×

ไอติม พริษฐ์ หลังประกาศลาออกประชาธิปัตย์: พรรคการเมืองที่พรรคใหญ่กว่าตัวบุคคล

17.06.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ไอติมเผยว่า New Dem แต่ละคนมีแนวทางการตัดสินใจที่ต่างกัน ภายใต้ข้อจำกัดเงื่อนไขของแต่ละคน
  • ไอติมเปิดเผยว่า สำหรับการตั้งพรรคใหม่ยังเป็นเรื่องของอนาคต
  • ในมุมของไอติม หน้าที่ของนักการเมืองคือการเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศ เขาเลือกเราหรือไม่เลือกเราเป็นสิทธิของประชาชน และเป็นสิ่งที่ต้องน้อมรับ

หลังจาก ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตแกนนำกลุ่ม New Dem ของพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศลาออก มีข่าวที่เกี่ยวเนื่องมากมายต่ออนาคตของเขาว่าจะเดินอย่างไรต่อ ทั้งเรื่องการตั้งพรรคใหม่ การเข้าร่วมพรรคอื่น หรือแม้กระทั่งในเวลานี้ยังมีคนลุ้นให้เขากลับมาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง

 

ไอติมบอกในรายการ THE STANDARD Daily ว่า “ถ้าจะกลับเข้าไปใหม่ ต้องมีมาตรฐานความเชื่อมั่นที่สูงมากกว่าตอนแรกที่เข้ามาอีก”

 

แล้ววันนี้ไอติมมองประชาธิปัตย์อย่างไร มองเห็นหน้าที่ของนักการเมืองอย่างไร และสำหรับไอติม ระหว่าง โทนี แบลร์ กับ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ 2 นักการเมืองที่เขาเห็นว่าประสบความสำเร็จทางการเมือง ใครคือนักการเมืองที่มีแนวทางตรงกันกับเขามากกว่า

 

ชวนหาคำตอบได้จากการพูดคุย (อีกครั้ง) กับ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ ในวันที่ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่เหมือนว่าการเมืองปัจจุบันจะไม่ต่างไปจากอดีตสมัยเด็กๆ ของไอติมมากนัก

 

 

การตัดสินใจลาออกจากพรรค โดยส่วนตัวใจหายไหม

ใจหายมาก คือเป็นการตัดสินใจที่ผมคิดว่าชัดเจนมากในเชิงหลักการ แต่ในตัวอารมณ์ความผูกพันที่มีกับคนในพรรคเป็นอะไรที่เราใจหายเหมือนกัน จำได้ว่า ณ วินาทีที่ผมโพสต์ (ลาออก) วันที่ดูประชุมสภา วันที่ตัดสินใจว่าเหมาะสมแล้วที่เราต้องออกจากกลุ่มไลน์ทุกกลุ่มเพื่อให้พรรคทำงานได้อย่างไม่ต้องกังวล ก็ลำบากใจเหมือนกัน

 

ตอนนั้นยังแอบหวังอยู่ไหม

เราสู้จนวินาทีสุดท้าย ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนนับแต่ผลเลือกตั้งออก จนวันที่มีมติพรรคว่าจะเข้าร่วม เราก็พยายามทำทุกทางภายใต้การให้เกียรติพรรค ภายใต้ความเหมาะสม เพื่อหาทางออก ทางเลือกให้กับพรรค คิดว่าจะดีที่สุดต่อประเทศและซื่อตรงต่ออุดมการณ์ประชาธิปัตย์

 

 

 

ใช้เวลานานไหมตอนแจ้งว่าจะลาออก

ไม่นานมาก แล้วก็ความจริงต้องขอบคุณผู้ใหญ่ในพรรคที่แม้เห็นต่างกับผม ก็ให้เกียรติผมเสมอ ตอนที่ไปลาออกกับคุณจุรินทร์ มีผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเห็นต่างกับผม พอผมพูดกับคุณจุรินทร์เสร็จก็จะเงียบไปสักพัก แล้วเขาก็พูดขึ้นมาว่า ไอติมเขาคิดอย่างนี้จริงๆ เขาพูดอย่างนี้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าพรรคแล้ว คนในพื้นที่ผมที่ชื่นชมก็เพราะเห็นด้วยตรงนี้ เขาคงเส้นคงวา เขาก็เข้าใจ คุณจุรินทร์ก็เคารพการตัดสินใจ

 

ตอนนี้ในส่วนของ New Dem มีทั้งหมดกี่คนแล้วที่ตัดสินใจลาออกตั้งแต่วันที่มีมติพรรคออกมา

ไม่มีความพยายามจะนับ คือผมถือว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล New Dem เป็นผู้สมัครหน้าใหม่ของประชาธิปัตย์ ซึ่งเข้ามาเพราะอยากผลักดันนโยบายคนรุ่นใหม่เข้าไป ก็มี 30 กว่าคน ยอมรับว่ามีความเห็นแตกต่าง แม้แต่คนที่เห็นด้วยกับผมก็มีวิธีเดินต่อที่แตกต่างกันไป มันไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่ายสำหรับใครก็ตาม

 

ได้คุยกับคุณอภิสิทธิ์หรือยัง

การตัดสินใจลาออกผมแจ้งเช้าวันก่อนผมตัดสินใจ คุณอภิสิทธิ์เขาก็แย้มๆ ว่าคงตัดสินใจคล้ายกัน

 

มีโอกาสที่วันหนึ่งจะกลับเข้าไปประชาธิปัตย์ไหม

เป็นเรื่องของอนาคตเลย แต่เราต้องมีความเชื่อมั่นในพรรคมาก ในหลักการ อุดมการณ์ เพราะการตัดสินใจออกมาไม่ใช่การตัดสินใจที่ง่าย การตัดสินใจเข้ามาก็ไม่ง่าย การออกมายิ่งยากกว่าอีก ถ้าจะกลับเข้าไปใหม่ต้องมีมาตรฐานความเชื่อมั่นที่สูงมากกว่าตอนแรกที่เข้ามาอีก

 

คำว่าประชาชนเป็นใหญ่ ประชาธิปไตยสุจริต สำหรับไอติมตอนนี้ยังศักดิ์สิทธิ์ไหม

ต้องชี้แจงว่าตอนที่ผมตัดสินใจลาออกหลังมีมติพรรค ก็มีหลายคนบอกไม่เห็นเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ทุกคนก็ไปลงเลือกตั้งกัน คุณไม่เห็นด้วยกับพลังประชารัฐ คุณไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ ผมก็พูดว่าการที่เราเห็นต่างกับเขาไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ผมเชื่อว่าทุกพรรคที่มาสู้ในระบบประชาธิปไตยต้องยอมรับพื้นฐาน กติกาที่เป็นกลาง แล้วเราก็เห็นว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองโลกสวยสุด ก็เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐได้ผลพลอยได้โดยบังเอิญ หรือถ้ามองแง่ร้ายสุดก็คือมีส่วนเกี่ยวข้องชัดเจนในหลายๆ เหตุการณ์ เห็นได้ว่ากติกาไม่เป็นประชาธิปไตย

 

อย่างประชามติที่ไม่สามารถคัดค้านได้ ไม่ว่าการที่มี ส.ว. 250 คนเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ผมไม่มั่นใจว่าพลังประชารัฐจะต่อสู้บนพื้นฐานประชาธิปไตยที่เท่าเทียมเป็นกลางจริงๆ

 

แล้วไอติมไปอย่างไรต่อ

กำลังศึกษา Social Enterprise อยู่ว่าจะมีตรงไหนทำประโยชน์ให้กับสังคมได้

 

มีพรรคอื่นมาชวนไหม

ผมชัดมาตลอดว่ายังไม่มีความคิดจะเข้าพรรคการเมืองไหน ยังไม่มี

 

 

 

ถ้าสมมติวันหนึ่งมาถึง การเลือกตั้งอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด คุณคิดอย่างไร

คือผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศที่เร็วที่สุดคือเส้นทางทางการเมือง นั่นคือเหตุผลที่ทำไมผมเลือกเส้นทางนี้ แน่นอนเมื่อต้องสังกัดพรรคการเมือง ก็ใช้เวลามากว่าจะสังกัดพรรคการเมืองไหน และตอนนี้ก็ยังไม่มีความคิดจะไปอยู่พรรคอื่น

 

ทางเลือกที่สามคือตั้งพรรคใหม่ คิดในหัวไหม เพราะคุณกษิต ภิรมย์ก็ออกมาบอกว่าจะตั้งพรรค

ผมก็ตกใจ มีนักข่าวมาถามผม ผมก็ย้อนไปดู ก็ไม่มีตรงไหนบอกตรงๆ แต่ผมก็คิดว่าเป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะคนรู้สึกว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนเป็นตัวแทนของเขาจริงๆ แต่ว่าเป็นเรื่องของอนาคต

 

แล้วนอกเหนือจากทุกวันนี้ที่ถูกเชิญไปสอน ไปงานเสวนา ได้มีเวลาให้ตัวเองหรือยัง เหมือนวัยรุ่นทั่วไป

มีเวลากับเรื่องส่วนตัวมากขึ้น แต่ว่าคงไม่อยู่แบบนี้อีกนาน

 

ในบรรดาคนที่เข้าไปเป็น ส.ส. ตอนนี้มีคนที่ไอติมสนิทแล้วอยากให้กำลังใจเป็นพิเศษไหม คนละพรรคก็ได้

ผมก็ให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ประชาธิปัตย์ที่เข้าไป หลายคนแนวคิดอาจจะไม่ต่างกับผมมาก แต่ด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ อาจทำให้ตัดสินใจถึงวิธีการที่แสดงจุดยืนต่างกันออกไป

 

ต่อเรื่องการมีข่าวซื้องูเห่า บางกรณีมีถึงหลักร้อยล้านขึ้นไป โดยส่วนตัวเชื่อไหม

ไม่อยากวิจารณ์เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่ถามว่าอดีตมีไหม เห็นว่ามี แล้วถามว่าการเมืองปัจจุบันต่างจากการเมืองที่ผมเคยเห็นตอนเด็กๆ ไหม ต้องยอมรับว่าไม่ต่างมาก

 

คิดว่าอุดมการณ์ของตัวเองที่มั่นคงชัดเจนมากเกินไป จนบางครั้งเหมือนต่อสู้คนเดียว มันเป็นส่วนที่ทำให้เราพ่ายแพ้ในครั้งนี้ไหม

ผมคิดว่าถ้าจะเข้ามาทำการเมืองโดยไม่มีอุดมการณ์ ผมไม่เข้ามาดีกว่า การเมืองเป็นเรื่องของอุดมการณ์ ไม่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ผมยกตัวอย่างนักการเมือง 2 ประเภท ที่ประสบความสำเร็จจากการเลือกตั้งเท่าๆ กัน มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และ โทนี แบลร์ ทั้งสองประสบความสำเร็จมาก ชนะการเลือกตั้งคนละ 3 ครั้ง ทั้งสองมีการทำงานที่ต่างกันไหม ผมว่าต่างกันมาก

 

แทตเชอร์เป็นนักการเมืองที่เชื่อในอุดมการณ์ของเขา หลังจากรับฟังไตร่ตรองความคิดเห็น เขาเชื่อว่านี่เป็นทางที่ดีที่สุดของประเทศ เขามองว่าหน้าที่ของเขาคือโน้มน้าวให้มองเห็นว่านี่คือสิ่งที่ประเทศต้องการ คนจะเลือกเขาน้อยหรือมากไม่สำคัญ

 

คนที่ไม่ได้เลือกเขา หรือคนที่อยู่ตรงกลางก็ไปเลือกทางอื่น ความหนักแน่นของแทตเชอร์เป็นอะไรที่ผมนับถือมาก ท้ายสุดแล้วนโยบายของเขาผมไม่ได้เห็นด้วยทุกอย่าง ความจริงอุดมการณ์ผมกับเขาต่างกันค่อนข้างเยอะ แต่นับถือ ถือว่าเขาเป็นผู้นำทางความคิด โน้มน้าวให้คนมาเห็นสิ่งที่เขาปักหลักไว้

 

ในทางกลับกัน โทนี แบลร์ ผมใช้คำว่าเป็นผู้ตามทางความคิด คือจะออกนโยบายอะไรออกมามีการทำโพลทุกครั้ง เพื่อไปตามล่าหากลุ่มฐานเสียงที่มีจำนวนมากที่สุด โดยที่ไม่มีความชัดเจนว่าเขาเชื่อจริงๆ อย่างที่เขาเสนอหรือเปล่า แต่ก็ประสบความสำเร็จ แต่ถามว่าได้ทำตามความเชื่อของเขาจริงๆ หรือเปล่า ตรงนี้ผมไม่แน่ใจ

 

เป็นวิธีที่ต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าแทตเชอร์ไม่ต้องฟังคน การรับฟังเป็นอะไรที่เราต้องทำเพื่อนำมาหล่อหลอมว่าอุดมการณ์ของเราคืออะไร แต่หน้าที่ของนักการเมืองคือการเสนอทางเลือกที่ดีที่สุดของประเทศ เขาเลือกเราหรือไม่เลือกเราเป็นสิทธิของประชาชนและเป็นอะไรที่เราต้องน้อมรับ

 

คิดว่าอนาคตใหม่ทำเหมือนกับแนวทางของคุณไหม ทางเลือกของเขาอาจไม่ได้เหมือนของคุณ

ผมว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จค่อนข้างสูงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็คือความชัดเจนทางอุดมการณ์ ไม่ได้บอกว่าเห็นด้วยทุกอย่าง เห็นต่างทุกอย่าง แต่อย่างน้อยผมคิดว่าคนในพรรคเขาส่วนมากคิดตรงกัน มีอุดมการณ์ที่ตรงกัน เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่ความชัดเจนในทุกข้อความที่ส่งออกไป ทำให้ประชาชนรู้ว่าเลือกแล้วได้อะไร

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising