×

แรงงานข้ามชาติช่วงโควิดเจอ 4 ปัญหาหนัก จี้รัฐนำเข้าระบบก่อนหลุดหาย 6-7 แสนคน พบนายจ้างฉวยโอกาสไล่ออก

โดย THE STANDARD TEAM
16.12.2021
  • LOADING...
แรงงานข้ามชาติ

วันนี้ (16 ธันวาคม) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) อาคารมณียา เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) จัดกิจกรรมเนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล (International Migrant Day) 18 ธันวาคมของทุกปี ภายใต้หัวข้อ ‘แรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด: จะวนลูปหรือมูฟออน’ เพื่อสื่อสารไปยังผู้กำหนดกฎหมาย นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ให้รับฟังเสียงสะท้อนของแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้มาตรการการควบคุมโรค ตลอดจนมาตรการเยียวยาจากรัฐ พร้อมรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคมต่อยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤตโรคระบาดของรัฐบาล

 

ภาคประชาชนชี้ สถานการณ์โควิดทำแรงงานข้ามชาติเจอปัญหาหนัก 4 ข้อ

 

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์โควิดมี 4 เรื่อง คือ 

 

  1. เรื่องของการถูกเลิกจ้าง การปิดกิจการ ทำให้แรงงานไม่มีรายได้ ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา และเมื่อปิดกิจการแล้วหานายจ้างใหม่ไม่ทันก็กลายเป็นอยู่อย่างผิดกฎหมาย 

 

  1. คนที่จะเข้ามาอย่างถูกกฎหมายก็ไม่สามารถทำได้ เพราะมีการปิดด่านชายแดนตั้งแต่ปี 2563 ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศต้นทางไม่ดี เมื่อความต้องการจ้างแรงงานของไทยเพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้คนจำนวนมากต้องแอบลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น 

 

  1. การต่อหนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ตที่ยังเป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้แรงงานไม่มั่นใจว่าอยู่ต่อได้หรือไม่ และมีที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคนหาประโยชน์จากเรื่องนี้โดยหลอกว่าพาสปอร์ตหมดอายุต้องถูกปรับ

 

  1. ผลกระทบโดยตรงจากโควิด ในช่วงปี 2564 มีการระบาดในพื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติอยู่จำนวนมาก คือ ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ในขณะที่คนไทยก็ติดโควิดจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการเข้าถึงการตรวจและรักษาโควิดของแรงงานข้ามชาติ  

 

รัฐไทยมีแค่แผนระยะสั้นแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ คาดทำแรงงานหลุดจากระบบ 6-7 แสนคน

 

อดิศรกล่าวว่า สำหรับในเรื่องการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้น มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวกับเรื่องแรงงานข้ามชาติทั้งหมด 13 เรื่อง เฉลี่ยคือ 2 เดือนต่อครั้ง และประมาณ 9-10 เรื่อง เป็นเรื่องของการขยายเวลา เห็นได้ชัดว่าการแก้ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้มีการวางแผนแก้ปัญหาในระยะยาว แต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา แม้ในระยะหลังจะมีความพยายามแก้ปัญหาบางเรื่อง เช่น เรื่องเปลี่ยนนายจ้างไม่ทัน มีการขยายเวลา แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการให้ทันท่วงที จึงพบว่านโยบายของรัฐไม่สามารถรักษาคนในระบบได้และทำให้คนหลุดออกจากระบบไปเรื่อยๆ  

 

ดังนั้น สิ่งที่รัฐควรทำคือต้องเปิดให้จัดระบบใหม่ เพราะจำนวนคนที่หายไปกับคนที่เข้ามาไม่สอดคล้องกัน เปรียบเทียบตัวเลขแรงงานตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กับเดือนตุลาคม 2564 ตัวเลขหายไปกว่า 4.7 แสนคน หากไม่มีการจดทะเบียนใหม่ตัวเลขน่าจะหายไป 6-7 แสนคน แม้จะเปิดให้มีการจดทะเบียนเป็นระยะๆ แต่ก็ยังไม่สามารถดึงคนเข้าสู่ระบบได้ เพราะปัญหาในเรื่องขั้นตอนการจดทะเบียนที่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายที่สูงของกระทรวงแรงงาน จึงแก้ปัญหาให้แรงงานและนายจ้างไม่ได้ กลายเป็นการสร้างภาระเพิ่มมากกว่า เป็นโจทย์ใหญ่ในเรื่องการจัดการแรงงานข้ามชาติภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา

 

ชี้การย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยยังไม่เกิด หลังแรงงานลักลอบเข้าเมืองเจออุบัติเหตุตาย-บาดเจ็บถี่ขึ้น

 

อดิศรกล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องคือคนที่ลักลอบเข้าประเทศ ซึ่งลักลอบเข้ามาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว และมาเพิ่มมากขึ้นในปี 2564 หลังช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมาจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เข้าใจว่าเกิดจาก 2 ส่วน คือ 

 

  1. เริ่มมีการเปิดให้มีจ้างงานอย่างเป็นระบบ กิจการต่างๆ เปิดดำเนินการได้มากขึ้น จึงมีการดึงแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา 

 

  1. สถานการณ์การเมืองในเมียนมา จึงมีคนจำนวนหนึ่งที่หลบหนีการปราบปรามและผลกระทบทางการเมืองเข้ามาทำงานในไทย 

 

ปัญหาที่เห็นได้ชัดขึ้นคืออุบัติเหตุจากการเดินทางของคนงาน เฉพาะเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว 7-8 ครั้ง มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแล้ว 11 คน บาดเจ็บ 47 คน สะท้อนให้เห็นว่าหากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ การย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยในการทำงานก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการเปิดให้คนเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่

 

แนะรัฐทำยุทธศาสตร์ระยะกลาง-ยาว ดึงคนเข้าสู่ระบบ สกัด ‘โอไมครอน’ ลามแรงงานข้ามชาติทำกลับสู่วงจรเดิมแก้ปัญหาไม่จบ

 

อดิศรกล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาสิ่งรัฐบาลต้องทำคือ 

 

  1. จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะกลางและระยะยาวในการรองรับแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะเมื่อเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเข้ามา แต่เรายังไม่มีแผนรับมือที่เหมาะสม การระบาดจะเกิดขึ้นรุนแรงในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอีกหรือไม่ เพราะเชื้อโอไมครอนแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม และสุดท้ายจะกลับเข้าสู่วงจรเดิม คืออาจต้องปิดชายแดนหรือปิดกิจการอีก ปัญหาก็จะแก้ไม่จบ 

 

  1. ต้องพิจารณามาตรการในการจัดการคนข้างใน คือป้องกันไม่ให้แรงงานหลุดจากระบบ ทำให้ระบบการจดทะเบียนการขออนุญาตทำงานมีความสะดวกมากขึ้นและค่าใช้จ่ายถูกลง  

 

  1. การจัดการพื้นที่ชายแดน ต้องมีความชัดเจน มีค่าใช้จ่ายในการคัดกรองที่ไม่แพงมาก กรณีนักท่องเที่ยวยังเปิดให้เข้ามาแบบไม่ต้องกักตัว แรงงานเหล่านี้ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าเป็นไปได้หรือไม่ 

 

  1. เรื่องการนำเข้าแรงงาน แม้รัฐบาลจะเปิดให้มีการนำเข้า แต่ก็ยังเจอปัญหาค่าใช้จ่ายที่แพง ต้องมีการตรวจโรคโควิดเพิ่ม และการกักตัวตามเงื่อนไข แต่พื้นที่กักตัวตามด่านต่างๆ ไม่เพียงพอ จึงทำให้นโยบายและการลงนามความร่วมมือ (MOU) ของรัฐบาลอาจจะทำได้น้อยหรือแทบทำไม่ได้เลย 

 

“สุดท้ายสิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องมีมาตรการในการออกนโยบายที่มีหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วย นอกจากนั้น ที่เราเจอคือคนงานที่ไปร้องเรียนกับกระทรวงแรงงานแล้วถูกจับ เป็นการไม่แก้ปัญหา แต่สร้างปัญหาให้คนงาน คนงานจดทะเบียนไปแล้ว แต่ตรวจโรคไม่ได้เพราะโรงพยาบาลไม่รับตรวจ เขาจึงไปร้องเรียน จึงคิดว่ากระทรวงต้องพิจารณาบทบาทตัวเองใหม่ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการดูแลคุ้มครองคนงานอย่างเป็นระบบ” อดิศรกล่าว

 

แรงงานข้ามชาติขอสิทธิ์ฉีดวัคซีนเหมือนคนไทย พร้อมจัดหาล่าม-เข้าถึงข้อมูลวัคซีน

 

Yin Htwe ตัวแทนแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา กล่าวถึงสถานการณ์การเข้าถึงวัคซีนโควิดของแรงงานข้ามชาติว่า ที่ผ่านมาในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม แรงงานข้ามชาติค่อนข้างเข้าถึงวัคซีนได้ยากลำบาก เพราะไม่รู้ว่าจะติดต่อช่องทางไหน แต่หลังจากที่ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและมูลนิธิรักษ์ไทยก็ได้ช่วยกันติดตามวัคซีนให้ ทั้งในส่วนที่เป็นแรงงานในระบบมีประกันสุขภาพ และแรงงานเถื่อนไม่มีบัตรประจำตัวผู้ซึ่งไม่มีสัญชาติไทย อีกทั้งตอนนี้เราได้รับการสนับสนุนจากสภากาชาดไทยในเรื่องการจัดการหาวัคซีนให้วอล์กอินเข้าไปฉีดได้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งตนคิดว่าว่าแรงงานข้ามชาติทั้งหมดก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกับคนไทย  

 

Yin Htwe กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้แรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายขึ้นกว่าในช่วงแรกของการระบาด แต่ยังมีปัญหาในส่วนของคนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน หรือคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ กทม. หรือสมุทรสาคร ไม่มีอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) คอยช่วยดำเนินการ อาจจะเข้าถึงข้อมูลการฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างลำบาก ในมุมมองของตน การบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้แรงงานต่างชาติทุกคนได้เข้าถึงนั้น ควรจะลงลึกไปถึงระดับสำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือสถานีอนามัยในแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ อยากให้ประกาศออกมาว่าแรงงานข้ามชาติสามารถเข้ามาฉีดได้ 

 

นอกจากนั้น การมีจิตอาสาหรือล่ามแปลเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้แรงงานข้ามชาติได้ฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งระบบของรัฐไทยยังมีปัญหาเรื่องการจัดหาล่าม การประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้รับรู้และเข้าถึงข้อมูลการฉีดวัคซีน ถ้าเป็นไปได้พื้นที่ต่างๆ ควรดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

 

ตัวแทนแรงงานเกษตรระบุ โควิดทำกระทบหนัก การจ้างงานลด พืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

 

ขณะที่ ซาย วี ตัวแทนแรงงานภาคเกษตร กล่าวว่า ในสถานการณ์โควิด แรงงานภาคเกษตรได้รับผลกระทบหนักมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศล็อกดาวน์ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่ง ทำให้แรงงานไม่สามารถเข้าไปรับจ้างทำงานได้ จึงทำให้เกิดผลกระทบทั้งแรงงานข้ามชาติเองและเจ้าของสวนในภาคเกษตรที่ต้องใช้แรงงาน เมื่อการจ้างงานลดลง พืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการในภาคเกษตรขาดทุน และทำให้เจ้าของสวนไม่มีกำลังใจในการทำงานต่อไปอีก

 

แรงงานภาคก่อสร้างระบุ การฉัดวัคซีนโควิดให้แรงงานข้ามชาติยังมีปัญหา

 

ปอด สัง ตัวแทนแรงงานก่อสร้าง กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด พวกเราอยู่อย่างลำบากมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารการกิน เรื่องของรายได้ เราถูกสั่งปิดตั้งแต่เมื่อมีการระบาดของโควิด เป็นเวลาเกือบ 2 เดือนครึ่งที่เราไม่มีรายได้ ในส่วนอาหารก็ต้องอาศัยการบริจาคจากเจ้าหน้าที่มูลนิธิต่างๆ ซึ่งในแคมป์คนงานของตนมีอยู่ประมาณ 200 คนที่ได้รับผลกระทบ ในส่วนของวัคซีนมีแรงงานหลายคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 หรือคนที่ได้รีบการฉีดเข็มที่ 1 ก็ยังไม่รู้ว่าตนเองจะได้ฉีดเข็ม 2 เมื่อไร จึงเป็นปัญหาของพวกเรามาก

 

แรงงานทำงานบ้านเผย ต้องทำงานหนักมากขึ้นในช่วงล็อกดาวน์โควิด แต่ได้รับการจ่ายค่าจ้างเท่าเดิม

 

ขณะที่ จำปา ตัวแทนของแรงงานทำงานบ้าน กล่าวว่า ในส่วนของแรงงานที่ทำงานที่บ้านก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้แรงงานในภาคอื่นๆ หลายๆ คนอาจจะคิดว่าคนที่ทำงานที่บ้านจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เพราะทำงานและกินอยู่กับนายจ้าง แต่ในความเป็นจริงลูกจ้างที่ทำงานที่บ้านมีการจ้างงานที่หลากหลายช่วงเวลาทำงาน บางคนทำงานและอยู่กับนายจ้างตลอด 24 ชั่วโมง บางคนทำงานแบบมาเช้าเย็นกลับ 

 

พอสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด ลูกจ้างที่ทำงานบ้านแบบมาเช้าเย็นกลับตกงานทันที เพราะนายจ้างเกิดความหวาดกลัวว่าแรงงานจะนำเชื้อโรคจากข้างนอกมาให้นายจ้าง นายจ้างก็จะใช้วิธีบอกให้ลูกจ้างพักก่อน แต่การพักก็เหมือนกับการเลิกจ้าง และลูกจ้างก็จะไม่ได้รับเงินส่วนลูกจ้างที่ทำงานกับนายจ้างตลอด 24 ชั่วโมง

 

หลังรัฐประกาศให้มีการล็อกดาวน์ ปกติลูกจ้างจะต้องมีวันหยุดในการทำงาน แต่เมื่อมีการล็อกดาวน์ลูกจ้างก็จะต้องทำงานหนักเพิ่มมากขึ้นอีก แต่เงินก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น  

 

นอกจากนี้ ในส่วนของการฉีดวัคซีน ลูกจ้างทำงานที่บ้านก็เจอปัญหาที่ต้องลงทะเบียนกับแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซี่งลูกจ้างหลายคนไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ก็ทำให้มีหลายคนที่เข้าไม่ถึงวัคซีน

 

เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติชี้ อุตสาหกรรมประมงอ่วม ออกทะเลแล้วกลับฝั่งไม่ได้เกือบปี เพราะประกาศของผู้ว่าฯ

 

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงทะเลในวิกฤตโควิดว่า แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา มีลูกเรือ คนเรือในเรือหลายประเภทที่ได้รับผลกระทบในช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะเรือประมงแบบไป-กลับที่ปกติออกเรือ 15-20 วัน หรือ 3-4 เดือนแล้วกลับเข้าฝั่ง ก็ลากยาวเกือบปีจึงได้กลับเข้าฝั่งได้ ทำให้แรงงานไม่ได้หยุดพัก เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครออกมาตรการและประกาศหากกลับเข้าฝั่งจะไม่อนุญาตให้ออกเรือไปอีก เนื่องจากกลัวสถานการณ์โควิด 

 

ขณะที่ในส่วนของเรือลากเคยเพื่อทำกะปิไม่สามารถออกเรือได้เกือบปี ลูกเรือจึงแทบจะไม่ได้รับค่าจ้างเลย  ซึ่งปัญหาคือแรงงานข้ามชาติที่ถือเอกสารประจำตัวเป็นลูกเรือประมงไม่สามารถไปรับจ้างหรือทำงานอื่นทดแทนได้ในช่วงที่ไม่ได้ออกเรือ ถ้าไปทำอย่างอื่นก็ถือว่าผิดกฎหมายและถูกตำรวจจับปรับได้  

 

นายจ้างฉวยโอกาสเลิกจ้างหลังรัฐสั่งหยุดทำงาน

 

สุธาสินีกล่าวว่า ในช่วงแรกของการระบาดโควิดเป็นช่วงการฉกฉวยของนายจ้างในการเลิกจ้าง มาตรการของรัฐเองก็ค่อนข้างสาหัสสากรรจ์ในเรื่องการสั่งหยุดการทำงาน ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คือร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ต ที่คนงานล้วนแต่เป็นแรงงานข้ามชาติ ทุกคนตกงานจากนโยบายของรัฐทั้งหมด ตั้งแต่ระลอกแรกมาถึงระลอกสอง จนเขาไม่สามารถอยู่ได้ และต้องเจรจาขอเปิดชายแดนกลับภูมิลำเนา พอมาช่วงที่สมุทรสาครเป็นพื้นที่สีแดง แต่กลับมีออร์เดอร์จำนวนมาก โดยเฉพาะอาหารทะเลต่อเนื่องไปถึงอุตสาหกรรมปลากระป๋อง ขณะที่กำลังแรงงานขาดแคลน ทำให้คนงานไม่มีเวลาพัก แม้จะมีการจ่ายค่าล่วงเวลา (OT) ก็ตาม

 

รัฐไม่คำนึงถึงชีวิตคน มองแค่จะขจัดโควิดอย่างไร จี้รัฐจ่ายเงินเยียวยาครอบคลุมแรงงานข้ามชาติ

 

สุธาสินีกล่าวต่ออีกว่า มองว่ารัฐไทยยังไม่ได้ดูแลแรงงานข้ามชาติเหล่านี้อย่างเหมาะสม รัฐมองว่าจะขจัดโควิดอย่างไร แต่ไม่ได้มองว่าคน ชีวิตของคนจะดูแลอย่างไร รัฐไม่ได้มองและคำนึงถึงชีวิตคนและหาวิธีการรองรับ ทั้งๆ ที่มันน่าจะมีวิธีการรองรับที่ดีกว่านี้ กระทรวงสาธารณสุขจะออกแบบอย่างไรในเรื่องการตรวจโควิดสำหรับแรงงานประมง ไม่ใช่กำหนดตายตัวโดยประกาศออกไปว่ากลับขึ้นฝั่งมาแล้วไม่ต้องออกไปอีก และต้องไม่มองว่าโรคนี้ร้ายจนไม่สามารถเอาคนขึ้นมาพักได้เลย มันสามารถที่จะตรวจได้ทั้ง ATK และวิธีการตรวจอื่นๆ ซึ่งเวลานี้รัฐยังไม่ได้มีมาตรการเหล่านี้

 

“แรงงานข้ามชาติก็เป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยจากนโยบายของรัฐด้วย แต่ทำไมเวลารัฐมีมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด เช่น โครงการ ม.33 เรารักกัน หรือโครงการคนละครึ่ง แรงงานข้ามชาติจึงไม่ได้รับการเยียวยาด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงอย่างจังหวัดสมุทรสาครล้วนแต่เป็นแรงงานข้ามชาติตั้งกี่แสนคน เขาอยู่ในพื้นที่สีแดงด้วย เพียงแต่เขาไม่ได้เป็นคนไทยเท่านั้น อย่างน้อยก็ควรดำเนินการเยียวยาในส่วนของคนที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีการขึ้นทะเบียนก่อน เรื่องนี้เป็นข้อเสนอหากต้องมีการล็อกดาวน์ปิดจังหวัดอีกในอนาคต” สุธาสินีระบุ

 

นักวิชาการ มช. ชี้ รัฐประหารเมียนมาทำคนลอบข้ามแดนทะลัก ทั้งหนีภัยสู้รบ-โควิด-แสวงหาโอกาสใหม่ในชีวิต

 

ศิรดา เขมานิฏฐาไท อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในเมียนมาและผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยว่า สถานการณ์การเมืองในเมียนมาหลังการรัฐประหารมีการสู้รบในเขตพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีความต้องการของคนในเมียนมาที่ต้องการหนี ทั้งหนีภัยการสู้รบ ต้องการแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้น เพราะสภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ ตลอดจนหนีจากภัยโควิด ซึ่งหลังรัฐประหารระบบสาธารณสุขที่แย่อยู่แล้วยิ่งแย่ลงไปอีก หมอ-พยาบาลถูกจับกุมเพราะออกมาอารยะขัดขืน จึงทำให้มีความต้องการข้ามแดนเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก เป็นผลกระทบแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นในช่วงนี้ และเมื่อผสมกับเรื่องโควิดทำให้ปัญหาทับซ้อนกันไปหมด แต่ฝั่งไทยยังมองการข้ามแดนเน้นไปแค่ในเรื่องของขบวนการค้ามนุษย์หรือขบวนการลักลอบนำพาข้ามแดนด้านเดียว

 

ศิรดากล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ ทางการไทยระบุว่า ในช่วง 1 กรกฎาคม 2563 – 30 พฤษภาคม 2564 จับกุมชาวเมียนมาที่ลักลอบข้ามชายแดนมาได้จำนวน 15,000 คน ต่อมาในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2564 จับกุมได้กว่า 10,500 คน โดยในจำนวนนี้ตัวเลขพุ่งสูงสุดในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจำนวน 5,782 คน ซึ่งคนเหล่านี้จะถูกผลักดันกลับทันที หรือบางส่วนถูกคุมขังไว้ก่อนผลักดันกลับต่อไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ไม่ใช่แค่เกิดจากปัญหาการเมืองในเมียนมาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความต้องการแรงงานของฝั่งไทยที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น คนต้องการเข้ามาอยู่แล้ว แต่เข้าไม่ได้เพราะนโยบายของไทยยังไม่ได้เปิดชายแดน เมื่อความต้องการเข้าไทยมีมาก ค่าใช้จ่ายต่อหัวให้ผู้นำพาก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

 

ห้ามการข้ามแดนไม่ได้จึงต้องเปิดช่องทางให้เข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น พร้อมดึงคนเข้าระบบ เชื่อคุมโควิดได้

 

ศิรดากล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทางภาครัฐพยายามแก้ปัญหาแรงงามข้ามชาติมาตลอด โดยพยายามจัดการให้แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศให้เข้าสู่ระบบ ดังนั้น หากจะมีการทำ MOU นำเข้าแรงงานครั้งใหม่รอบพิเศษ อยากจะให้มีลักษณะของการที่เปิดช่องทางให้กับชาวเมียนมาหรือแรงงานข้ามชาติที่ต้องการจะเข้ามาทำงานในไทย ให้มีช่องทางเข้ามาทำงานได้ง่ายมากขึ้น และสามารถเข้าสู่ระบบได้ เพราะต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถจะห้ามการข้ามแดนมาได้ จึงควรให้มีระบบที่เข้าถึงได้ง่ายๆ ถ้ารัฐไทยมีความกลัวเรื่องโรคระบาด การเข้าระบบก็จะทำให้ทุกอย่างมันอยู่ในร่องในรอยมากขึ้น ถ้าทำให้เขาอยู่ในระบบและมีแรงดึงดูดให้เขาเข้ามาอยู่ในระบบได้ ก็จะเป็นผลดี จะทำให้เห็นภาพ ตัวเลขต่างๆ และควบคุมได้ง่ายขึ้น ในเชิงการปฏิบัติจึงต้องมีระบบที่ทำให้เขาเข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนที่เหมาะสมด้วย

 

หวั่น MOU นำเข้าแรงงานสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กองทัพเมียนมา

 

ศิรดากล่าวต่ออีกว่า อย่างไรก็ตาม ผลพวงของการรัฐประหารในเมียนมาทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเข้าถึงบริการเอกสารรับรองของทางราชการได้อย่างเป็นปกติ เพราะระบบราชการชะงักไป พอไทยกำลังจะกลับมาใช้ MOU ระบบการนำเข้าแรงงานแบบพิเศษที่มีระบบการกรองคนในเชิงโรคระบาดก่อนข้าม หรือให้ฉีดวัคซีนก่อน แต่มันก็มีปัญหาตรงที่ว่า แล้วรัฐบาลไทยจะมีร่วมมือหรือดีลกับรัฐบาลเมียนมาผ่านช่องทางไหน เพราะจะมีเรื่องของความชอบธรรมทางการเมืองของเมียนมาว่าใครเป็นตัวแทนของรัฐ

 

“ตอนนี้สิ่งที่เขารณรงค์กันคือ เขาไม่อยากให้ความชอบธรรมทางการเมืองไปตกอยู่กับกองทัพเมียนมาหรือสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ถ้าเราทำ MOU ซึ่งเป็นความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่าง 2 รัฐ หรือ 2 หน่วยงานของแต่ละประเทศ มันจะเลี่ยงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่เราต้องไปเชื่อมกับระบบราชการในเมียนมาซึ่งตอนนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพได้หรือไม่ จะเป็นลักษณะของการทำงานร่วมกับกองทัพเมียนมาในทางอ้อมหรือไม่ ในสายตาของต่างชาติก็จะเท่ากับเราทำงานร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับรัฐบาลเท่านั้น ตัวองค์กรภาคประชาสังคมเองหรือว่าคนที่ทำงานเรื่องนี้สุดท้ายมันก็จะเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า เราต้องการให้มีช่องทางที่มันเป็นทางการในการนำเข้าแรงงาน แม้ว่าจะเป็นการทำงานที่เคลื่อนไปตามระบบราชการ แต่สุดท้ายก็คือระบบราชการที่อยู่ภายใต้รัฐบาลอะไร” ศิรดากล่าวในที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising