×

สธ. คาดการณ์ตัวเลขผู้ป่วย-เสียชีวิตหลังล็อกดาวน์ ยอดอาจพุ่งสูงสุด 35,000 ราย ต้นเดือนตุลาคม

30.07.2021
  • LOADING...
สธ. คาดการณ์ตัวเลขผู้ป่วย-เสียชีวิตหลังล็อกดาวน์ ยอดอาจพุ่งสูงสุด 35,000 ราย ต้นเดือนตุลาคม

การล็อกดาวน์ลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่และผู้เสียชีวิตในระยะสั้นไม่มากนัก แต่ส่งผลลดจำนวนผู้ติดเชื้อในระยะยาว หากมาตรการล็อกดาวน์ได้ผลร่วมกับมาตรการวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงภายใน 1-2 เดือน น่าจะช่วยให้อัตราการเสียชีวิตไม่เกิน 200 รายต่อวันไปจนถึงเดือนธันวาคม

 

บ่ายวันนี้ (30 กรกฎาคม) ในการแถลงข่าวประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้นำเสนอผลการคาดการณ์สถานการณ์การระบาดโรคโควิดของประเทศไทยหลังเริ่มมาตรการล็อกดาวน์ ระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2564 THE STANDARD ขอสรุปให้เข้าใจง่ายขึ้น ดังนี้

 

ในการคาดการณ์ดังกล่าวกระทรวงสาธารณสุขได้จำลองสถานการณ์เปรียบเทียบทั้งหมด 5 กรณี ดังนี้

 

  • หากไม่มีการล็อกดาวน์
  • การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 20% นาน 1 เดือน
  • การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 20% นาน 2 เดือน
  • การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 1 เดือน
  • การล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน

 

ผลลัพธ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ จำนวน ‘ผู้ป่วย’ ใหม่ที่รายงานต่อวัน และจำนวน ‘ผู้เสียชีวิต’ ที่รายงานต่อวัน สังเกตว่าใช้คำว่า ‘ที่รายงาน’ ด้วย เพราะกระทรวงสาธารณสุขคาดการณ์ว่า ผู้ป่วยสีเขียวและสีเหลืองมีการรายงานต่ำกว่าความจริงประมาณ 6 และ 3 เท่า

 

#จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่รายงานต่อวัน

หากไม่มีการล็อกดาวน์ จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในช่วง ‘กลางเดือนกันยายน’ จากนั้นจะลดจำนวนลง ซึ่งเป็นผลมาจากภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ถ้ามีการล็อกดาวน์ 1 เดือน จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าและถึงจุดสูงสุดในช่วง ‘ต้นเดือนตุลาคม’ ในขณะที่ถ้าเพิ่มระยะเวลาล็อกดาวน์นานขึ้นเป็น 2 เดือน จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มถึงจุดสูงสุดในช่วง ‘ต้นเดือนพฤศจิกายน’ หรือชะลอไปอีก 1 เดือน

 

และจำนวนผู้ป่วยที่จุดสูงสุดจะแตกต่างกันด้วย โดย

 

  • หากไม่มีการล็อกดาวน์ 45,000 รายต่อวัน
  • ล็อกดาวน์ 1 เดือน 35,000 รายต่อวัน
  • ล็อกดาวน์ 2 เดือน 25,000 รายต่อวัน

 

 

#จำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานต่อวัน

หากไม่มีการล็อกดาวน์ จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มสูงขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในช่วง ‘ต้นเดือนตุลาคม’ จากนั้นจะลดลงตามแนวโน้มของผู้ป่วยใหม่ แต่ถ้ามีการล็อกดาวน์ จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นช้ากว่า โดยจะถึงจุดสูงสุดในช่วง ‘ปลายเดือนตุลาคม’ และ ‘ปลายเดือนพฤศจิกายน’ หากล็อกดาวน์ 1 และ 2 เดือนตามลำดับ และจำนวนผู้เสียชีวิตที่จุดสูงสุดจะแตกต่างกันกล่าว คือ

 

  • หากไม่มีการล็อกดาวน์ ไม่เกิน 600 รายต่อวัน
  • ล็อกดาวน์ 1 เดือน ไม่เกิน 500 รายต่อวัน
  • ล็อกดาวน์ 2 เดือน ไม่เกิน 400 รายต่อวัน

 

ทั้งนี้ ได้มีการจำลองสถานการณ์เพิ่ม ถ้าล็อกดาวน์ 2 เดือน + เร่งการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุจนถึงเป้าหมายใน 1-2 เดือน จำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่มขึ้นไม่มาก ถึงจุดสูงสุดประมาณ 150 รายในช่วง ‘กลางเดือนสิงหาคม’ และจะลดลงเล็กน้อย ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วง ‘ต้นเดือนพฤศจิกายน’ ซึ่งเป็นผลมาจากแนวโน้มผู้ป่วยที่สะสมเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม

 


 

ส่วนกรณีที่เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการล็อกดาวน์ระหว่าง 20% และ 25% พบว่า จะสามารถชะลอจุดสูงสุดของการใช้ทรัพยากรออกไปได้ประมาณ 2 สัปดาห์ (คำว่า ‘ประสิทธิภาพ’ หมายถึงมาตรการสามารถลดค่า R หรือ Reproductive Number ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้อง 3 ประการ คือ ความถี่ในการสัมผัส โอกาสในการแพร่เชื้อ และระยะเวลาที่แพร่เชื้อ)

 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวในตอนต้นของการแถลงข่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทยยังพบผู้ป่วยอยู่ในระดับสูงมาก และอาจเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วน นพ.โอภาส กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ในขณะนี้พบการระบาดเป็นวงกว้าง จึงขอความร่วมมือประชาชน ลดกิจกรรมที่ไม่จำเป็น อยู่บ้านให้มากที่สุด ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม ล้างมือบ่อยๆ วัดอุณหภูมิก่อนเข้าสถานที่ และสแกนไทยชนะ 

 

มาตรการส่วนบุคคลเหล่านี้จะช่วยลดการแพร่เชื้อสู่ชุมชน รวมถึงขอความร่วมมือผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ไปรับวัคซีนตามที่กำหนดในจุดต่างๆ ก็จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตให้ไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้  

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising