×

รูโหว่โอโซนขยายขึ้นจนใหญ่กว่าขนาดประเทศ​บราซิล​ถึง 3 เท่า

โดย Mr.Vop
09.10.2023
  • LOADING...
รูโหว่โอโซน

16 กันยายนของทุกปี ถือเป็น ‘วันโอโซนโลก’ เป็นวันครบรอบพิธีสารมอนทรีออลที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1987 ให้เราช่วยกันลด-ละ-เลิก การใช้สาร CFCs เพื่อรักษาโอโซนบนชั้นบรรยากาศของโลกไว้ แต่ใน ‘วันโอโซนโลก’ ปีนี้ ดาวเทียมโคเปอร์นิคัส เซนติเนล ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) กลับพบข่าวร้าย นั่นคือรูโหว่โอโซนใหม่ขนาดมหึมา

 

รูโหว่นี้มีขนาดกว้างถึง 26 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าขนาดของประเทศรัสเซียกับจีนรวมกัน หรือใหญ่กว่าขนาดประเทศไทยมากกว่า 50 เท่า

 

ตัวรูโหว่โอโซนนี้ปรากฏอยู่เหนือทวีปแอนตาร์กติกาหรือขั้วโลกใต้ ขนาดของมันกว้างใหญ่กว่าทวีปแอนตาร์กติกาเอง 2 เท่า เรียกว่าถ้ามองจากอวกาศ จะเห็นขั้วโลกใต้ที่ไร้ชั้นโอโซนได้ทั้งทวีป

 

นี่คือรูโหว่ของชั้นบรรยากาศโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเหล่านักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากเหตุภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดที่ประเทศตองกาเมื่อเดือนมกราคม ปี 2022 ที่ได้ดันให้โมเลกุลน้ำถึง 50 ล้านตันลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ ที่เป็นที่อยู่ของแก๊สโอโซน ไอน้ำเหล่านี้จะแตกตัวกลายเป็นอนุภาคมีประจุที่สามารถทำลายโอโซนได้ไม่ต่างจากสาร CFCs ผสมกับกระแสลมประจำฤดูในปีนี้ที่พัดแรงผิดปกติ ทำให้มวลอากาศขั้วโลกแยกตัวเป็นเอกเทศจากมวลอากาศส่วนอื่น ไอน้ำเหล่านั้นจึงคงอยู่นานจนเกิดปฏิกิริยากับโอโซนดังที่กล่าวมา

 

รูโหว่โอโซน

ภาพดาวเทียมเหตุภูเขาไฟใต้ทะเลในหมู่เกาะตองการะเบิด เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2022

 

โอโซนในชั้นบรรยากาศโลกมาจากไหน

 

การเกิดโอโซน (O₃) ในชั้นบรรยากาศโลกตามธรรมชาตินั้นโดยปกติจะมาจากโมเลกุลของออกซิเจน (O2) ในชั้นบรรยากาศทำปฏิกิริยากับกระแสไฟฟ้าแรงสูงจำพวกฟ้าผ่า ฟ้าแลบ หรืออาจเกิดจากการทำปฏิกิริยากับแสงอาทิตย์ แต่มนุษย์เราก็สามารถผลิตโอโซนเพื่อใช้งานในทางอุตสาหกรรมได้เช่นกัน เช่นนำมาใช้การบำบัดน้ำเสียของโรงงาน ฯลฯ วิธีการผลิตก็ทำคล้ายวิธีตามธรรมชาติ นั่นคือใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าความถี่สูงบังคับให้ก๊าซออกซิเจน (O2) ที่เตรียมไว้เกิดปฏิกิริยากลายเป็นโอโซน

 

การเกิดรูโหว่โอโซนจะเกิดผลอย่างไร

 

โอโซนบนชั้นบรรยากาศ​มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันแสงอัลตราไวโอเลตหรือ UV จากแสงอาทิตย์​เอาไว้ไม่ให้ส่องลงมาทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนผิวโลก โดยจะกรองรังสี UV-A (ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร) ได้ประมาณ 5% กรองรังสี UV-B (ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร) ได้ 95% แต่จะปิดกั้นรังสีอันตรายพลังงานสูงอย่าง UV-C (ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร) ได้ทั้ง 100%

 

การเกิดรูโหว่โอโซนจึงเป็นช่วงเวลาอันตรายที่ผู้เกี่ยวข้องต้องคอยแจ้งข่าวและเฝ้าระวังการเพิ่มขึ้นของรังสี UV ชนิดต่างๆ บนผิวโลกในพื้นที่ใต้รูโหว่ ที่อาจทำลายสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในห่วงโซ่อาหาร เช่น แพลงก์ตอน ไปจนถึงโอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนังที่เพิ่มขึ้นในมนุษย์ (โชคดีที่ขั้วโลกใต้ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ถาวร)

 

ผลสุดท้ายจะเป็นอย่างไร

 

โดยปกติแล้วโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกจะสามารถซ่อมแซมตัวของมันเองได้หากไม่ถูกทำลายซ้ำซาก ยกตัวอย่างเช่น รูโหว่ชั้นโอโซนในซีกโลกเหนือที่มีขนาดกว้างเท่าเกาะกรีนแลนด์ ที่ได้ค่อยๆ ลดขนาดแคบลงจนปิดตัวได้อย่างสมบูรณ์ในเดือนเมษายน ปี 2020

 

ในส่วนของรูโหว่โอโซนขนาดยักษ์เหนือขั้วโลกใต้ที่ค้นพบใหม่นี้ ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางประจำภาคพื้นยุโรป หรือ ECMWF ประเมินว่า น่าจะเกิดการซ่อมแซมตัวเองอย่างช้าๆ จนปิดสนิทได้อย่างสมบูรณ์เหมือนรูโหว่ขนาดใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นมาในบริเวณอื่น หากมนุษย์ไม่ปล่อยสาร CFCs เพิ่มขึ้นและไม่มีเหตุการณ์ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดซ้ำ

 

นอกจากนี้ทางผู้เชี่ยวชาญยังมองในแง่ดีกว่าหากการรณรงค์งดการปล่อยสาร CFCs เป็นไปในลักษณะนี้ และมีผู้ให้ความร่วมมือปฏิบัติจริงจัง รูโหว่โอโซนทั่วโลกที่เกิดจากมนุษย์ทุกรูจะปิดสนิทภายในปี 2050

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising