×

เจ้าพระยาเพื่อใคร? ลงพื้นที่ถามชาวบ้าน หลัง กทม. รื้อ 12 ชุมชนริมน้ำ ทำทางเลียบ 14 กม.

12.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • กทม. เริ่มต้นภารกิจรื้อย้ายบ้านริมน้ำเจ้าพระยาที่รุกล้ำเขตแม่น้ำ เพื่อเปิดทางสู่โครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 14 กิโลเมตร โดยเริ่มต้นที่ชุมชนเขียวไข่กา 21 หลังคาเรือนเป็นที่แรก
  • ชาวบ้านชุมชนเขียวไข่กาเปิดใจ “เรารู้ตัวว่าเรารุกล้ำแม่น้ำ” พร้อมเผยชีวิตใหม่ดีขึ้น หลังย้ายไปอยู่แฟลต ขส.ทบ. ที่ไม่ไกลจากบ้านหลังเดิม แต่ชาวบ้านชุมชนมิตตคาม 1 ยังรอความชัดเจนว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนกันแน่
  • ทีมข่าวสำรวจพบว่า บ้านทุกหลังที่เข้าข่ายต้องถูกรื้อย้ายต่างมีบ้านเลขที่และทะเบียนบ้าน สะท้อนการบังคับใช้กฎหมายที่หละหลวมในอดีต

     ภาพของบ้านที่รุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตลอดริมฝั่งกำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักการโยธาเริ่มทำการรื้อถอนบ้านในชุมชนเขียวไข่กาจำนวน 21 หลังเป็นแห่งแรก เพื่อเปิดทางสู่การก่อสร้างในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีทางเลียบแม่น้ำ ทางเท้า และทางจักรยานเป็นจุดขาย

     อีก 12 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 285 ครัวเรือน กำลังเข้าคิวรอการรื้อถอนเป็นรายต่อไป เพราะเลือกสร้างบ้านผิดที่ ‘รุกล้ำ’ แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นสมบัติของสาธารณะ

     ทีมข่าว THE STANDARD ลงพื้นที่สำรวจสิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนต่างๆ ที่กำลังจะถูกแทนที่ด้วยทางเลียบแม่น้ำ 14 กิโลเมตร

เรารุกล้ำแม่น้ำอยู่แล้ว เรารู้ตัว ในเมื่อเขาขอพื้นที่เพื่อทำให้แม่น้ำสวยงามขึ้น เราก็ยินดี

 

‘เขียวไข่กาโมเดล’ เมื่อรัฐจัดให้ ชาวบ้านก็พร้อมจากไป

     ขณะลงพื้นที่สำรวจบ้านในชุมชนเขียวไข่กา ทีมข่าวพบเจ้าหน้าที่ของ กทม. หลายสิบชีวิตกำลังรื้อถอนบ้าน 21 หลังในชุมชนเขียวไข่กา ซึ่งตอนนี้ใกล้แล้วเสร็จหมดแล้ว เหลือเพียงแค่เสาไม้ค้ำตระหง่านอยู่เพียงไม่กี่เสา แสดงถึงสิ่งปลูกสร้างที่เคยมีอยู่ในบริเวณนั้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งอาจต้องใช้รถแบ็กโฮลมาช่วยรื้อถอน

     ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ที่กำลังทำงานอย่างเร่งรีบ ยังมีชาวบ้านบางส่วนยืนมองบ้านของตัวเองที่กำลังจะกลายเป็นอดีต เพียงเพื่อต้องการนำไม้จากบ้านหลังเดิมไปขาย หรือสร้างบ้านหลังใหม่ในอนาคต

     ไม่มีน้ำตา ไม่มีแววตาเสียดาย บรรยากาศการรื้อถอนเป็นไปอย่างเรียบร้อยโดยไม่มีใครคัดค้าน และคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นตามเป้าหมายที่ กทม. ตั้งไว้ คือก่อนวันที่ 20 กรกฎาคมนี้

 

 

     บุปผา สัมฤทธิ์ วัย 48 ปี เจ้าของบ้าน 1 ใน 21 หลังในชุมชนเขียวไข่กาที่กำลังถูกรื้อถอน เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เดิมเคยอยู่บ้านหลังนี้มาไม่ต่ำกว่า 38 ปี แต่ช่วง 6 เดือนมานี้ได้ย้ายที่อยู่ใหม่ไปอยู่แฟลต ขส.ทบ. บริเวณแยกเกียกกายที่ไม่ไกลจากบ้านหลังเดิมมากนัก โดยรวมชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านหลังใหม่ถือว่าดีขึ้น ขณะที่ กทม. ก็ให้เงินชดเชยไปเริ่มต้นชีวิตใหม่สำหรับบ้านทุกหลังที่ได้รับผลกระทบ

     “เรารุกล้ำแม่น้ำอยู่แล้ว เรารู้ตัว ในเมื่อเขาขอพื้นที่เพื่อทำให้แม่น้ำสวยงามขึ้น เราก็ยินดี ไม่รู้จะไปขัดแย้งเพื่ออะไร แล้วเขาก็จัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ ถ้าเขาให้เราไปหาเองก็คงเดือดร้อน ชุมชนอื่นๆ ก็คงคิดเหมือนกัน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ยอม ถ้าไม่มีโครงการนี้ สักวันก็ต้องย้ายอยู่ดี แต่จะโดนเมื่อไร โดนแบบไหนไม่รู้ สู้โดนแบบที่เรามีทางเลือกดีกว่า” อดีตเจ้าของบ้านในชุมชนเขียวไข่กาเปิดใจ

 

 

     ส่วน ศักดิ์น้อย พรรณพิจิตร หัวหน้าชุมชนเขียวไข่กา เปิดเผยว่า ตนเป็นคนนำชาวบ้านขึ้นไปอยู่แฟลตเอง ถือเป็นชุมชนแห่งแรกที่ได้ย้ายไปอยู่แฟลตก่อนใคร เพราะชาวบ้านในชุมชนพร้อมใจกัน

     “ถ้าประชาชนพร้อมใจกัน เราจะได้ที่อยู่ไว ถ้ามัวไปขัดใจกัน ไม่มีทางได้หรอก ที่ไม่มีใครคัดค้านเพราะทุกคนอยากจะได้ที่อยู่ใหม่อยู่แล้ว เพราะบ้านหลังเดิมก็ไม่ได้มาตรฐาน รุกล้ำแม่น้ำด้วย ยังไงก็ผิดแน่นอน ถ้าเขาไม่มีโครงการช่วยเหลือ เราก็จะไม่ได้อะไรเลย”

 

 

     หลังจากนี้ กทม. ยังเตรียมทีมรื้อถอนสแตนบายด์เพื่อทำงานในชุมชนอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะชุมชนนำร่องที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ย้ายออกจากบ้านหมดแล้ว โดยมีเดดไลน์คือก่อนวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ ก่อนที่จะมีการจ่ายเงินชดเชยตามราคาประเมินในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

     ธงชัย มงคลเข็ม นักวิชาการจัดหาที่ดิน กองจัดกรรมสิทธิ์ สำนักการโยธา เปิดเผยว่า การรื้อถอนที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ทาง กทม. ไม่ได้เข้ามาบังคับรื้อ แต่เป็นการนำกำลังมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้านในการรื้อถอน เพราะทุกคนรู้ล่วงหน้าอยู่แล้ว และชาวบ้านบางส่วนก็ทำการรื้อถอนด้วยตัวเองไปก่อนหน้านี้แล้ว

     สำหรับชุมชนที่ย้ายไปอยู่แฟลต ขส.ทบ. ประกอบไปด้วยชาวบ้านจาก 5 ชุมชน รวม 64 ครัวเรือน คือ

  • ชุมชนเขียวไข่กา
  • ชุมชนปากคลองบางเขนใหม่
  • ชุมชนวัดสร้อยทอง
  • ชุมชนองค์กรทอผ้า
  • ชุมชนริมไทร

     โดยชาวบ้านที่ย้ายไปอยู่ต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียม และประกันล่วงหน้าเป็นจำนวน 27,033 บาท และเสียค่าเช่าเดือนละ 1,001 บาท

     ถ้าบ้านหลังไหนรื้อถอนเสร็จก่อนวันที่ 20 จะได้รับเงินชดเชยตามราคาประเมิน 100% เต็ม แต่ถ้าหลังไหนรื้อถอนเสร็จหลัง 26 กรกฎาคม จะได้รับเงินชดเชย 50%

แฟลตเอื้ออาทรที่เขาจะให้ไปอยู่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ยังไง เพราะดูแล้วห้องแบบนั้นอยู่ได้มากสุดก็แค่ 2 คน แล้วเราครอบครัวใหญ่จะไปอยู่ยังไง

 

เปิด 5 ทางเลือกของชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

     แม้เรื่องราวของชาวบ้านในชุมชนเขียวไข่กา และชุมชนนำร่องอีก 4 ชุมชน จะจบลงแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เมื่อ กทม. ได้พื้นที่คืนตามที่ต้องการ ชาวบ้านได้ที่อยู่ใหม่ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น ‘เขียวไข่กาโมเดล’ กลับใช้ไม่ได้กับทุกชุมชน เพราะหลังจากนี้ยังต้องมีการรื้อถอนชุมชนที่รุกล้ำแม่น้ำอีกเป็นจำนวนมาก และแต่ละชุมชนต่างก็มีทางเลือกที่แตกต่างกัน

 

 

     จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด จีรศักดิ์ พูลสง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการพัฒนาชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) หรือ พอช. เล่าให้ทีมข่าวฟังว่าที่ผ่านมาทาง พอช. ได้รับมอบหมายจาก พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ทำการสำรวจความต้องการเรื่องที่อยู่อาศัยใหม่ของชาวบ้านทุกชุมชนที่ได้รับผลกระทบ จนสุดท้ายจึงสรุปได้ออกมาเป็น 5 รูปแบบความต้องการที่แตกต่างกันออกไป

     1. การย้ายไปอยู่แฟลตของ ขส.ทบ. ซึ่งมีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 64 ยูนิต โดยชาวบ้านจะไม่ได้กรรมสิทธิ์ แต่สามารถอยู่อาศัยโดยการเช่าพื้นที่

     2. การบูรณาการร่วมกับการเคหะแห่งชาติ โดยนำฐานข้อมูลบ้านเอื้ออาทรมากางดูว่าที่ไหนอยู่ใกล้กับชุมชนเดิมของชาวบ้านมากที่สุด จนสุดท้ายได้เป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรนครชัยศรี (ท่าตำหนัก) จ.นครปฐม ซึ่งรูปแบบนี้มีชาวบ้านประมาณ 23 ครัวเรือนประสงค์จะย้ายเข้าไปอยู่ โดย พอช. เป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อ แล้วให้ชาวบ้านผ่อนชำระเดือนละ 2,373 บาท เป็นระยะเวลา 20 ปี และคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่

     3. การซื้อที่ดินเพื่อสร้างเป็นชุมชนใหม่ โดยขณะนี้มีการติดต่อซื้อที่ดินที่ ต.บางใหญ่ จ.นนทบุรี เพื่อเตรียมการสร้างบ้านหลังใหม่ต่อไป ซึ่งขณะนี้มี 63 ครัวเรือน แจ้งความประสงค์ที่จะย้าย

     4. การขอรับเงินแล้วย้ายออกจากพื้นที่ แล้วหาที่อยู่ใหม่เอง หรือกลับภูมิลำเนา ซึ่งมีชาวบ้านเลือกรูปแบบนี้ 45 ครัวเรือน

     5. รูปแบบของชุมชนวัดเทวราชกุญชร ที่มีความประสงค์จะขออยู่ที่ดินเดิม เนื่องจากยังตกลงเรื่องแนวเขตที่ดินกับ กทม. ไม่ได้ และกำลังรอความชัดเจนต่อไป

 

 

     ในภาพรวมจีรศักดิ์มองว่าทางเลือกที่มีให้กับชาวบ้านทุกชุมชนถือว่ามีไม่น้อย แต่ก็ยังมีบางชุมชนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะเลือกทางไหน ซึ่งจากการคลุกคลีทำงานกับชาวบ้านใน 12 ชุมชนมานานนับปี คิดว่า กทม. ควรจะทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านให้มาก และต่อเนื่องมากกว่านี้ เพราะถึงวันนี้ยังมีชาวบ้านหลายคนที่เกิดความสับสนว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่

 

 

     “ชาวบ้านทุกชุมชนต่างก็มีคำถามแทบไม่ต่างกันคือ โครงการนี้จะเกิดขึ้นจริงไหม ถ้าเกิดขึ้นจริงแล้วจะให้ย้ายไปอยู่ที่ไหน และจะช่วยเหลืออะไรเขาบ้าง ซึ่งถ้าตอบ 3 คำถามนี้ได้ชัด ก็จะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น

     “สำคัญอีกอย่างคือ การให้ข้อมูลชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ต้องแจ้งความคืบหน้าเรื่อยๆ และควรตั้งคนที่ทำงานด้านชุมชนสัมพันธ์เหมือนกับองค์กรใหญ่ๆ ที่มาพูดคุยกับชาวบ้านตลอดเวลา และนำข้อมูลตีกลับไปให้หน่วยงานต้นสังกัด แต่นี่มาทีหนึ่งแล้วก็หายไป ถ้ามาอย่างต่อเนื่องและอยู่กับชุมชนตลอด ผมว่าจะทำให้สิ่งที่ชาวบ้านกังวลลดทอนไปได้เยอะนะ”

 

 

ยังไม่รู้จะย้ายไปอยู่ไหน” เสียงสะท้อนจากชุมชนมิตตคาม 1

     จากการลงพื้นที่ในชุมชนมิตตคาม 1 ทีมข่าวได้พูดคุยกับ ป้าแจ๊ว (ไม่เปิดเผยชื่อ) วัย 62 ปี ซึ่งเล่าด้วยความอัดอั้นตันใจว่า ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่เจ้าหน้าที่ที่พยายามจะไล่ให้ย้ายออกอย่างเดียว

     “ยังไม่มีใครย้ายไปไหน เพราะไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน เงินค่ารื้อถอนก็ยังไม่ได้ ตอนนี้ก็เครียดกันมาก เพราะยังไม่มีความชัดเจนอะไรเลยว่าเราจะย้ายไปไหน แล้วลูกหลานเราจะเรียนกันตรงไหน ข้าวของจะเอาไปไว้ที่ไหน แฟลตเอื้ออาทรที่เขาจะให้ไปอยู่ก็ไม่รู้จะไปอยู่ยังไง เพราะดูแล้วห้องแบบนั้นอยู่ได้มากสุดก็แค่ 2 คน แล้วเราครอบครัวใหญ่จะไปอยู่ยังไง แล้วกว่าเขาจะซื้อที่ดินให้ สร้างบ้านให้ จะเอาเงินที่ไหนไปเช่าบ้านอยู่”

     นอกจากนี้ชาวชุมชนมิตตคาม 1 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าหากต้องย้ายที่อยู่ใหม่จริงจะได้รับผลกระทบด้านอาชีพแน่นอน เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่หากินในแม่น้ำมานาน โดยบ้านหลายหลังเป็นเจ้าของเรือประดาน้ำ มีอาชีพจับปลา และเก็บของเก่าในแม่น้ำขาย

     ต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับชุมชนมิตตคาม 2 ที่แม้จะอยู่ติดกัน แต่ตอนนี้ได้ข้อสรุปจากการรวมตัวกันเลือกรูปแบบที่ 3 คือเตรียมซื้อที่ดินเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนศาลเจ้าแม่ทับทิม และชุมชนราชผาทับทิมบางส่วนที่เลือกทางเดียวกัน

 

 

     ไพฑูรณ์ ทับละม่อม หัวหน้าชุมชนมิตตคาม 2 และประธานสหกรณ์เคหะสถานบ้านมั่นคงมิตตคามร่วมใจ วัย 63 ปี เปิดเผยกับทีมงานว่า

     “ชาวบ้านทุกคนรู้แล้วว่าต้องย้ายออก เพราะมองอนาคตแล้วคิดว่าคงอยู่ต่อไปไม่ได้แน่ๆ แต่มีบางส่วนเท่านั้นที่ยังไม่แน่ใจว่าเขาจะไล่จริงหรือเปล่า หรือบางคนก็บอกว่ามีที่อยู่อื่นอยู่แล้ว มีบางซอยเท่านั้นเองที่ปลุกระดมกันว่าฉันจะไม่ไป คือเขาได้สิทธิเหมือนกัน แต่เขาไม่เอา ซึ่งเราก็ทำอะไรไม่ได้”

     ด้าน เพชรรัตน์ มูลสาร ตัวแทนจากชุมชนวัดเทวราชกุญชร เปิดเผยความคืบหน้าในการเจรจากับ กทม. ว่า ล่าสุดมีการตกลงกันว่าชาวบ้านในชุมชน 20 กว่าหลังไม่ต้องย้ายออก เนื่องจากมีเอกสารสิทธิและสัญญาเช่าที่ชัดเจน เนื่องจากเป็นชุมชนที่เช่าพื้นที่ของวัดเทวราชกุญชรมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งขณะนี้กำลังรองบประมาณจาก กทม. เพื่อจัดทำคันกั้นน้ำป้องกันน้ำท่วม

     ส่วนบ้านอีก 12 หลังในชุมชนเดียวกันที่อยู่ติดกับท่าวาสุกรียังไม่มีความชัดเจนว่าจะให้อยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีชาวบ้านบางส่วนที่ขอย้ายไปอยู่บ้านเอื้ออาทรนครชัยศรีเรียบร้อยแล้ว

ชุมชนที่เห็นมีความแออัดมาก ผมว่าทำแล้วน่าจะดี ทิวทัศน์จะได้สวยงามขึ้น ไม่เละเทะแบบนี้

 

บ้านทุกหลังมีบ้านเลขที่

     จากการสังเกตของผู้สื่อข่าวพบว่า บ้านทุกหลังที่เข้าข่ายต้องถูกรื้อถอนต่างก็มีบ้านเลขที่ ทะเบียนบ้าน น้ำประปา และไฟฟ้าใช้ไม่ต่างจากบ้านหลังอื่นๆ หลังคันกั้นน้ำที่มีโฉนดแสดงกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

     ดังนั้นการรื้อถอนบ้านที่รุกล้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งนี้อาจเป็นความพยายามในการลบเลือนความผิดพลาดในอดีตที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างหละหลวม

 

 

     ศักดิ์ดา ทนงศักดิ์ วัย 59 ปี ชาวบ้านในหมู่บ้านวัดคอนเซ็ปชัญซึ่งอยู่ติดกับชุมชนมิตตคาม 1 เล่าให้ทีมข่าวฟังว่า ตนเองอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด สมัยก่อนไม่ได้มีบ้านที่ยื่นออกไปริมแม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนทุกวันนี้ แต่พอเวลาผ่านไปก็มีเรือมาจอดอาศัย นานเข้าก็ปลูกเป็นบ้านเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งส่วนตัวมองว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ที่เจ้าหน้าที่จะมองไม่เห็น เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจมีการหลับหูหลับตาจนกลายเป็นปัญหาจนถึงปัจจุบัน

     “โครงการที่จะเกิดขึ้นก็ดีนะ เพราะจะทำให้บ้านเมืองดูสะอาด แต่ก่อนเคยมานั่งริมน้ำ ก็เห็นวิวแม่น้ำกว้างๆ สบายตา เพราะฉะนั้นเห็นด้วยมากๆ กับโครงการนี้ เพราะชุมชนที่เห็นมีความแออัดมาก ผมว่าทำแล้วน่าจะดี ทิวทัศน์จะได้สวยงามขึ้น ไม่เละเทะแบบนี้” คุณลุงวัย 59 ปีกล่าว ขณะทอดสายตามองออกไปที่ริมแม่น้ำ

     ขณะที่ ภารนี สวัสดิรักษ์ ตัวแทนสมัชชาแม่น้ำ ที่คัดค้านโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้ความเห็นในวงเสวนา ‘สายน้ำไม่ไหลกลับ’ ว่าการบุกรุกแม่น้ำเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วก็มีกฎหมายของกรมเจ้าท่าและกฎหมายผังเมืองในการเอาผิดได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้โครงการนี้มาจัดระเบียบ และจะว่าไปโครงการนี้ถือว่าทำผิดกฎหมายเองด้วยซ้ำ เพราะการสร้างทางเลียบที่มีขนาดกว้างออกมาขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นการรุกพื้นที่แม่น้ำเหมือนกัน

 

 

ทางเลียบแม่น้ำเพื่อใคร?

     “เจ้าพระยาเพื่อทุกคน”

     คือสโลแกนของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เป็นผู้จัดทำแผนแม่บท โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษาการสำรวจ ออกแบบ และจัดทำแผนดังกล่าว

     แม้สโลแกนจะชัดเจนว่าเจ้าพระยามีไว้สำหรับทุกคน แต่ที่ผ่านมากลับเกิดคำถามและเสียงคัดค้านมากมายว่า สุดท้ายแล้วชาวกรุงเทพฯ จะได้อะไรจากโครงการนี้

     บุปผา จากชุมชนเขียวไข่กามองว่า ถึงแม้โครงการดังกล่าวจะทำให้ตัวเองต้องย้ายที่อยู่ใหม่ แต่ถ้าสร้างเสร็จก็น่าจะทำให้ทิวทัศน์ดีขึ้น ส่วนถ้าคิดถึงบ้านหลังเดิมก็คงมาเดินเล่นได้บ่อยๆ เพราะอยู่ใกล้แค่นี้เอง

     เช่นเดียวกับหัวหน้าชุมชนเขียวไข่กาที่มองว่าโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้นน่าจะส่งผลดีกับชาวบ้านในชุมชนที่เหลืออยู่ เพราะจะได้ค้าขายได้ดีขึ้น

     “ผมคิดว่าดีเสียอีกนะ ชาวบ้านจะได้ค้าขายได้ ในแบบแปลนที่ออกมาน่าจะสวยงาม อีกอย่างมันจะทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงแม่น้ำได้มากขึ้น เพราะพอเป็นทางเดิน คนก็จะได้มาสัมผัสแม่น้ำได้โดยไม่มีบ้านเรือนมาขวาง เป็นการทำเพื่อส่วนรวม”

 

 

     ต่างจากป้าแจ๊วจากชุมชนมิตตคาม 1 ที่มองว่า “จะให้จักรยานมาวิ่งริมแม่น้ำ แล้วให้ชุมชนย้ายออกไป ไม่น่าเหมาะนะ กลัวว่าจะกลายเป็นแหล่งมั่วสุมกันมากกว่า”

     ส่วน จีรศักดิ์ ตัวแทนจาก พอช. ให้ความเห็นในฐานะประชาชนคนหนึ่งว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการที่ดี แต่ก็ต้องตอบคำถามที่ประชาชนมีให้ชัดเจนด้วย ทั้งเรื่องการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณที่จะใช้มาจากไหน ทำแล้วจะคุ้มทุนหรือไม่

     ปัญหาเรื่องชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของโครงการที่ยังต้องมีเรื่องให้จัดการอีกมากมายนับจากนี้

     แต่ในปัญหาเล็กๆ นี้กลับมีชีวิตชาวบ้านหลายร้อยคนเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งแน่นอนว่าพวกเขาย่อมคาดหวังว่าสิ่งที่จะปรากฏขึ้นทดแทนบ้านหลังเดิมที่ต่างก็เคยอยู่อาศัยมานับสิบปี จะเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากับวิถีชีวิตที่ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับชาวกรุงเทพฯ ทุกคนนับจากนี้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising