×

กสม. ห่วงเด็กนักเรียนถูกครูละเมิดสิทธิ-ทำร้ายร่างกาย แนะกระทรวงศึกษาฯ เร่งอบรมครูให้เข้าใจสิทธิและทักษะดูแลเด็ก

โดย THE STANDARD TEAM
27.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (27 กันยายน) ประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมาปรากฏข่าวการใช้ความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนหลายรูปแบบ ล่าสุดเกิดกรณีครูโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งทำร้ายเด็กอนุบาล ซึ่งการทำร้ายหรือใช้ความรุนแรงต่อเด็กเป็นการละเมิดต่อสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กอย่างชัดแจ้ง ขัดกับหลักการคุ้มครองเด็กและเยาวชนมิให้ถูกใช้ความรุนแรงหรือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 71 วรรคสาม และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ข้อ 37 (ก) ที่ระบุว่า “รัฐภาคีประกันว่าจะไม่มีเด็กคนใดได้รับการทรมาน หรือถูกปฏิบัติ หรือลงโทษที่โหดร้าย…” ทั้งยังขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (1) ที่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา และพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 มาตรา 5 (2) ให้เด็กปฐมวัยอยู่รอดปลอดภัยและได้รับความคุ้มครองให้พ้นจากการล่วงละเมิดไม่ว่าทางใด 

 

การที่ครูหรือบุคลากรทางการศึกษามีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงต่อเด็กนักเรียน สะท้อนว่าครูดังกล่าวขาดทักษะวิชาชีพครู ขาดทักษะการจัดการปัญหา และขาดวุฒิภาวะ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการที่เหมาะสม ด้วยการจัดให้มีการฝึกอบรมทักษะครูในโรงเรียนปฐมวัยในวิชาจิตวิทยาการศึกษาและจิตวิทยาพัฒนาการอย่างเข้มข้น และมีการประเมินเป็นระยะเพื่อให้มีเจตคติที่ดีในการพัฒนาเด็กปฐมวัย 

 

ขณะเดียวกันในการผลิตครูหรือพัฒนาครูด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันการศึกษาต้องจัดให้มีการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างจิตวิญญาณของความเป็นครู มีคุณธรรม จริยธรรม ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเพื่อดูแลและพัฒนาเด็กปฐมวัยตามหลักการและปรัชญาของการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อป้องกันปัญหาในลักษณะเดียวกันอันอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

ประกายรัตน์ระบุว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กมีวิธีการที่สร้างสรรค์และช่วยพัฒนาเด็กได้หลากหลายวิธี เช่น การใช้วินัยเชิงบวก การให้คำแนะนำปรึกษา (Counseling) การทำกิจกรรมพฤติกรรมบำบัด หรือความคิดพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy) โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงใดๆ ต่อเด็ก 

 

“ครูทุกคนต้องเรียนรู้ว่าตนไม่มีสิทธิใดๆ ไปกระทำต่อเนื้อตัวร่างกายของเด็กนักเรียน หรือแตะต้องตัวเด็กโดยไม่มีเหตุจำเป็น เว้นแต่เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนเท่านั้น ทั้งนี้หากมีการทำร้ายเด็กนักเรียนในสถานศึกษา ขอให้บุคลากรทางการศึกษาที่พบเห็นต้องห้ามปรามการกระทำนั้นเพื่อปกป้องเด็กจากการถูกกระทำความรุนแรงในทุกกรณี และแจ้งผู้บังคับบัญชาเพื่อดำเนินการต่อไป” ผู้ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising