×

แบงก์ชาติเผยกำไรสุทธิแบงก์พาณิชย์ปี 2566 เพิ่ม 5.8%YoY แตะ 2.5 แสนล้านบาท สูงสุดรอบ 4 ปี โตแรงกว่า GDP 3 เท่า

19.02.2024
  • LOADING...
แบงก์ชาติ

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นดันกำไรสุทธิแบงก์พาณิชย์ปี 2566 เพิ่ม 5.8%YoY แตะ 2.5 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 4 ปี นับว่าเป็นการเติบโตที่แรงกว่า GDP Growth ไทยปี 2566 (ที่ 1.9%YoY) กว่า 3 เท่า

 

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 2566 และปี 2566 โดยระบุว่า กำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2566 เพิ่มขึ้น 4 ปีติดต่อกัน อยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8%YoY 

 

โดยการเพิ่มขึ้นในอัตราดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ

 

อย่างไรก็ดี เมื่อดูเป็นรายไตรมาสพบว่า กำไรสุทธิธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4 ปี 2566 เพียงไตรมาสเดียวปรับตัวลดลง 16.4%YoY และลดลง 18.6%QoQ

 

ด้านผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ซึ่งเป็นอัตราส่วนวัดประสิทธิภาพของแบงก์พาณิชย์ว่า สามารถสร้างผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของหรือส่วนของผู้ถือหุ้นได้มากน้อยเพียงใด พบว่า ในปี 2566 อยู่ที่ 7.92% เพิ่มขึ้น 4 ปีติดต่อกัน ส่วน ROE ไตรมาส 4 ปี 2566 ไตรมาสเดียวอยู่ที่ 6.69% 

 

ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย พบว่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกันเช่นกัน โดยทั้งปี 2566 อยู่ที่ 3.00% ส่วนไตรมาส 4 ปี 2566 ไตรมาสเดียวอยู่ที่ 3.17%

 

 

ธปท. ยังระบุอีกว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง

 

ขณะที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกับปีก่อน จากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่ ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ กอปรกับมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์

 

อย่างไรก็ดี การปล่อยสินเชื่อใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นและกระจายตัวในหลายภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้จากสินเชื่อส่วนบุคคล

 

ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ Stage 3) ไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.92 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.66% โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการกลับมาชำระคืนหนี้ ขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ต

 

สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant Increase in Credit Risk: SICR หรือ Stage 2) อยู่ที่ 5.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย

 

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดหนี้เสียที่เพิ่มสูงแบบก้าวกระโดด (NPL Cliff)

 

โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3 ปี 2566 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ลดลงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการก่อหนี้ที่ชะลอลง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising