×

Paradise Papers มหกรรมแฉทุจริต 13 ล้านไฟล์ ราชินีอังกฤษ รัฐมนตรีทรัมป์ ผู้ถือหุ้นอาร์เซนอลโดนถ้วนหน้า

06.11.2017
  • LOADING...
Paradise Papers

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • พาราไดซ์ เปเปอร์ส (Paradise Papers) คือการเปิดโปงข้อมูลการทุจริตสุดอื้อฉาวของเหล่าคนดัง ผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ตลอดจนบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกที่ได้จัดตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาบนหมู่เกาะในประเทศต่างๆ เพื่อใช้เป็นช่องทางทุจริตหลบเลี่ยงภาษีก้อนโต
  • ข้อมูลในพาราไดซ์ เปเปอร์สมีจำนวนมากกว่า 13.4 ล้านไฟล์ ขนาด 1.4 เทราไบต์ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากปานามา เปเปอร์ส คดีเปิดโปงข้อมูลการทุจริตและการคอรัปชันกับการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต เพื่อทำการฟอกเงินและเลี่ยงภาษีเมื่อปี 2016
  • สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 , นายฟาร์ฮัด โมชิริ ผู้ถือหุ้นใหญ่สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน, นายอลิเชอร์ อุสมานอฟ ผู้ถือหุ้นใหญ่สโมสรอาร์เซนอล, สตีเฟน บรอนฟ์แมน ที่ปรึกษาคนสนิทของจัสติน ทรูโด และวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีกระทรวงพานิชย์สหรัฐฯ ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในกรณีพาราไดซ์ เปเปอร์ส

เมื่อช่วงเวลา 22.00 น. ของคืนวันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน ตามเวลาประเทศอังกฤษ The Guardian รายงานกรณีเปิดโปงข้อมูลการทุจริตสุดอื้อฉาว ‘พาราไดซ์ เปเปอร์ส’ (Paradise Papers) ที่เหล่าคนดัง ผู้มีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ตลอดจนบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลกได้จัดตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมาบนหมู่เกาะในประเทศต่างๆ เพื่อใช้เป็นช่องทางทุจริตหลบเลี่ยงภาษีก้อนโต

 

พาราไดซ์ เปเปอร์ส มาจากไหน?

พาราไดซ์ เปเปอร์ส เป็นผลงานของทีมนักข่าวจำนวนกว่า 381 คน จาก 67 ประเทศที่ใช้ระยะเวลาในการสอบสวนทั้งหมด 1 ปีค้นหาเอกสารย้อนหลังกว่า 70 ปี จำนวนกว่า 13.4 ล้านไฟล์ ขนาด 1.4 เทราไบต์ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจาก ‘ปานามา เปเปอร์ส’ (Panama Papers) คดีเปิดโปงข้อมูลการทุจริตและการคอรัปชันกับการถือครองบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore Company) เพื่อทำการฟอกเงินและเลี่ยงภาษีเมื่อปี 2016 ซึ่งมีขนาด 2.6 เทราไบต์

     

เชื่อกันว่าการเปิดโปงสุดอื้อฉาวในครั้งนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่ข้อมูลต่างๆ จำนวนกว่า 6.8 ล้านไฟล์รั่วไหลมาจาก ‘Appleby’ บริษัทผู้ให้บริการด้านกฎหมายในเบอร์มิวดา และอีกส่วนหนึ่งมาจากบริษัท Asiaciti และอีก 19 บริษัทจดทะเบียนในความดูแลของรัฐต่างๆ เช่น บาฮามาส, แอนติกาและบาร์บูดา, ตรินิแดดและโตเบโก, มอลตาและเลบานอน

     

โดยข้อมูลทั้งหมดได้รับการส่งต่ออีกทอดหนึ่งระหว่างหนังสือพิมพ์ซุดดอยต์เชอ ไซตุง (Süddeutsche Zeitung) ในเยอรมนี และสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ก่อนเผยแพร่ต่อไปยังสำนักข่าวพันธมิตรอย่าง The Guardian, BBC และ New York Times เพื่อรายงานความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

‘ราชินีอังกฤษ คนสนิททรูโด สมาชิกรัฐบาลทรัมป์ คนดังทั่วโลก’ โดนกันถ้วนหน้า

 

พาราไดซ์ เปเปอร์ส ได้เปิดโปงกรณีการทุจริตที่เกิดขึ้นและพบว่าคนที่มีชื่อเสียง บริษัทดังๆ ตลอดจนทีมกีฬาพัวพันเป็นจำนวนมหาศาล ดังนี้

 

  • ทรัพย์สินส่วนพระองค์มูลค่าหลายสิบล้านปอนด์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) ประจำประเทศอังกฤษที่ลงทุนบนหมู่เกาะเคย์แมนไปกับร้านค้าปลีก ‘BrightHouse’
  • สตีเฟน บรอนฟ์แมน (Stephen Bronfman) ที่ปรึกษาคนสนิทของนายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา จัสติน ทรูโด มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์ที่เข้าข่ายการทุจริต
  • สมาชิกรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกามีส่วนพัวพันในการทำธุรกิจที่ไม่โปร่งใส โดยที่นายวิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังได้รับการจ่ายเงินจากบริษัทซึ่งมีลูกเขยของวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีประเทศรัสเซียเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
  • เงินลงทุนจำนวนหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ของโซเชียลมีเดียเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ อาจเชื่อมโยงกลับไปยังแหล่งเงินต้นทางซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินในรัสเซีย
  • ความไม่ชอบมาพากลในการถือครองสัดส่วนหุ้นการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน (Everton) ของนายฟาร์ฮัด โมชิริ (Farhad Moshiri) ที่คาดว่าน่าจะได้รับเงินสนับสนุนแบบลับๆ จากนายอลิเชอร์ อุสมานอฟ (Alisher Usmanov) เจ้าของหุ้นในสโมสรอาร์เซนอล ซึ่งอาจผิดกฎการถือครองหุ้นสโมสรฟุตบอลของพรีเมียร์ลีก
  • การเลี่ยงภาษีของบริษัทดังๆ อย่าง Apple และ Nike
  • ‘ลอร์ดแอชครอฟท์’ หรือ ไมเคิล แอชครอฟท์ นักธุรกิจชาวสหราชอาณาจักรวัย 71 ปี ปิดบังทรัพย์สินมหาศาลจำนวนกว่า 450 ล้านเหรียญสหรัฐในต่างแดนเพื่อเลี่ยงการเสียภาษี
  • โบโน (Bono) หรือ พอล เดวิด ฮิวสัน (Paul David Hewson) นักร้องนำวง U2 ที่เป็นผู้ลงทุนบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในมอลตา ‘Nude Estates’ ได้เข้าซื้อห้างสรรพสินค้า Aušra ก่อนเปลี่ยนเป็นบริษัท Guernsey ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่จัดเก็บภาษีต่ำ

 

กรณีของผู้ถูกกล่าวหาบางรายที่น่าสนใจ

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทำผิดกฎหมายหรือไม่?

 

สำหรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Elizabeth II) แห่งสหราชอาณาจักร ที่พบว่าพระองค์ทรงนำทรัพย์สินส่วนพระองค์มูลค่ากว่า 10 ล้านปอนด์หรือ 13 ล้านเหรียญสหรัฐลงทุนไปกับธุรกิจร้านค้าปลีก ‘BrightHouse’ บนหมู่เกาะเคย์แมนนั้น สำนักข่าว BBC รายงานว่า กรณีของพระองค์อาจไม่ได้มีความผิดฐานการหลบเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด แต่ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสมกับการที่ราชวงศ์จากอังกฤษจะลงทุนประกอบธุรกิจในต่างประเทศ

     

ขณะที่ The Guardian เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า BrightHouse ถือเป็นร้านค้าที่ถูกขนานนามว่าเอาเปรียบผู้บริโภคพอสมควร ทั้งราคาสินค้าที่ขายแพงเกินจริงและกลยุทธ์การฮาร์ดเซลกับกลุ่มลูกค้าที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้และมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเมื่อเดือนที่แล้ว พวกเขาเพิ่งจะถูกศาลสั่งให้ชำระเงินชดเชยรวมกว่า 14.8 ล้านปอนด์ให้กับลูกค้า 249,000 ราย

     

ด้าน เกรแฮม สมิธ นักเคลื่อนไหวและผู้บริหารกลุ่ม Republic ได้เรียกร้องให้สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ออกมาแสดงความบริสุทธิ์ใจกับกรณีการถูกกล่าวหา “พระราชินีทรงจำเป็นจะต้องทำให้ตัวพระองค์เองบริสุทธิ์ เพื่อสร้างมาตรฐานของความโปร่งใสและที่มาที่ไปของกิจการทางการเงินของพระองค์

     

“พวกเราจำเป็นจะต้องทราบให้ได้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงทำเงินจากช่องทางใดและพระองค์ได้ชำระภาษีหรือไม่ นอกจากนี้พวกเรายังต้องรู้ให้ได้อีกด้วยว่าพระองค์ได้ล็อบบี้รัฐบาลเพื่อปฏิรูปการเลี่ยงภาษีหรือไม่”

 

ความไม่ชอบมาพากลในการถือครองสัดส่วนหุ้นสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน

     

ปัจจุบัน ฟาร์ฮัด โมชิริ เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตัน ทีมฟุตบอลจากลิเวอร์พูลในศึกพรีเมียร์ลีกประเทศอังกฤษ โดยกรณีข้อกล่าวหาของเจ้าตัวเกิดขึ้นหลังจากที่พาราไดซ์ เปเปอร์สรั่วไหลออกไป

     

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2007 ทั้งฟาร์ฮัด โมชิริ และ อลิเชอร์ อุสมานอฟ ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นสโมสรอาร์เซนอลเป็นสัดส่วนเท่าๆ กันคนละ 14.58% (ในเวลาต่อมามีการเปิดเผยว่า หุ้นที่โมชิริถือครองนั้น จริงๆ แล้วเป็น ‘ของขวัญ’ ที่อลิเซอร์ อุสมานอฟมอบให้อีกที)

     

ก่อนที่ในปี 2016 โมชิริจะเทขายหุ้นสโมสรอาร์เซนอลของตัวเองครึ่งหนึ่งไปให้อุสมานอฟ และนำเงินจำนวนดังกล่าวท่ีมีมูลค่ากว่า 87.5 ล้านปอนด์เข้าซื้อหุ้นสโมสรเอฟเวอร์ตันกว่า 50%

 

เชื่อกันว่า จริงๆ แล้วโมชิริทำหน้าที่เป็นเพียงแค่นอมินีบังหน้าให้กับอุสมานอฟ อีกหนึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ชาวรัสเซียในสโมสรอาร์เซนอลเท่านั้น เพราะหากเงินที่อุสมานอฟมอบให้กับโมชิริเป็นของขวัญจริง เขาก็มีสิทธิ์เป็นเจ้าของเงินจำนวนดังกล่าวด้วย โดยช่วงที่โมชิริเข้าซื้อหุ้นเอฟเวอร์ตันสำเร็จ สำนักข่าวในรัสเซียเคยรายงานว่า อุสมานอฟได้กลายเป็นเจ้าของสโมสรเอฟเวอร์ตันคนใหม่เรียบร้อย ก่อนที่จะต้องรีบลบข่าวดังกล่าวลงอย่างรวดเร็ว

     

ขณะที่ Finch Farm สนามซ้อมของเอฟเวอร์ตันก็ถูกซื้อสิทธิ์ในการเปลี่ยนชื่อสปอนเซอร์โดย USM Holdings บริษัทของนายอุสมานอฟ ก่อนมาใช้ชื่อ ‘USM Finch Farm’ แทน

     

ครั้งหนึ่งโมชิริเคยออกมาปฏิเสธข่าวลือเรื่องของขวัญและการเป็นหุ่นเชิดให้กับอุสมานอฟ โดยเจ้าตัวและทนายความส่วนตัวย้ำหนักแน่นว่าเงินที่ใช้ในการซื้อสโมสรเอฟเวอร์ตันเป็นเงินที่เขาระดมทุนด้วยตัวเองทั้งนั้น

     

อย่างไรก็ดี หากข้อมูลที่ว่านายอุสมานอฟเป็นเจ้าของหุ้นสโมสรฟุตบอลอาร์เซนอลกว่า 30% ในเวลาเดียวกันกับที่เป็นเจ้าของหุ้นใหญ่ในสโมสรฟุตบอลเอฟเวอร์ตันอย่างลับๆ ที่มีโมชิริเป็นหุ่นเชิดบังหน้า นั่นจะเท่ากับว่าเขาได้ทำผิดกฎการถือครองหุ้นสโมสรฟุตบอลของพรีเมียร์ลีก ที่ห้ามมิให้ผู้ใดที่ถือหุ้นเกิน 10% ของสโมสรฟุตบอลอังกฤษมากกว่า 2 สโมสรขึ้นไป เพราะจะเข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ระหว่างสโมสรฟุตบอลด้วยกัน ทั้งด้านผลการแข่งขันหรือตลาดซื้อขายนักฟุตบอล

 

Paradise Papers

 

ปฏิกริยาจากทั่วโลกต่อพาราไดซ์ เปเปอร์ส

หลังจากที่พบว่าข้อมูลรั่วไหลมาจากตัวเอง Appleby บริษัทด้านกฎหมายในเบอร์มิวดาก็ได้ออกมาแถลงการณ์ผ่านหน้าเว็บไซต์ประณามการโจรกรรมข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ว่าถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงและผิดต่อข้อกฎหมายด้านการแฮกคอมพิวเตอร์

     

นอกจากนี้พวกเขายังแสดงความบริสุทธิ์ใจอีกด้วยว่าบริษัทของตัวเองไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดต่อข้อกฎหมาย ทั้งยังออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติหรือ ICIJ ที่อ้างว่า Appleby ไม่ให้ความร่วมมือในการมอบข้อมูลและการสอบสวน

     

เช่นเดียวกับรัฐบาลเบอร์มิวดาที่ออกมาประณามพาราไดซ์ เปเปอร์สว่าเป็นภัยการโจมตีทางโลกไซเบอร์ และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในการเอาผิดผู้กระทำผิดทุกราย โดยใจความแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า

     

“พวกเรายังรักษาความระมัดระวังเป็นอย่างมากกับการกระทำด้านอาชญากรรมใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้น รวมถึงภัยความมั่นคงในโลกไซเบอร์ เช่นเดียวกับการกำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บภาษีที่โปร่งใสชัดเจนกับผู้ที่จะมาประกอบธุรกิจที่นี่

     

“พวกเราจะไม่อดทนต่อการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมาย และจะตรวจสอบเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ก่อนที่จะดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติ”

     

ด้านพรรคเดโมแครตของสหรัฐอเมริกา ได้เรียกตัว วิลเบอร์ รอสส์ เพื่อทำการสอบสวนแล้ว โดยที่ริชาร์ด บลูเมนธาล (Richard Blumenthal) วุฒิสมาชิกสหรัฐอเมริกาจากเดโมแครตได้โจมตีรอสส์ว่าเป็นผู้ที่หลอกหลวงทั้งรัฐสภาและประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยการปกปิดการถือครองหุ้นในบริษัท ส่วนเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านภาษีในแคนาดาก็กำลังสืบสวนข้อเท็จจริงจากกรณีที่สตีเฟน บรอนฟ์แมน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ถูกกล่าวหาเช่นกัน

     

ทางด้านเครือข่ายเพื่อความยุติธรรมทางภาษี (The Tax Justice Network) ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ UN หรือสหประชาชาติจัดการประชุมผู้นำโลกเพื่อหาแนวทางยุติปัญหาการเลี่ยงภาษีและการปกปิดข้อมูลทางการเงินของบุคคล

     

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนจะได้บทสรุปดำเนินไปในทิศทางใด แต่กรณีพาราไดซ์ เปเปอร์สก็น่าจะแสดงให้เห็นแล้วว่าแค่เอกสารขนาด 1.4 เทราไบต์ก็สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้กับโลกทั้งใบได้อย่างไม่ยากเย็น!

 

Cover Photo: สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ)

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising