×

เนติวิทย์ฟ้องจุฬาฯ ขอศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน ปมถูกตัดคะแนนวินัย หลุดเก้าอี้ ประธานสภาฯ

09.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • เนติวิทย์และนิสิตรวม 8 คน ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤติเกิน 20 คะแนน ทำให้ต้องพ้นสมาชิกภาพการเป็นสมาชิกสภานิสิต โดยขอให้ศาลปกครองกลางไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองให้ดำรงสมาชิกสภา จนกว่าจะมีคำพิพากษา

จากกรณีเหตุการณ์ความไม่เรียบร้อยในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา นำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสอบ ‘เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ ในฐานะประธานสภานิสิตจุฬาฯ และพวกรวม 8 คน

 

คณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิตในฝ่ายกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการลงโทษตัดคะแนนความประพฤติของเนติวิทย์และนิสิตคนอื่นรวม 5 ราย คนละ 25 คะแนน

 

ซึ่งตามระเบียบจุฬาฯ ว่าด้วยสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2529 ผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตฯ ต้องไม่เป็นนิสิตที่เคยถูกลงโทษตัดคะแนนความประพฤติสะสมตั้งแต่ 20 คะแนนขึ้นไป นั่นทำให้นายเนติวิทย์กับเพื่อนอีก 4 คน ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกสภานิสิตฯ ไปโดยปริยาย

 

 

เนติวิทย์และเพื่อนยื่นฟ้องศาลปกครองกลางขอไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองสิทธิ

ล่าสุดวันนี้ เนติวิทย์และเพื่อนนิสิตรวม 3 คน ได้เดินทางไปยังศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินและคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาล เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วที่สุดเพื่อมีคำสั่งทุเลา ไม่ให้คำสั่งทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้ไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับคะแนนความประพฤติกลับคืนมาและเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิตตามเดิมเป็นการชั่วคราว โดยคำร้องส่วนหนึ่งระบุว่า

 

นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 8 คน ได้ยื่นฟ้องจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ คำสั่งเพิกถอนคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4928/2560 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2560, คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 4929/2560 เรื่อง ให้สมาชิกสภานิสิตสามัญพ้นจากตำแหน่ง และคำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0408/2561 เรื่อง แก้ไขคำสั่งลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต

 

โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 80,000 บาทให้แก่นายเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 8 คน จากกรณีการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้ง 3 ฉบับข้างต้น ซึ่งถือเป็นการกระทำละเมิดและทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 8 คน

 

 

ระบุไม่ได้รับความยุติธรรม ตัดคะแนนเกินสมควรแก่เหตุ

นายเนติวิทย์และพวกระบุในคำฟ้อง อ้างว่าคำสั่งทั้ง 3 ฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการบางคนที่พิจารณาออกคำสั่งมีเหตุขัดแย้งกัน กระบวนการพิจารณาไม่เคยแจ้งให้นิสิตทราบว่าทำผิดข้อใด อีกทั้งไม่เปิดโอกาสให้เข้าถึงและแสดงพยานหลักฐานเพื่อโต้แย้งข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ และมองว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดวินัยนิสิต การลงโทษตัดคะแนนรุนแรงเกินสมควร รวมทั้งมีการบิดเบือนการใช้อำนาจเพื่อต้องการปลดนิสิตออกจากตำแหน่งสภานิสิต

 

“ผมและเพื่อนอีก 3 คนเดินทางมายื่นฟ้องศาลในวันนี้ เนื่องจากไม่พอใจผลคำตัดสิน ในชั้นที่ได้อุทธรณ์ ซึ่งการสอบสวนใช้เวลายาวนานมาก ผมก็คิดว่าจะออกมาอย่างยุติธรรมและรอบคอบ แต่สุดท้ายก็เป็นไปตามที่หลายคนคาดหมาย คือมีการปรับลดคะแนนที่ตัดลงมา 5 คะแนน เหลือตัดคะแนนเพียง 20 คะแนน แต่ก็ทำให้ผมและเพื่อนขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิสิต จึงมองว่าคณะกรรมการไม่มีความจริงใจ มีการเรียกไปเพียงครั้งเดียว การยื่นหลักฐานอะไรก็กระชั้นชิด ไม่สามารถทำได้เต็มที่ วันนี้จึงมาเรียกร้องความยุติธรรม” เนติวิทย์เปิดเผยกับ THE STANDARD

 

“อย่างไรก็ตามผลของคำสั่งของศาลต่อคำร้องที่ยื่นต่อศาลไว้นั้น ศาลยังไม่ได้มีการออกคำสั่งแต่อย่างใด และคงจะต้องติดตามว่าศาลจะมีคำสั่งเช่นไร”

 

 

จุฬาฯ แจงเหตุปลดเนติวิทย์ ยืนยันตัดคะแนนเพราะผิดวินัยนิสิต

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่คำชี้แจงกรณี การดำเนินการในกรณีความไม่เรียบร้อยจากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ผ่านทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย (คลิกอ่าน) โดยระบุในคำชี้แจงว่า

 

“โดยปกติมหาวิทยาลัยจะไม่เปิดเผยการลงโทษนิสิต หากแต่ขณะนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น” มหาวิทยาลัยจึงจำเป็นต้องสื่อสารกับสาธารณะ โดยมีใจความสำคัญว่า

 

ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวินัยนิสิต เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของนิสิตทั้ง 8 คน ‘ผิดวินัยนิสิต’ เสนอให้มหาวิทยาลัยลงโทษนิสิตกลุ่มนี้ด้วยการตัดคะแนนความประพฤติ เนื่องจากทั้งหมดเป็นตัวแทนสภานิสิตจุฬาฯ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตัวตามบทบาทหน้าที่ที่พึงจะเป็น ทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าตนมีทัศนะไม่ตรงกับขนบธรรมเนียมประเพณีของมหาวิทยาลัย ในการถวายสักการะและถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อแสดงตนเป็นนิสิตใหม่ มหาวิทยาลัยตระหนักถึงเสรีภาพทางความคิดของนิสิต จึงจัดพื้นที่พิเศษสำหรับนิสิตกลุ่มนี้ไว้ โดยนิสิตก็ยังแสดงความจำนงเข้าร่วมพิธีในฐานะสภานิสิต แต่ไม่ยืนอยู่ในแถวตามที่ผู้เป็นผู้แทนสภานิสิตพึงกระทำ จนกว่าพิธีการจะเสร็จสิ้นเรียบร้อย กลับนัดหมายกันเดินออกจากแถวเพื่อไปทำความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ด้วยการโค้งคำนับเพื่อให้แตกต่าง และปรากฏภาพที่ขัดแย้งกับนิสิตคนอื่นที่เข้าร่วมพิธี จนนำไปสู่เหตุการณ์ความไม่เรียบร้อย ส่งผลทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย

 

“นิสิตยังได้เผยแพร่ข้อมูลที่มีการบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อสร้างให้เรื่องราวที่ดูเสมือนความขัดแย้งนี้เป็นประเด็นในสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อชื่อเสียงมหาวิทยาลัย และสะท้อนถึงการไม่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นที่มีทัศนะแตกต่างจากตน โดยเฉพาะของประชาคมทั้งนิสิต บุคลากร และนิสิตเก่าอื่นๆ ที่ให้คุณค่า และมีศรัทธาต่อพิธีถวายบังคมเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระผู้พระราชทานกำเนิด…” คำชี้แจงจุฬาฯ ระบุ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising