×

ชีวประวัติฉบับย่อของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’: ตอน 1 สร้างสังคมใหม่ให้ลูก

โดย THE STANDARD TEAM
04.09.2023
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เปลี่ยนสีแผนที่ประเทศไทย

 

“กราบสวัสดีพ่อแม่พี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของประเทศไทย” 

 

นี่คือคำประกาศของ ‘พิธา’ หลังคว้าชัยในการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยคะแนนรวมในระบบบัญชีรายชื่อมากกว่า 14 ล้านเสียง คิดเป็นจำนวน 39 ที่นั่งในสภา และชนะการเลือกตั้งใน 112 เขตทั่วประเทศ ทุกภูมิภาค 

 

วันนี้แผนที่ประเทศไทยหลังยุคสงครามสองสีเปลี่ยนเป็นสีส้มเกือบทั้งแผ่นดินแล้ว

 

พิธาเข้าสู่แวดวงการเมืองในปี 2561 โดยคำชวนจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้ง-หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เขาเป็น สส. จากบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 4 ของพรรคอนาคตใหม่ พร้อมตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

 

บททดสอบความเป็นผู้นำทางการเมืองครั้งสำคัญของพิธาเริ่มเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ และพิธาต้องเข้ารับไม้ต่อเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมนำทัพสู่สนามเลือกตั้งปี 2566 

 

ความพร้อมในการเป็นผู้นำประเทศของพิธาถึงขนาดที่จะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มาจากทั้งผู้คน สถานที่ และการเดินทาง โดยเฉพาะ 2 สถานที่ในชีวิตที่หล่อหลอมให้พิธาเป็นผู้นำอย่างทุกวันนี้ นั่นคือนิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

 

อยู่ไม่เป็น โลกจึงเปลี่ยน 

 

พิธาเติบโตและใช้ชีวิตในวัยเด็กตั้งแต่อายุ 12 ปีที่ประเทศนิวซีแลนด์ โดยอาศัยอยู่ในครอบครัวของชาวนิวซีแลนด์ที่เป็นคอการเมือง เขาเล่าว่าพ่อกับแม่ชาวนิวซีแลนด์จะถกกันทุกวันบนโต๊ะอาหาร ทั้งปัญหาปากท้อง ปัญหาที่ดิน ปัญหาโรงงานปล่อยสารพิษลงแม่น้ำ

 

ทีวีในบ้านจะเปิดการประชุมสภาฟังเป็นประจำ เสียงของ จิม โบลเกอร์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เป็นเสียงที่เขาจดจำถึงวันนี้ ทุกเรื่องที่พูดกันในสภาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และเป็นปัญหาจริงที่ประชาชนชาวนิวซีแลนด์กำลังเผชิญอยู่

 

ทั้งเสียงถกกันเข้มข้นจากครอบครัวในบ้าน และเสียงอภิปรายจริงในสภา เป็นสิ่งที่ฝังชิปการเมืองเข้าไปในตัวพิธาตั้งแต่อายุ 12 ปีจนถึงวันนี้

 

ที่ห้องรับแขกของบ้านมีรูปหนึ่งติดอยู่บนผนัง พิธาเล่าว่าเป็นภาพที่สั่นคลอนและทำให้กระดิ่งในใจของเขาดังตั้งแต่วันนั้น เป็นภาพกลุ่มผู้หญิงอยู่ไม่เป็นเมื่อปี 2436 เป็นกลุ่มคนในประเทศนิวซีแลนด์ที่เรียกร้องสิทธิให้เลือกตั้งได้ ให้ผู้หญิงสามารถไปโหวตได้เท่าผู้ชาย

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ภาพ: Auckland Weekly News (1910) 

https://www.facebook.com/notes/1023450094797371/

 

“ตอนนั้นเป็นเรื่องที่อยู่ไม่เป็นเอามากๆ และเขาทำสำเร็จเมื่อปี 2436 กลายเป็นโดมิโนแห่งความก้าวหน้าที่สู้กับแรงเฉื่อยของสังคมสมัยนั้น”

 

ภาพของคนกลุ่มนี้ฝังชิป-ฝังดีเอ็นเอให้กับพิธาว่า “อยู่ไม่เป็นคือคนที่กล้าพูด Speak up ในสิ่งที่เขาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง เขาไม่ยอมจำนน แล้วเขา Speak up เพื่อที่จะให้สังคมนั้นมันยุติธรรมขึ้น”  

 

“ดีเอ็นเอของคนอยู่ไม่เป็น นอกจาก Speak up แล้วต้อง Show up กล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะสู้กับความไม่เท่าเทียม กล้าที่จะสู้กับวิธีคิด แรงเฉื่อยของสังคมเก่าๆ และทำให้สังคมนั้นมันเท่าเทียมมากขึ้น” 

 

“ถ้าพรรคอนาคตใหม่อยู่เป็น ทำการเมืองแบบเดิมๆ มีหัวคะแนน มีพรรคมีพวก มีแต่ สส. หน้าเก่า มันจะเป็นไปได้ไหมครับที่พรรคอนาคตใหม่จะมีคนสนับสนุนถึง 6.3 ล้านคน และมีผู้แทนราษฎรนั่งอยู่ตรงนี้ถึง 80 คน” 

 

“ถ้าจะทำวิธีแบบเดิม อยู่เป็นเหมือนเดิม โลกไม่มีทางเปลี่ยน”

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

งาน ‘อยู่ ไม่ เป็น’ จัดขึ้นโดยพรรคอนาคตใหม่ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2562

 

เกษตรก้าวหน้า

 

ที่นิวซีแลนด์ พิธาอาศัยอยู่ที่บ้านไร่กลางชนบทในเมืองแฮมิลตัน ทางตอนเหนือของประเทศ ผู้คนและสภาพแวดล้อมถือเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในนโยบายเกษตรก้าวหน้า ซึ่งกลายเป็นคำอภิปรายแรกของพิธาในรัฐสภาที่ได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วสารทิศถึงความเข้าใจในรากของปัญหา มีแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และถูกนำเสนอในที่สาธารณะอย่างเป็นระบบ

 

“นึกถึงแม่บ้านที่นิวซีแลนด์เป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมเขามีบ้านหลังใหญ่ เขาไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ เขามีที่ดินทำฟาร์มโคนมเอง เขาสามารถเอาที่ดินไปเข้าแบงก์ได้ ทำให้เขามีเงินหมุน พอไม่ต้องเสียค่าเช่าที่ ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบ เขาก็เข้าสู่ระบบทุนนิยมได้เหมือนคนทั่วไป พอชีวิตพื้นฐานไม่ต้องดิ้นรน มีกำไร มีเงินเก็บ เขาก็เริ่มคิดว่าต้องเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิต

 

“องุ่นพวงหนึ่งราคากี่บาท ไวน์ขวดหนึ่งราคากี่บาท เครื่องสำอางที่มาจากรกแกะราคาต่างกันกี่เท่า…ราคาเท่ากับผลผลิตที่หาได้สองเดือน เขาก็เปลี่ยนจากทำมากได้น้อยเป็นทำน้อยได้มาก ซึ่งนี่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศเขาด้วย

 

“ผมจำได้ตอนเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ม.5 นิวซีแลนด์บอกว่าจะไม่ทำทุกอย่าง Strategy is choosing what to do. ยุทธศาสตร์คือการเลือกว่าจะไม่ทำอะไร เขาเลือกเลยว่าเค้าโครงเศรษฐกิจที่มีภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ เขาเลือกเก็บภาคเกษตรกับบริการไว้ แล้วเพิ่มมูลค่าให้ภาคเกษตร ทำให้การเกษตรเชื่อมกับการบริการ และใช้โลกาภิวัตน์กับอุตสาหกรรมจากประเทศอื่นที่ทำได้ดีกว่า”

 

แรงบันดาลใจจากนิวซีแลนด์ ผสานด้วยการเดินทางของพิธาไปเรียนรู้จากพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศที่หน้างานจริง ทำให้พิธาสรุปรวบยอดความคิดเป็นคำอภิปราย ‘กระดุม 5 เม็ด โมเดลแก้ปัญหาการเกษตรไทย’ คือ ที่ดิน-หนี้สิน-เคมี-แปรรูป-ท่องเที่ยว เพื่อพาพี่น้องเกษตรกรออกจากวงจรหนี้สิน

 

ตัวพิธาเองยังให้ความสนใจกับประเด็นการปฏิรูปที่ดินอย่างมาก เขาเคยเขียน ‘จดหมายถึงนายกรัฐมนตรี’ ว่า 1 ใน 3 สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการปฏิรูปที่ดิน พิธาเล่าว่า อาจารย์ฝรั่งของเขามองว่าที่ดินในประเทศไทยจำนวนมากถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่ว่างและสูญเปล่า เมื่อเทียบกับญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ซึ่งมีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ต้องเอาขยะมาถมเพื่อให้มีที่ดินอยู่อาศัยและเกิดมูลค่า 

 

“เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ประเทศที่มีพื้นที่เยอะแยะ มีดินและน้ำสมบูรณ์ประหนึ่งมีทองคำอยู่ข้างใต้อย่างเรา กลับไม่นำที่ดินมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่” 

 

พิธาเสนอให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปที่ดินที่ไม่ใช้ประโยชน์ “พลิกแผ่นดินทุกตารางเมตรให้มีคุณค่า” ทั้งสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและสร้างความมั่งคั่ง 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

 

สร้างสังคมใหม่ให้ลูก

 

ไม่ใช่แค่เกษตรก้าวหน้า แต่นิวซีแลนด์ยังเป็นต้นแบบของสังคมใหม่ที่เขาอยากสร้างให้กับลูก



“ผมก็เป็นชนชั้นกลาง หาพี่เลี้ยงลูกได้ ส่งลูกเรียนโรงเรียนเอกชนได้ แต่ถ้าจะให้ลูกมีชีวิตที่ดีก็ทำให้ผมหมดความฝันเรื่องอื่นไปเหมือนกัน เมื่อเทียบกับพ่อบ้านแม่บ้านที่นิวซีแลนด์ พ่อแม่ไม่ต้องเสียสละความเป็นตัวตนของตัวเองมาก



“แต่ที่นี่มันมีราคาที่ต้องจ่ายเยอะมาก ทั้งค่าเล่าเรียน เวลา การเดินทาง ความปลอดภัย ในขณะที่เด็กนิวซีแลนด์มีรถบัสที่ปลอดภัย มีทางเท้าที่เด็กเดินได้ มีทางจักรยานที่ไม่ต้องกลัวถูกรถเฉี่ยวชน มีสวนสาธารณะที่อากาศสะอาด



“แม้จะเป็นชนชั้นกลางก็เทียบกับชนชั้นธรรมดาในนิวซีแลนด์ไม่ได้อยู่ดี พูดง่ายๆ คือ ค่าเฉลี่ยของประเทศอื่น มันเป็นพรีเมียมของประเทศนี้ ทำให้เราทำงานได้ไม่เต็มที่และมีราคาที่ต้องจ่ายสูง” 

 

สังคมใหม่ที่พิธาสร้างไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพชีวิต แต่เป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่พลเมืองทุกคนพึงได้รับ 

 

ในการอภิปรายหนหนึ่งเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พิธาลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาในการประกันตัวของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาในฐานความผิดจากการแสดงออกทางการเมือง เพื่อส่งให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐและความยุติธรรม

 

คลิปวิดีโอการอภิปรายครั้งนั้นถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ เป็นอีกครั้งที่ยืนยันถึงแนวทางการทำงานการเมืองในฉบับของพิธาด้วย ‘การเมืองแบบพ่อคน’ 

 

“ทุกครั้งที่ผมไปหาคุณตะวันและคุณแบม ผมมองตาตะวันแล้วเห็นพิพิม ลูกสาวของผมอยู่ในนั้น บูมเมอแรงปาออกไปมันกลับมาหาเรา ผู้แทนราษฎรในที่นี้ มีพ่อแม่ของเราที่สู้มาก่อน มีเราที่กำลังสู้อยู่ และมีลูกหลานของท่านที่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าวันหนึ่งเขาอาจเอาชีวิตเข้าไปแลกกับเสรีภาพขั้นพื้นฐานของความเป็นพลเมือง อาจเป็นลูกของผมก็ได้ เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของเราทุกคนในประเทศไทย การที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่มีสิทธิเสรีภาพ ก็เท่ากับไม่มีสิทธิเสรีภาพ ไม่มีความเที่ยงตรงกับคนไทยทั้งประเทศเช่นกัน”

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ 

 

‘อยู่ไม่เป็น โลกจึงเปลี่ยน’ คือตัวตนของพิธาที่พาเขาก้าวสู่พรรคอนาคตใหม่ถึงพรรคก้าวไกล จากนักธุรกิจถึงนักการเมือง หัวหน้าพรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเคยเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศ

 

‘เกษตรก้าวหน้า’ และ ‘การปฏิรูปที่ดิน’ คือหนึ่งในข้อเสนอที่อยู่ในใจพิธามาตลอด ถึงขนาดเคยเขียนจดหมายเสนอถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อหวังพลิกแผ่นดินทุกตารางเมตรให้มีคุณค่า และทำให้พี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

 

‘สร้างสังคมใหม่ให้ลูก’ และ ‘การเมืองแบบคนเป็นพ่อ’ คือแนวโน้มและโฉมหน้าของรัฐบาลใหม่ และสังคมใหม่ที่พิธาอยากสร้างขึ้น

FYI

ข้อเขียนชิ้นนี้เรียบเรียงจากหนังสือ 2 เล่ม

  • ไม่สนว่าเก่งมาจากไหน (2555) โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
  • วิถีก้าวไกล (2564) โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ Fall forward ทิม พิธา บนวิถีก้าวไกล เรียบเรียงโดย วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising