×

รับมืออย่างไรในวันที่หน้าที่การงาน ‘ทอดทิ้ง’ เรา

18.09.2019
  • LOADING...
Non-work Life

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • เมื่อถึงจุดหนึ่งของชีวิตคนเราอาจพบกับภาวะถดถอยในหน้าที่การงาน ซึ่งอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด เมื่อเราหมดความสำคัญ ไม่รู้สึกเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันอีกต่อไป
  • หากเวลานั้นมาถึง โอกาสที่ภาวะจิตตกเข้ามาจู่โจมก็อาจจะมีมากขึ้น รวมไปถึงความรู้สึกที่อยากจะปลิดชีวิตของตัวเอง และเอ่ยคำลากับโลกใบนี้ที่อาจรุนแรงขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว
  • ก่อนที่เวลานั้นมาถึงเราจะทำอะไรได้บ้าง และเราจะเตรียมตัวเผชิญหน้ากับความถดถอยในหน้าที่การงานที่อาจจะมาถึงในเร็ววันอย่างไรดี

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้อ่านบทความของ Arthur C. Brooks ใน The Atlantic ที่เกี่ยวกับ Your Professional Decline May Be Coming (Much) Sooner Than You Think!

 

ซึ่งแปลเป็นไทยก็คือ ‘ความถดถอยในชีวิตของการทำงานของคุณอาจจะมาเร็วกว่าที่คุณคิดเอาไว้เยอะ’

 

เล่าคร่าวๆ คือ ในบทความชิ้นนี้พูดถึงคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างมากหลายๆ คนว่า วันหนึ่งพวกเขาเหล่านี้จะรู้สึกว่าตัวเอง Irrelevant หรือหมดความสำคัญ หรือถ้าแปลตรงตัวก็คือความรู้สึกว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอีกต่อไป

 

และเมื่อวันนั้นมาถึง ซึ่งก็อาจจะเป็นวันที่เราเกษียณ หรืออาจจะเป็นวันที่เรารู้สึกว่าสิ่งที่ทำมาเป็นเวลาหลายสิบปีมันล้าสมัยไปเสียแล้ว โอกาสที่โรคจิตตกเข้ามาจู่โจมก็มีมากขึ้น ส่วนโอกาสที่เรารู้สึกอยากปลิดชีวิตของตัวเองลงและลาจากโลกใบนี้ไปก็อาจจะเพิ่มขึ้นอย่างที่เราแทบไม่ทันตั้งตัว

 

ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าก่อนที่จะเกษียณคนเราส่วนใหญ่มักใช้ชีวิตกว่า 40 ปีในการสร้างตัวตน ไม่ว่าจะเป็นทักษะพิเศษในงานที่ทำ สั่งสมชื่อเสียงหรือฐานะเงินทอง มันจึงไม่แปลกอะไรที่เราจะรู้สึกว่าความเป็นตัวของตัวเอง (Self-identity) ถูกผูกติดอยู่กับชีวิตของการทำงานของเราเกือบจะทั้งหมด และถ้าวันใดวันหนึ่งเราเกิดรู้สึกว่าการทำงานจบสิ้นลงแล้ว เราอาจจะไม่สามารถฟื้นตัวจากความสูญเสียในครั้งนี้ได้อีกเลย

 

ยกตัวอย่างคนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหลายๆ คนนะครับ ในการจะประสบความสำเร็จต่ออาชีพการงาน พวกเขาจำเป็นที่จะต้องอยู่ในโหมด Peak Performance อยู่เกือบตลอด และเมื่อใดที่เขาตัดสินใจ Take It Easy หรือ ‘ปล่อยวาง’ เขาก็อาจจะถูกคนอื่นแซงเอาได้ แต่ไม่ว่าเขาจะพยายามสักเพียงไหน พวกเขาก็ต่อสู้กับการเวลาที่เดินหน้าไปเรื่อยๆ และอายุที่แก่ขึ้นทุกวันไม่ได้ สักวันหนึ่งเขาก็จะต้องพ่ายแพ้คนอื่น หรือยอมแพ้คลื่นลูกใหม่ไปโดยปริยาย และถ้าเขาเคยอยู่ในระดับท็อปมาก่อน หรือเคยเป็นที่หนึ่งมาก่อน การอยู่ในขาลงนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

ตัวอย่างที่น่าเศร้าก็คือการตัดสินใจฆ่าตัวตายของนักเศรษฐศาสตร์ Harvard ที่ชื่อ Martin Weitzman เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งในจดหมายลาตายของเขาได้เขียนเอาไว้ว่าเขาไม่รู้สึก Relevant อีกต่อไป โดยเฉพาะการที่งานของเขาไม่ได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่ผ่านมา

 

แล้วก่อนที่เวลานั้นมาถึงเราจะทำอะไรได้บ้าง และเราจะเตรียมตัวเผชิญหน้ากับความถดถอยในหน้าที่การงานของเราที่อาจจะมาถึงในเร็ววันอย่างไรดี

 

ส่วนตัวแล้วผมชอบคำแนะนำของ Avinash Dixit นักเศรษฐศาสตร์ Princeton ที่เขียนถึงบทความของ Arthur C. Brooks เอาไว้ว่า

 

ด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น ตัวเขาได้ปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง จากการใช้เวลาเพื่อทำงานวิจัย (ที่ค่อนข้างเครียดและมีการแข่งขันสูง แต่ก็ได้ผลตอบแทนในหน้าที่การงานสูงด้วยถ้าได้ตีพิมพ์ในที่ดี พูดง่ายๆ ก็คือ High Risk, High Reward นั่นเอง) ไปใช้เวลากับการสอน (ที่ไม่ค่อยเครียดเท่าไร ไม่มีผลตอบแทนเป็นเงินหรือตำแหน่งเท่ากับการทำวิจัยและการได้ตีพิมพ์ในที่ดีๆ แต่ได้ Reward จากการได้ช่วยในการสร้างคนในอนาคต) มากกว่า

 

นอกจากนั้นเขาก็เริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือจากชีวิตการทำงานมากขึ้น อย่างเช่น การได้ดื่มไวน์ดีๆ การยอมรับ Pay Cut หรือรับเงินเดือนน้อยลง พร้อมๆ กันกับหน้าที่ที่เบาลง เพื่อที่เขาจะได้ใช้ชีวิตอยู่กับคนที่เขาชอบในชีวิตมากกว่าคนที่เขาอาจจะไม่ชอบแต่จำเป็นต้องทำงานด้วย เป็นต้น

 

สรุปก็คือ ยิ่งเราสามารถให้ความสำคัญกับ Non-work Life ได้มากตามอายุที่เพิ่มขึ้นมากเท่าไร เราก็ยิ่งที่จะพร้อมรับมือกับความถดถอยในความ Relevant ในหน้าที่การงานของเราได้เท่านั้น

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising