×

จับตา 13 ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020 กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

27.12.2019
  • LOADING...
ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

ปี 2019 เป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญมากมายในเวทีโลกให้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ปะทุขึ้นเป็นระยะๆ กระแสเรียกร้องให้พลเมืองโลกตระหนักถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างจริงจัง ความล้มเหลวของประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐอเมริกาและเกาหลีเหนือที่ยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นรูปธรรม รวมถึงความยืดเยื้อของ Brexit และการยื่นถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่ง

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องของประเด็นสำคัญในเวทีโลก โดยเฉพาะในมิติของการเมืองและความมั่นคง

 

นี่คือ 13 ประเด็นสำคัญในเวทีโลกที่น่าจับตามองในปี 2020 

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Posteriori / Shutterstock

 

1. ยุคใหม่ของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจที่อาจนำไปสู่สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21

ปี 2019 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญอย่างการครบรอบ 30 ปีของการสิ้นสุดสงครามเย็น สิ่งนี้บอกเราว่าการเมืองโลกมีการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สุดคือการสิ้นสุดของสงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์ หลังจากนั้นเราก็ได้เห็นโลกที่มีระเบียบอีกชุดหนึ่งที่ทำเนียบขาวเรียกว่า ‘ระเบียบโลกใหม่’ (New World Order) 

 

แต่หลังจากปี 1989 ที่สงครามเย็นสิ้นสุดลง สิ่งที่เห็นคือความปั่นป่วนในเวทีโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นมหาอำนาจเดียว สหภาพโซเวียตล่มสลาย จีนเองก็ยังไม่ได้เข้มแข็งมากนัก จนนักวิชาการจำนวนไม่น้อยต่างมองว่าโลกหลังสงครามเย็นยังเป็น ‘โลกไร้ระเบียบ’ (New World Disorder) พอมาถึงวันนี้ เราเริ่มเห็นโจทย์ที่ต่างจากเดิม จีนเข้มแข็งขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร โซเวียตหรือรัสเซียในปัจจุบันมีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น ในยุคสงครามเย็นเมื่อสภาวะความตึงเครียดเกิด มักจะเป็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียต แต่โจทย์ชุดปัจจุบันเป็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในสภาวะเช่นนี้ หลายฝ่ายเริ่มมองว่าเราอาจกำลังกลับสู่ยุคสงครามเย็น แต่เป็น ‘สงครามเย็นในศตวรรษที่ 21’ (The 21st Century Cold War)

 

เราจะเห็นประวัติศาสตร์การทูตและประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในลักษณะซ้ำรอย ไม่ใช่เหมือนเดิมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีอาการคล้ายคลึงกัน การขยายอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจในทุกวันนี้ ถามว่ามีอะไรแปลกใหม่จากยุคสงครามเย็น ไม่ใหม่เลย รัฐเล็กๆ ซึ่งอยู่ในภาวะที่เผชิญกับการแข่งขันถูกบังคับให้เลือกข้าง มีการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Competition) ในมิติต่างๆ โดยมีเพียงข้อจำกัดเดียวคือ รัฐมหาอำนาจใหญ่จะไม่ทำสงครามระหว่างกันโดยตรง ซึ่งในปี 2020 การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจก็จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างเข้มข้น

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Mikhail Svetlov / Getty Images

 

1.1 การขยายบทบาทและอิทธิพลของจีน ผ่านการสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเล

ถ้าเรามองถอยกลับไปตั้งแต่จีนเริ่มเติบโต เรื่องหนึ่งที่เราจะเห็นคือความพยายามในการสร้างระบบโลจิสติกส์ชุดใหม่ที่มีขนาดใหญ่ จีนเอาประวัติศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการเมืองระหว่างประเทศ นำเอาคอนเซปต์เรื่องเส้นทางสายไหมในยุคโบราณมาแปลงเป็นเส้นทางสายไหมในโลกสมัยใหม่ จากเดิมที่ให้น้ำหนักกับเส้นทางทางบก เมื่อถึงจุดหนึ่งจีนเริ่มขยายตัวออกทางทะเลจนกลายเป็น ‘ความริเริ่มแถบและเส้นทาง’ (The Belt and Road Initiative: BRI) ซึ่งเป็นการขยายอำนาจและอิทธิพลผ่านการสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางทะเล

 

วันนี้จีนมีศักยภาพและขีดความสามารถมากในการสร้างเครือข่ายเพื่อการเชื่อมต่อ (Connectivity) อันที่จริงในอาเซียนเองก็พูดถึง ASEAN Connectivity กันมานานสักระยะหนึ่งแล้ว แต่อาเซียนก็ยังไม่ได้เชื่อมต่อกันอย่างที่ควรจะเป็นหลังจากที่เปิดเป็นประชาคมอาเซียน จีนพยายามทำเรื่องใหญ่ที่แต่เดิมเป็นจุดอ่อนของจีนนำพาอิทธิพลของจีนขยายออกสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลก เช่นในปากีสถานและประเทศในทวีปแอฟริกา

 

สิ่งที่เราเห็นตามมาอย่างหนึ่งก็คือ การอพยพของชาวจีนในศตวรรษที่ 21 เป็นชาวจีนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในย่านอาเซียนอย่างลาว กัมพูชา และไทย เราเห็นการขยายอิทธิพลทางการค้าของจีน จนใครหลายคนในวันนี้มองว่าเยาวราชก็ไม่ใช่เยาวราชเดิมเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เส้นทางเหล่านี้กลายเป็นช่องทางของการเคลื่อนคน ทุน วัฒนธรรม และสินค้า ตามหลักพื้นฐานวิชาภูมิรัฐศาสตร์ เริ่มมีแรงงานมาอยู่แบบถาวรเพิ่มมากขึ้น คนกลุ่มนี้เริ่มมีลูกหลานที่เติบโตในสังคมไทย เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่สังคมไทยอาจจะต้องหวนกลับมาคิดว่าควรจะโอบรับพวกเขาแค่ไหน จีนในทุกวันนี้ไม่ใช่จีนที่อ่อนแอเหมือนเดิมอีกแล้ว

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Drew Angerer / Getty Images

 

1.2 ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐฯ ที่จะใช้ต่อกรกับจีน

เมื่อจีนเริ่มเติบโตขึ้น คำถามคือ สหรัฐฯ จะปรับยุทธศาสตร์ใหม่อย่างไร สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ตัดสินใจสร้างคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาคำหนึ่ง นั่นคือ ‘อินโด-แปซิฟิก’ จากเดิมที่จะเคยได้ยินแต่ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ ซึ่งใช้มาตั้งแต่ช่วงสงครามโลก วันที่ทรัมป์พูดคำนี้แรกๆ หลายคนมองว่าผู้นำสหรัฐฯ อาจจะพูดมั่วหรือหลุดสคริปต์ จนกระทั่งทรัมป์ได้เริ่มเน้นย้ำถึง ‘ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก’ (Indo-Pacific Strategy) อย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารราชการจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นความพยายามที่จะสร้างระบบพันธมิตร 4 ฝ่าย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย 

 

สหรัฐฯ กำลังสร้างยุทธศาสตร์สองมหาสมุทร ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อนในการกำหนดยุทธศาสตร์กับพื้นที่ขนาดใหญ่เช่นนี้ เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐฯ จะใช้เคาน์เตอร์กับการเติบโตและขยายอิทธิพลของจีนในเอเชีย คำถามสำคัญคือ ในยุทธศาสตร์นี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เข้มแข็งพอที่จะแบกรับภาระต่างๆ ได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากปัจจุบันจีนมีความได้เปรียบ ไม่มีพันธะผูกพันกับปัญหาในเวทีโลก ไม่จำเป็นต้องส่งกองกำลังทหารออกไปรักษาสันติภาพหรือปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายในประเทศหรือดินแดนไหน อีกทั้งจีนเองก็กำลังเติบโต เพราะฉะนั้นจีนอาจจะมีเงื่อนไขที่เศรษฐกิจแบกรับบทบาทของตัวได้ แต่เมื่อสหรัฐฯ ตัดสินใจปรับยุทธศาสตร์ครั้งใหม่ เราจะเห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองก็มีปัญหาอยู่พอสมควร โจทย์สำคัญคือ สหรัฐฯ จะทำให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกนี้เข้มแข็งได้มากขนาดไหนและยาวนานเพียงใดในการต่อกรกับมังกรที่กำลังพุ่งทะยานขึ้นอย่างจีนในปัจจุบัน

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Mikhail Svetlov / Getty Images

 

1.3 บทบาทของรัสเซียในเวทีโลก หมีขาวที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว

บทบาทของรัสเซียเป็นอีกประเด็นหนึ่งซึ่งละเลยไม่ได้ ด้วยสถานะความเป็นรัฐมหาอำนาจเดิม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราเห็นการฟื้นตัวของรัสเซีย สัญญาณที่ใหญ่ที่สุดที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวนี้คือ การเข้าไปขยายอิทธิพลในยูเครนและการหวนกลับไปมีบทบาทอีกครั้งในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในสงครามซีเรีย รัสเซียจึงเป็นอีกหนึ่งตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก

 

ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่า สถานะของรัสเซียไม่สามารถแบกภาระได้แบบเก่าเหมือนกับในยุคสงครามเย็น เพราะว่าเศรษฐกิจของรัสเซียเองไม่ได้เติบโตและมีขนาดใหญ่มากพอ แต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่สามารถละเลยบทบาทรัสเซียในเวทีโลกได้ รัสเซียจะยังเป็นตัวแสดงที่สำคัญ ในอีกมุมหนึ่งโจทย์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียไม่ได้หายไปไหน หากแต่เพียงวันนี้อาจถูกบดบังด้วยโจทย์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ดูใหญ่กว่าเท่านั้นเอง

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Corona Borealis Studio / Shutterstock

 

2. สงครามการค้า กระดานหมากสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่พร้อมจะสั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลก

หากเราถอยหลังกลับไปไม่ถึง 10 ปี น้อยคนนักจะเชื่อว่าสงครามการค้าจะเกิดขึ้น เพราะเราอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ กระแสที่เชื่อว่าการค้าเสรีเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของการค้าโลก แต่หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งและก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ เราเริ่มเห็นทิศทางใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ปี 2019 เราเห็นสหรัฐฯ ที่ตัดสินใจต่อสู้กับจีนในเวทีการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

 

โดยรัฐบาลสหรัฐฯ และจีนเตรียมลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสที่ 1 ในช่วงต้นปี 2020 นี้ ในเบื้องต้นสหรัฐฯ ได้ระงับภาษีอัตรา 15% ที่เตรียมบังคับใช้กับสินค้าจีน 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา และลดกำแพงภาษีที่มีอยู่บางส่วนกับสินค้าจีน 3.6 แสนล้านดอลลาร์ โดยแลกกับการที่รัฐบาลจีนต้องซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020 หากจีนเพิ่มมูลค่าการนำเข้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม พลังงาน และบริการ จะช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ราว 0.5% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า

 

หลายฝ่ายมองว่าสงครามการค้าเป็นวิธีเดียวที่จะคุมจีนไม่ให้เติบโตและแข่งกับสหรัฐฯ ได้ทั้งหมด ในปี 2020 โจทย์สงครามการค้าจะยังไม่หนีไปไหนแน่นอน คำถามคือ ดีลในการเปิดการเจรจาเรื่องสงครามการค้ามีทางลงได้จริงไหม หรือจริงๆแล้ว ดีลก็คือดีล แต่สงครามการต่อสู้ก็ยังคงจะดำเนินต่อไปและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ที่ผ่านมาสงครามการค้ากลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่บีบให้รัฐคู่กรณีต้องหันมาใช้สงครามทางทหารเป็นเครื่องมือที่จะตอบว่าใครจะเป็นผู้ชนะ โดยเราคงมีความหวังในเชิงสันติภาพว่า สงครามการค้าในครั้งนี้จะไม่ขยายตัวเป็นสงครามใหญ่ เพราะโลกต่างได้รับบทเรียนจากสงครามโลกมาแล้วถึงสองครั้ง 

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Pier Marco Tacca / Getty Images

 

3. ประชานิยมปีกขวาในโลกตะวันตกยังคงเดินหน้าต่อต้านความเป็นอื่น

2-3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นการขยายบทบาทของกลุ่มการเมืองปีกขวาในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในยุโรป ท่ามกลางสภาพปัญหาต่างๆ ที่ท้าทายความมั่นคงของรัฐและก่อตัวเป็น ‘ชุดความคิดชาตินิยมใหม่’ (New Nationalism) ต่อต้านแนวคิดแบบเสรีนิยม ต่อต้าน ‘ความเป็นอื่น’ อย่างสุดโต่ง เช่น ต่อต้านมุสลิม ต่อต้านการรวมกลุ่มเป็นสหภาพยุโรป ต่อต้านความหลากหลายทางเพศและวัฒนธรรม กล่าวคือ พวกเขามีภาพที่ชัดเจนว่าอะไรเป็นประเด็นปัญหาที่พวกเขาไม่เอา ไม่สนับสนุน

 

เราเห็นกระแสความคิดนี้เติบโตในเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ รวมถึงฮังการี หากมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในเกมการเมืองของเยอรมนีและฝรั่งเศสที่เปรียบเสมือนเป็นสองเสาหลักของสหภาพยุโรป เราอาจได้เห็นยุโรปในแบบที่ต่างออกไปจากเดิม กลุ่มปีกขวาในทั้งสองประเทศเข้มแข็งขึ้นพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเยอรมนีที่พรรคขวาจัดอย่างพรรคทางเลือก (AfD) ได้รับที่นั่งเป็นกอบเป็นกำ เป็นการส่งสัญญาณว่าการเมืองปีกขวาของเยอรมนีเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ และเกมการเมืองมีแนวโน้มจะระอุขึ้นอีก ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลประกาศก้าวลงจากตำแหน่ง ยุติบทบาทผู้นำประเทศในอีก 1-2 ปีข้างหน้า 

 

ในขณะที่การเมืองปีกขวาในฝรั่งเศส ผู้นำประเทศอย่างประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง กำลังเผชิญปัญหาและความท้าทายอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ เหตุประท้วงเสื้อกั๊กเหลือง รวมถึงระบบเงินเกษียณที่มีความซับซ้อนมากที่สุดในยุโรป คำถามคือ มาครงจะรักษาตำแหน่งผู้นำฝรั่งเศสได้นานแค่ไหนในปี 2020 และถ้ากระแสขวาไหลเชี่ยวอย่างที่เกิดขึ้นในสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศสจะจัดการอย่างไร ยังเป็นโจทย์ที่น่าคิด 

 

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสปีกขวาในยุโรปได้ก้าวพ้นเรื่องสำคัญที่ใหญ่ที่สุดไปแล้วคือ ไม่มีการรัฐประหาร พวกเขาต่อสู้กันด้วยการเลือกตั้ง ทั้งยังไม่ดูถูกคนชนชั้นล่าง เพราะว่าพวกเขาเองจำเป็นต้องทำงานกับมวลชน เพื่อให้ได้รับโอกาสเข้าสู่สภา

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Dylan Martinez – Pool / Getty Images

 

4. ปัญหา Brexit และชัยชนะของพรรคอนุรักษนิยมในสหราชอาณาจักรจะเปลี่ยนโฉมการเมืองยุโรป

เราเห็นชัยชนะครั้งสำคัญของกลุ่มฝ่ายขวาในกรณี Brexit ถึงสองครั้งเป็น Double Tap รอบแรกคือชัยชนะในการลงประชามติพาสหราชอาณาจักรแยกออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งหลังจากนั้นเราเริ่มจะเห็นความปั่นป่วนในการเมืองอังกฤษพอสมควร เกิดความแตกแยกครั้งใหญ่ในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน วงวิชาการแทบไม่มีใครเชื่อว่า Brexit จะชนะ แล้วยิ่งมาครั้งการเลือกตั้งหนนี้ที่ บอริส จอห์นสัน จากพรรคคอนเซอร์เวทีฟยังชนะการเลือกตั้ง นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง 

 

สิ่งที่ตามมาคือ รัฐบาลจะต้องจัดการประเด็น Brexit อย่างจริงจัง เป็นการส่งสัญญาณว่าวันนี้สหภาพยุโรปคงไม่มีสหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกแน่นอนแล้ว การหย่าร้างระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหภาพยุโรปมาถึงจุดที่ต้องหย่าขาดกันจริงๆ แล้ว ไม่ใช่เป็นการหย่าที่อยู่ในภาวะที่ละล้าละลังเช่นที่ผ่านมา

 

โดยสภาสามัญ (House of Commons) หรือสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักร มีมติสนับสนุนแผน Brexit ของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ในการนำสหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) ตามกำหนดเส้นตายวันที่ 31 มกราคม 2020

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Department of Defense via Getty Images

 

5. การถดถอยของกลุ่มรัฐอิสลามกับบทบาทภายหลังผู้นำคนสำคัญเสียชีวิตลง

ปี 2019 เป็นปีที่ต้องยอมรับว่า กลุ่มก่อการร้ายอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ‘IS’ อยู่ในภาวะถดถอย หลังจากสูญเสียฐานที่มั่นสำคัญทั้งในอิรักและซีเรียให้แก่กลุ่มกองกำลังพันธมิตร ยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำคนสำคัญอย่าง อาบู บักร์ อัล-บักดาดี ก็ได้เสียชีวิตลงจากการกดระเบิดฆ่าตัวตายภายในอุโมงค์แห่งหนึ่งในพื้นที่ตอนเหนือของซีเรีย หลังถูกไล่ต้อนจากหน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ ก่อนที่จะมีการประกาศให้ อาบู อิบราฮิม อัล-ฮาชีมี อัล-กูไรชี ขึ้นเป็นองค์กาหลิบ หรือผู้นำคนใหม่ของกลุ่ม IS 

 

คำถามสำคัญคือ ในปี 2020 ผู้นำคนใหม่นี้จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรหรือขบวนการติดอาวุธกลุ่มนี้ได้เหมือนอย่างที่อัล-บักดาดีเคยทำได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าความคิดและอุดมการณ์ไม่ได้ตายไปกับตัวผู้นำ กระแสความคิดที่เคยถูกสร้างไว้ยังคงอยู่ โดยสื่อโซเชียลและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะยังเป็นช่องทางที่ช่วยส่งต่อแนวคิดและส่งเสริมการรวมกลุ่มของสมาชิกหน้าใหม่ที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลก 

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Delil Souleiman / AFP via Getty Images

 

6. ไฟแห่งสงครามและความขัดแย้งยังคงลุกโชติช่วง

สงครามและความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เป็นปมปัญหาที่ถูกทับซ้อนกันและฝังรากลึกอยู่ในหลายสังคมทั่วโลก โดยเฉพาะปัญหาในตะวันออกกลาง รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

 

โจทย์สงครามกลางเมืองในตะวันออกกลางยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ในปี 2020 โจทย์ซีเรียและโจทย์เยเมนยังไม่หายไปไหน เป็นสนามรบที่รัฐมหาอำนาจในภูมิภาคอย่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านต่างกระโจนเข้าไปเพื่อชิงพื้นที่แบ่งเขตอิทธิพล คำถามคือ การแข่งขันนี้จะปะทุขึ้นมากกว่านี้อีกหรือไม่ 

 

นอกจากนี้ปัญหาในทะเลจีนใต้ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ดูเหมือนจะกลายเป็นโจทย์ถาวรที่จะคาราคาซังกับภูมิภาคของเราต่อไป โดยจีนไม่ปล่อยให้บรรดารัฐอื่นๆ ในภูมิภาคที่ต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์เข้าไปจัดการพื้นที่พิพาทได้ ชี้ให้เห็นว่า จีนพยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว และเข้าไปควบคุมพื้นที่เกาะในทะเลจีนใต้ ซึ่งสะท้อนท่าทีของจีนกับการแก้ปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก และอาจนำไปสู่การทำสงครามในภูมิภาคได้ในอนาคต

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Creativa Images / Shutterstock

 

7. อาวุธนิวเคลียร์ หลักประกันด้านความมั่นคงของรัฐในเวทีโลกกับข้อตกลงที่ยังไม่ลงตัว

ปี 2019 เราเห็นความพยายามในการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างสหรัฐฯ และเกาหลีเหนือ เพื่อบรรเทาวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีที่ร้อนระอุมาสักระยะก่อนหน้านี้ แต่ดูเหมือนว่าจะมีแต่ภาพลักษณ์เชิงบวกและการพบกันของผู้นำประเทศ มีแต่ฟองแต่ไม่มีคอนเทนต์หรือเนื้อหาใดๆ ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม หรือตกลงว่ารายละเอียดและขั้นตอนของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ (Denuclearization) เป็นอย่างไร เพราะสุดท้ายตอนนี้เกาหลีเหนือก็ยังทดลองอาวุธนิวเคลียร์อยู่

 

อาวุธนิวเคลียร์นอกจากจะเป็นเพียงหลักประกันด้านความมั่นคงของรัฐแล้ว ยังผูกโยงอยู่กับความมั่นคงปลอดภัยของตัวผู้นำ ครอบครัว และระบอบการปกครองอีกด้วย ประเด็นการปลดอาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นโจทย์ใหญ่มาก ถ้าลองคิดว่าเราเป็นผู้นำเกาหลีเหนืออย่าง คิมจองอึน เราจะยอมปลดหลักประกันนี้ทั้งหมดหรือไม่ 

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

 

เราอาจจะต้องยอมรับว่าในช่วงสงครามเย็นไม่มีข้อเสนอเรื่องการปลดอาวุธ หากแต่ใช้คำว่า การจำกัดอาวุธ หรือการควบคุมอาวุธ เพียงแต่ต้องทำอย่างไรที่จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเวทีโลก ดังเช่นวันนี้ที่เราอยู่กับอินเดียและปากีสถานที่ก็มีอาวุธนิวเคลียร์ การผลักให้เกาหลีเหนือต้องมีเพียงทางเลือกเดียวคือการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด จึงอาจเป็นไปได้ยากมาก ในปี 2020 สิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดคือการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่ 4 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญในช่วงปลายปี

 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องนิวเคลียร์ดีลระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ยังตกลงกันไม่ได้ หากปัญหานี้ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2020 อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาความมั่นคงด้านพลังงานแถบช่องแคบฮอร์มุซ โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่อาจจะดีดตัวเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังมีอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่เมื่อที่ปรึกษาของ โดนัลด์ ทรัมป์ เสนอให้สหรัฐฯ ถอนตัวและยุติการเป็นภาคีสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ที่ทำร่วมกับรัฐบาลรัสเซีย (สหภาพโซเวียต) มานาน 30 กว่าปี ท่าทีดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้กับยุโรปไม่น้อย เพราะเท่ากับเป็นการยกโจทย์สงครามนิวเคลียร์กลับเข้ามายังยุโรปอีกครั้งหนึ่ง และอาจเป็นการส่งสัญญาณกลับสู่การแข่งขันด้านอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค คำถามสำคัญคือ รัฐบาลสหรัฐฯ จะเคลียร์ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์ในเวทีโลกอย่างไรในปี 2020

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Phonlamai Photo / Shutterstock

 

8. การก้าวเข้าสู่ยุคหุ่นยนต์-ปัญญาประดิษฐ์ และสงครามไซเบอร์

ยิ่งนานวันเทคโนโลยีด้านต่างๆ ยิ่งรุดหน้าและล้ำสมัยมากยิ่งขึ้น หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เริ่มถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายมิติ ตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวัน สถานที่ทำงาน ตลอดจนในกองทัพและการทำสงคราม ชุดวิธีคิดที่เชื่อว่ามีความจำเป็นต้องนำกำลังคนเข้าสู่กองทัพอาจลดน้อยลง เกิดการขยายตัวของตลาดอาวุธระหว่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นอาวุธทันสมัย ส่งผลให้สงครามไซเบอร์มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สู้รบกันด้วยข้อมูลแทนยานเกราะเทอะทะ ตลอดจนเราอาจเห็นสงครามรูปแบบใหม่ที่เป็นสงครามหุ่นยนต์ สงครามไฮบริด (ตัวแบบสงครามไฮบริดของรัสเซียในยูเครน) สงครามโดรน (ตัวแบบการโจมตีซาอุดีอาระเบียด้วยโดรน, กันยายน 2019) รวมถึงการพัฒนาระบบอาวุธอัตโนมัติต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Ye Aung THU / AFP via Getty Images

 

9. สายธารมนุษย์ยังคงไหลหลากในเวทีโลก

ประเด็นผู้อพยพได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้างในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สายธารมนุษย์ยังคงเคลื่อนตัวต่อไปในปี 2020 ทั้งวิกฤตผู้อพยพในยุโรป วิกฤตผู้อพยพในลาตินอเมริกาที่มุ่งหน้าสู่แผ่นดินสหรัฐฯ แม้ในปีที่ผ่านมาดูเหมือนว่าวิกฤตชาวโรฮีนจาจะดูทรงตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นโจทย์ในระยะยาว หากเราย้อนกลับไปประเด็นที่เราคุยกันตอนต้น สังคมพม่าทุกวันนี้มีชุดความคิดเหมือนปีกขวาในยุโรปคือ ต่อต้านมุสลิม เพราะฉะนั้นเมื่อไม่เปิดรับมุสลิม โจทย์โรฮีนจาจึงเป็นประเด็นที่ถูกปฏิเสธมาตั้งแต่ต้น ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะกลายเป็นผู้อพยพที่อยู่ตามค่ายตามพรมแดนอย่างที่เราเห็น เพราะประเทศต้นทางไม่รับกลับไป

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Philip Fong / AFP via Getty Images

 

10. การประท้วงในโลกร่วมสมัย การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในวันที่รัฐถูกตั้งคำถาม

ปี 2019 เราเห็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ปะทุออกมาเป็นการประท้วงรัฐบาลในหลายพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการประท้วงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในฝรั่งเศสที่ขับเคลื่อนด้วยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเรียกร้องประชาธิปไตยและประท้วงรัฐบาลฮ่องกงที่มีชนวนมาจากร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่เปิดทางให้จีนเข้ามามีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น การประท้วงเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองในอิรัก การประท้วงนโยบายขึ้นภาษีของรัฐ และปัญหาเศรษฐกิจในเลบานอนและชิลี รวมถึงการประท้วงกฎหมายให้สัญชาติในอินเดีย และการประท้วงคำตัดสินของศาลสูงสเปนที่สั่งจำคุกอดีตแกนนำแบ่งแยกดินแดนของแคว้นกาตาลุญญา โดยในปี 2020 จะเป็นอีกปีที่พลเมืองโลกจะร่วมกันออกมาแสดงพลัง ตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาลที่อาจไม่เคยรับฟังเสียงของประชาชน

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Carl Court / Getty Images 

 

11. สิทธิสตรีและความหลากหลายทางเพศในสังคมโลกที่เปิดกว้างมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2018 ที่ถูกยกให้เป็น ‘ปีของผู้หญิง’ เราเห็นกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิสตรีจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เราเห็นผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการล่วงละเมิดทางเพศกล้าลุกขึ้นมาบอกเล่าเรื่องราวของพวกเธอเพิ่มมากขึ้น 

 

โลกในปี 2019 เป็นโลกที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญระดับประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้หญิงนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รวมถึงตำแหน่งสำคัญอื่นๆ รวมอย่างน้อย 26 คน โดยพวกเธอจะมีบทบาทและสร้างแรงกระเพื่อมต่อประชาคมโลกไม่มากก็น้อย สำหรับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เห็นชัดคือ ชัยชนะของนิสิตที่เรียกร้องในการแต่งเครื่องแบบตามเพศสภาพ ก็เป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ากระแสเหล่านี้ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในสังคมไทย แต่อาจจะยังไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร

 

นอกจากนี้เมื่อ 24 พฤษภาคม 2019 ไต้หวันกลายเป็นชาติแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่แท้จริงในสังคมไต้หวันก็ยังคงดำเนินต่อไป เพราะกฎหมายสมรสเพศเดียวกันของไต้หวันยังจำกัดและขาดสิทธิบางประการ เช่น สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน การรับรองการสมรสกับชาวต่างชาติที่มาจากประเทศที่ยังไม่ประกาศใช้กฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ รวมถึงการจดทะเบียนรับรองความสัมพันธ์แบบอื่นที่ไม่ใช่คู่รัก ส่วน พ.ร.บ. คู่ชีวิต หรือกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในไทย ดูท่าจะยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ โดยปี 2020 คาดการณ์ว่า คอสตาริกาจะเป็นอีกหนึ่งประเทศในลาตินอเมริกาที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ต่อจากอาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย และโคลอมเบีย

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Sarah Silbiger / Getty Images

 

12. วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม สัญญาณเตือนภัยครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ

วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ด้านความมั่นคงที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ในปี 2019 ที่ผ่านมา ภัยพิบัติทางธรรมชาติดูท่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก หลายพื้นที่อุณหภูมิสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

 

หลายฝ่ายผิดหวังกับบทสรุปของเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP25) ที่เพิ่งจะปิดฉากลงไปที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อไม่นานที่ผ่านมา หลังจากที่ไม่มีข้อสรุปที่แสดงถึงความมุ่งมั่นที่เพิ่มมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเป็นรูปธรรม แม้ผู้แทนจากฝ่ายต่างๆ จะบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดแผนการลดการปล่อยคาร์บอนที่สมบูรณ์ขึ้นในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ในช่วงปลายปี 2020 ก็ตาม โดยจะต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนสิ้นปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่ความตกลงปารีสเริ่มมีผลบังคับใช้

 

นอกจากเหตุแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ธารนำ้แข็งบริเวณขั้วโลกละลาย และไต้ฝุ่นที่ทวีกำลังแรง เหตุการณ์ไฟป่าที่ยังคงลุกลามในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะผืนป่าแอมะซอนและพื้นที่ป่าไม้ในออสเตรเลียยังคงน่าเป็นห่วง ที่พักอาศัยและบรรดาสัตว์ป่าต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก คาดว่าสาเหตุสำคัญมาจากการเผาที่ดินเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรและสภาพอากาศที่แห้ง ในปี 2020 สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะยังคงมีอยู่ ควบคู่ไปกับกระแสเรียกร้องให้พลเมืองโลกหันมาตระหนักและช่วยกันแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ซึ่งนำโดย เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน วัย 16 ปี ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งปี 2019 โดยนิตยสาร Time อีกทั้งยังได้รับการจัดให้อยู่ใน 100 อันดับผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ปี 2019 โดยนิตยสาร Forbes อีกด้วย 

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: Drew Angerer / Getty Images

 

13. อนาคตของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ปี 2020

ประเด็นสำคัญที่น่าจับตามองที่สุดคงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2020 คำถามสำคัญคือ ทรัมป์จะพ้นจากตำแหน่งด้วยการถูกถอดถอน (Impeachment) หรือไม่ หากถูกถอดถอนจริง นั่นหมายความว่าในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จะไม่มีชื่อของเขาในฐานะผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันอย่างแน่นอน แต่หากกระบวนการถอดถอนไม่สำเร็จ มีความเป็นไปได้สูงมากที่ทรัมป์จะลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกหนึ่งสมัย

 

แม้สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะมีมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์พ้นจากตำแหน่งตามความคาดหมาย จากข้อกล่าวหาที่ใช้อำนาจโดยมิชอบกรณีดึงต่างชาติอย่างยูเครนเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2020 รวมถึงกรณีพัวพันกับการแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ของรัสเซียเมื่อปี 2016 แต่การถอดถอนทรัมป์ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากต้องอาศัยมติเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 67 เสียง ซึ่งในปัจจุบันพรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภาด้วยจำนวน 53 ต่อ 47 เสียง หากทรัมป์รอดพ้นกระบวนการถอดถอนไปได้ มีโอกาสสูงมากที่เขาอาจจะชนะการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งจะตอบโจทย์ในลักษณะเดียวกันกับชัยชนะของ บอริส จอห์นสัน ในสหราชอาณาจักร

 

ประเด็นร้อนในเวทีโลกปี 2020

Photo: วรรษมน ไตรยศักดา / THE STANDARD

 

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวสรุปภาพรวมเวทีโลกว่า ปี 2020 จะเป็นปีที่การระหว่างประเทศเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ การแข่งขันกันระหว่างรัฐมหาอำนาจและประเด็นวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม เป็นอีกปีที่อุบัติการณ์ (Events) ต่างๆทั่วโลกร้อนระอุและน่าติดตามจนไม่อาจละสายตาได้

 

ภาพเปิด: วรรษมน ไตรยศักดา

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising