×

พัชรวาทประกาศสงคราม PM2.5 เรียกธรรมนัสวางแผนหาแนวทางการเผาของกลุ่มเกษตรกรรม แก้ปัญหาฝุ่นพิษ

โดย THE STANDARD TEAM
20.12.2023
  • LOADING...
PM2.5

วันนี้ (20 ธันวาคม) ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เป็นประธานการประชุมหารือมาตรการจัดการไฟในพื้นที่เกษตรกรรม โดยชุดแรกได้เชิญ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน 

 

พล.ต.อ. พัชรวาทกล่าวว่า เนื่องจากปัญหาฝุ่น PM2.5 มีระดับเข้มข้นขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือเพื่อหาแนวทางรับมือร่วมกัน โดยเฉพาะภาคเกษตรที่จะเข้าสู่ฤดูกาลของการเผา ในที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่า มาตรการที่เคยดำเนินการมาอาจไม่ได้ผล เพราะปริมาณฝุ่นไม่ลดลง จึงเห็นควรประกาศสงครามกับ PM2.5 การเผา และควรมีการสื่อสารกับประชาชนว่าการเผาผิดกฎหมายอาญา เข้าข่ายการวางเพลิง มีโทษสูงทั้งถูกจับและปรับ 

 

หากพบว่าในที่ดิน ส.ป.ก. มีการเผา อาจมีการยกเลิกสิทธิในการออกเป็นโฉนด รวมทั้งที่ดินจากคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติอาจถูกยึดคืน ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอให้มีการล็อกเป้าตรึงพื้นที่เกษตรในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ ไม่ควรมีการเผาเพราะเป็นช่วงวิกฤต หรือให้มีการเผาน้อยที่สุด ควรมีมาตรการลดการเผาตอซังข้าว โดยเสนอให้ช่วยเหลือเกษตรกรเรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น น้ำยาอีเอ็มช่วยย่อยสลาย หรืออาจร่วมมือกับเอกชนรับซื้อใบอ้อย ใบข้าวโพดมาอัดเป็นพลังงานชีวมวล และการไม่รับซื้ออ้อยที่เผาไฟ เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะนำไปปรับแก้แล้วนำกลับเสนอให้คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนพิจารณาในวันที่ 21 ธันวาคมต่อไป

 

หลังจากประชุมชุดแรกแล้วเสร็จ พล.ต.อ. พัชรวาทได้เป็นประธานการประชุมควบคุมฝุ่นละอองจากภาคจราจร โดยมีตัวแทนจากกรมการขนส่งทางบก, รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล, ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจจราจร, และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี, นนทบุรี, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม.

 

พล.ต.อ. พัชรวาทกล่าวว่า วันนี้ที่เชิญทุกหน่วยงานมา เพื่อขอความร่วมมือให้เข้มงวดกวดขันเรื่องรถควันดำ และควรมีการจัดชุดปฏิบัติการตรวจให้มีความถี่ขึ้น และควรเพิ่มชุดตรวจให้มากยิ่งขึ้น ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งต้องประสานความร่วมมือกันระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับตำรวจจราจร ในการทำงานจะได้ไม่ซ้ำซ้อนในด้านพื้นที่ตรวจสอบรถควันดำ ขณะเดียวกันขอฝากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปริมณฑล ช่วยตรวจตราการเผาในพื้นที่เกษตรกรด้วย

 

ครม. เห็นชอบ แก้ PM2.5 พร้อมตั้งเป้ากำหนด KPI 

 

วานนี้ (19 ธันวาคม) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในปี 2567 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอให้ออกมาตรการพร้อมกลไกการบริหารจัดการ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ไปดำเนินการ รวมทั้งเสนอให้รับทราบแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ปัญหาหมอกควันฝุ่นพิษนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปีจนถึงต้นปี จะมีมรสุมความกดอากาศทางตอนเหนือ ส่งผลให้อากาศไม่กระจายตัว

 

อีกทั้งในปีนี้เข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดหมอกควันคือไฟป่า การเผาพื้นที่ทางการเกษตร หมอกควันข้ามพรมแดน และควันจากการจราจร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เสนอให้จัดทำมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 และเสนอกลไกแก้ไขระดับชาติและในพื้นที่ โดยเน้นมาตรการ 5 ข้อคือ 

 

  1. กำหนดพื้นที่เป้าหมายในภาคเหนือ 17 จังหวัด กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เป็นป่าอนุรักษ์ 10 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติ 10 แห่ง รวมถึงพื้นที่ทางการเกษตรที่เคยมีประวัติการเผาซ้ำซาก

 

  1. สร้างกลไกการทำงานให้เอกชนเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเพื่อลดข้อจำกัดด้านงบประมาณ 

 

  1. จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อสั่งการลงสู่ระดับพื้นที่ 

 

  1. การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค 

 

  1. ยกระดับการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนให้เข้มข้น จากระดับภูมิภาคอาเซียนไปสู่การเจรจาระดับทวิภาคี 

 

ทั้งนี้ มีการกำหนดเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และกำหนดให้เป็น KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมตั้งเป้าลดการเผา 50% ในเขตป่าอนุรักษ์ และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ถัดมาเป็นพื้นที่เป้าหมายรองที่ไม่ได้อยู่ใน 17 จังหวัด ให้ตั้งเป้าว่าต้องลดการเผาลง 20% ส่วนพื้นที่เกษตรอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในภาคเหนือ 17 จังหวัด ให้ลดการเผาลง 10%

 

สำหรับการกำหนด KPI ในแต่ละพื้นที่มีดังนี้ ภาคเหนือค่าเฉลี่ยต้องลดลง 40% กรุงเทพมหานครลดลง 20% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 10% และภาคกลางลดลง 20% ส่วนจำนวนวันที่มีหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน ภาคเหนือต้องลดลง 30% กรุงเทพมหานคร 5% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5% และภาคกลาง 10%

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising