×

ทำไมเทนนิสแกรนด์สแลม ยูเอสโอเพน ถึงเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ ‘ไร้ผู้ครอบครอง’ ?

29.08.2023
  • LOADING...

วงการเทนนิสชายในยุคที่ผ่านมา ถือยุคสมัยแห่ง ‘ขั้วอำนาจ’ อย่างชัดเจน คำศัพท์อย่าง ‘Big 4’ ก่อนแปรเปลี่ยนไปเป็น ‘Big 3’ กลายเป็นสิ่งปกติสำหรับผู้ที่ติดตามมาตลอด

 

ในยุคแห่ง Big 3 นี่เอง ที่เกิดการครอบครองคอร์ตในศึกแกรนด์สแลมกันอย่างชัดเจน ประหนึ่งว่าหากนักเทนนิสเจ้าคอร์ตนั้นๆ เล่นที่ไหนก็จะสามารถกุมความได้เปรียบในการแข่งขันชนิดที่ถูกมองว่าเป็นตัวเต็งที่จะคว้าแชมป์รายการนั้นๆ แม้หลายครั้งพวกเขาจะไม่ใช่มือวางอันดับ 1 ของรายการก็ตาม

 

ภาพจำเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ผู้ครอบครองคอร์ตหญ้าที่ออลอิงแลนด์คลับราวกับเป็นสวนหลังบ้านในศึกแกรนด์สแลม วิมเบิลดัน เป็นคนแรก และสร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์รายการนี้ได้มากที่สุดถึง 8 สมัย

 

ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ราฟาเอล นาดาล ก็มาครอบครองคอร์ตดินและเล่นที่โรลังด์ การ์รอส สนามที่ใช้แข่งขันเฟรนช์โอเพน ได้อย่างเป็นธรรมชาติราวกับเล่นอยู่ที่คฤหาสน์ขนาด 1,000 ตารางเมตร ที่เขาซื้อไว้ในเมืองมาจอร์กา และคว้าแชมป์รายการนี้ไปมาถึง 14 สมัย มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

ขณะที่ในดินแดนดาวน์อันเดอร์ ชื่อของ โนวัค ยอโควิช ก็ค่อยๆ ถูกจารึกเพิ่มเติมลงไปในอาเธอร์ แอช สเตเดียม ที่เมลเบิร์นพาร์ก สถานที่จัดการแข่งขันแกรนด์สแลมแรกของปีอย่าง ออสเตรเลียนโอเพน และทุกวันนี้ นักหวดชาวเซิร์บก็คว้าแชมป์รายการนี้ไปแล้วถึง 10 สมัย

 

ทั้ง 3 แกรนด์สแลมที่ว่ามา ล้วนมีผู้ครอบครองที่ชัดเจน ยกเว้นเพียงแค่ยูเอสโอเพนที่จัดการแข่งขัน ณ บิลลี จีน คิง เทนนิสเซ็นเตอร์ ในย่านฟลัชชิง เมโดว์ส มหานครนิวยอร์ก รายการเดียวเท่านั้น ที่ไม่มีนักเทนนิสคนไหนอ้างสิทธิ์การครอบครองเหนือสนามแห่งนี้

 

 

นักเทนนิสชายที่คว้าแชมป์รายการนี้มากที่สุดในยุคที่ผ่านมาคือ ‘เฟดเอ็กซ์’ ที่คว้าแชมป์รายการนี้ไปได้ 5 สมัย รองลงมาเป็น ‘เอล ราฟา’ ที่คว้าแชมป์ได้ 4 สมัย ขณะที่ ‘โนเล’ คว้าแชมป์รายการนี้ได้แค่ 3 สมัยเท่านั้น

 

หากพูดให้เห็นภาพชัดกว่านั้น คือทั้ง 3 คนเอาแชมป์ยูเอสโอเพนมาร่วมกันยังน้อยกว่าที่นาดาลคว้าแชมป์ที่โรลังด์ การ์รอส รายการเดียวเสียอีก

 

แม้กระทั่ง เซเรนา วิลเลียมส์ อดีตราชินีแห่งวงการเทนนิสหญิง ที่เคยยกย่องให้ยูเอสโอเพนเป็น ‘โฮมคอร์ต’ เสมอมา เพราะเธอได้เล่นแกรนด์สแลมในบ้านตัวเองที่สหรัฐอเมริกา ยังคว้าแชมป์รายการนี้ได้น้อยกว่าทั้งออสเตรเลียนโอเพนและวิมเบิลดันด้วยซ้ำ

 

โดยเซเรนาได้แชมป์ที่ฟลัชชิง เมโดว์ส ไปทั้งหมด 6 สมัย ขณะที่เธอได้แชมป์ออสเตรเลียนโอเพนและวิมเบิลดันอย่างละ 7 สมัยเท่ากัน

 

ดังนั้นยูเอสโอเพนจึงเป็นกลายเป็นแกรนด์สแลมที่ ‘ไร้ผู้ครอบครอง’ และ ‘ไร้การผูกขาด’ จนทำให้ถูกยกย่องว่าเป็น ‘แกรนด์สแลมที่บริสุทธิ์ที่สุด’

 

คำถามคือ “เพราะอะไรถึงไม่มีคนผูกขาดการคว้าแชมป์รายการนี้ได้”

 

เหตุผลประการแรกที่น่าสนใจพอจะนำมาอธิบายปรากฏการณ์นี้คือเรื่องของคอร์ต พื้นผิวฮาร์ดคอร์ตในศึกยูเอสโอเพนเป็นฮาร์ดคอร์ตของเลย์คอลด์ที่มีโพลิเมอร์เป็นวัสดุหลัก ทำให้ระดับความเร็วการกระดอนของลูกถูกจัดอยู่ในระดับ 2 หรือระดับความเร็วปานกลางไปถึงช้า

 

ความเร็วระดับนี้นี่เองที่ทำให้การเล่นไม่ยากเกินไป คือลูกไม่ได้กระดอนช้าเหมือนคอร์ตดินจนต้องอาศัยแรงมหาศาลในการตอบโต้ และไม่ได้กระดอนเร็วและต่ำจนรับแทบไม่ทันเหมือนคอร์ตหญ้า

 

ซึ่งฮาร์ดคอร์ตระดับ 2 เช่นนี้เปิดโอกาสให้นักเทนนิสส่วนใหญ่ของโลกได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ทำให้ฮาร์ดคอร์ตเป็นพื้นผิวที่ได้รับการยกย่องว่ายุติธรรมที่สุด เพราะมันสามารถขจัดความได้เปรียบเฉพาะทางทั้งหมดออกไปได้ และทำให้นักเทนนิสหลายๆ คน เฉิดฉายขึ้นมาต่อกรกับพวกมือวางและยักษ์ใหญ่ได้มากที่สุด

 

เหตุผลประการต่อมา เป็นเรื่องของช่วงเวลาในการแข่งขันยูเอสโอเพนที่ถูกจัดให้แข่งขันเป็นเมเจอร์สุดท้ายของปี ทำให้กว่าจะได้เล่นเทนนิสรายการนี้ก็ปาเข้าไปช่วงท้ายฤดูกาลกันแล้ว นั่นเองที่ช่วยขจัดข้อได้เปรียบของบรรดานักเทนนิสมือวางออกไปเยอะมาก

 

ที่เป็นแบบนั้นเนื่องจากการจัดอันดับมือวางจะอิงจากอันดับโลกเป็นสำคัญ นักเทนนิสที่ทำผลงานได้ดีตลอดทั้งปีก็จะถูกจัดให้มีอันดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่นักเทนนิสมือสูงๆ หากปีนี้ทำผลงานไม่ดีอันดับก็จะหล่นลงไป ดังนั้นในช่วงท้ายปีจึงกลายเป็นช่วงที่อันดับโลกสะท้อนกับฟอร์มการเล่นของนักเทนนิสที่สุด

 

นั่นเอง ที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงการจับฉลากประกบคู่ที่บรรดานักเทนนิสมือวางจะเริ่มต้นทัวร์นาเมนต์ในการเจอกับของง่ายแบบง่ายจริงๆ ในรอบแรกๆ เพราะอันดับโลกสะท้อนความจริง แต่ในรอบ 3 เป็นต้นไปเมื่อผ่านของง่ายไปแล้ว พวกเขาจะเริ่มเจอกันเอง และได้ตัดกันเองจนตกรอบไป

 

 

การถูกแบ่งสายตามฝีมือและฟอร์มการเล่นที่เป็นจริงของนักเทนนิส จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บรรดามือวางไม่เจอกับงานง่ายเกินไป และได้เจอกับบททดสอบแบบที่พวกเขาควรจะเจอ ซึ่งทำให้มีหลายครั้งที่มือวางต้องตกรอบเร็วในเทนนิสรายการนี้ และอีกหลายครั้งที่ตัวเต็งก็ไปไม่ถึงแชมป์

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ คือการที่มันเป็นเทนนิสแกรนด์สแลมสุดท้าย ทำให้หลายๆ นักเทนนิสทุ่มพลังลงไปในรายการนี้ได้อย่างเต็มที่

 

โดยเฉพาะในเทนนิสชายอย่าง ATP ที่วางโปรแกรมหลังจากยูเอสโอเพนไว้เป็นการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพรอบแบ่งกลุ่ม และเทนนิสประเพณีเลเวอร์คัพก็เหมือนนักเทนนิสโดยเฉพาะในระดับกลางไปถึงล่างจะได้พักเพื่อฟื้นฟูร่างกายเป็นระยะสั้นๆ ก่อนที่การแข่งขันระดับมาสเตอร์ 1000 จะกลับมาอีกครั้งในช่วงต้นเดือนตุลาคม

 

แต่สำหรับตัวเต็ง ตัวตึง และตัวใหญ่ๆ พวกเขาก็อาจจะต้องใส่พลังลงไปเต็มที่เช่นกัน แต่เรื่องหลังจากนั้นพวกเขาต้องคิดมากกว่า เพราะหลายๆ คนก็เป็นตัวแทนทีมชาติที่จะต้องลงเล่นในศึกเดวิสคัพหลายๆ คนก็จะถูกเชิญไปเล่นในเลเวอร์คัพ แม้รายการเหล่านี้จะถอนตัวได้ แต่ส่วนใหญ่หลายๆ คนเลือกที่จะไม่ปฏิเสธ

 

และเรื่องการเล่นในช่วงท้ายฤดูกาลนี่เองที่ส่งผลอีกอย่าง นั่นคือความเหนื่อยล้าสะสมของนักเทนนิสโดยเฉพาะบรรดามือวางจะเริ่มแสดงออกมาให้เห็น ยิ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับเกมหนักและความเครียดอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่จะบาดเจ็บก็มีโอกาสมากกว่า

 

ขณะที่บรรดามือรองๆ ลงไปที่อาจจะได้แชมป์ไม่มากเท่าในฤดูกาลที่ผ่านมาก็จะมีร่างกายที่สุดกว่า เพราะพวกเขาไม่ต้องเล่นเกมทั้งสัปดาห์มาตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีเวลาพักมากกว่า แตกต่างกับบรรดามือวางที่ต้องลงเล่นยาวเกือบสัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์เต็มมาตั้งแต่ต้นปี

 

 

ดังนั้น เราจึงได้เห็นนักเทนนิสเจ็บในการแข่งขันยูเอสโอเพนบ่อยครั้ง พอๆ กับที่เราจะได้เห็นนักเทนนิสที่ไม่ใช่ตัวเต็งก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์รายการนี้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น โดมินิค ธีม ปี 2020, สแตน วาวรินกา ปี 2016, มาริน ซิลิช ปี 2014 หรือ ฮวน มาร์ติน เดล ปอโตร ในปี 2009 

 

ขณะที่ฝ่ายหญิงก็ไม่ต่างกันอย่าง เอ็มมา ราดูคานู (2021), เบียงกา อันเดรสคู (2019), ฟลาเวีย เพนเน็ตตา (2015) หรือ ซาแมนธา สโตเซอร์ (2011) เหล่านี้ล้วนไม่ใช่ตัวเต็ง แต่สามารถคว้าแชมป์รายการนี้ได้ทั้งสิ้น และบางคนก็เป็นเพียงนักเทนนิสไร้ชื่อก่อนคว้าแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จด้วย

 

เหล่านี้จึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ยูเอสโอเพนกลายเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ไร้ผู้ครอบครองโดยสมบูรณ์ต่างจากแกรนด์สแลมรายการอื่นๆ และเรียกได้ว่านี่เองก็ถือเป็นเสน่ห์สำคัญของการแข่งขันเทนนิสรายการนี้ไปในตัวด้วย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising