×

การเข้ามาของ ‘Michelin Guide’ ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยจริงหรือ? ทำไมเราถึงเลือกต่อสัญญาอีก 5 ปี

03.12.2021
  • LOADING...
Michelin Guide

เผลอไม่นาน คู่มือกินดื่มอย่าง ‘มิชลินไกด์’ ก็อยู่กับเรามานานด้วยกันถึง 5 ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราเห็นความตื่นเต้นและความคึกคักของวงการอาหารในประเทศ มีเชฟหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย และพยายามพัฒนาคุณภาพให้ได้รับรางวัลจากมิชลินในหมวดใดหมวดหนึ่ง ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร แต่ยังรวมถึงอีกหลายหัวเมืองที่มิชลินไกด์บุกสำรวจทั่วประเทศ ทว่ามองในมุมมองของการท่องเที่ยว การเข้ามาของมิชลินไกด์ โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนั้น ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจริงหรือ?

 

 

Michelin Guide ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจริงไหม?

 

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า ไลฟ์สไตล์การกิน ดื่ม เที่ยว นั้นยากจะแยกออกจากกันสิ้นเชิง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะท่องเที่ยวยังจุดหมายปลายทางใดโดยไม่กินหรือหวังลิ้มรสของอร่อย ฉะนั้นทั้งสองวงการถึงเป็นไลฟ์สไตล์ที่เกื้อหนุนกันอยู่ตลอดเวลา “ฉันอยากไปเที่ยวที่นี่ ขณะเดียวกันก็อยากหาของกินแปลกๆ อร่อยๆ” หรือ “ฉันตั้งใจบินไปยังจุดหมายปลายทางนั้นเพื่อกินโดยเฉพาะ”

 

ผลประเมินโครงการโดย Ernst & Young บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลก ประเมินว่าการเข้ามาของมิชลินไกด์ในประเทศไทย ระหว่างปี 2560-2563 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างเป็นรูปธรรม

 

อย่างแรกเลยคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอาหาร เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศเฉลี่ยต่อมื้อพบว่า นักท่องเที่ยวสนใจใช้จ่ายกับร้านอาหารที่ได้รางวัลมิชลินมากกว่าร้านทั่วไป 2 เท่า โดยในปี พ.ศ. 2562 โครงการมิชลินฯ อาจสร้างมูลค่าส่วนเพิ่มด้านอาหารให้กับการท่องเที่ยวได้ถึงประมาณ 842.40 ล้านบาท

 

ข้อมูลจากปี 2562 ระบุอีกว่า มิชลินไกด์ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น จากทั้งส่วนของอุตสาหกรรมอาหาร ภาคการเกษตร ประมง ฯลฯ อีก 4,800 ตำแหน่ง เนื่องจากต้องใช้บุคคลเหล่านี้รองรับการบริโภค และการเข้ามาของนักท่องเที่ยวที่ตามรอยมิชลินไกด์แนะนำ

 

นั้นยังไม่รวมถึงอีเวนต์ทางด้านอาหารต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 33 เช่น กิจกรรมดินเนอร์หรูบนเรือยอร์ชส่วนตัวกับเชฟมิชลิน หรืออีเวนต์พิเศษอื่นๆ แล้วแต่ไลฟ์สไตล์ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่ได้รับความสนใจ เพราะทุกคนทราบดีว่าเชฟที่ได้ดาวมิชลินย่อมไม่ธรรมดา

 

นักท่องเที่ยวรอชิมร้านอาหารที่ได้ลิสต์ ‘บิบ กูร์มองด์’

 

เชฟ Alain Ducasse กับการเข้ามาเปิดร้านอาหารในไทย

 

แน่นอนว่าการเข้ามาของมิชลินไกด์ดึงดูดเชฟชั้นนำชาวต่างประเทศให้เดินทางมาทำงานในประเทศไทย และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเปิดร้านอาหารระดับ Hi-End ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เช่น เชฟ Mauro Colagreco เชฟมิชลินระดับ 3 ดาว เจ้าของร้าน Mirazur ที่มาเปิดร้านอาหาร Côte by Mauro Colagreco ณ โรงแรม Capella Bangkok ถนนเจริญกรุง หรือ เชฟ Alain Ducasse เชฟชาวฝรั่งเศส ผู้ครอบครองดาวมิชลินมากถึง 21 ดวง ซึ่งถือเป็นอันดับ 2 ของโลก ก็เข้ามาเปิดร้าน BLUE by Alain Ducasse ณ ICON SIAM (แน่นอนว่าเชฟมา แฟนคลับเชฟก็ต้องบินตามมากิน)

 

จากตัวเลขข้างต้นเราจะเห็นว่า แม้บรรยากาศกินดื่มเที่ยวของประเทศไทยโดยรวมจะซบเซา เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด แต่การเข้ามาของมิชลินไกด์ ทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยวอยู่เนื่องๆ โดยในปีหลังๆ มิชลินไกด์ยังบุกสำรวจหัวเมืองใหญ่ที่ไม่ใช่กรุงเทพมหานคร เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา รวมไปถึงพระนครศรีอยุธยา ที่กำลังจะประกาศลิสต์รายชื่อในอีกไม่กี่วันนี้

 

 

ต่อสัญญาความร่วมมืออีก 5 ปี ใช้อาหารขับเคลื่อน ดึงนักชิมสู่หัวเมืองท่องเที่ยวใหม่ๆ

 

แม้ 5 ปีแรกจะมีวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิดเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของมิชลินไกด์ ทำให้วงการอาหารและท่องเที่ยวคึกคัก และเพิ่มมูลค่าขึ้นแบบเป็นกอบเป็นกำ คนไม่เคยไปเที่ยวเพื่อกินก็มีมากขึ้น ส่วนคนที่ชอบของอร่อยและตามไปกินก็ได้ไปเที่ยวยังจุดหมายปลายทางใหม่ๆ เช่นกัน นักเดินทางต่างชาติจะมาเที่ยวไทย ก็อยากตามรอยมิชลินไกด์ เพื่อสรรหาของอร่อยมีคุณภาพ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเม็ดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบ

 

เมื่อถนนเริ่มสร้างมาแล้ว และดูเหมือนจะใช้การได้ดี ‘มิชลินไกด์’ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศความร่วมมือร่วมกันต่อเนื่องอีก 5 ปี จากเดิมที่สิ้นสุดสัญญาปี 2564 ขยายเพิ่มอีก 5 ปี จนถึงปี 2569 แน่นอนว่าความร่วมมือในครั้งนี้ยังคงเป้าหมายเดิมอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมร้านอาหารและการบริการในช่วงระหว่างและหลังวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ส่งเสริมการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลายลง ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio, Circular and Green Economy) ที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือครั้งนี้ว่า “เราพอใจอย่างยิ่งกับผลสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือในระยะแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านตัวเลขเชิงสถิติในด้านต่างๆ สำหรับการขยายระยะเวลาความร่วมมือครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะเป็นแรงเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพในภาคธุรกิจร้านอาหารและการบริการมีกำลังใจที่จะฟันฝ่าและเอาชนะความท้าทายที่ต้องเผชิญ ด้วยความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพในการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด รวมทั้งด้วยการนำมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยระดับสากลมาใช้ในการทำงาน”

 

นอกเหนือจากนี้ มิชลินไกด์ยังมีแผนรุกดำเนินการสำรวจพื้นที่ใหม่ๆ ในประเทศไทยอีกหลายแห่ง (แว่วมาว่าน่าจะเป็นภาคอีสาน) เพื่อค้นหาร้านอาหารและที่พักที่ดีสุด ขณะที่ ททท. จะได้รับสิทธิ์มอบรางวัล Michelin Thailand Service Award By TAT ซึ่งมีสัญลักษณ์ Amazing Thailand ให้แก่บุคลากรผู้ให้บริการยอดเยี่ยมด้วย

 

 

สำหรับความร่วมมือครั้งใหม่จะประสบความสำเร็จตามการคาดหวังหรือไม่ อันนี้เราคนไทยต้องติดตามชม แต่ที่แน่ๆ มิชลินไกด์ ฉบับพระนครศรีอยุธยา ที่กำลังประกาศในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะทำให้อยุธยากลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวหน้าใหม่มากขึ้น ผู้ที่ฉงนว่า เอ๊ะ นอกจากเมืองเก่าแล้ว อยุธยามีของกินอร่อยมากเช่นนั้นเลยหรือ?

 

สำหรับนักกินดื่มท่านใดต้องการหาร้านเด็ดร้านอร่อยน่าไปกิน สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคู่มือ ‘มิชลินไกด์’ ได้ที่ guide.michelin.com/th/th หรือติดตามข่าวสารล่าสุดของ ‘มิชลินไกด์ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา 2565’ ได้ทางเฟซบุ๊ก facebook.com/MichelinGuideThailand

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising