×

‘Safe Standing’ อัฒจันทร์แบบยืนเพื่อฟื้นความรู้สึกวันวาน

06.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 mins read
  • ผลสำรวจกลุ่มแฟนบอลลิเวอร์พูลจำนวนเกือบ 17,910 คน ผลลัพธ์ที่ออกมาสร้างความประหลาดใจอยู่บ้างเพราะแฟนหงส์กว่า 15,798 คน หรือคิดเป็น 88.21% เห็นด้วยกับการมีอัฒจันทร์แบบยืน
  • เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989 ที่ทำให้มีแฟนบอลเสียชีวิตรวมกันถึง 96 ราย คือ ‘แผลเป็น’ ของแฟนบอลลิเวอร์พูล เนื่องจากแฟนฟุตบอลจำนวนมากพยายามเข้าไปในสนามทำให้เกิดการยัดเยียดของฝูงชนและนำไปสู่เรื่องเศร้า เพื่อความปลอดภัยของแฟนฟุตบอลจึงยกเลิกอัฒจันทร์แบบยืน และปรับเปลี่ยนสนามฟุตบอลให้เป็นอัฒจันทร์แบบที่นั่งทั้งหมด
  • ผลสำรวจครั้งนี้ชวนให้คิดว่าหรือนี่จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้แฟนลิเวอร์พูลไม่ใช่แค่จะ Walk on เหมือนในเพลง You’ll Never Walk Alone แต่พวกเขายังพร้อมที่จะ Move on จากบาดแผลในอดีตด้วย

     ท่ามกลางกระแสข่าวการย้ายทีมของ เนย์มาร์ ที่สะเทือนโลกลูกหนังตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจครับ และผมคิดว่าบางทีเราน่าจะรู้กันไว้สักหน่อย

     เรื่องที่ว่าคือเรื่องของผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘Safe Standing’ หรืออัฒจันทร์ยืนในสนามฟุตบอลว่าสมควรที่จะได้รับการผลักดันให้เกิดขึ้นในสนามฟุตบอลที่ประเทศอังกฤษหรือไม่

     สิ่งที่ทำให้ผลการสำรวจครั้งนี้น่าสนใจคือการสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจในหมู่แฟนฟุตบอลทีม ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล (Liverpool Football Club) หนึ่งในกองเชียร์ที่มีผลกระทบกระเทือนทางจิตใจต่อเรื่องของอัฒจันทร์แบบยืนนี้สูงที่สุด

     แต่พวกเขากลับลงมติว่า ‘เห็นด้วย’ กับแนวคิด Safe Standing โดยมีผลโหวตออกมาสูงลิบถึง 88.21%

     มันเกิดอะไรขึ้น?

     หรือว่าพวกเขาจะลืมความเจ็บปวดจากเหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ได้แล้ว?

     และเราจะได้เห็นอัฒจันทร์แบบยืนกลับมาในสนามฟุตบอลอังกฤษอีกครั้งแล้วใช่หรือไม่?

 

 

Safe Standing คืออะไร?

     แต่ก่อนจะพูดถึงเรื่องอื่น ผมคิดว่าเราควรรู้จักกับอัฒจันทร์ยืนที่เรียกว่า Safe Standing กันก่อนครับ

     อัฒจันทร์ที่เรียกว่า Safe Stadning หมายถึงอัฒจันทร์แบบยืนที่ออกแบบมาเพื่อให้แฟนกีฬา (ไม่ได้หมายถึงเฉพาะแค่ฟุตบอลด้วยครับ) ได้ยืนชมการแข่งขันกันอย่างปลอดภัย

     สำหรับประเภทของอัฒจันทร์ที่เข้าข่าย Safe Standing​ โดยพื้นฐานมี 3 แบบด้วยกันครับ คือ

     แบบแรกคือ Rail Seats ที่นอกจากจะยืนเกาะได้แล้วยังสามารถปรับเป็นเก้าอี้นั่งได้ด้วยในกรณีที่แข่งขันในรายการที่ระบุเงื่อนไขว่าสนามจะต้องเป็นที่นั่งทั้งหมด

     แบบที่ 2 Clip on Seats ที่สามารถติดตั้งหรือถอดราวรักษาความปลอดภัย (Safety Barriers) และสามารถติดตั้งเก้าอี้ในทุกแถวได้ ซึ่งแบบนี้ใช้กับสนามที่มีชื่อเสียงอย่าง เวสต์ฟาเลนสตาดิโอน (Westfalenstadion) ของทีมโบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์ (Borussia Dortmund) กับอัฒจันทร์ยืนที่มีชื่อเสียง Südtribüne หรือ ‘กำแพงเหลือง’ (The Yellow Wall) ที่มีความจุมากถึง 24,454 คน

     และแบบสุดท้ายคือ Foldaway Seat ซึ่งก็คล้ายกับแบบที่ 2 ตรงที่สามารถติดตั้งราวได้ง่าย ขณะที่เก้าอี้นั่งจะถูกซ่อนอยู่ใต้แผ่นเหล็กที่ปกติเป็นเหมือนที่ยืน เพียงแต่อัฒจันทร์แบบนี้เหมาะกับแค่บางสนามเท่านั้น เช่น สนามใหม่อย่าง AOL อารีนา ของทีมฮัมบูร์ก เอสวี

     ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็น Safe Standing ที่มีการใช้งานจริงในปัจจุบันครับ

     สำหรับกระแสเรียกร้อง Safe Standing ในวงการฟุตบอลอังกฤษ เกิดจากการที่แฟนบอลชาวเมืองผู้ดียังมีพฤติกรรมในการ ‘ยืนเชียร์’ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาทำตลอดระยะเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะมีการเปลี่ยนเป็นอัฒจันทร์แบบนั่งแล้วก็ไม่ค่อยจะมีคนนั่งเชียร์สักเท่าไหร่

     เสียงเรียกร้องเพื่อขอกลับมายืนเชียร์บอลอีกครั้งจึงดังขึ้น โดยเสียงดังครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2013 และดังขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี โดยเฉพาะในปีล่าสุดที่ดังเป็นพิเศษ หลังจากที่ชาวอังกฤษได้เห็นความสำเร็จของ Safe Standing ของทีม กลาสโกว์ เซลติก (Glasgow Celtic)

     เซลติก หนึ่งในสโมสรใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์ เป็นสโมสรแห่งแรกในแดนวิสกี้ที่นำร่องขอให้มีอัฒจันทร์แบบยืนขึ้น โดยทำเรื่องขออนุญาตตั้งแต่ปี 2015 และใช้เวลาต่อรองเป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะประสบความสำเร็จได้รับอนุญาต จึงสร้างอัฒจันทร์ยืน Safe Standing โดยว่าจ้างบริษัทผู้เชี่ยวชาญ Holmes Miller รับหน้าที่ออกแบบงานสถาปัตยกรรม, Blyth & Blyth เป็นวิศวกร และ Ferco Seating เป็นบริษัทติดตั้งที่นั่ง

     สุดท้ายพวกเขามี Safe Standing ความจุ 2,600 ที่นั่งอยู่ที่อัฒจันทร์ฝั่งเหนือของสนามเซลติก พาร์ก​ (Celtic Park)

     และความสำเร็จนั้นทำให้มีการเคลื่อนไหวในอังกฤษทันที โดยเฉพาะสหพันธ์แฟนฟุตบอลในอังกฤษ (Football Supporters’ Federation) ซึ่งพยายามผลักดันเรื่องนี้อย่างหนักเพราะอยากเห็นอัฒจันทร์แบบยืนกลับมาสู่สนามฟุตบอลอีกครั้ง

     ความพยายามดังกล่าวทำให้เกิดการสำรวจความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางไปทั่วเกาะอังกฤษ จนมีการกระทุ้งเรื่องผ่านพรีเมียร์ลีก (Premier League) และนำไปสู่การส่งจดหมายสอบถามความคิดเห็นไปยัง 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีกว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

     ผลคาดเดาไม่ยากครับ ส่วนใหญ่เห็นด้วย

     แฟนฟุตบอลยังรักและคิดถึงการ ‘ยืนเชียร์’ ครับ

     แต่มีอยู่หนึ่งสโมสรที่ไม่มีใครกล้าที่จะถามความรู้สึกตรงๆ เพราะมันละเอียดอ่อนเกินกว่าที่พวกเขาจะรับไหว

     ทีมนั้นคือ ลิเวอร์พูล…

 

 

การสำรวจบนบาดแผลและความรู้สึก

     เหตุโศกนาฏกรรมที่สนามฮิลส์โบโรห์ ในเกมเอฟเอ คัพ รอบรองชนะเลิศระหว่าง ลิเวอร์พูล และน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน 1989 ที่ทำให้มีแฟนบอลเสียชีวิตรวมกันถึง 96 ราย คือ ‘แผลเป็น’ ของแฟนบอลลิเวอร์พูล โดยเฉพาะเดอะ ค็อป ที่เป็นสเกาเซอร์ (Scouser) ที่หมายถึงแฟนบอลที่เกิดในเมืองลิเวอร์พูลจริงๆ

     พวกเขาสูญเสียพ่อ แม่ พี่น้อง ญาติ และเพื่อนอันเป็นที่รักไปจากเหตุการณ์ดังกล่าว

     แต่ผลกระทบอีกด้านจากเหตุโศกนาฏกรรม คือการที่ทางการอังกฤษมีการสอบสวน และมีข้อสรุปจากรายงาน Taylor Report โดยผู้พิพากษา ลอร์ด ปีเตอร์ เทย์เลอร์ (Lord Peter Taylor) ว่าสาเหตุของโศกนาฏกรรมเกิดจากการที่แฟนฟุตบอลจำนวนมากพยายามที่จะนำตัวเองเข้าไปในสนามฮิลส์โบโรห์ เพื่อชมฟุตบอลนัดนั้นจนทำให้เกิดการยัดเยียดของฝูงชนและนำไปสู่เรื่องเศร้า

     ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของแฟนฟุตบอลจึงเห็นควรให้ยกเลิกอัฒจันทร์แบบยืน และปรับเปลี่ยนสนามฟุตบอลใน 2 ดิวิชันสูงสุดให้เป็นอัฒจันทร์แบบที่นั่งทั้งหมด

     เป็นการยุติตำนานอัฒจันทร์แบบยืนของหลายสโมสร

     รวมถึง สปิออน ค็อป (Spion Kop) อันลือลั่นของทีมลิเวอร์พูลด้วย

     แต่กระแสเรียกร้อง Safe Standing ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แฟนลิเวอร์พูล เองไม่สามารถจะปิดกั้นเรื่องนี้ได้ครับ

     เพราะบางครั้งการเลี่ยงที่จะพูดถึงไม่ใช่ทางออกที่ดีเสมอไป

     การสำรวจความคิดเห็นในหมู่แฟนบอลเดอะ ค็อป เกี่ยวกับเรื่อง Safe Standing จึงเกิดขึ้นในที่สุด

     เพียงแต่เพื่อให้การสำรวจในหมู่แฟนบอลลิเวอร์พูล ผู้บอบช้ำจากเหตุโศกนาฏกรรมเมื่อ 28 ปีก่อนที่สนามฮิลส์โบโรห์ เป็นไปอย่างเรียบร้อยที่สุด คนที่จะตั้งคำถามจึงควรเป็นคนที่เข้าใจพวกเขาดีที่สุดเพื่อเลี่ยงการกระทบกระเทือนทางจิตใจ

     ฝ่ายที่รับหน้าที่ในการสำรวจความคิดเห็นของกองเชียร์เดอะ ค็อป คือแฟนบอลกลุ่มที่ใหญ่และได้รับการยอมรับมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในชื่อ Spirit of Shankly (SOS)

     การสำรวจครั้งนี้ไม่ใช่แค่ความคิดเห็น แต่เป็นการสำรวจบาดแผลและความรู้สึกของหัวใจด้วย

     กลุ่ม SOS เริ่มต้นด้วยการพบปะกับครอบครัวของผู้สูญเสียจากเหตุโศกนาฏกรรม รวมถึงผู้ที่รอดชีวิตจากฮิลส์โบโรห์ โดยที่ใช้เวลาในการพูดคุยกันยาวนานถึง 9 เดือนเพื่อให้เป็นการสำรวจที่รอบคอบและซื่อตรงต่อความรู้สึกมากที่สุด

     ก่อนจะมีการประชุมร่วมกับทาง Football Supporters’ Federation และองค์กรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยในสนามฟุตบอล Sports Grounds Safety Authority ซึ่งเป็นการประชุมแบบเปิดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

     จากนั้นจึงมีการลงมติกัน โดยสำรวจกลุ่มแฟนบอลลิเวอร์พูลจำนวนเกือบ 17,910 คน ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาสร้างความประหลาดใจอยู่บ้างเพราะแฟนหงส์กว่า 15,798 คน หรือคิดเป็น 88.21% เห็นด้วยกับการมีอัฒจันทร์แบบยืน

     มีแค่ 902 คน (5.04%) ที่ไม่เห็นด้วย 859 คน (4.8%) ต้องการรู้รายละเอียดมากกว่านี้ ส่วนอีก 351 คน (1.96%) ที่ยังไม่ตัดสินใจ

     และที่น่าสนใจคือในกลุ่ม SOS เองก็มีการสำรวจแบบเดียวกัน และได้ผลลัพธ์ออกมาคล้ายๆ กัน

     มันชวนให้คิดว่าหรือนี่จะเป็นสัญญาณที่บ่งบอกได้ว่า ณ เข็มนาฬิกาเดินไปนี้แฟนลิเวอร์พูลไม่ใช่แค่จะ Walk on เหมือนในเพลง You’ll Never Walk Alone

     แต่พวกเขายังพร้อมที่จะ Move on จากบาดแผลในอดีตด้วย

 

จุดเริ่มต้นของการกลับมา

     อย่างไรก็ดีในแถลงการณ์ของกลุ่ม SOS พวกเขาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่าผลการสำรวจครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะร่วมผลักดันหรือเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนอัฒจันทร์แบบนั่งให้เป็นอัฒจันทร์แบบ Safe Standing ทันที

พวกเขาแค่บอกว่านี่เป็นผลการสำรวจ ‘ความคิดเห็น’ บนพื้นฐานของการที่ทุกคนควรมีสิทธิ์ที่จะได้แสดงออกไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นหรือความรู้สึกของตัวเอง

แต่เป็นที่รู้กันครับว่า ท่าทีของแฟนลิเวอร์พูลต่อเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากการ ‘ประทับตรา’ ให้มีการผลักดันเรื่องนี้ต่อไปได้

เวลานี้มีทีมแรกแล้วครับที่เสนอตัวจะเป็นสโมสรแรกในอังกฤษที่มี Safe Standing

ทีมดังกล่าวคือ ชรูวส์บิวรี ทาวน์ (Shrewsbury Town) ซึ่งสนามมีโดว สเตเดียม (Meadow Stadium) ของพวกเขาตั้งอยู่ห่างจากสนามแอนฟิลด์ (Anfield) แค่ 70 ไมล์ โดยพวกเขาเสนอแผนที่จะทำอัฒจันทร์ยืนแบบ Rail Seating และเริ่มมีการระดมทุนและมีเป้าหมายอยู่ที่ 75,000 ปอนด์ ซึ่งจะเป็นงบประมาณสำหรับการก่อสร้าง

นั่นเป็นแค่การเคลื่อนไหวเล็กๆ ที่สำคัญครับ

แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นก่อนที่ Safe Standing ในฟุตบอลอังกฤษจะเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยที่สำคัญที่สุด ก่อนจะนำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา

คาดว่าจะใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรครับ และคงไม่ใช่ในฤดูกาลนี้แน่

แต่อย่างน้อยที่สุดเราพอได้เห็นแล้วว่า ‘จิตวิญญาณ’ การเชียร์ฟุตบอลในแบบดั้งเดิมกำลังจะกลับมาในแบบที่ปลอดภัยขึ้น

อาจไม่เหมือนวันวานทั้งหมด แต่คงช่วยให้สนุกขึ้นพอสมควรครับ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising