×

ว่ากันว่าก่อนจะเป็น ‘Nitori’ แห่งแรกในไทยที่เซ็นทรัลเวิลด์ พื้นที่นี้เคยชวน IKEA มาก่อน แต่สุดท้ายไปลงเอยที่เอ็มสเฟียร์ของเดอะมอลล์แทน

28.10.2023
  • LOADING...
Nitori IKEA CPN

หลังจากที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตันยุติดำเนินกิจการ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 หลังจากที่เปิดตัวมานาน 28 ปี จนสร้างความใจหายให้กับผู้ที่ชอบมาเดิน คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ด้วยพื้นที่ 27,000 ตารางเมตร จำนวน 6 ชั้น ที่มีขนาดใหญ่มาก ใครจะเข้ามาเป็นผู้เช่ารายต่อไป?

 

เมื่อมีข่าวยุติออกมา บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เจ้าของพื้นที่ได้ออกมาชี้แจงว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างดึงพันธมิตรรายใหม่ระดับนานาชาติหลายราย รวมถึง International Key Anchor ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา และจะประกาศให้ทราบในเร็วๆ นี้”

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ต้องบอกว่าทำเลเซ็นทรัลเวิลด์นั้นน่าสนใจไม่น้อย เพราะอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และราชประสงค์ที่ถือเป็นย่านการค้าและท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งของไทย มีคนสัญจรในย่านเฉลี่ยกว่า 600,000 คนต่อวัน ดังนั้นจึงมีแบรนด์น้อยใหญ่จำนวนมากที่ต่อคิวมาเปิดร้านในเซ็นทรัลเวิลด์

 

ว่ากันว่าในตอนแรกผู้ที่ CPN สนใจอยากชวนให้มาเปิดคือ IKEA ซึ่งเป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่จากสวีเดน ที่เคยเปิดร่วมกันมาแล้วในสาขาเซ็นทรัลเวสต์เกต

 

เหตุผลที่ต้องเป็น IKEA นั้น เพราะด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่จึงมีไม่กี่แบรนด์ที่มีศักยภาพในการเช่า ซึ่งตัว CPN เองก็พร้อมจะยกพื้นที่ทั้งหมดให้กับ IKEA ด้วยหมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นอีกแม่เหล็กที่ช่วยดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเซ็นทรัลเวิลด์มากขึ้น 

 

แต่สุดท้ายแล้ว IKEA กลับเลือกที่จะไปลงเอยที่เอ็มสเฟียร์ของเดอะมอลล์แทน ซึ่งนี่เป็นศูนย์การค้าที่ลงทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่กว่า 200,000 ตารางเมตร โดยตั้งชื่อสาขาว่า ‘IKEA สุขุมวิท’ 

 

ตัว IKEA สุขุมวิท จะเหมาชั้น 3 ของเอ็มสเฟียร์ โดยมีพื้นที่ 12,000 ตารางเมตร ซึ่งหากเทียบกับ 3 สาขาก่อนหน้าอย่าง IKEA บางนา ที่เปิดให้บริการในปี 2554 มีพื้นที่กว่า 44,000 ตารางเมตร ถัดมาเป็น IKEA ภูเก็ต เปิดปี 2558 มีพื้นที่ 2,198 ตารางเมตร ซึ่งที่เล็กเพราะเป็นเพียงศูนย์บริการสั่งซื้อและรับสินค้าเท่านั้น สุดท้ายคือ IKEA บางใหญ่ เปิดปี 2560 ด้วยพื้นที่ใหญ่ที่สุด 50,278 ตารางเมตร

 

จะเห็นได้ว่าสาขานี้มีพื้นที่ค่อนข้างเล็ก เพราะ IKEA บอกว่าที่นี่ทำเป็นโมเดล ‘City-Centre Store’ แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เปิดที่ปารีส เวียนนา และเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น

 

เมื่อมองจากทำเล ไม่แปลกที่ IKEA จะตัดสินใจใช้โมเดลนี้ เพราะหากเปิดพื้นที่ขนาดใหญ่จะพบกับต้นทุนเช่าที่สูงมาก ในขณะที่ ‘ซิตี้สโตร์’ จะยังมีโซนต่างๆ ที่ครบครัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้ายังสามารถหยิบจับสินค้า ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สำคัญมากสำหรับตลาดเฟอร์นิเจอร์

 

แต่ IKEA สุขุมวิท จะไม่มีคลังสินค้าของตัวเอง โดยสินค้าชิ้นเล็กจะนำของจากบางใหญ่มาเติม และชิ้นใหญ่จะส่งถึงหน้าบ้านจากสาขาบางนา ซึ่ง “เราคาดว่าสโตร์แห่งใหม่นี้จะรองรับผู้เยี่ยมชมสโตร์กว่า 4 ล้านคนที่อาศัยในย่านสุขุมวิท รวมถึงบริเวณต่างๆ ในกรุงเทพฯ” ลีโอนี่ ฮอสกิ้น ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจค้าปลีก อิเกีย ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวในตอนนั้น

 

ตอนนี้ IKEA ได้ส่งจดหมายถึงสื่อมวลชนเพื่อเข้าชม IKEA สุขุมวิท ในวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ก่อนที่จะมีการเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคมนี้

 

ในขณะที่ CPN นั้น แม้จะอกหักจาก IKEA แต่สุดท้ายก็หาได้แคร์ไม่ เพราะการเป็นทำเลฝั่งเพชรทำให้แบรนด์ต่างๆ อยากที่จะมาเปิด ซึ่งมาจากจำนวนลูกค้าที่ปัจจุบัน Traffic Recovery ของเซ็นทรัลเวิลด์จากปี 2562 เติบโตเฉลี่ย 120% เฉลี่ย Traffic ต่อวัน 150,000 คน และสูงขึ้นไปถึง 180,000-200,000 คนต่อวันหากมีอีเวนต์ใหญ่ภายในศูนย์การค้า โดยลูกค้าที่มาใช้บริการแบ่งเป็นคนไทย 65% และต่างชาติ 35% นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการมากที่สุดคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ จีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย และตะวันออกกลาง โดย 83% เป็นกลุ่ม FIT (Free Independent Traveler)

 

เราจึงได้เห็นแบรนด์ระดับโลกมากมายทั้ง lululemon สปอร์ตแวร์ดัง แฟลกชิปใหญ่เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย-แปซิฟิก, adidas แบรนด์เซ็นเตอร์ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิก, Nike ร้านรูปแบบใหม่ใหญ่ที่สุดในไทย, PUMA Flagship Store ครบครันที่สุดหนึ่งเดียวในไทย, On running และ HOKA 

 

ในขณะที่ทำเลเดิมของห้างสรรพสินค้าอิเซตันนั้น ด้วยความที่ CPN อยากรักษาความเป็นญี่ปุ่นไว้ จึงได้ดึงแบรนด์จากแดนซามูไรมาเปิด ไม่ว่าจะเป็นร้านหนังสือคิโนะคูนิยะ เป็นร้านหนังสือที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติจากประเทศญี่ปุ่น ที่ได้อยู่ฝั่งทิศเหนือของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ขนาดพื้นที่โดยประมาณ 2,000 ตารางเมตร ใหญ่ขึ้น 2 เท่า

 

ยังมี Nippon Market พรีเมียมฟู้ดมาร์เก็ต ขนทัพสินค้า-อาหารพรีเมียมญี่ปุ่น และขนมนำเข้าจากทั่วโลกมาไว้ในที่เดียวกว่า 10,000 รายการ

 

และล่าสุดคือการเปิดตัว ‘Nitori’ สาขาแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในไทยด้วยพื้นที่ 2,600 ตารางเมตร โดยมองว่าย่านราชประสงค์เป็นพื้นที่ซึ่งมีความคึกคักตลอดเวลา มีอัตราการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างสูง มีปริมาณลูกค้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และสามารถรองรับทุกความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

 

สิ่งที่ต้องจับตามองคือ Nitori ได้ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นคู่แข่งของ IKEA ซึ่งในขณะที่ IKEA กำลังจะเปิดสาขาที่ 4 ในไทย ทาง Nitori เองก็ประกาศเปิด 4 สาขาในปีนี้ และวางแผนให้ครบ 25 สาขาในช่วง 5 ปีต่อจากนี้

 

แม้หากวัดพื้นที่ของร้านและความใหญ่แล้ว ธุรกิจของ IKEA ในไทยยังเหนือกว่ามาก สะท้อนจากรายได้ปีงบประมาณ 2565 (กันยายน 2564 – สิงหาคม 2565) ที่ถูกระบุว่า ไทยทำรายได้กว่า 9.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.4% จากปีที่แล้ว ในขณะที่ Nitori เองยังเล็กอยู่มากในไทย

 

แต่กระนั้นก็ประมาทไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาเรามักได้เห็นมด (ที่ตัวไม่เล็ก) ก็สามารถล้มยักษ์ใหญ่มาแล้ว และที่สำคัญตัว IKEA สุขุมวิท ยังถือว่าเป็นโมเดลที่ใหม่มากสำหรับไทย แม้จะเปิดมาหลายประเทศและที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน มุมไบ และปารีส แต่หลายสาขาอย่างมาดริด เซี่ยงไฮ้ หรือวอร์ซอ และที่สำคัญคือควีนส์และนิวยอร์ก กลับต้องปิดตัวลง เพราะสุดท้ายแล้วลูกค้าไม่ได้มากอย่างที่คิด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising