×

จากวินาทีแรกที่มนุษย์เหยียบดวงจันทร์ สู่ความงามสุดเอ็กซ์คลูซีฟของ OMEGA Speedmaster Apollo 11 [Advertorial]

07.06.2019
  • LOADING...

ถ้าเราถามคุณว่า ‘ใครคือมนุษย์คนแรกที่ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์’ คุณจำได้ไหม?

 

แน่นอนว่าคุณต้องสามารถตอบได้ทันทีว่าเขาคนนั้นคือ ‘นีล อาร์มสตรอง’ และ ‘บัซซ์ อาลดริน’ ที่ออกไปร่วมปฏิบัติการในอวกาศกับยานอะพอลโล 11 เมื่อ ค.ศ. 1969 หรือเมื่อ 50 ปีก่อน ปฏิบัติการที่เป็นเสมือนเครื่องหมายความสำเร็จของมนุษยชาติถึงความยิ่งใหญ่และก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พามนุษย์ตัวเล็กๆ ทะยานออกไปสู่ห้วงอวกาศได้

 

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า นอกเหนือจากที่ นีล อาร์มสตรอง และ บัซซ์ อาลดริน จะขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ อันนับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหญ่ของโลก มีส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เช่นกัน นั่นคือนาฬิกาข้อมือโอเมก้าที่พวกเขาใส่ขึ้นไป ซึ่งเป็นความพิเศษเดียวที่องค์การอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกาเลือกใช้

 

บัซซ์ อัลดริน (Buzz Aldrin) หนึ่งในสองผู้พิชิตดวงจันทร์คนแรกของประวัติศาสตร์

 

แล้วนาฬิกาโอเมก้าขึ้นไปอยู่บนดวงจันทร์ได้อย่างไรล่ะ?

จริงๆ แล้วนาฬิกาโอเมก้า สปีดมาสเตอร์นั้นผลิตขึ้นมาก่อนภารกิจพิชิตดวงจันทร์ราว 10 ปี ซึ่งรุ่นแรกสุดนั้นได้รับการออกแบบให้มีความแข็งแกร่งและสามารถดูเวลาได้อย่างง่ายดาย เป็นที่รู้จักในฐานะนาฬิกาที่เป็น ‘ตัวเลือกของนักบิน’ เพราะได้รับรองจากบรรดานักบินแถวหน้าของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในเวลานั้น

 

ค.ศ. 1964 มีการเริ่มต้นกระบวนการทดสอบนาฬิกาข้อมือสำหรับนักบินอวกาศ เพื่อใช้ในการฝึกและการสำรวจอวกาศอย่างเป็นทางการ โดย เดกี สเลย์ตัน (Deke Slayton) ผู้อำนวยการฝ่ายบุคลากรการบินของนาซ่า ส่งคำร้องขอนาฬิกาโครโนกราฟ (นาฬิกาข้อมือที่มีฟังก์ชันการจับเวลาที่ละเอียดและแม่นยำกว่านาฬิกาทั่วไป) จากผู้ผลิตนาฬิกาชั้นนำทั่วโลก

 

แน่นอนว่า โอเมก้าก็ส่งนาฬิกาโอเมก้า สปีดมาสเตอร์ไปร่วมทดสอบ ซึ่งการทดสอบดังกล่าวประกอบไปด้วยการทดสอบความร้อน การสั่นสะเทือน และสภาวะสุญญากาศ และเมื่อกระบวนทดสอบเสร็จสิ้นลงมีเพียงนาฬิกาโอเมก้า สปีดมาสเตอร์เท่านั้นที่ผ่านการทดสอบอันหฤโหดจนได้รับรอง Flight Qualified by NASA for all Manned Space Missions ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1965 สวยงามและทนทานแม้อยู่ในอวกาศ!

 

“นาฬิกาเปรียบเป็นตัวสนับสนุนที่สำคัญยิ่ง หากนักบินอวกาศสูญเสียความสามารถในการพูดคุยกับทีมงานภาคพื้นดิน หรือนาฬิกาจับเวลาดิจิทัลบนพื้นผิวดวงจันทร์ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบ สิ่งเดียวที่พวกเขาต้องพึ่งพาคือ นาฬิกาบนข้อมือของพวกเขาเท่านั้น” เจมส์ เรแกน (James Ragan) อดีตวิศวกรขององค์การนาซ่า ผู้ทำหน้าที่ควบคุมบททดสอบอันท้าทายขององค์การนาซ่า และประกาศรับรองโอเมก้า สปีดมาสเตอร์ใน ค.ศ. 1965 พูดถึงความสำคัญของนาฬิกาโอเมก้าอย่างน่าสนใจ

 

จากความสำเร็จในห้วงอวกาศสู่รุ่นล่าสุด

จริงๆ ต้องกล่าวย้อนไปสักนิดว่าหลังจากที่ภารกิจอะพอลโล 11 นั้นสิ้นสุดไปด้วยดี ในปีเดียวกันนั้นได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบินอวกาศและทีมงานที่อุทิศตนให้กับการศึกษาทั้งหมดในโครงการนี้ โอเมก้าจึงได้ผลิตนาฬิการุ่นพิเศษ สปีดมาสเตอร์ BA145.022 ขึ้นเพื่อแจกเป็นที่ระลึกถึงภารกิจอันสำคัญนี้ ซึ่งมีเพียง 1,014 เรือนเท่านั้น เพื่อยกย่องสรรเสริญบรรดานักบินอวกาศในโครงการสำรวจอวกาศขององค์การนาซ่าที่เสียสละและอาจหาญเพื่อมวลมนุษยชาติ

 

ความพิเศษของนาฬิการุ่นตำนานนี้คือ ความหรูหราของตัวเรือนและสายนาฬิกาทองคำเยลโล่โกลด์ 18K ขอบตัวเรือนสีเบอร์กันดี ซึ่งเป็นสีพิเศษที่ทำเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของโลกครั้งนี้เท่านั้น มาพร้อมฝาหลังที่สลักประโยคอันมีความหมายกินใจว่า “to mark man’s conquest of space with time, through time, on time”

 

หวนคืนความคลาสสิกสุดพิเศษ

ผ่านพ้นไปกว่า 50 ปี โอเมก้าได้ผลิตนาฬิกาสปีดมาสเตอร์ ลิมิเต็ด อิดิชั่น ขึ้นมาอีกครั้งในจำนวนจำกัดเพียง 1,014 เรือนเช่นกัน! ทั้งนี้ การออกแบบนาฬิกาโอเมก้าโครโนกราฟรุ่นใหม่ยังดำเนินรอยตามนาฬิกาโอเมก้า สปีดมาสเตอร์ รุ่นตำนาน BA145.022 ที่ผลิตเพื่อเป็นการระลึกถึงภารกิจดังกล่าวอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการรังสรรค์ตัวเรือน และสายนาฬิกาจากโลหะผสมทองคำ 18K ขับเคลื่อนด้วยกลไกไขลานด้วยมือมาสเตอร์ โครโนมิเตอร์ ตัวเรือน สายนาฬิกา หน้าปัด เครื่องหมายบอกเวลา และเข็มนาฬิกาแสดงชั่วโมงและนาที ล้วนรังสรรค์จากทองคำมูนไชน์โกลด์ 18k ซึ่งเป็นโลหะผสมที่จะมอบสีสันใหม่ๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากแสงของดวงจันทร์ที่ส่องแสงในท้องฟ้าสีคราม ดังนั้น สีของทองคำชนิดใหม่นี้จึงสุกสว่างและกระจ่างใสกว่าสีเหลืองของทองคำเยลโล่โกลด์ 18K ของนาฬิการุ่นดั้งเดิม

 

ที่สำคัญทองคำมูนไชน์โกลด์ยังมาพร้อมความทนทานและความเงางามของสีที่วาบวับไปตลอดกาล พร้อมตัวเรือนที่ได้รับการขัดเงาและขัดด้านสลับกันอย่างสวยงามในขนาด 42 มม. โดยรูปทรงของตัวเรือนสมมาตรตามแบบฉบับของโอเมก้า สปีดมาสเตอร์เจเนอเรชันที่ 4 ขณะที่สายนาฬิกาได้รับการออกแบบเป็นสายนาฬิกา 5 ข้อ เสริมความสวยงามด้วยการขัดเงาตัดสลับขัดด้านอย่างประณีตวิจิตร ที่สำคัญยังประทับตราสัญลักษณ์โอเมก้าสไตล์วินเทจ Ω ลงบนบานพับสำหรับล็อกสายนาฬิกา เกิดเป็นความงามอันทรงคุณค่าอย่างแท้จริง

 

ตัวเรือนสวยงามและเอกสิทธิ์เฉพาะโอเมก้า

ขอบตัวเรือนของโอเมก้า สปีดมาสเตอร์ อะพอลโล 11 ผลิตจากเซรามิกที่ผ่านกระบวนการผลิตอันซับซ้อน และจดสิทธิบัตรเพื่อเป็นเอกสิทธิ์พิเศษของแบรนด์เท่านั้น เพิ่มความสง่างามให้กับตัวเลขบนมาตรวัดทาคีมิเตอร์ด้วยทองคำเซร่าโกลด์ ขณะที่ตัวเลขความเร็วในมาตรวัดทาคีมิเตอร์แสดงความเร็วสูงสุดที่ 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถอดแบบมาจากมาตรวัดทาคีมิเตอร์ในนาฬิกาโอเมก้า สปีดมาสเตอร์ เจเนอเรชันแรก เพียงแต่รุ่นใหม่นี้จะมาพร้อมลูกเล่นตรงจุดเหนือเลข 90 ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในชื่อเล่นว่า Dot Over 90 หรือ DON นั่นเอง

 

ทุกดีเทลคือความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ส่วนวงแหวนฝาหลังด้านนอก ต้องนับว่าเป็นอีกส่วนสำคัญที่สวยงามและทรงคุณค่า เพราะได้รับการแกะสลักข้อความอย่างประณีตว่า ‘1969-2019’ และหมายเลขลำดับนาฬิกาที่ผลิตออกมาจำนวนจำกัด พร้อมลงสีเบอร์กันดี ซึ่งเป็นสีเฉพาะนาฬิการุ่นพิเศษนี้เท่านั้น ทั้งยังมีการระบุข้อความ ‘Master Chronometer’ ด้วยการตกแต่งแบบเซาะร่องมีมิติ

 

ในขณะที่วงแหวนฝาหลังด้านในนั้นทำจากทองคำมูนไชน์โกลด์ 18K พร้อมประดับตกแต่งด้วยเลเซอร์และเคลือบด้วย PVD สีฟ้าและสีดำ ซึ่งมอบความหมายกินใจอันล้ำค่า เริ่มต้นจากภาพทางขวามือเป็นภาพของทะเลสีฟ้าล้อมรอบทวีปอเมริกาและแหลมคานาเวอรัล (Cape Canaveral) หรือที่ถูกเรียกอีกชื่อว่า แหลมเคนเนดี (Cape Kennedy) ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับปล่อยจรวดขึ้นสู่ฟากฟ้า

 

ส่วนพื้นผิวโดยรอบที่เหลือได้รับการตกแต่งด้วยสีดำเงางาม เพื่อเป็นพื้นหลังสำหรับเน้นข้อความที่ระบุว่า ‘APOLLO 11-50th ANNIVERSARY’ และ ‘THE FIRST WATCH WORN ON THE MOON’ และยิ่งไปกว่านั้น วงแหวนด้านในตำแหน่งซ้ายมือมีการบรรจุ ‘อุกกาบาตดวงจันทร์’ ฝังลงไปในวงแหวนอย่างวิจิตรบรรจง ซึ่งเป็นสิ่งพิเศษที่สุดที่เชื่อมโยงจิตวิญญาณของการประดิษฐ์นาฬิกา และการสำรวจดวงจันทร์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

พร้อมกันนี้ ฝาหลังเป็นกระจกคริสตัลแซฟไฟร์ เพื่อเผยให้เห็นการทำงานของสุดยอดกลไกอย่างชัดเจน และสิ่งที่น่าสนใจมากๆ อีกจุดคือ วงแหวนด้านในยังผลิตขึ้นตามสัดส่วนจริงของเส้นผ่านศูนย์ของโลกที่ใหญ่กว่าดวงจันทร์ 3.67 เท่า เรียกว่าทุกรายละเอียดมีความหมายและควรค่าแก่การเป็นนาฬิกาที่เป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์สำคัญโลกอย่างแท้จริง

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บูติกโอเมก้า สาขาเซ็นทรัล เอ็มบาสซี โทร. 0 2160 5959, สาขาสยามพารากอน โทร. 0 2129 4878 และสาขาดิ เอ็มโพเรียม โทร. 0 2664 9550

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI

 

 

  • นอกจากนาฬิกาจะโดดเด่นแล้ว กล่องนาฬิกาเองก็มีระดับไม่แพ้กันในเรื่องรายละเอียด เพราะโอเมก้าสร้างสรรค์พื้นผิวด้านนอกกล่องจากวัสดุเซรามิกสีเทาที่ผ่านกระบวนการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) จนออกมาเป็นพื้นผิวเสมือนพื้นผิวดวงจันทร์ ซึ่งถูกทำให้แต่ละด้านของกล่องไม่เหมือนกัน ส่งผลให้กล่องนาฬิกาทั้งหมดไม่ซ้ำกันเลยสักกล่องเดียว ส่วนด้านบนกล่องเป็นภาพ Sea of Tranquility หรือทะเลแห่งความสงบ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยานอวกาศอะพอลโล 11 ร่อนลงจอดบนดวงจันทร์ เพื่อระลึกถึงภารกิจครั้งนั้นอย่างไม่รู้ลืม
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising