×

หน้ากากกับสังคมโควิด: ความปกติใหม่ของสังคมไทย จริงหรือไม่

10.02.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • จะถามว่าการใส่หน้ากากจะมีต่อไป และกลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ (New Normal) ในแบบที่นักทำนายอนาคตชอบพูดกันไหม บรรทัดนี้ ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นว่าตอบยาก 
  • ผู้เขียนระบุว่า เราอาจจะเห็นความระแวงและการเกิดขึ้นของสำนึกในการป้องกันความเสี่ยงซึ่งทำให้หลายคนยังพกหน้ากากอยู่ 
  • ขณะที่ในเขตพื้นที่อื่นของประเทศไทยหลายแห่งที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวต่างต้องการใช้ชีวิต พักผ่อน และหาความสนุกสนาน (เช่น ภูเก็ต พัทยา) ผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นก็เหมือนไม่ได้สนใจในเรื่องความเสี่ยงนี้มากเท่ากับในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คน (เช่น กรุงเทพฯ) 
  • บรรทัดสุดท้ายผู้เขียนให้ความเห็นว่า ไม่แน่ว่าท้ายที่สุดแล้ว การใส่หน้ากากอาจจะเป็นเรื่องของ ‘วัฒนธรรมเมือง’ (Urban Culture) ก็เป็นไปได้

เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2565 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปเจออาจารย์ชาวต่างชาติท่านหนึ่งที่เพิ่งจะมารับตำแหน่งใหม่ที่มหาวิทยาลัย โดยเรานัดกันที่ลานหน้าอาคารหนึ่ง ผู้เขียนเพิ่งเดินออกมาจากการประชุมหนึ่งจึงมีหน้ากากอยู่บนใบหน้า (ตามธรรมเนียมการใช้พื้นที่ในที่ร่ม) อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เดินไปหาอาจารย์ท่านนั้น ก็เกิดความคิดว่าจะถอดหน้ากากออก เพราะเป็นการยืนคุยกันกลางแจ้ง ในจังหวะที่กำลังจะถอดนั้นเอง ก็เป็นจังหวะเดียวกันกับที่อาจารย์ท่านนั้นเหลือบมาเห็นผู้เขียนพอดี และท่านได้ดึงเอาหน้ากากขึ้นมาสวม สลับกับผู้เขียนที่ถอดหน้ากากออก เราสองคนมองหน้ากัน หัวเราะและเคอะเขินกับจังหวะที่ไม่ตรงกัน 

 

เป็นที่น่าสนใจว่า ในช่วง ‘หลังโควิด’ (ซึ่งในบทความนี้หมายถึงช่วงที่การระบาดของโรคที่มีความรุนแรงได้คลี่คลายลง) หลายๆ คนจะประสบกับจังหวะที่ไม่แน่ใจว่าควรจะถอดหรือใส่หน้ากากในช่วงเวลาไหน ในบทความนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอย้อนกลับไปมองถึงบทบาทหน้าที่ของการใส่หน้ากากตั้งแต่ช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ มาจนถึงปัจจุบันในช่วง ‘หลังโควิด’ และทดลองอธิบายว่าท้ายที่สุดการใส่หน้ากากจะเป็น ‘ความปกติใหม่’ ของสังคมไทยจริงหรือไม่?

 

หน้ากากกับการป้องกันโรคโควิด

หากเรานึกย้อนกลับไปถึงช่วงโควิดเริ่มระบาดใหม่ๆ ในประเทศไทยช่วงต้นปี 2563 เราอาจจะจำได้ว่าเรื่องของความเป็นโรคที่แพร่กระจายทางอากาศ (Airborne) และผ่านละอองฝอย (Droplet) ถูกนำเสนอมาก ซึ่งเมื่อประกอบกับความเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีงานวิจัยทางสาธารณสุขรองรับ วิธีการเบื้องต้นที่ทางหน่วยงานสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์แนะนำคือการให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน คำแนะนำมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เพราะผู้คนตื่นตัวไปหาซื้อหน้ากากมาป้องกันอย่างพร้อมเพรียง และเมื่อประกอบกับการแพร่ระบาดที่ต่างประเทศที่เกิดก่อนไทย โดยเฉพาะประเทศจีน ทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางกลับประเทศในขณะนั้นก็ได้หยิบซื้อหน้ากากจากภายในประเทศ พร้อมกับผู้อาศัยในไทยที่เริ่มหาหน้ากากมาใช้ ทำให้หน้ากากขาดตลาดอย่างรวดเร็ว

 

ในทางวัฒนธรรมนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เนื่องจากหน้ากากมีจำนวนจำกัด ความรู้ทางสาธารณสุขแบบ ‘บ้านๆ’ ถูกผลิตออกมาจากทุกภาคส่วนของสังคมอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพบ้าง ไม่มีประสิทธิภาพบ้าง เพื่อให้คนยังมีหน้ากากใช้ ไม่ว่าจะเป็น ‘การนำเอาหน้ากากเก่ามาตากแดดและใช้ใหม่’ ‘การเอาทิชชูหรือผ้าอนามัยมาทำเป็นหน้ากาก’ ‘การเฟ้นหาประเภทของผ้าที่ป้องกันไวรัสมาทำหน้ากากผ้า’ และอีกมากมาย ความรู้แบบบ้านๆ นี้ รับรู้ไปถึงกระทรวงสาธารณสุขต้องออก ‘Fact Sheet’ (สรุปข้อมูลสำคัญ) มาในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 ว่าถ้าจะทำและสวมใส่หน้ากากผ้า มีอะไรต้องพิจารณาบ้างเพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ สำหรับคนในประเทศไทยเอง ความตื่นตัวนี้อาจจะดูเป็นเรื่องปกติ แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในแถบทวีปอเมริกาเหนือและออสเตรเลียที่การใส่หน้ากากอย่างพร้อมเพรียงกันของประชาชนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เราจะเห็นว่าสังคมไทยมีความกระตือรือร้นที่จะสวมหน้ากากเพื่อป้องกันการระบาดเป็นอย่างมาก

 

 

หน้ากากกับการสอดส่องในสังคม

ในช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ การสวมหน้ากากไม่ได้ทำหน้าที่แค่การช่วยป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส แต่ในสังคมไทย การสวมหน้ากากยังทำหน้าที่ในการสอดส่องและควบคุมสังคมอีกด้วย ตั้งแต่มีการระบาดของโควิดเกิดขึ้นในต่างประเทศ คนในสังคมไทยหลายคนคอยติดตามข่าวและมีความขยันขันแข็งในการดูว่าใครหรือหน่วยงานไหนจะย่อหย่อนทำให้โควิดหลุดรอดเข้ามาในประเทศได้ แต่แล้วที่สุดในช่วงปลายปี 2563 ก็ได้เกิดการระบาดขึ้น และหน่วยงานสาธารณสุขได้ระบุว่าโควิดหลุดเข้ามาจากคนไทยที่เดินทางข้ามแดนไปทำงานประเทศเพื่อนบ้านและเดินทางกลับเข้าประเทศแบบผิดกฎหมาย ในช่วงเวลานี้เองที่สังคมไทยเปลี่ยนจากสยามเมืองยิ้มไปเป็น ‘รัฐตำรวจ’ ที่คอยติดตามว่ากลุ่มคนกลุ่มนั้นคือใครและไปแวะสถานที่ใดมาบ้างหลังจากที่เดินทางกลับเข้ามาในประเทศ หากยังจำกันได้ ร้านอาหารที่ถูกตรวจเจอว่าคนกลุ่มนี้ไปรับประทานต้องออกมาขอโทษสังคมเป็นการใหญ่ และรีบประกาศปิดร้านชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดเพื่อไม่ให้เชื้อโควิดที่ติดมาจากคนทำงานกลุ่มนั้นกระจายออกไป 

 

ในความคิดของผม บรรยากาศแห่งความระแวงและวัฒนธรรมการสอดส่องกันเองในสังคม น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใส่หน้ากากในช่วงการระบาดของโควิดอยู่มากพอสมควร การเดินทางออกไปในที่สาธารณะไม่ว่าจะในที่ร่มหรือกลางแจ้งโดยไม่สวมหน้ากากหรือสวมหน้ากากที่ไม่มีคุณภาพมักจะถูกจับตาอย่างรุนแรง ตั้งแต่ช่วงเวลาที่รัฐเริ่มรณรงค์ให้สวมหน้ากากป้องกันตั้งแต่ต้นปี 2563 มักจะมีข่าวเกี่ยวกับการร้องเรียนผู้ประกอบการต่างๆ ที่ไม่ยอมสวมหน้ากาก หรือสวมหน้ากาก ‘ไม่ถูกหลัก’ ตามที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้คำแนะนำในโทรทัศน์และสื่อกระแสหลัก และในทางกลับกันก็มีผู้ประกอบการหลายเจ้าที่ออกนโยบายไม่ให้บริการหากผู้ใช้บริการไม่สวมหน้ากาก แนวปฏิบัติใหม่ของสังคมไทยในช่วงแรกที่โควิดเริ่มระบาด สร้างภาวะสังคมที่มีลักษณะขาว-ดำ คือผู้คนที่เป็น ‘ประชาชนที่ดี’ และ ‘ประชาชนที่ไม่ดี’ และในสภาวะสังคมแบบนี้ประชาชนที่ดีก็เป็นแขนขาของรัฐในการช่วยสอดส่องดูแลและควบคุมประชาชนด้วยกันเองให้อยู่ในร่องในรอย การสวมหน้ากากไม่เพียงแค่เพื่อจะป้องกันโรคระบาด แต่ยังมีความหมายในเชิงอุดมการณ์ถึงการทำตัวเป็นประชาชนที่ดีของรัฐ

 

สิ่งที่น่าสนใจในสภาวะการนี้ คือวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่ตามมากับการแสดงเป็นประชาชนที่ดีของรัฐ ความพร้อมใจกันสวมหน้ากากส่งผลให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหน้ากากมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือดัดแปลงหน้ากากเป็นสีหรือลวดลายที่สวยงามหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ การผลิตผ้าหรือวัสดุที่อ้างว่าทำให้การป้องกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือทำให้การหายใจสะดวกขึ้นแต่ไม่ได้ลดประสิทธิภาพการป้องกันลง บริษัทเสื้อผ้าและอื่นๆ หันมาผลิตหน้ากากขายเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจตัวเอง หน่วยงานราชการจัดทำหน้ากากตราสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อมอบเป็นของที่ระลึกและแสดงความปรารถนาดีในช่วงการระบาดใหม่ๆ วัฒนธรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มากับหน้ากากนี้ทำให้ภาพของการที่หน้ากากเป็นเครื่องมือสอดส่องสังคมดูมีความอ่อนโยนลงไป และอันที่จริงแล้วกลับยิ่งเป็นสิ่งที่คนที่ไม่ชอบใส่หน้ากากอนามัยแบบมาตรฐานมีข้ออ้างได้ยากกับการที่จะไม่ใส่หน้ากาก เพราะมีหน้ากากให้เลือกแบบหลากหลายและสวมใส่สบายอยู่ในท้องตลาดเต็มไปหมด

 

หน้ากากกับความไม่เสี่ยง

ความตึงเครียดของการใส่หน้ากากในช่วงการระบาดของโควิดเหมือนเริ่มจะบรรเทาลงในช่วงที่หลายประเทศสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้และได้เริ่มเปิดประเทศ ในช่วงนี้ การสวมหน้ากากเริ่มมีนัยยะที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันความเสี่ยงมากขึ้น

 

 

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้การสวมหน้ากากในที่สาธารณะเป็นเรื่องสมัครใจ ในช่วงเวลาการผ่อนปรนนี้ก็เป็นช่วงเดียวกับการที่คนในสังคมเริ่มที่จะอยากกลับมาเห็นรอยยิ้มและสีหน้าค่าตากัน เราจะเริ่มเห็นว่ามีหลายโอกาสที่ผู้คนในสังคมยอมที่จะไม่ใส่หน้ากาก ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูปทางการพร้อมกันเป็นหมู่คณะ ที่จะต้องมี ‘ท่าถอดหน้ากาก’ หรือการขึ้นพูดบนเวทีที่ผู้พูดได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องใส่หน้ากาก เพราะอาจจะหายใจไม่ทันได้ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม คนไทยจำนวนมากก็ยังคงพกและสวมหน้ากากต่อไป จากการสอบถามคนรู้จักใกล้ตัว พบว่าสาเหตุหลักของคนที่ยังสวมหน้ากากอยู่ก็เพราะยังกลัวว่าจะมีการ ‘ติดโควิด’ เกิดขึ้น ความทรงจำเกี่ยวกับความรุนแรงของการติดเชื้อยังคงหลอกหลอนสังคมในวงกว้าง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจำนวนผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการทรุดหนักจะมีสัดส่วนที่น้อยลงไปมากแล้วก็ตาม ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ สำหรับหลายคนการใส่หน้ากากก็เป็นเรื่องมารยาทตามวัตรปฏิบัติของสังคม ซึ่งอย่างหลังน่าจะมาจากความคุ้นชินกับการใส่หน้ากากมานาน จนหน้ากากกลายเป็นเครื่องแต่งกายหนึ่ง หากไม่ใส่อาจจะทำให้รู้สึกถูกจ้องมองและสอดส่องจากคนในสังคมได้ ทั้งสองเหตุผลนี้แสดงให้เห็นถึงสภาวะของสังคมไทยยังมีความระแวดระวังและยังไม่แน่ใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การสวมหน้ากากไว้ก่อนจึงเป็นอุปกรณ์ป้องกันเพื่อการรักษาสุขภาพ และรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอง เพื่อให้เกิดความอุ่นใจกับการใช้ชีวิตในช่วงเวลาหลังโควิดนี้

 

แต่จะถามว่าการใส่หน้ากากจะมีต่อไป และกลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ (New Normal) ในแบบที่นักทำนายอนาคตชอบพูดกันไหม? เอาจริงๆ ผู้เขียนคิดว่าตอบยาก จริงอยู่ว่าเราอาจจะเห็นความระแวงและการเกิดขึ้นของสำนึกในการป้องกันความเสี่ยงซึ่งทำให้หลายคนยังพกหน้ากากอยู่ ในเขตพื้นที่อื่นของประเทศไทยหลายแห่งที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวต่างต้องการใช้ชีวิต พักผ่อน และหาความสนุกสนาน (เช่น ภูเก็ต พัทยา) ผู้คนในพื้นที่เหล่านั้นก็เหมือนไม่ได้สนใจในเรื่องความเสี่ยงนี้มากเท่ากับในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยผู้คน (เช่น กรุงเทพฯ) ไม่แน่ว่าท้ายที่สุดแล้ว การใส่หน้ากากอาจจะเป็นเรื่องของ ‘วัฒนธรรมเมือง’ (Urban Culture) ก็เป็นไปได้

 

อ้างอิง:

FYI
  • บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Comparative assessment of the pandemic responses in Australia and Thailand ได้รับทุนสนับสนุนจาก The Australia-ASEAN Council, Australia-ASEAN Council COVID-19 Special Grants Round กระทรวงการต่างประเทศและการค้าประเทศออสเตรเลีย

 

ติดตามข้อมูลและข่าวสารของโครงการได้จาก

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising