แต่ลองคิดดูว่าหากเรามีเป้าหมายทำอะไรสักอย่างที่ชัดเจนและเราพยายามผลักดันตัวเองให้ถึงเป้าหมายนั้น ระหว่างทางมันจะช่วยให้เราค่อยเช็กตัวเองว่าสิ่งที่กำลังฝันว่าอยากมี อยากเป็น เราต้องการจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือเปล่า โดยเฉพาะการทำงานที่อยากประสบความสำเร็จ เราได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ความสำเร็จ’ อย่างไร เราต้องการที่จะเติบโตมากขึ้น เป็นคนเก่งขึ้น ได้เรียนรู้มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้จะคอยเป็นตัวชี้วัด หรือ KPI ให้เราคอยตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ

 

2. เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายใหญ่ในชีวิต

เพราะชีวิตและการทำงานเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก เมื่อเรามีเป้าหมายของการทำงานและรู้แล้วว่าด้านอื่นของชีวิตต้องการอะไร การวาง Career Path อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เราเดินทางไปถึงภาพรวมของเป้าหมายในชีวิตได้ ตัวอย่างเช่น ภาพรวมของชีวิตเราต้องการเป็นคนดี คนเก่ง งานมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เราไปถึงเป้าหมายนั้นไหม หรือสำหรับบางคนที่ต้องการประสบความสำเร็จในที่ทำงาน แต่ในชีวิตส่วนตัวครอบครัวไม่ได้สนับสนุนให้ทำงานออฟฟิศแต่อยากกลับมาให้ทำธุรกิจครอบครัว Career Path การทำงานอาจไม่สอดคล้องกับชีวิตเราก็ได้

 

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจรู้สึกว่าการวางแผนชีวิตการทำงานดูเป็นเรื่อง ‘ใหญ่’ และ ‘ยาก’ เพราะไม่เคยครุ่นคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน ยิ่งเด็กจบใหม่ที่ให้มองอนาคตตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงานก็ไม่มีทางมองออกว่าเราจะเติบโตไปเป็นแบบไหน หรือมนุษย์ออฟฟิศที่ทำงานไปสักพักก็รู้สึกว่าแค่รับผิดชอบงานให้ลุล่วงไปแต่ละวันก็เป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยเกินความรับผิดชอบ อย่าเพิ่งท้อ เพราะความเป็นจริงการวาง Career Path ให้กับตัวเองอาจไม่ใช่การนั่งลงเขียนแผนเป็นข้อๆ หรือมีสูตรสำเร็จให้กดแบบการเล่นเกม การวางแผนให้กับตัวเองอาจมีทั้งเป็นสเตปขั้นตอนเพราะบางคนรู้เป้าหมายในชีวิตและการทำงานชัดเจน หรือสำหรับบางคนการดุ่มๆ ใช้ชีวิตไปแล้วค่อยปรับเปลี่ยนแผนให้กับตัวเองอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน

 

เช่น เด็กจบใหม่บางคนอาจรู้สึกว่าโลกใบนี้มีความน่าสนใจให้อยากรู้อยากลองมากมายเต็มไปหมด เลยเปิดโอกาสตัวเองให้ได้ลองสิ่งที่ตัวเองชอบทั้ง ค่อยๆ ลองไปทีละอย่างตามความสามารถและความสุข ด้วยความเชื่อว่าแต่ละอย่างที่เราลองทำอาจพาเราไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ได้พิสูจน์ความชอบและศักยภาพของตัวเอง

 

และเมื่อลองไปเรื่อยๆ พร้อมกันนั้นก็ค่อยๆ ออกแบบชีวิตการทำงานของเราไป ให้เวลาสิ่งที่ทำแต่ละอย่าง หากผิดพลาดหรือไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ แต่สุดท้ายมันจะกลายมาเป็นทรัพยากรที่อยู่ในตัวเรา สร้างตัวเราให้เป็นคนที่มีทักษะในการทำงานหลายอย่าง และเมื่อถึงเวลานั้นเราอาจรู้ความต้องการของตัวเองว่าอยากใช้สิ่งไหนเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ หรืออยากเก็บบางสิ่งสงวนไว้เป็นความสุขส่วนตัวก็ยังไม่สายที่จะออกแบบ Career Path ให้กับตัวเอง เพราะถึงตอนนั้นอย่างน้อยต่อให้เราไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเพื่อนรอบตัว แต่เราจะเป็นคนที่ชัดเจนและรู้จักตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไรกว่าอีกหลายคนก็ได้

 

มาวางแผนการทำงานให้เจริญเติบโตกัน

 

1. ดูผังองค์ว่าตอนนี้เราอยู่ตรงไหน

สิ่งที่ง่ายที่สุดสำหรับชาวออฟฟิศคือการกลับไปดูแผนผังองค์กร (Organization Chart) จากพนักงานฝ่ายบุคคล เพื่อให้รู้ว่าขณะนี้เราอยู่ตรงไหน จะได้รู้ว่าคนที่อยู่ตำแหน่งใกล้กันกับเราคือใครและสามารถเรียนรู้ทักษะอะไรจากเขาได้บ้าง ขณะเดียวกันเราก็จะได้มองสูงขึ้นไปว่าเจ้านายที่อยู่เหนือเราเป็นใคร ต้องใช้ความพยายามอีกกี่มากน้อยที่เราจะไปถึงตำแหน่งที่เราฝันไว้ในอนาคต

 

การมองแผนผังองค์กรเพื่อให้เรารู้ภาพรวมของบริษัทเพียงคร่าวๆ เพราะทุกวันนี้แผนผังมักเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ หน้าที่การงานบางอย่างก็เลยเปลี่ยนแปลงตาม วันดีคืนดีบริษัทอาจเพิ่มแผนกไอทีเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่กำลังเขามา ถ้าเรามีความสามารถด้านนั้นก็สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองไปยังตำแหน่งที่กำลังมีสปอตไลต์ส่องอยู่ จะได้เจริญเติบโตในหน้าที่การงาน ถึงตอนนั้น Career Path ที่เราวางไว้อาจเปลี่ยนแปลงไปอีกด้านหนึ่งก็ได้

 

2. กลับมาถามตัวเอง

เมื่อเราดูแผนผังองค์กร เห็นเป้าหมายของตัวเองชัดเจน ลองกลับมาถามตัวเองง่ายๆ ว่าเรามีแพสชันเพียงพอไหมสำหรับการผลักดันตัวเองไปให้ถึงตำแหน่งที่หวังไว้ มีเวลาและความอดทนพอไหมที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น แค่นั้นอาจไม่พอ เพราะเราต้องกลับมาดูทักษะการทำงานของตัวเองด้วยว่าตำแหน่งนั้นเรียกร้องความสามารถอะไรและเรามีคุณสมบัติเพียงพอหรือเปล่า ถ้าหากเราไม่มี ด้วยระยะเวลาที่เหลืออยู่เราสามารถฝึกฝนตัวเองเพื่อให้เหมาะสมกับตำแหน่งได้หรือไม่ ซึ่งอาจรวมไปถึงต้องศึกษาตำแหน่งนั้นว่าต้องมีความรับผิดชอบและดูแลส่วนไหนของบริษัทบ้าง ถามตัวเองอย่างจริงใจว่าสุดท้ายแล้วงานนี้จะยังสร้างความท้าทายให้กับตัวเองได้หรือไม่ และเราเห็นความเป็นไปได้ที่เราจะเติบโตไปตามที่เราวางแผนไว้หรือเปล่า

 

นอกจากถามตัวเองในมุมของหน้าที่การงานแล้ว ให้ถามตัวเองในมุมของชีวิตด้วย เพราะเมื่อทำงานมาสักระยะ รู้ว่าจะเติบโตไปตำแหน่งไหน แต่สิ่งที่ควรต้องคำนึงอีกอย่างคือความฝันและความต้องการของตัวเองว่าสุดท้ายแล้วเราอยากเติบโตไปเป็นอย่างที่ทิศทางการทำงานกำหนดให้เป็นหรือเปล่า เพราะธรรมชาติมนุษย์นั้นมีความฝันหลายอย่างที่อยากทำให้ประสบความสำเร็จและบรรดาความฝันที่มีทั้งหมดเราอยากทำอะไร และควรทำอะไร

 

เพราะเมื่อเราโตขึ้นความฝันเราจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงตอนนั้นเราจะเริ่มรู้ตัวว่าสิ่งที่ ‘อยาก’ ทำกับสิ่งที่เรา ‘ควร’ ทำนั้นเป็นคนละอย่างกัน สิ่งที่เราอยากทำอาจเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดและต้องใช้ความพยายามอย่างสูงกว่าจะประสบความสำเร็จ ส่วนสิ่งที่เราควรทำอาจไม่ใช่สิ่งที่เราอยากทำที่สุด แต่ความสามารถเราเหมาะสมและทำให้เราไปได้ไกลกว่า ถามตัวเองได้อย่างนั้นแล้วค่อยมาวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของเรา

เปรียบเทียบกับนักกีฬา บางคนอาจทำได้ทั้งวิ่งและว่ายน้ำ เขาอาจไม่ชอบวิ่งมากนักแต่สามารถทำได้ระดับมาราธอน ส่วนว่ายน้ำคือสิ่งที่รักแต่ทำได้ระดับกีฬาสี ถ้าอยากประสบความสำเร็จเขา ‘ควร’ เลือกวิ่งก่อน เพราะใช้เวลาน้อยกว่า ทำได้ดีกว่า ส่วนสิ่งที่ ‘อยาก’ ทำคือการว่ายน้ำ อาจตามมาในเวลาที่เหมาะสมก็ได้

 

3. องค์กรและหัวหน้าสนับสนุนหรือเปล่า

การวางแผนให้เส้นทางอาชีพจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น สิ่งที่สำคัญมากๆ คือหัวหน้าและออฟฟิศ หัวหน้าที่ดีจะสนับสนุนลูกน้องด้วยการสอนงานที่ไม่เพียงแต่ให้รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร แต่จะทำให้เห็นว่าตัวหัวหน้าเองมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบอะไรบ้าง เพื่อลูกน้องจะได้เห็นบทบาทของตำแหน่งที่ตัวเองกำลังจะก้าวไป นอกจากนั้นแล้วหัวหน้ายังมีส่วนในการดึงศักยภาพความถนัดของลูกน้องให้ได้ลองไปทำในสิ่งใหม่ๆ อาจทำให้ลูกน้องค้นพบตัวเอง และได้วางแผนการเจริญเติบโตตามทิศทางที่ตัวเองอยากไปด้วย

 

ส่วนออฟฟิศนั้นมีผลเป็นอย่างมากในการวางแผนให้เส้นทางอาชีพของพนักงาน เพราะบางออฟฟิศมีแผนผังองค์กรที่ชัดเจน รู้ว่าพนักงานคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นไปที่ตำแหน่งไหนและจุดสูงสุดของการทำงานคือตำแหน่งไหน แต่บางออฟฟิศซึ่งส่วนใหญ่เป็นออฟฟิศเล็กๆ จะไม่มีแผนผังที่ชัดเจน ทุกคนอยู่กันแบบพี่น้อง ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นอุปสรรคสำหรับพนักงานได้ หากถามหาความเจริญเติบโต เพราะไม่สามารถวางแผนในอนาคตให้ตัวเองได้ ส่วนออฟฟิศใหญ่ๆ ก็มีส่วนช่วยพนักงานในการวาง Career Path ได้ด้วยการเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน มีการอบรม เทรนนิ่ง หรือแม้แต่การกระทั่งหมุนเวียนงานเพื่อให้พนักงานได้แสดงศักยภาพของตัวเองให้ได้มากที่สุด ทุกสิ่งที่ออฟฟิศมอบให้จะย้อนกลับมาที่ตัวเรา ให้เราได้รู้จักตัวเอง ประเมินตัวเอง เพื่อที่จะวางแผนการทำงานต่อไปให้เหมาะสม

 

ถึงตรงนี้หลายคนเริ่มเห็นเป้าหมายและอนาคตการทำงานของตัวเอง แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมการวางแผนสำหรับอนาคต นั้นเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ถ้าสุดท้ายแล้วเราไม่สามารถทำได้อย่างที่หวังก็ไม่ใช่เรื่องผิดพลาดในชีวิต อย่ากดดันตัวเองจนไม่มีความสุขในการทำงาน บอกตัวเองว่าเป็นเรื่องที่สามารถปรับตามความเหมาะสมอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาจทำให้เราทั้งสามารถเห็นอนาคตและมีชีวิตการทำงานที่มีความสุข

 

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ นี่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องตั้งหน้าตั้งตาวางแผนชีวิตและพยายามทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย เพราะบางคนอาจมองความสุขระหว่างทางเป็นเรื่องสำคัญ เขาอาจพอใจกับชีวิตประจำวันที่มีอยู่ รู้ว่าการทำงานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีรายได้ แต่ความสุขอาจตั้งอยู่ที่เรื่องอื่น เช่น การได้มีเวลาอยู่กับครอบครัว การได้ทำงานอดิเรกที่ตัวเองรัก ก็ไม่ใช่เรื่องผิดบาปหรือเสียหาย เพราะในมุมหนึ่งการมีความสุขในทุกๆ วัน ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ก็ถือเป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

 


 

Credits

The Hosts ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

ไชยณัฐ สัจจะปรเมษฐ์

 

Show Creator ภูมิชาย บุญสินสุข

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Show Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Graphic Design Interns ธัญญา ศิริสัมพันธ์, พันธิตรา หอมเดชนะกุล

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

Music Westonemusic

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising