×

สวนไผ่รำเพย

11.07.2017
  • LOADING...

     อยู่กรุงเทพฯ อยากได้น้ำก็เดินไปเปิดก๊อก

     จะซักจะล้าง จะอาบ หรืออยากอาบน้ำอุ่น ทุกอย่างมันช่างง่ายดายราวมีเวทมนตร์เสกเป่าได้

     ที่น่าน อยากได้น้ำใช่ไหม จ้างรถแบ็กโฮมาขุดสระ สนนราคาว่ากันตามความกว้าง ความยาว ความลึก รวมทั้งพิกัดทำเล ไกลและไปมายากย่อมต้องบวกเพิ่ม ตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ประมาณเอาอย่างหยาบๆ น้อยที่สุดก็ต้องควักเงินหมื่น

     และหมื่นเดียวน่ะอย่าไปหวัง

     .

     ชีวิตคนเริ่มต้นด้วยน้ำ

     หลังจากทำรังวัด ทำใจยอมตัดต้นไม้บางส่วนออก เพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินทำงานสะดวก สิ่งแรกของการย้ายฐานที่มั่นจากกรุงเทพฯ มาน่านคือการขุดสระ

     ที่ของผมอยู่ติดกับเพื่อน เราคุยกันว่าไหนๆ ต่างคนต่างต้องขุดสระอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ก็ขุดเชื่อมกันทีเดียว เป็นสระเดียวกันเสียเลย

     ราคาหารกันตามสัดส่วนการถือครองที่ดิน

     ใช้เวลาเพียงวันเดียวสระก็แล้วเสร็จ

     มีสระก็เหมือนมีภาชนะอยู่ในมือ มนุษย์ควบคุมเทคโนโลยีได้ มีรถ มีแรงงาน การขุดสระเป็นเรื่องเล็ก แต่น้ำเป็นเรื่องของฟ้า

     และต้องลุ้นว่าเมื่อมีฝน สระของเราจะอุ้มน้ำหรือเปล่า

     โดยทั่วไป ผ่านสักสามสี่ฤดูฝนนั่นแหละ กว่าสระจะทำหน้าที่ภาชนะโดยสมบูรณ์ กลไกของกาลเวลาไม่มีทางลัด

     ถ้าจะฝ่าฝืนก็ต้องจ่ายแพง

     ถามว่าเราๆ ท่านๆ มีกำลังสู้ไหวหรือ ลำพังเพียงค่าขุดสระก็ต้องเก็บออม กระเบียดกระเสียร คิดแล้วคิดอีก จะเอาปัญญาที่ไหนไปเทซีเมนต์รองพื้น ทำขอบ วางท่อ นั่นปล่อยให้เป็นเส้นทางของพวกเศรษฐีหรือผู้ดีมีเงินเขาเถอะ

     เขียมได้ต้องเขียม รอได้ต้องรอ กว่าบ้านจะเป็นบ้าน ยังมีเรื่องให้ใช้เงินอีกเยอะ

     .

     สระมีไว้เก็บน้ำฝน จะหุงข้าว ล้างจาน เราเดินลงไปซักล้างที่สระตลอดเวลาไม่ได้

     ปัจจัยยังชีพอันหมายถึงรายจ่ายก้อนต่อมาคือแท็งค์หรือถังเก็บน้ำ

     หมายถึงทั้งน้ำที่จะสูบขึ้นมาจากสระ และน้ำฝน ซึ่งนั่นจำเป็นต้องสร้างเพิงพักที่มีพื้นผิวหลังคากว้างยาวเพียงพอ ที่จะรองรับน้ำฝน ก่อนไหลรวมลงแท็งค์

     เสาต้นแรกจึงไม่ใช่บ้าน แต่เป็นฐานหรือศาลามุงสังกะสีรองน้ำฝน สร้างด้วยเสาปูนหกต้น ไม้เครื่องด้านบนใช้ไผ่กับไม้ยูคาฯ ซึ่งประหยัดสตางค์ที่สุด ที่นี่ไผ่ไม่ต้องซื้อ ไผ่งอกงามรอบบ้าน แต่เมื่อต้องควักค่าแท็งค์ซีเมนต์สองแท็งค์ เงินหมื่นที่สอง ที่สาม ก็ทยอยไหลออกไปจากกระเป๋า

     น้ำยังไม่มีเลย แต่คนเป็นเจ้าของยืนยิ้ม ชื่นชมผลงานจากหยาดเหงื่อ ความฝันเริ่มเป็นรูปเป็นร่างจับต้องได้ ก่อนรอยยิ้มจะค่อยๆ จืดจาง เมื่อพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีปัญหาผูกพ่วงมาด้วยเสมอ

     เดี๋ยวแท็งค์ที่สร้างใหม่เอี่ยมนั้นรั่วซึม น้ำนองพื้น เดี๋ยวปั๊มที่ซื้อมาด้วยความคิดเซฟที่สุดนั้นใช้ไปได้แค่สัปดาห์เดียวก็พัง ประกงประกันก็ไม่มี เดี๋ยวรางน้ำอุดตัน ฝนตกเท่าไรก็ไม่ได้น้ำ เดี๋ยวชักโครกพัง ใช้แล้วน้ำไม่หยุดไหล น้ำที่สู้สะสมไว้ในแท็งค์วูบหายโดยเวลาผ่านไปๆ เจ้าของก็ยังไม่เท่าทันว่าสาเหตุมันมาจากอะไร และเดี๋ยวนะ อ้าว นั่นหนูลงไปตายในแท็งค์น้ำบ้านข้าพเจ้าทำไม

     ..

     ผมใช้เวลาสองปีเศษๆ เทียวไปเทียวมาระหว่างกรุงเทพฯ กับน่าน เฝ้ามองดูความเป็นไปได้ ดูว่าตัวเองต้องการอะไร อยากมีชีวิตแบบไหน ตรวจสอบความฝันกับปัญหาที่จูงมือมาด้วยกัน

     ใช่–ฝันดีมีอยู่แต่ในฝัน

     ความจริงตรงหน้า ความรัก ความปรารถนา ความสามารถ ความสนใจ งานเขียน และการทิ้งกรุงเทพฯ ถ้อยคำเหล่านี้วนเวียนอยู่ในใจซ้ำไปซ้ำมา

     ปี 2549 ผมไปทำงานปัตตานี ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดทั้งปี ถามว่ายากไหมกับการตัดสินใจครั้งนั้น ยากนะ หนักนะ ผมเพิ่งพบว่าการตัดสินใจทิ้งกรุงเทพฯ เป็นภาวะที่ยากกว่า หนักกว่า ใช้สติสมาธิมากกว่า

     ใจหาย คิดขึ้นมาเมื่อไรก็ใจหาย

     ไม่แปลกหรอกที่เรามักได้ยินคนหนุ่มสาวพูดว่าเบื่อแล้ว พอแล้ว อยากออกไปใช้ชีวิตอยู่ต่างจังหวัด อยากกลับภูมินำเลา กลับไปคารวะภูมิปัญญาบรรพบุรุษ อยากกลับไปมีชีวิตช้าๆ สงบ เรียบง่าย อยู่กับดิน กับฟ้า กับอากาศโปร่งๆ

     พูดเป็นร้อยๆ ครั้ง พูดเป็นวรรคเป็นเวร เชื่อไหมว่าคนทำได้จริงมีไม่เกินจำนวนนิ้วมือข้างเดียว

     ถามว่าทำไม คำตอบง่ายๆ ก็เพราะมันไม่ง่ายเหมือนกับที่นั่งมโนด้วยใจโรมานซ์

     เอาแค่น้ำเรื่องเดียว–ถ้าท้องที่นั้นไม่มีระบบประปา ถ้าต้องเริ่มต้นใหม่หมด ดูเอาเถอะว่าต้องใช้พละกำลังเท่าไร

     แต่เดิม สองแท็งค์ซีเมนต์ที่เก็บน้ำที่คิดว่าพอ อยู่ไปๆ ก็ไม่พอ ต้องสร้างเพิ่มอีกสอง สระน้ำที่ว่ากว้างใหญ่ อยู่ไปๆ น้ำที่เต็มปริ่มในหน้าฝน พอพ้นธันวาคมก็แห้งเหือดเหลือแต่โคลน

     ก๊อกที่กรุงเทพฯ มันน่าคิดถึงน้อยอยู่ไหมล่ะ

     ไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เด็ดขาดจริงๆ ฝันก็เป็นเพียงฝัน ไม่มีวันก้าวเท้าออกจากกรุงเทพฯ ได้เกินเจ็ดวัน

     ผมคิดว่าผมเห็นเรื่องราวเหล่านี้มาพอสมควร เห็นใจ เข้าใจ และมันไม่ใช่ความผิดเลยที่คนต่างจังหวัดจะผูกพันผูกติดอยู่กับกรุงเทพฯ ในสารพัดความน่าชัง กรุงเทพฯ มีข้อบวกมากมายที่ตัดใจทิ้งยาก เผอิญว่าผมอยากออกไปข้างนอกแล้ว ความรู้สึกนี้ชัดเจน และด้วยความที่ฟังมามาก เห็นตัวอย่างมาเยอะ ก่อนคืนกุญแจคอนโดฯ สู่มือเจ้าของห้องเช่าจึงต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้รัดกุม

     ความล้มเหลวบางชนิดมันน่าเบื่อ

     ถ้าจะพ่ายแพ้ ถ้าจะล้มเหลว มันควรได้ลงสนามสู้กันให้เต็มที่ก่อน ผมคิดเช่นนี้ ผมนั่งรถไปมาอยู่หลายรอบ ผมเดินวนไปทั่วพื้นที่แผ่นดินของตัวเอง จะทำสระน้ำตรงไหน ขนาดเท่าไร วางแท็งค์น้ำตรงไหน ใช้วัสดุอะไร เดินดู เดินคิด เดินดู เดินคิด เดินดู เดินคิด

     ซ้ำๆ วนๆ เหมือนคนบ้า

     กว่าจะสรุปว่าเอาเรื่องน้ำก่อน แล้วทำห้องน้ำ เพื่อนทำห้างหรือศาลามุงหญ้า ลองมาใช้ชีวิตดูซิ ลองกางเต็นท์นอนดูก่อนซิ ลองมาดูน้ำดูดินว่าเราจะอยู่กินอย่างไร ไหว /ไม่ไหว

     สองปี พูดตรงๆ นะ ผมยังจินตนาการไม่ออก สองปีผ่านไปแล้วและสรุปแน่นอนแล้วว่าพอกันทีกับชีวิตในเมืองหลวง ผมยังมองไม่เห็นภาพใหม่ ชีวิตในพื้นที่แปลกใหม่ ยังไม่นับปัญหาที่รอให้แก้ไขอีกนับไม่ถ้วน

     มืดๆ งงๆ เหงาๆ ผมบอกตัวเองว่าเอาเลย เดินหน้า ผ่านหน้าฝนนี้แล้วสร้างบ้านเลย

     ตอนนั้นเพียงจะพูดคำว่าบ้านยังออกเสียงไม่ค่อยถูก มันไกลสำหรับคนเงินน้อยที่ปฏิเสธการสร้างหนี้ ไกลสำหรับคนที่ถูกสอนมาว่าผู้ชาย ถ้าอายุสามสิบแล้วยังไม่มีบ้าน ก็จะไม่มีตลอดไป

     แต่เอา.. เป็นยังไงก็เป็นกัน เพราะเบื่อแล้วกับเรื่องเล่าของนักฝันเพ้อเจ้อ ฝันแล้วไม่ยอมลงแรง ฝันแล้วกลัวเจ็บกลัวหนาว

     .

     นับจากวันขึ้นปีใหม่ที่เข้านอนในบ้านน้อยหลังนี้ครั้งแรก ถึงวันนี้ก็ผ่านไปครึ่งปี ไม่เลวนะ ไม่เลว เพื่อนบางคนพูดแบบนั้น เมื่อได้เห็นภาพถ่าย ผมก็คิดว่าไม่เลว แม้จะยังไม่มีบันได และห้องน้ำในตัวก็ยังอิดๆ ออดๆ ว่าจะต่อเติมทำเพิ่มตรงไหนดี คงต้องทำ มันจำเป็นยามฝนตกฟ้าร้อง แต่ทำแล้วจะออกมากลมกลืนกับตัวบ้านไหม ทำแล้วจะไม่เป็นการออกแบบและใช้พื้นที่ผิดๆ เหล่านี้ยังเป็นเรื่องต้องคิด

     ระเบียงคงปล่อยเปลือยไปแบบนี้ โดยความตั้งใจอยากใช้นอนดูดาว และยามสายๆ ก็เป็นมุมหลบแดด นั่งเล่นนอนเล่นได้ถึงเที่ยง เสียดายเนื้อไม้ เสียดายที่คงสู้แดดสู้ฝนได้ไม่นาน แต่ช่างมัน ถ้าขยันก็ใช้พลาสติกคลุมไว้บ้าง หรือปล่อยเลยตามเลย ถึงเวลาหมดอายุก็ต้องยอมรับว่าหมดอายุ แต่ระหว่างที่อยู่ด้วยกัน เราจะใช้เวลาอยู่กับมันให้สาแก่ใจ

     ครัวคงต้องปรับอีก ที่นั่งกินข้าว ห้องเก็บของ เก็บหนังสือ ห้องรับรองเพื่อนพ้อง หลายส่วนถูกร่างไว้เป็นโปรเจ็กต์แห่งอนาคต ค่อยคิด ค่อยทำ รู้สึกดีมากๆ ที่ได้ทำบ้านเอง ทำด้วยมือของสามพี่น้อง ทำโดยไม่ต้องจ้างช่างสักคน /สักบาท

     ฟังดูไม่น่าเชื่อใช่ไหม

     ใช่– ไม่น่าเชื่อ เราคงทำความเชื่อมั่นและศักยภาพด้านนี้หล่นหายกันไปนานแล้ว

     ระหว่างการก่อสร้าง ‘สวนทูนอิน’ ฟังว่า ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ก็เทียวไปเทียวมาระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่อยู่นานปี ช่วงแรกกางเต็นท์พักค้าง กินเหล้ากับช่าง เขาเป็นชายไทยที่รู้เรื่องบ้านดีมากๆ และงานที่ออกมาก็งดงามไร้ตำหนิ ผมไม่มีข้อมูลว่าเขาเพียงออกแบบ กำกับคุมงาน หรือลงมือขุดตอกด้วยตัวเองบ้างในบางส่วน สิ่งที่บอกได้ สำหรับ ‘สวนไผ่รำเพย’ เราทำกันเองกับมือ แม้จะมีเสียงแซวว่าทำไมมันออกมาไม่ค่อยจะเป็นบ้านเท่าไร บ้างก็ว่าเหมือนกุฏิพระป่าหรือศาลพระภูมิไปโน่น

     เอาน่า และใครว่าอะไรก็ยิ้ม ยอมรับฟังทุกอย่าง แต่ไม่เชื่อหรอก

     บางคนเกิดมาเพื่อบริโภคและผลิตซ้ำ บางเราเกิดมาเพื่อทำหน้าที่สร้างความหลากหลายให้โลก

     ชื่อสวนทูนอินตัดทอนมาจากวรรคทองของบุปผาชนคือ turn on, tune in, drop out

     ‘สวนไผ่รำเพย’ ตั้งจากชื่อของคนสองคน

     หนึ่งคือเพื่อน กวีราษฎร และอีกหนึ่งคือผู้หญิง

     ทั้งคู่ เป็นรูปธรรมและนามธรรมของคำว่า ‘รัก’

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising