×

มนต์รักนักพากย์ (2566) ลอง ลิฟ ไทย ซีเนมา-มิตร ชัยบัญชา ฟอร์เอฟเวอร์

12.10.2023
  • LOADING...

ขอเริ่มต้นด้วยการพูดถึงช้างตัวเบ้อเริ่มที่อยู่ในห้องก่อน 

 

น่าสังเกตว่าทันทีที่เทรลเลอร์และโปสเตอร์สไตล์วินเทจของหนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ งานกำกับของ อุ๋ย-นนทรีย์ นิมิบุตร และเป็นผลงานที่ Netflix ออกทุนสร้างร้อยเปอร์เซ็นต์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘ทีไทย ทีมันส์’ ที่ออกข่าวปีก่อน) ได้รับการเผยแพร่สู่การรับรู้ของสาธารณชน เสียงเรียกร้องหนาหูจากทั่วสารทิศก็คือโอกาสที่จะได้ดูหนังเรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ (อย่างน้อย ‘สักหนึ่งสัปดาห์ก็ยังดี’) ด้วยเหตุผลที่ไม่ได้สลับซับซ้อน

 

นี่เป็นหนังที่นอกจากส่วนหนึ่งของเนื้อหาพูดถึงประวัติศาสตร์หน้าสำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬารของอุตสาหกรรมหนังไทย ยังเป็นหนังที่เฉลิมฉลอง ‘ภาพยนตร์’ ในฐานะมหรสพ หรืออีกนัยหนึ่ง หนังที่อรรถรสในการชมสัมพันธ์กับการได้ดูเป็นหมู่คณะอย่างแยกจากกันไม่ได้ (หลายๆ ฉากในหนังก็ถ่ายทอดห้วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็น Magic Moment ของมันโดยตรง) และนั่นทำให้โดยอัตโนมัติ แพลตฟอร์มหรือช่องทางเดียวที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์แบบรวมหมู่ หรือที่เรียกว่า Collective Experience ก็คือในโรงภาพยนตร์

 

 

แต่บังเอิญว่าเจ้าของหนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ เป็นเจ้าของเดียวกับบริการสตรีมมิง ซึ่งมีระบบการเผยแพร่คอนเทนต์หรือภาพเคลื่อนไหวในแบบที่ไม่ต้องพึ่งพาโรงหนังอีกต่อไป โรงหนังก็เลยไม่ใช่อุโบสถอันศักดิ์สิทธิ์ หรือพื้นที่จารึกแสวงบุญสำหรับคนดู หรือเอาเข้าจริงๆ กลายเป็นส่วนเกินของสมการนี้ด้วยซ้ำ

 

นั่นทำให้เป็นเรื่องช่วยไม่ได้จริงๆ ที่ใครจะรู้สึกถึงความลักลั่นและย้อนแย้งของการที่หนังที่สร้างเพื่อหวนรำลึกถึงภาพยนตร์ในฐานะสันทนาการที่ผู้คนได้หัวเราะ ร้องไห้ และซาบซึ้งไปพร้อมๆ กัน กลับถูกเผยแพร่ผ่าน ‘จอหนัง’ ของใครของมัน และพวกเราในฐานะคนดูไม่มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์ต่อกัน หนังเรื่องอื่นยังพอทำเนา แต่สำหรับเรื่องนี้ มันชวนให้รู้สึกรุนแรงกว่าเพื่อน 

 

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ แง่มุมหนึ่งที่อาจยกมาชดเชยส่วนที่ขาดตกบกพร่องก็คือ แพลตฟอร์มสตรีมมิงช่วยลดทอนความเหลื่อมล้ำเชิงภูมิศาสตร์ หมายความว่า ตราบเท่าที่ใครคนนั้นอยู่ในที่ๆ มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเป็นสมาชิกของบริการสตรีมมิงยี่ห้อนั้นๆ การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (ซึ่งนับเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของอุตสาหกรรมหนังไทย จนเกิดความเหลื่อมล้ำในเชิงของการรับรู้และรสนิยม) ก็ไม่ใช่ประเด็นปัญหาอีกต่อไป และในขณะที่หนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ ต้องแลกกับการไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์อย่างที่ใครๆ ลงความเห็นว่านี่คือที่ทางที่เหมาะสมของมัน การที่คนทั่วโลกสามารถดูหนังเรื่องนี้ผ่านจอภาพส่วนตัวในช่วงเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่คงต้องชั่งตวงวัดกันไปว่ามันคุ้มค่ากับอรรถรสและสุนทรียะที่ตกหล่นสูญหายหรือไม่อย่างไร

 

และเป็นไปได้หรือไม่ว่าในเมื่อ ‘ตลาด’ มีขนาดใหญ่และความหลากหลายมากขึ้น คนทำหนังก็ไม่ต้องติดอยู่ในเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเดิมๆ ของการต้องทำหนัง (ฉายโรง) เพื่อตอบสนองกลุ่มคนดูที่เป็นวัยรุ่นเพียงลำพัง และ มนต์รักนักพากย์ ก็เล่าเรื่องที่ฉีกตัวเองไปจากกรอบเนื้อหาที่คุ้นเคยและมีเนื้อหาที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น อย่างที่ผู้กำกับเล่าแจ้งแถลงไขไว้ก่อนหน้านี้ว่า นี่คือจดหมายรักของเขาต่อหนังไทย และหนังไทยในที่นี้ก็ย้อนกลับไป 50 กว่าปี หรือช่วงปลายของยุค ‘หนังไทย 16 มม.’ (ซึ่งถ่ายทำแบบไม่บันทึกเสียงและใช้การพากย์สด) และจากที่หนังของนนทรีย์นำเสนอซึ่งรองรับด้วยข้อเท็จจริง นักพากย์เป็นผู้เล่นสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายความสำเร็จหรือล้มเหลวของหนังเรื่องหนึ่งอย่างชนิดวันต่อวันทีเดียว

 

 

โฟกัสสำคัญของ มนต์รักนักพากย์ ได้แก่หน่วยหนังเร่ขายยาของ มานิตย์ (เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ) ซึ่งจะว่าไปแล้วสถานะของหน่วยเผยแพร่ความบันเทิงแบบจรยุทธ์ของเขาอยู่ในลำดับชนชั้นที่ต่ำสุดของระบบการฉายหนัง ซึ่งเริ่มจากโรงชั้นหนึ่งในเมืองหลวง โรงชั้นสอง โรงหัวเมืองต่างจังหวัด หนังล้อมผ้า (ซึ่งเก็บค่าดู) จนกระทั่งถึงหนังเร่ขายยาที่ตะลอนไปตามจังหวัดต่างๆ และดูฟรี และจากที่คนดูได้เห็น สภาพของตัวหนังที่ตกทอดมาถึงพวกเขาก็เต็มไปด้วยรอยขีดข่วน ภาพกระตุก สีสันเลอะเลือน หรือที่เรียกกันว่ากากฟิล์มนั่นเอง

 

แต่ทั้งๆ ที่เผชิญกับข้อจำกัดนานัปการ ทั้งกฎเกณฑ์ของบริษัทขายยาที่คร่ำครึโบราณ เทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนไป (การมาถึงของหนัง 35 มม. เสียงในฟิล์ม และโทรทัศน์) ตลอดจนคู่แข่งตัวฉกาจอันได้แก่หน่วยฉายหนังล้อมผ้าซึ่งมีทุกอย่างเหนือกว่า ทั้งเครื่องฉาย สภาพฟิล์มหนัง และนักพากย์

 

สิ่งที่หนังเรื่อง มนต์รักนักพากย์ บอกเล่าก็คือการดิ้นรนเฮือกสุดท้ายของทีมไก่รองบ่อนของมานิตย์ ซึ่งประกอบด้วย เรืองแข (หนูนา-หนึ่งธิดา โสภณ) นักพากย์หญิงคนเดียว, เก่า (เก้า-จิรายุ ละอองมณี) คนคุมจอและเครื่องฉาย, ลุงหมาน (สามารถ พยัคฆ์อรุณ) คนขับรถ และกล่าวได้ว่าความพยายามกระเสือกกระสนเพื่อไปต่อและอยู่รอด (และโดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับข้อบังคับล้าหลัง) ก็ไม่เพียงก่อให้เกิดทั้งความกระตือรือร้นและแรงบันดาลใจใหม่ๆ กับทุกคนในทีม อาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังล้ออยู่กับภาวะลูกผีลูกคนของหนังไทยช่วงนั้น (พ.ศ. 2513) ที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้ต้องรับมือกับความพลิกผันที่รุมเร้านานัปการ และนั่นรวมถึงเหตุไม่คาดฝันที่จู่โจมแบบไม่มีใครตั้งตัว

 

 

อย่างที่ใครๆ รับรู้รับทราบ หนึ่งในตัวละครที่เล่นบทบาทสำคัญ ทั้งๆ ที่เขาล่วงลับไปแสนนานก็คือ มิตร ชัยบัญชา และความแยบยลของบทหนังส่วนนี้ก็ได้แก่การใช้ประโยชน์จากคาแรกเตอร์นี้ ทั้งในฐานะบุคลิกที่มีเลือดเนื้อ และความหมายเชิงสัญลักษณ์ซึ่งโยงไปถึงแก่นเรื่อง หรือพูดอย่างเจาะจง หนังใช้การเสียชีวิตกะทันหันของมิตรเป็นเหตุและปัจจัยที่กระตุ้นให้เหล่าตัวละครในเรื่องค้นพบความปรารถนาและความมุ่งหวังของตัวเองที่ชัดเจนขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ วิธีการที่ผู้สร้าง ‘เลือก’ ให้เราได้ ‘พบเจอ’ กับมิตร ชัยบัญชา ในหนังเรื่องนี้ ก็นับว่า ‘เสี่ยง’ และท้าทายการยอมรับของคนดูพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม 2-3 ส่วนที่โดดเด่นมากๆ อย่างแรกสุดก็คืองานสร้าง (เอก เอี่ยมชื่น ผู้ซึ่งร่วมงานกับนนทรีย์มาตั้งแต่หนังเรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง) ที่จำลองช่วงเวลาตามท้องเรื่องได้สมจริงสมจังและประณีต ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมของตัวละคร อุปกรณ์ประกอบฉาก รถบุโรทั่งที่ใช้เร่ฉายหนัง ฉากตลาดยามเช้าในต่างจังหวัด โรงเรียนสอนพิมพ์ดีด ไปจนถึงโรงแรมซอมซ่อที่หน่วยเร่ฉายหนังใช้ซุกหัวนอน ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่เพียงแค่ทำให้ยุคสมัยที่ผ่านพ้นไปแล้วเนิ่นนานกลับมาโลดเต้นและดูมีชีวิตชีวาอีกครั้ง ทว่ามันยังช่วยสนับสนุนให้เรื่องที่บอกเล่าดูขึงขังจริงๆ มากขึ้น

 

 

อีกหนึ่งก็คือการสร้างบุคลิกของมานิตย์ ผู้ซึ่งว่าไปแล้วบทหนังแทบจะไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร นอกจากเขาเป็นหัวหน้าหน่วยเร่ฉายหนังที่ดูอบอุ่นและเปี่ยมด้วยเมตตา และนั่นยิ่งทำให้เราอยากรู้ภูมิหลังของใครคนนี้มากขึ้น แต่บางทีเรื่องแต่หนหลังของเขาก็คงไม่มีอะไรสลักสำคัญที่คนดูควรรู้ เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตและความรักของเขาก็มีเพียงแค่สิ่งที่เราได้เห็นเบื้องหน้า นั่นคือการพากย์หนังขายยาที่เจ้าตัวบอกว่าพากย์แต่ละเรื่องมาเป็นร้อยๆ รอบ 

 

และแน่นอน คนที่ทำให้ตัวละครซึ่งดูเหมือนไม่มีมิตินี้กลับเต็มล้นไปด้วยความเป็นมนุษย์ก็คือ เวียร์-ศุกลวัฒน์ คณารศ หรือว่ากันตามจริง ตัวตนของเขากลืนหายไปกับคาแรกเตอร์นี้อย่างไร้รอยต่อจริงๆ และคนดูเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยในความเป็นนักพากย์ห้าเสียงที่คล่องแคล่วช่ำชอง แม้ว่าจนแล้วจนรอดเสียงผู้หญิงของเขาก็สมควรถูกนักเลงหัวไม้ด่าทอว่าเหมือน ‘สุนัขเยี่ยวรดกะละมัง’ จริงๆ แต่ใครที่โตทันหนังกลางแปลงพากย์สด ซึ่งใช้นักพากย์ผู้ชายคนเดียว เสียงผู้หญิงก็ระคายหูแบบนี้ทั้งนั้น

 

ไม่ว่าจะอย่างไร หนึ่งในฉากที่ผู้สร้างถ่ายทอดคาแรกเตอร์นี้ได้จับใจมากๆ อยู่ในตอนท้าย ที่เจ้าตัวบอกเจตนารมณ์ของตัวเองกับทุกคนด้วยน้ำเสียงและสีหน้าสีตาที่เด็ดเดี่ยวมุ่งมั่น แต่ก็แฝงไว้ด้วยความอ่อนโยน ทำนองว่าเขาจำเป็นต้องสู้เพื่อความฝันของตัวเอง เพราะไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นปมค้างคาหรือบาดแผลทางจิตใจ แต่พูดอย่างถี่ถ้วน นี่เป็นฉากที่ส่วนประกอบต่างๆ ลงตัวจริงๆ ทั้งงานด้านภาพ การตัดต่อ การแสดงของนักแสดงทุกคนที่พอดิบพอดี และการกำกับที่ทุกอย่างดูไหลลื่นเป็นธรรมชาติมากๆ

 

 

ประเด็นสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดที่น่าพูดถึงเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ก็คือบทบาทของมันในฐานะผลงานบันทึกประวัติศาสตร์หนังไทย น่าสังเกตว่าหนังไทยไม่เหมือนหนังฮอลลีวูดตรงที่เราไม่ค่อยสร้างหนังที่พูดถึงความเป็นไปในระบบอุตสาหกรรมสักเท่าไร (ส่วนหนึ่งคงเพราะมันไม่ใช่หัวข้อที่ขายได้และมักจะมีราคาแพง) เพราะอย่างนี้ความพยายามของ มนต์รักนักพากย์ ในการบอกเล่าเรื่องแต่หนหลังที่เกือบตกสำรวจนี้ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม 

 

แต่ก็นั่นแหละ เงื่อนไขของการเป็นหนัง ‘บันเทิงคดี’ ก็ทำให้ผู้สร้างต้องใส่สีตีไข่และหยิบโน่นผสมนี่ หรือพูดตรงๆ หนังมีความคลาดเคลื่อนในแง่ข้อเท็จจริงตามสมควร ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัว นี่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง เพราะจนแล้วจนรอดคนทำหนังก็บอกตั้งแต่ต้นว่านี่คือจดหมายรักที่เขาสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาที่ ‘หอมหวานที่สุดของวงการหนังไทย’ หรืออีกนัยหนึ่ง เขาไม่ได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยสายตานักประวัติศาสตร์ แต่ในฐานะคนที่รักและผูกพันกับหนังไทยซึ่งเต็มไปด้วยฉันทาคติ จะเรียกว่าด้อมหรือนายแบกก็คงจะได้ อันส่งผลให้สิ่งละอันพันละน้อย ทั้งเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ความทรงจำ (ที่เอาแน่นอนไม่ได้) และจินตนาการของผู้สร้าง ควบแน่นเป็นเนื้อเดียวกัน 

 

 

โดยปริยาย มนต์รักนักพากย์ เป็นหนังที่ชวนให้เปิดบทสนทนาต่อเนื่องหลังดูจบจริงๆ ส่วนหนึ่งอาจจะเพื่อชำระสะสางสิ่งที่คนทำหนังถือวิสาสะดัดแปลง แต่ส่วนที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็เพื่อให้ผู้ชมรุ่นหลังจะได้รับรู้ว่า ทันทีที่จิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ นี้ผนวกเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์หนังไทย เบื้องหน้าที่ดูหอมหวานและชวนให้ถวิลหากลับแอบซ่อนไว้ด้วยเส้นทางที่ทั้งทุลักทุเล ระหกระเหิน และไม่เคยโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบด้วยประการทั้งปวง

 

มนต์รักนักพากย์ (พ.ศ. 2566)

กำกับ: นนทรีย์ นิมิบุตร
ผู้แสดง: ศุกลวัฒน์ คณารศ, หนึ่งธิดา โสภณ, จิรายุ ละอองมณี, สามารถ พยัคฆ์อรุณ 

 

ภาพ: Netflix

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising