×

ผู้ป่วยโควิด-19 จะกลับไปทำงานได้เมื่อไร และโรงงานจะต้องปิดกี่วันเมื่อพบผู้ป่วย

14.01.2021
  • LOADING...
ผู้ป่วยโควิด-19 จะกลับไปทำงานได้เมื่อไร และโรงงานจะต้องปิดกี่วันเมื่อพบผู้ป่วย

HIGHLIGHTS

  • ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถกลับเข้าทำงานภายหลังได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแล้วอย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ (กรณีที่ไม่มีอาการ) หรือวันที่เริ่มป่วย (กรณีที่มีอาการ ร่วมกับต้องไม่มีอาการแล้วอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง) เพราะพ้นระยะแพร่เชื้อแล้ว
  • ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงสามารถกลับเข้าทำงานภายหลังจากได้รับการกักกันตัวที่บ้านจนครบ 14 วัน นับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย โดยที่ไม่มีอาการ และได้รับการตรวจหาเชื้ออย่างเร็วที่สุดในวันที่ 5 แล้วไม่พบเชื้อ
  • แผนกที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในโรงงานสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้หลังจากปิดเพื่อทำความสะอาด 3 วัน การปิดแผนก/โรงงานนานกว่านี้ขึ้นกับจำนวนพนักงานที่ไม่ใช่ผู้ป่วยและไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงว่ามีเพียงพอที่จะดำเนินกิจการหรือไม่

ถ้าวันนี้เป็นวันที่ 10 มกราคม วันพรุ่งนี้พนักงานที่ตรวจพบว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ในวันขึ้นปีใหม่ (หรือก่อนหน้านั้นแล้ว) และไม่มีอาการก็สามารถกลับเข้าทำงานได้แล้ว โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ สถานประกอบการหลายแห่งอาจยังไม่เคยทราบแนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์นี้ 

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสลงสอบสวนโรคโควิด-19 ในโรงงาน 3 แห่งในจังหวัดสมุทรสาคร สิ่งที่ผู้ประกอบการกังวลอยู่ในขณะนี้คือความไม่แน่นอนของอนาคตว่าถ้าพนักงานในโรงงานป่วยเป็นโควิด-19 แล้ว โรงงานจะสามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างปลอดภัยภายในกี่วัน

 

สำหรับแนวทางและแผนการเปิดดำเนินการหลังพบผู้ป่วยโควิด-19 ที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อจากนี้เป็นผลจากทำงานร่วมกันระหว่างทีมสอบสวนควบคุมโรคกับโรงงานปลากระป๋องแห่งหนึ่งที่เป็นข่าวเมื่อต้นสัปดาห์ และขอขอบคุณผู้บริหารโรงงานแห่งนี้ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

ถ้าพบผู้ป่วยในโรงงานจะต้องทำอย่างไร?

ก่อนอื่นผมคิดว่ามีประเด็นอย่างน้อย 3 ประเด็นที่พบจากการสอบสวนโรค และอยากทำความเข้าใจผู้ประกอบการ, ประชาชน ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้อาศัยอยู่ในละแวกเดียวกับโรงงาน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้ตรงกันก่อนคือ

 

  • การพบผู้ป่วยในโรงงาน ไม่ได้หมายความว่าเกิดการระบาดภายในโรงงานเสมอไป เพราะโรงงานส่วนใหญ่ไม่มีหอพักพนักงานของตัวเอง ผู้ป่วยจึงอาจติดเชื้อมาจาก ‘ชุมชน’ ด้านนอก แต่ตรวจพบจากระบบการตรวจคัดกรองของ ‘โรงงาน’ 

 

  • การปิด/ไม่ปิดสถานประกอบการ ขึ้นกับจำนวนผู้ป่วยจำนวนผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง และจำนวนแผนกที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ฝั่งสาธารณสุขเข้าใจถึงความจำเป็นของการกลับมาดำเนินกิจการต่อโดยเร็วที่สุด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องมีความปลอดภัยเช่นกัน

 

  • การสอบสวนโรค จึงมีความจำเป็น และผู้ประกอบการสามารถช่วยฝั่งสาธารณสุขสอบสวนโรคได้ เพราะโรงงานมีข้อมูลพนักงานของตนเอง และสามารถสนับสนุนให้พนักงานแยกกัก/กักกันตามระบบได้ เช่น การลาป่วย ค่าชดเชย หรืออาหารน้ำดื่ม

 

ใช่ครับ ผมต้องการโยงมาถึงว่าเมื่อพบผู้ป่วยในโรงงาน ฝ่ายบุคคลของโรงงาน และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/อำเภอ (สสจ./สสอ.) จะต้องร่วมกันสอบสวนโรค หรือถ้าโรงงานมีศักยภาพก็สามารถดำเนินการได้ก่อนเลย เพราะจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการตัดสินใจปิด/ไม่ปิดแผนกใดบ้าง 

 

โดยการสอบสวนโรคในโรงงานจะมีกิจกรรมหลัก 3 อย่างคือ

  • การจัดการผู้ป่วย ผู้ป่วยจะต้องได้รับการแยกกัก (Isolation) อย่างน้อย 10 วันนับจากวันที่มีอาการหรือวันที่ตรวจพบเชื้อ หากไม่มีอาการ ซึ่งผู้ป่วยควรโทรศัพท์มาแจ้งฝ่ายบุคคล (ไม่ควรมาทำงานระหว่างรอผลตรวจ) หรือถ้าเพิ่งได้รับรายงานจาก สสจ./โรงพยาบาล ก็ต้องรีบให้ผู้ป่วยหยุดงานทันที สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือการด่วนสรุปว่าผู้ป่วยเป็น ‘ซูเปอร์สเปรดเดอร์’ เพียงเพราะลักษณะการทำงานต้องเดินผ่านหลายแผนก ซึ่งถ้ายังไม่ได้สอบสวนโรคก็ถือว่ายังไม่มีหลักฐานที่จะสรุปเช่นนั้น

 

  • การจัดการผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (High-risk Close Contact) แนวทางการสอบสวนโรคของกรมควบคุมโรคได้กำหนดนิยามไว้แล้วว่าเป็นกลุ่มใดบ้าง (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ ฉันอยู่ตรงไหนของการระบาด?) สำหรับกรณีโรงงานมักเป็นผู้ที่อาศัยในบ้านเดียวกัน เช่น สามี-ภรรยาที่ทำงานในโรงงานเดียวกัน, เพื่อนร่วมงานในห้องเดียวกัน แต่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย/ผ้า และเพื่อนที่นั่งรับประทานอาหารโต๊ะเดียวกัน โดยพนักงานกลุ่มนี้จะต้องได้รับการกักกัน (Quarantine) จนครบ 14 วันนับจากวันที่สัมผัสกับผู้ป่วยครั้งสุดท้าย

 

  • การจัดการสิ่งแวดล้อมและการลดความเสี่ยงต่อการระบาด โรงงานจะต้องปิดแผนกที่เกี่ยวข้อง 3 วันเพื่อทำความสะอาด และสำรวจแผนกที่พบผู้ป่วยว่ามีจุดเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อหรือไม่ เช่น การนั่ง/ยืนทำงานแออัด ความถี่และวิธีการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลาง เพราะโควิด-19 ติดต่อผ่านการสัมผัสละอองสารคัดหลั่งในระยะ 1 เมตร ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกันหรือการไอจาม ส่วนการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมอาจอยู่ได้นานถึง 3 วัน ถ้านำมือไปสัมผัสบริเวณนั้นแล้วยกขึ้นมาขยี้ตา/แคะจมูกก็อาจได้รับเชื้อได้

 

เมื่อสอบสวนโรคได้ข้อมูลจำนวนผู้ป่วย และจำนวนผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงทั้งหมด ก็จะสามารถนำมาวางแผนการเปิดดำเนินกิจการได้ ซึ่งหากพบผู้ป่วยไม่มากอาจไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นพบผู้ป่วยจำนวนมากเหมือนบางโรงงานในสมุทรสาครจะต้องประชุมกันหลายรอบเลยทีเดียว

 

ผู้ป่วยจะกลับเข้าทำงานได้เมื่อไร?

ตามแนวทางเวชปฏิบัติของกรมการแพทย์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 แนะนำว่าผู้ป่วยที่ไม่มีอาการต้องนอนโรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ ถึงแม้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้เอง แต่ต้องแยกกักเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ

 

ส่วนผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงจะได้รับการนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น ไม่มีไข้หรือไม่มีอาการอื่นๆ ของโรคแล้วอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามแล้วสามารถกลับเข้าทำงานได้ปกติ

 

ซึ่งการทำงานตามปกติก็คือ ‘ปกติใหม่’ (New Normal) พนักงานทุกคนไม่ว่าจะเคยป่วยหรือยังไม่ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัย/ผ้า เว้นระยะห่างจากผู้อื่น และล้างมือด้วยเจอแอลกอฮอล์บ่อยๆ ซึ่งโรงงาน 1 แห่งที่ผมเข้าไปสอบสวนโรคแจกสเปรย์แอลกอฮอล์ให้พนักงานและสามารถเติมได้ฟรี

 

ทั้งนี้กรมการแพทย์ได้เน้นว่า ไม่จําเป็นต้องทํา Swab ซ้ำในผู้ป่วยที่เคยยืนยัน และไม่ต้องทํา Swab เมื่อผู้ป่วยจะกลับบ้าน เพราะงานวิจัยในระยะหลังพบว่าผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยจะไม่แพร่เชื้อ หากเริ่มป่วยเกิน 10 วันมาแล้ว หากตรวจพบสารพันธุกรรมก็จะเป็น ‘ซากเชื้อ’ ที่ไม่สามารถแบ่งตัวได้

 

ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงจะกลับเข้าทำงานได้เมื่อไร?

ผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (ผมขอย่อว่า HRC) จะต้องแยกกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ตามระยะฟักตัวที่ยาวที่สุดของโควิด-19 นั่นหมายความว่าพนักงานกลุ่มนี้จะต้องหยุดพักอยู่ที่บ้านจนครบกำหนด และควรได้รับการตรวจหาเชื้ออย่างเร็วที่สุดวันที่ 5 หลังจากสัมผัสผู้ป่วยครั้งสุดท้าย

 

ดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยในโรงงาน ฝ่ายบุคคลจะต้องระบุว่าใครเป็น HRC บ้าง และยังไม่ต้องรีบหาเชื้อ เน้นนะครับว่าต้องรอให้แยกผู้ป่วยออกไปก่อน แล้วค่อยไปตรวจหาเชื้อ 5 วันหลังจากนั้น โดยระหว่างนี้ให้แยกตัวอยู่ที่บ้าน (Home Quarantine) เพราะต้องรอให้ถึงระยะฟักตัวเฉลี่ย 5-6 วัน

 

และถ้าผลตรวจเป็นลบ (ไม่พบเชื้อ) ก็จำเป็นจะต้องกักตัวต่อจนครบ 14 วัน เพราะยังอยู่ในระยะฟักตัวอยู่ ซึ่งถ้ามีอาการระหว่างนี้ควรได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำ โดยโรงงานควรสนับสนุนวันลาป่วย ค่าชดเชยตามกฎหมาย และหลายโรงงานในสมุทรสาครก็สนับสนุนอาหารและน้ำดื่มให้กับพนักงานระหว่างกักตัวด้วย

 

ส่วนถ้าจะลดวันกักตัวให้สั้นลง เช่น เพราะขาดพนักงานเฉพาะทาง สำหรับประเทศไทยยังไม่มีแนวทางนี้ แต่สามารถอ้างอิงจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค อเมริกา (US CDC) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ซึ่งเสนอแนวทางการลดวันกักตัวไว้ 2 ทางเลือกคือ 

 

  • ไม่ตรวจหาเชื้อ แต่กักตัว 10 วัน

 

  • ตรวจหาเชื้อวันที่ 5 หากผลเป็นลบ ให้กักต่อจนครบ 7 วัน 

 

แต่ทั้งสองกรณีก็ยังต้องสังเกตอาการต่อจนครบ 14 วัน โดยแต่ละกรณีจะมีความเสี่ยงของการแพร่เชื้อหลังกักตัวประมาณ 1 และ 5% ตามลำดับ และความเสี่ยงสูงสุดจากการวิเคราะห์เท่ากับ 10 และ 12%

 

โรงงานจะกลับมาดำเนินการตามปกติภายในกี่วัน?

การเปิด/ไม่เปิดสถานประกอบการขึ้นกับความพร้อมของโรงงานเป็นหลัก เพราะกรมควบคุมโรคแนะนำให้ปิดทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม 3 วันเท่านั้น หากยังมีพนักงานที่ไม่ใช่ผู้ป่วย (หยุดงาน 10 วัน) และผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง (หยุดงาน 14 วัน) โรงงานก็สามารถดำเนินการได้

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญของกรมควบคุมโรคแนะนำว่าหากพบผู้ป่วยมากกว่า 30% ในแผนกหรือโรงงาน ควรปิดแผนกหรือโรงงานเพื่อสอบสวนโรค และสังเกตอาการพนักงาน 14 วัน ถึงจะเปิดดำเนินการได้ เพราะมีแนวโน้มที่จะเกิดการระบาดภายในโรงงาน และตัดวงจรการระบาด

 

ผมหวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นแนวทางเบื้องต้นให้กับสถานประกอบการที่กำลังกังวลถึงความไม่แน่นอนท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ให้กับพนักงานที่ป่วยเป็นโควิด-19 และได้รับการรักษาจนหายแล้วที่กังวลว่าตนเองจะกลับไปทำงานได้หรือไม่ และให้กับเพื่อนร่วมงานที่มีความกังวลต่อตัวผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงครับ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising