×

หุ้นนางงาม ‘มิสแกรนด์’ เคาะราคาขาย IPO ที่ 4.95 บาท เปิดจองซื้อวันที่ 4, 6 และ 7 ธันวาคม จ่อเข้าเทรด mai ภายในเดือนธันวาคมนี้

29.11.2023
  • LOADING...
มิสแกรนด์ IPO

หุ้น IPO ‘มิสแกรนด์’ กำหนดราคาขาย IPO 4.95 บาทต่อหุ้น เปิดจองซื้อ 4, 6 และ 7 ธันวาคม ตั้งเป้าเข้าเทรด mai ภายในเดือนธันวาคมนี้ ในหมวดธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค นำเงินระดมทุนขยายธุรกิจสร้างการเติบโต 

 

ธวัทชัย แพร่แสงเอี่ยม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเอสแอล จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชน (IPO) เปิดเผยว่า บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MGI ได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่หุ้นละ 4.95 บาท จะเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 4, 6 และ 7 ธันวาคมนี้ และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในเดือนธันวาคม 2566 ในหมวดธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค

 

สำหรับราคาหุ้นสามัญที่เสนอขายหุ้นละ 4.95 บาท มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) เท่ากับ 11.76 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากผลกำไรสุทธิในช่วง 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 

 

โดย MGI มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพาณิชย์จากการจัดประกวดนางงาม ‘มิสแกรนด์ ไทยแลนด์’ และ ‘มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล’ การบริหารจัดการศิลปิน และการจัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ ได้แก่ สินค้าภายใต้ตราสินค้าของบริษัท

 

ด้าน ณวัฒน์ อิสรไกรศีล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MGI กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้ จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 284 ล้านบาทหลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ไปใช้ลงทุนปรับปรุงตกแต่งอาคารประมาณ 40 ล้านบาท ภายในปี 2566-2567, ลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและผลิตรายการประมาณ 50 ล้านบาท ภายในปี 2566-2567, ลงทุนพัฒนาความสามารถของระบบสารสนเทศ (Information Technology) ประมาณ 20 ล้านบาท ภายในปี 2566-2567 และส่วนที่เหลือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ 

 

ทั้งนี้ บริษัทเตรียมพร้อมสำหรับขยายไปยังโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจเกี่ยวกับการพาณิชย์ และเป็นเจ้าของเวทีประกวดนางงามรายแรกที่สามารถเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนด้วยชื่อเวทีที่ทางบริษัทเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นและเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทเอง ซึ่งถือเป็นเวทีประกวดนางงามเพียงรายเดียวในประเทศไทยที่ดำเนินการจัดกิจกรรมด้วยรูปแบบนี้ ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในเวทีระดับประเทศ (MGT) และเวทีระดับนานาชาติ (MGI)

 

สำหรับผลการดำเนินงานของ MGI ในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 319.86 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 47.85 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการในงวด 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 432.45 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 77.13 ล้านบาท เทียบกับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวม 222.02 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 36.59 ล้านบาท  

 

การเติบโตของรายได้และกำไรสุทธิมาจากธุรกิจพาณิชย์ของบริษัท เติบโตขึ้นจากการจัดกิจกรรมให้ผู้เข้าประกวดมิสแกรนด์ขายสินค้าของบริษัทผ่านช่องทางจำหน่ายใหม่คือ TikTok ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และเป็นช่องทางขายถึงผู้บริโภคโดยตรง ทำให้บริษัทสามารถขายสินค้าโดยไม่ต้องเสียส่วนแบ่งรายได้ให้ตัวแทนจำหน่ายหรือผู้ค้าส่งแต่อย่างใด ส่งผลให้รายได้และอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจพาณิชย์ปรับสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึงธุรกิจสื่อและบันเทิง และธุรกิจบริหารจัดการศิลปินมีการเติบโตขึ้น

 

“ยอมรับว่าเฉพาะธุรกิจการประกวดนางงามเป็นธุรกิจ Sunset หรือขาลงมา 10 ปีแล้ว ดังนั้นบริษัทจึงปรับกลยุทธ์ นำธุรกิจการประกวดนางงามมารวมกับอีก 3 ธุรกิจ ได้แก่ Commerce ซึ่งถือเป็นธุรกิจพระเอกของบริษัท, ธุรกิจสื่อและบันเทิง และธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน เพื่อให้ธุรกิจของบริษัทกลับมาเป็นขาขึ้นให้ได้”

        

สำหรับสัดส่วนรายได้งวด 9 เดือนแรกของปี 2566 มาจากธุรกิจพาณิชย์ 40.86%, ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ 12.63%, ธุรกิจสื่อและบันเทิง 19.06%, ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน 23.12%, รายได้ค่าเช่าช่วง MGI Hall 3.51% และรายได้อื่น 0.82%

 

ด้าน วรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินบริษัท มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จุดเด่นมิสแกรนด์คือการมีแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ สามารถเข้าสู่ระบบลิขสิทธิ์ตัวแทน 77 จังหวัด ซึ่งถือเป็นเวทีการประกวดแรกในประเทศไทยที่ดำเนินการจัดการในรูปแบบนี้ รวมทั้งเครือข่ายนางงามที่ส่งเข้าประกวดในระดับนานาชาติ พร้อมเดินหน้ากลยุทธ์การขยายตลาดและต่อยอดไปสู่ธุรกิจที่เป็นโอกาสมากขึ้น

 

โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท ภายหลังจากหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจัดสรรทุนสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท

 

“Business Model ของ MGI มีความแตกต่างกับบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกแห่งที่ทำธุรกิจประกวดนางงาม ซึ่งจะซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมาขายต่อ ส่วน MGI จะสร้างและพัฒนาคอนเทนต์ขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อเข้ามา ดังนั้น ในงบการเงินของ MGI จึงมีสินทรัพย์ไม่มีตัวตน หรือ Intangible Asset ซึ่งสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัท ก็จะเป็นลูกหนี้การค้ากับกลุ่ม Hard Asset”

 

ทั้งนี้ MGI มีทุนจดทะเบียน 105 ล้านบาท โดยเป็นทุนชำระแล้ว 75 ล้านบาท และหลังจากจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน IPO ครั้งนี้อีก 30 ล้านบาท จะเป็นทุนชำระแล้วเต็ม 105 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 210 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท มีโครงสร้างผู้ถือหุ้นก่อนและหลัง IPO ดังนี้ 

 

  1. ณวัฒน์ อิสรไกรศีล สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 60% และ 42.86%

 

  1. รัชพล จันทรทิม สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ 39.99% และ 28.56% 

 

  1. พรพรรณ จุลเจือ สัดส่วนก่อนและหลัง IPO อยู่ที่ <0.01% และ <0.01%

 

  1. ประชาชนทั่วไป หลังการเสนอขาย IPO อยู่ที่ 28.57%

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ถือหุ้นใหญ่ 2 อันดับแรก ทั้งณวัฒน์และรัชพลยังไม่มีแผนที่จะขายหุ้นของบริษัทในอนาคต เนื่องจากทั้งสองคนเป็นผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทมาตั้งแต่เริ่มแรก เป็นผู้ที่ช่วยกันบริหารบริษัทให้มีความเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ และทั้งสองคนยังมีความมุ่งมั่น มีความตั้งใจที่แน่วแน่ในการบริหารบริษัท และนำพาบริษัทให้เจริญเติบโตบรรลุเป้าหมาย ให้บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนางงามโลกให้สำเร็จ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising