×

OECD คาด เศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าจ่อชะลอตัว-โตต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด เตือนธนาคารกลางอย่าการ์ดตก! เหตุแรงกดดันเงินเฟ้อยังสูง

07.06.2023
  • LOADING...
เศรษฐกิจโลก

OECD คาด เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้ายังฟื้นตัวอ่อนแอ โดยมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด เนื่องจากผลกระทบที่ยังเหลืออยู่จากการระบาดใหญ่ สงครามในยูเครน และปัญหาเงินเฟ้อ แนะแบงก์ชาติทั่วโลกอย่าไว้ใจเงินเฟ้อ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อ

 

ในรายงานประมาณการเศรษฐกิจฉบับล่าสุดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่หักผลลัพธ์ของอัตราเงินเฟ้อไปแล้วทั่วโลก (Real GDP) จะขยายตัวเพียง 2.7% ในปีนี้ และ 2.9% ในปีหน้า ต่ำกว่าปี 2022 ที่ 3.3% และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่ 3.4%

 

โดยเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และจีน น่าจะเผชิญกับการฟื้นตัวที่ซบเซา ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

 

“สถานการณ์ดังกล่าวกำลังสร้างความยากลำบากให้กับธนาคารกลาง ซึ่งต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่พิสูจน์แล้วว่า แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ตอนแรก โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตมากเกินไป” OECD กล่าว

 

คำเตือนดังกล่าวมีขึ้น 1 วันหลังจากธนาคารโลก (World Bank) เตือนว่า เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในสภาวะที่ไม่มั่นคง (Precarious State) และกำลังจะเผชิญกับการขยายตัวที่ชะลอลงอย่างมากในปลายปีนี้ เนื่องจากผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ เริ่มแสดงให้เห็นแล้ว

 

แนะแบงก์ชาติทั่วโลกใช้นโยบายการเงินเข้มงวดต่อ อย่าไว้ใจเงินเฟ้อ

 

ขณะที่ธนาคารกลางและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงินหลายแห่งกำลังจะเผชิญกับการตัดสินใจว่า จะหยุดการขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราวหรือเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไป รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งมีกำหนดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า

 

OECD แนะให้ธนาคารกลางรักษานโยบายการเงินแบบเข้มงวดไว้ก่อนและให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหากจำเป็น จนกว่าจะมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ลดลงอย่างถาวรแล้ว

 

“ทางการควรใช้เครื่องมืออย่างเต็มที่หากนโยบายที่เข้มงวดมากขึ้นสร้างความตึงเครียดในตลาด และรัฐบาลตลาดเกิดใหม่อาจดำเนินการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนชั่วคราวหรือควบคุมเงินทุน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่รุนแรงต่อเสถียรภาพ” OECD ระบุ

 

รายงานยังเสนอว่า เพื่อช่วยให้ธนาคารกลางจำกัดแรงกดดันด้านอุปสงค์ที่กระตุ้นเงินเฟ้อ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนทางการคลังแก่ครัวเรือนที่แบบกำหนดเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มที่เปราะบางที่สุดเท่านั้น 

 

OECD ยังชี้ว่า มาตรการเพื่อลดต้นทุนด้านพลังงานในยุโรปยังคงมีขนาดใหญ่และไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นการสร้างแรงกดดันต่องบประมาณสาธารณะที่ต้องแบกรับภาระหนี้ที่มากขึ้นหลังการระบาดใหญ่ของโควิดด้วย

 

ปัจจุบันสมาชิก OECD ประกอบด้วย 38 ประเทศ / ดินแดน โดยประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิก

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising